ไม่ถึงกับต้องปิดเมือง ไทยก็ปางตายอยู่แล้ว โดย สมหมาย ภาษี

สํานักข่าว “บลูมเบิร์ก” ที่ใหญ่สุดระดับโลกในด้านการเสนอข่าวได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า “ไวรัสโคโรนา ทำประเทศไทยป่วยหนัก” (Thailand’s Economy Was Already Sickening) บทความดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสามารถทำให้ประเทศไทย ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ “ภาวะถดถอย”

เหตุผลที่บลูมเบิร์กฟันธงดังกล่าวนั้นชัดเจนมาก โดยได้ให้ความเห็นว่าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็มีอาการป่วยอยู่แล้ว โดยผลกระทบจากสงครามการค้า ภัยแล้งครั้งใหญ่ เงินบาทที่แข็งค่า การลงทุนภาครัฐล่าช้า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ได้ล่าช้าไปแล้วร่วม 5 เดือน

บทความของบลูมเบิร์กได้กล่าวถึงความจริงอย่างไม่ต้องเกรงใจใครว่า ประเทศไทยนั้นเริ่มล้าหลังเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองได้กลายเป็นตัวฉุดหลัก และยังมีปัจจัยลบอีกหลายเรื่องเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ การผลิตที่อ่อนแอ การบริโภคที่ไม่เติบโต และหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก

เห็นหรือยังครับ เชื่อหรือยังครับ ยังคิดว่าตัวเองดีอยู่ ไม่เป็นอะไรมากใช่ไหมครับ บทความนี้เขาพูดความจริงที่สุภาพและยังมีความหวังดีแฝงให้เห็น แต่ถ้าเขากล้าแสดงความเห็นในเรื่องของสมรรถภาพของรัฐบาลที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยครึ่งใบของไทย โดยยังคงมีผู้นำที่มาจากการทำรัฐประหารด้วยแล้ว บทความนี้จะดูไม่จืดอย่างแน่นอน

Advertisement

ถ้าจะดูให้ชัดถึงอาการป่วยของประเทศไทยเราอย่างตรงไปตรงมาก็อาจแบ่งดูได้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2561 ตอนที่ภาพของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มปรากฏชัดคือ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 สหรัฐตั้งกำแพงภาษีกับจีนเป็นครั้งแรก 25% ของสินค้าเข้าจากจีนบางประเภท มูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และตามมาด้วยการเพิ่มพิกัดภาษีศุลกากร 10% กับสินค้าจีนอีก มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วงหลังเริ่มจากการมีข่าวการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เมืองอู่ฮั่นของจีน ก่อนช่วงตรุษจีน เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 นี้ ซึ่งจะขอนำท่านผู้อ่านไปสำรวจดูภาวะผลกระทบต่อไทย ดังต่อไปนี้

ช่วงก่อนไวรัสโคโรนาจากอู่ฮั่นจะเกิด ช่วงนี้ควรจะดูตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เมื่อเกิดเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้นมานั้น เศรษฐกิจของไทยถ้าดูในเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวยังดูดีอยู่ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาประสานเสียงกันว่า ไทยจะไม่ถูกกระทบสักเท่าไหร่ เรื่องจิ๊บจ๊อยว่างั้นเถอะ เรื่องนี้น่าเห็นใจผู้นำรัฐบาลที่ท่านถูกทำให้สบายใจและชะล่าใจตลอดมาด้วยข้าราชการและคนรอบข้าง

แล้วช่วงนั้นรัฐบาลท่านทำอะไรบ้าง ตอบได้ว่าท่านใช้เวลาราชการส่วนใหญ่ไปในการจัดทีมเลือกตั้ง จำได้ว่ามีการยอมรับให้รัฐมนตรีบางท่านใช้เวลาราชการไปจัดการเรื่องพรรคการเมือง หลับตาก็นึกภาพออกแล้วว่า ระยะเวลา 8-9 เดือนก่อนเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเริ่มจากการจัดตั้งพรรคใหม่ การรวบรวมบรรดานักการเมืองเขี้ยวลากดินให้มารวมกันเป็นพรรคใหญ่ให้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลปลายยุค คสช. ส่วนหนึ่งก็ต้องสาละวนอยู่กับการจัดตั้งพรรคการเมืองและการหาเสียงเป็นหลัก แล้วจะทำงานดูแลประชาชนหรือการเตรียมรับมือกับสงครามการค้าโลกได้อย่างไร

Advertisement

จะกล่าวหาว่ารัฐบาลปลายยุค คสช. ไม่ดูแลประชาชนในช่วงนั้นเลยก็ไม่ได้ พวกเราอาจมองไม่เห็นชัดว่าท่านทำอะไรให้รากหญ้าและชาวไร่ชาวนาบ้าง แต่สิ่งที่เห็นชัดเรื่องงานด้านเศรษฐกิจในช่วง 8-9 เดือนก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือการเห็นชอบอนุมัติโครงการใหญ่ๆ หรือการเห็นชอบในหลักการโครงการใหญ่ๆ ที่นักลงทุนไทยรายใหญ่ๆ และรวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศสนใจหลายโครงการ เช่น โครงการที่จะลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือโครงการ EEC อาทิ โครงการพัฒนาและขยายท่าเรือน้ำลึก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งได้มีการปิดสรุปโครงการไปเร็วๆ นี้ ที่มีข่าวว่า กลุ่มธุรกิจร่วมค้า บีบีเอสที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 305,555 ล้านบาท ชนะกลุ่มยักษ์ใหญ่ที่มีกลุ่มซีพีร่วมด้วย คือกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ที่เสนอค่าสัมปทานให้รัฐเพียง 102,217 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเสนอผลตอบแทนให้รัฐที่ผู้ชนะอันดับหนึ่งกับอันดับสองได้เสนอผลตอบแทนให้รัฐต่างกันมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ฝ่ายหนึ่งชวดการหยิบชิ้นปลามัน เป็นต้น

ในช่วงต้นของสงครามการค้าโลกตัวเลขชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ออกมาค่อนข้างดี เช่น GDP ขยายตัว 4.1% การส่งออกเพิ่มขึ้น 7.7% ภาษีเก็บได้ตามเป้า ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศถึงสิ้นธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 205,641 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจถือว่าเป็นบวก ยกเว้นคนรากหญ้าส่วนใหญ่ประเมินว่าแย่ลง ราคาพืชผลด้านเกษตรต่ำลงมาก สังคมเสื่อมโทรมลง และดัชนีคอร์รัปชั่นสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 101 ซึ่งเป็นอันดับเท่ากับประเทศโนเนม 4-5 ประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีในปี 2561 ทำให้รัฐบาล คสช. ช่วงปลายที่ยอมให้รัฐมนตรีหลายท่านทำงานการเมืองนอกเวลา (Part time) ได้โหมทำงานหาเสียงอย่างหนัก เพราะวันเลือกตั้งใหญ่ได้ถูกกำหนดไว้แล้วเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ความสนใจที่จะดูแลบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจก็เหือดหายไป ส่วนใหญ่ได้แต่พูดแต่ไม่ได้ทำ

ความสนใจของผู้ที่รับผิดชอบบริหารประเทศที่ต้องให้กับการเมืองที่จะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแม้จะไม่เต็มใบยิ่งมีมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง เพราะผลของการเลือกตั้งออกมาก้ำกึ่งมาก ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยที่พิเรนทร์สุดของโลกยังทำให้พรรคการเมืองและบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา สามารถพลิกแพลงเพลงการเมืองได้มากกว่าสมัยใดๆ ก็ยิ่งทำให้รัฐบาล คสช. ที่ยังคงต้องดูแลบริหารบ้านเมืองอยู่ในช่วงนับจากวันเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) มาจนถึงวันถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (16 กรกฎาคม 2562) ซึ่งนับเวลาได้ขาด 9 วัน จะครบ 4 เดือน ท่านผู้อ่านลองหลับตาคิดเอาเองว่า รัฐบาลในช่วงนั้นจะใช้เวลาตอนไหนมาดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจังได้

น่าสงสารประเทศชาติของเราเหลือเกิน เมื่อปรากฏว่าผลของการทำสงครามการค้าโลกที่ยืดเยื้อและเพิ่มความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2561 และต่อเนื่องอย่างเข้มข้นขึ้นในปี 2562 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเห็น ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Economic Recession) จึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็นในปี 2562 ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นปีที่นักการเมืองของไทยตั้งแต่ใหญ่ถึงตัวน้อยมัวแต่สาละวนอยู่แต่เรื่องการเมือง ต่างชาติอย่างบลูมเบิร์กก็เห็นเราชัดจึงได้กล่าวว่า ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยได้กลายเป็นตัวฉุดหลักให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย

ผลของการถดถอยทางเศรษฐกิจของไทยที่เกิดให้เห็นในปี 2562 ดูแล้วน่ากลัวมาก ขอนำตัวเลขมาให้ดูกันชัดๆ ดังนี้ เรื่องใหญ่สุดคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP สภาพัฒน์ประมาณการว่าทั้งปี 2562 ขยายตัว 2.6% ซึ่งตัวเลขนี้ดูเหมือนจะเกินจริงเสียอีก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% แต่ถ้ามาดูเครื่องยนต์ที่สำคัญของประเทศคือการส่งออก ตัวเลขออกมาชัดเจนแล้วว่าการส่งออกของสินค้าและบริการในปีที่แล้วติดลบ 2.0%

GDP ของไทยนั้นตั้งแต่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 22 ปีมาแล้ว การส่งออกของสินค้าบวกการท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับรายได้ประชาชาติมวลรวมถึง 70% ส่วนเครื่องยนต์ที่เหลือสองตัว คือ การบริโภคและการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ มีส่วนก่อให้เกิดรายได้หรือรายจ่ายประชาชาติมวลรวมเพียง 30% แต่แม้กระนั้นในปี 2562 ก็ติดลบกันหมดทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 ติดลบแทบทุกเดือน ทีมเศรษฐกิจของ

รัฐบาลนี้จึงได้งัดมาตรการเน้นส่งเสริมให้เพิ่มการบริโภคในประเทศอย่างสุดตัว ถึงขนาดยอมนำภาษีอากรของคนทั้งประเทศจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ไปใช้จ้างให้คนไปกินอาหาร จ้างให้คนไปซื้อของ และจ้างให้คนไปเที่ยว ที่เรียกว่า ชิม ช้อป ใช้ ไงละครับ แต่มันก็ค่อนข้างไม่ได้ผลตามที่คิด

พอเริ่มศักราชใหม่ในปี 2563 นี้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศก็ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมา แล้วก็นำเสนอการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 2563 ออกมาแบบระมัดระวังตัว สรุปแล้วให้ขยายตัวสูงขึ้นในอัตรา 2.6-3.7% และการส่งออกก็ให้เป้าหมายเพิ่มขึ้นถึง 2.3% ตัวเลข GDP ปี 2563 ที่ทำมานี้ ดูเหมือนว่ามีแต่ใจเท่านั้นที่ยังสู้ ทั้งๆ ที่ร่างกายนั้นเปลี้ยเต็มทีแล้ว

เมื่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2563 ออกมาแล้ว คณะรัฐมนตรีใหม่ก็เริ่มนำนโยบายหลักของพรรคใครพรรคมันมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้บางพรรคก็ยังเต้น
ฟุตเวิร์กอยู่จนเหงื่อจะท่วมตัวก็มี แต่แล้วในช่วงตรุษจีนเมื่อปลายมกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวหลักที่ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 40.8 ล้านคน ฝันของรัฐบาลก็ต้องสลายโดยทันที แล้วก็ตามมาด้วยความคาดหวังที่จะลืมตาอ้าปากของคนไทยทั้งชาติ ก็ต้องมลายสูญตามไปด้วย เพราะสิ่งที่พระเจ้าหรือเทวดาฟ้าดินได้ประทานมาให้เห็นโดยทั่วกันนั้นมันน่ากลัว คือโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาที่เกิดจากเขตอู่ฮั่นของประเทศจีน ซึ่งจะขอนำเสนอภาพที่จะกระทบภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงปีนี้แค่ไหน อย่างไร ดังต่อไปนี้ครับ

ช่วงหลังจากไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นแล้ว ผ่านมาร่วมเดือนแล้วก็รู้เห็นได้ชัดว่ามีการตื่นตระหนกและหวาดกลัวกันแค่ไหน ทั้งนี้ใคร่ขอเตือนคนไทยที่ประกอบอาชีพเกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวไว้ด้วยว่า จะน่ากลัวอย่างไรก็ตามเราไม่ควรไปแสดงความจงเกลียดจงชังคนจีนให้มากไป ตรงกันข้ามคนไทยเราทั้งประเทศควรแสดงมิตรจิตมิตรใจให้คนจีนเขาเห็นว่า ประเทศไทยและคนไทยรักใคร่และเป็นห่วงคนจีนมากกว่าใครอื่น เพราะอย่างไรเสียเราก็ต้องพึ่งพาเขาไปอีกนาน เมื่อโรคระบาดโคโรนาสงบลง เราก็ต้องเข้าไปยกมือไหว้ขอให้เขามาเที่ยวเมืองไทยเยอะๆ อยู่ดีนะครับ

เมื่อพูดถึงผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจต่อไทย ถ้าดูกันให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะด้านการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะกระทบถึงการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกันเป็นห่วงโซ่ โดยจะกระทบถึงการลงทุนของจีนที่จะมาไทยในอนาคต และรวมทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีต่อกันอีกมาก ดังนั้น การที่แต่ละสำนักที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจได้ลดประมาณการเติบโตของไทยในปี 2563 นี้ ที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 2.6-3.7% เหลือประมาณ 2% นั้น อยากจะบอกว่าท่านทั้งหลายยังพิจารณากันไม่รอบคอบพอ เพราะเรื่องไวรัสระบาดนี้แม้คาดว่าจะเอาอยู่ภายใน 3 เดือนข้างหน้า แต่ผลกระทบยังจะเกิดไปทั้งปี 2563 นี้ เพราะผลกระทบจะเกิดผลเป็นทวีคูณ (Multiple Effect) ตามมาอีกมาก

ขอเรียนกันตรงๆ ว่า ในปี 2563 นี้ ถ้าประเทศไทยสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.2% ก็เก่งมากแล้ว ส่วนการส่งออกนั้นปีที่แล้ว -2.0% ดังนั้น ปีนี้ถ้าประคองได้แค่เสมอตัวเท่าปีที่แล้ว คือเพิ่ม 0% ก็เก่งสุดสุดแล้ว

เอาละครับขอสรุปถึงเหตุและผลที่มีความเห็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ประการแรก เศรษฐกิจไทยนั้นบอบช้ำมานานแล้ว เนื่องจากโครงสร้างการผลิตไม่ดี สินค้าทางการเกษตรตกต่ำมายาวนาน และไม่มีทางจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้อีกสักเท่าไหร่ เมื่อต้องมาเจอกับผลกระทบจากสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีน ด้วยความทนทานทางโครงสร้างหรือทางกายภาพของไทยมีน้อย ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเราก็อยู่ในอาการปางตายอยู่แล้ว

ประการที่สอง ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าประเทศไทยเราขาดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ที่มีธรรมาภิบาล และที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศ มานานถึงร่วม 7-8 ปี เป็นอย่างน้อย บวกกับความระส่ำ
ระส่ายและความวุ่นวายทางการเมืองมานาน จนกระทั่งถึงวันนี้ ผลเลวร้ายจากเรื่องการเมืองนี้เห็นได้ชัดว่ามาจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) นี่เข้ามาจะครึ่งค่อนปีแล้วยังไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณออกมาใช้ เพื่อนต่างชาติถามทีไร ตอบไม่ได้ไม่พอยังต้องเบือนหน้าหนีอีกเพราะอายเหลือเกิน

ประการที่สาม ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ก็เดือดร้อนลำเค็ญมานาน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แทบทุกเรื่องที่ผู้คนเขาต้องทนลำบากแทนที่จะดีขึ้นบ้างกลับหนักข้อยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตลอดเมื่อเทียบกับ GDP จนล่าสุดเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ของปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นเป็น 79.1% หรือเป็นหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้น 13.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ปัญหานี้ยากเลยขอบเขตที่รัฐจะจัดการได้ จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเดือนมกราคม 2563 ที่เปิดเผยโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 243 เดือน กล่าวได้ว่าประชาชนผู้บริโภคหมดความเชื่อมั่นอย่างสุดสุดแล้ว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลดดอกเบี้ยทางการลงจากอัตรา 1.25% เหลือ 1.00% ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการแรกที่จะสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำดีกว่านั่งเฉย ต้องขอขอบคุณผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแทนประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ SME ด้วย แต่อย่าคิดว่ามาตรการนี้จะสามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนได้ อย่างดีก็แค่ให้ทุเลาอาการเพิ่มของหนี้เท่านั้นเอง

ประการที่สี่ สุดท้าย ผลกระทบที่จะเห็นได้ชัดของการระบาดของไวรัสโคโรนาต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งป่วยไข้และถดถอยอยู่แล้ว เป็นเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันน้อยอยู่แล้ว เป็นเศรษฐกิจที่โครงสร้างเปราะบางอยู่แล้ว และเป็นเศรษฐกิจที่ถูกกดอยู่ใต้ปัญหาใหญ่ๆ ที่หมักหมมมานานที่เห็นๆ อยู่ว่ารัฐบาลไม่มีศักยภาพที่จะแก้ไขได้เลย เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่มีแต่เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่ทำให้ลดได้ยาก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนรวยและคนจนที่นับวันมีแต่จะถ่างออก ปัญหาการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลซึ่งนับวันยิ่งอ่อนแรงตามการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจแต่ไม่มีใครคิดแก้ไข และปัญหาคอร์รัปชั่นที่สูงและดกดื่นจัดที่รัฐบาลทำเอ๋อ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลที่ถูกพัดพาอยู่ในสายน้ำที่เชี่ยวกราก ที่จะเอาใจช่วยและภาวนาอย่างไรก็คงไม่ไหวแล้ว แม้เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้รู้เรื่องเศรษฐกิจดีบางท่านได้พยายามตอบคำถามของผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า หากเรื่องไวรัสระบาดหายไปเชื่อว่าเรื่องเศรษฐกิจของไทยจะกลับเข้ามาสู่เส้นทางปกติดังเดิม ซึ่งผมได้ฟังแล้วคิดว่าเขาผู้ให้สัมภาษณ์คงละเมอไปมากกว่า

ท้ายที่สุดนี้ก็ขอส่งความปรารถนาดีมายังรัฐบาลนี้ และต้องขอชื่นชมที่ยังคงมีความอดทนไม่ยิ่งหย่อนกว่าประชาชนคนไทยระดับรากหญ้าทั้งหลายที่ต้องอดทนในความลำเค็ญที่ยังมองไม่เห็นทางจะฟื้น ผมต้องขออนุญาตอาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร นำหัวข้อบทความของท่านที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันพฤหัสที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ มาปลอบใจท่านผู้อ่านไว้หน่อย คือ ขอให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องของ โรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image