การประชันที่ไม่จงใจของดนตรีอันยิ่งใหญ่จากสองยุคสมัย กุสตาฟ โฮลสท์ VS ณรงค์ ปรางค์เจริญ โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

สิ่งหนึ่งที่สร้างความกดดันให้กับการเขียนวิจารณ์ดนตรีคลาสสิกก็คือ การที่จะต้องเขียนวิจารณ์บทเพลงที่นำออกแสดงเป็นครั้งแรกในรอบปฐมทัศน์ เป็นบทเพลงที่ยังไม่เคยนำออกแสดงสู่สาธารณชนมาก่อนเลย ผลงานที่ยังไม่มีผู้ชมเคยมีโอกาสได้ฟัง,ได้ศึกษาเตรียมตัวมาก่อน

การเขียนวิจารณ์ถึงผลงานในเงื่อนไขนี้ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกและประสบการณ์สั่งสมล้วนๆ เราจึงทำได้เพียงแค่ด้วยการพรรณนาอารมณ์และปฏิกิริยาตอบรับอย่างเป็นธรรมชาติที่มีต่อผลงานดนตรีนั้นๆ ซึ่งนี่ก็คงเป็นวัตถุประสงค์หลักโดยธรรมชาติ ของการฟังดนตรีทุกๆ ชนิดอยู่แล้ว ซึ่งการแสดงคอนเสิร์ตของวงทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) ในบ่ายวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ หอแสดงดนตรี มหิดลสิทธาคาร ภายใต้การอำนวยเพลงโดย วาทยกรรับเชิญ ดาริอุส มิคุลสกี (Dariusz Mikulski) นั้น มีบทเพลงที่คู่ควรแก่คำว่า “ยิ่งใหญ่” อย่างแท้จริง

ทั้งรายการ ประพันธ์โดยนักประพันธ์ดนตรีสองคน คนแรกคือ กุสตาฟ โฮลสท์ (Gustav Holst) ดุริยกวีชาวอังกฤษแห่งปลายศตวรรษที่ 19 อีกคนหนึ่งคือ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ซึ่งผลงานในรอบนี้ของเขาเป็นการนำออกแสดงรอบปฐมทัศน์ (ซึ่งสร้างความลำบากใจให้กับการเขียนวิจารณ์อยู่พอสมควร)

ผลงานดนตรีของทั้งสองคนต่างก็ต้องใช้วงออเคสตราแบบเต็มอัตราและยิ่งใหญ่ทั้งในแนวคิดทางดนตรีและการแสดงออกด้วยกันทั้งคู่ จัดเป็นผลงานระดับ “ชิ้นเอก” (Master Piece) ทั้งรายการ ซึ่งเมื่อได้รับการบรรจุไว้ในรายการเดียวกันเช่นนี้ แนวคิดในเรื่องการเปรียบเทียบ, การประเมินคุณค่า อันเปรียบเสมือน “การประชัน” ทางดนตรีกลายๆ จึงเกิดขึ้นเป็นเค้าโครงรางๆ แม้จะไม่ได้จงใจก็ตาม

Advertisement

ตามลำดับชั้นความยิ่งใหญ่โดยชื่อเสียง, เกียรติยศแล้ว กุสตาฟ โฮลสท์ ดุริยกวีชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ “ระดับโลก” ที่ได้รับการยอมรับในโลกดนตรีคลาสสิกมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์ดนตรีหนุ่มใหญ่ชาวไทยในวัย 46 ปี ยังคงกำลังอยู่ในเส้นทางเพื่อพิสูจน์ตนเอง เดินไปสู่หมุดหมายแห่งความสำเร็จเฉกเช่นที่ กุสตาฟ โฮลสท์ ได้รับไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตามกรอบธรรมเนียมทางความคิด ผลงานดนตรีชุด “ดาวเคราะห์” (The Planets) ของโฮลสท์จึงถูกมองว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของรายการที่ควรวางไว้ในครึ่งหลัง ส่วนผลงานดนตรีสองเพลงของณรงค์ เป็นผลงานดนตรีใหม่เอี่ยม ที่ยังไม่เคยนำออกบรรเลงมาก่อน (นำออกแสดงมาในรอบก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว โดยศิลปินชุดเดียวกันและสถานที่แสดงแห่งเดียวกัน) จึงถูกจัดวางไว้ในครึ่งแรกของรายการ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ในการฟังการบรรเลงจริง จึงทำให้ผลงานชิ้นเอกของ กุสตาฟ โฮลสท์ เสียเปรียบผลงานของณรงค์ ไปในบางด้านอย่างไม่ได้ตั้งใจ

กล่าวมาเช่นนี้ อย่าได้เข้าใจผิดคิดว่าผมไปหมิ่นเกียรติยศของ กุสตาฟ โฮลสท์ แต่ขอให้ได้โปรดใจเย็นอ่านบทความนี้ให้จบเสียก่อน แล้วจะเข้าใจในสิ่งที่ผมรู้สึกกดดันและพยายามอย่างยิ่งที่จะพรรณนาถึงคุณลักษณะผลงานดนตรีไปตามปฏิกิริยาตอบรับทางอารมณ์อย่างแท้จริง โดยไม่ยึดติดกับชื่อเสียง, มายาคติ และระดับชั้นของโฮลสท์ที่ครอบครองพื้นที่ในโลกดนตรีคลาสสิกมาช้านาน

Advertisement

บทเพลงเปิดรายการแสดงในครั้งนี้คือ “ปัญญาของแผ่นดิน” (Wisdom of the Land) ผลงานสำหรับวงออเคสตราขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะไม่ได้จงใจใดๆ ทั้งสิ้น แต่ณรงค์เขียนดนตรีเปิดการบรรเลงขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ด้วยเสียงคอร์ดและสีสันทางเสียงที่ให้บรรยากาศอันเวิ้งว้างไกลโพ้น ประดุจการเปิดท้องฟ้าพาเราไปสู่ห้วงอวกาศ ราวกับการเกริ่นนำให้ผู้ฟังทราบว่า ในครึ่งหลังจะเป็นบทเพลงที่นำพาจินตนาการของท่านไปสู่ดวงดาวอื่นๆ ในห้วงอวกาศ ศิลปะการผสมเสียงของณรงค์ เดินทางมาถึงพัฒนาการที่เรียกว่า เขาใช้เสียงกระด้าง (Dissonance) ได้อย่างกลมกล่อมและลงตัว ฟังแล้วกลับกลมกลืนไม่ระคายหู

ผลงานดนตรีคลาสสิกในช่วงหลังศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มักจะนิยมใช้เสียงกระด้าง, ระคายหูในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าและเทคนิคใหม่ๆ ในการประพันธ์ดนตรี ปัญหาก็คือว่าสัญญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางดนตรีนี้ เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับทางโสตประสาทของผู้ฟังไปในตัว เพราะโสตประสาทของมนุษย์ไม่ค่อยยอมรับเสียงที่กระด้างและระคายหูอยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันถูกใช้อย่างมากมายเกินไปจนฟังดูรก, ไร้ระเบียบและเหตุผล แต่ณรงค์ ปรางค์เจริญ เรียนรู้ศิลปะที่จะจัดวางเสียงกระด้างเหล่านี้ไว้ในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสม มันจึงกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเสียงดนตรี กลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งในองค์ประกอบทางศิลปะอย่างแท้จริง มิได้ใช้มันเป็นเพียงแค่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผู้ประพันธ์มีหัวก้าวหน้าเท่านั้น

แนวทำนองในลักษณะคล้ายเพลงร้อง (Lyrical) ที่ฟังดูให้อารมณ์เศร้าแต่กลับไม่ฟูมฟาย เป็นลักษณะแนวทำนองที่ไม่ชวนให้ร้องคลอไปได้ แต่กลับมีพลังดึงดูดความสนใจได้อย่างน่าติดตามแบบไม่ลดละ แนวทำนองที่คล้ายเพลงร้องแบบนี้ ที่เราร้องฮัมตามไม่ได้ ก็เสมือนศิลปินได้ผลักดันงานดนตรีของเขาให้สูงยิ่งขึ้นจนผู้ฟังเอื้อมไม่ถึง จับต้องและครอบครองไม่ได้ แต่ทว่าพวกเรา (ผู้ฟัง) ก็สามารถแหงนหน้าชื่นชมมันได้อย่างปีติโดยไม่ต้องดึงมันลงมาอยู่ที่ตัวเราเพื่อการครอบครองใดๆ เลย

มันเป็นดนตรีในจังหวะช้าที่ทุกๆ สิ่งคล้ายกับฟังดูแหว่งๆ วิ่นๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่เขาสามารถนำมันมาประกอบเข้ากันเป็นองค์ประกอบใหม่ได้อย่างลงตัว

ณรงค์มิใช่เพียงใช้เสียงกระด้างและระคายหูได้อย่างกลมกล่อม หากแต่เขายังสามารถใช้ความยุ่งเหยิงวุ่นวายซับซ้อนในการสอดประสานลวดลายทำนองต่างๆ (Texture และCounterpoint) ได้อย่างที่เราต้องใช้คำว่ามันคือความยุ่งเหยิงภายในที่ได้รับการจัดระเบียบมาเป็นอย่างดี แนวคิดในสองลักษณะที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว หากแต่ณรงค์ เป็นศิลปินที่ราวกับจะใช้ศิลปะสอนพวกเราว่าความยุ่งเหยิง,วุ่นวายสามารถดำรงอยู่ในสังคมและวิถีชีวิตจริงได้โดยที่ไม่ได้ทำร้ายหรือแม้แต่จะสร้างความรำคาญ

มันคือรสชาติและลีลาการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง หากแต่เราต้องหาวิธีรับมือและจัดการกับมันให้ได้เท่านั้นเอง

บทเพลงที่สองของรายการคือเปียโนคอนแชร์โตที่เขาใช้ชื่อกำกับบทเพลงว่า “Luminary” (ซึ่งผมขอแปลเอาอย่างง่ายๆว่า “ผู้จุดประกาย”) โดยเขาอุทิศบทเพลงนี้ให้กับ เบ็นเน็ตต์ เลอร์เนอร์ (Bennett Lerner) ศิลปินเดี่ยวเปียโนและครูคนสำคัญของเขา อีกทั้งยังเป็นครูเปียโนของศิลปินเดี่ยวเปียโนในบทเพลงนี้อีกด้วย นั่นก็คือหนุ่มนักเปียโนเลือดผสม อังกฤษ-ไทย-จีน นามว่า คริสโตเฟอร์ จันวอง แม็คคิแกน (Christopher Janwong Mckiggan) ผู้ซึ่งเมื่อเราเห็นฝีมือและความเข้าใจในการตีความดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยของเขาแล้วก็ทำให้เราต้องรีบกลับไปดูประวัติของเขาที่ผ่านสังเวียนการแสดงดนตรีร่วมสมัยมาอย่างโชกโชน

บทเพลงคลาสสิกที่แต่งขึ้นใหม่คือความท้าทายและความถนัดชื่นชอบของเขาไปในตัว อีกทั้งผลงานการบันทึกเสียงกับค่ายดนตรีคลาสสิกที่สำคัญอย่าง Nimbus และ Albany จึงยิ่งตอบข้อสงสัยได้กระจ่างชัดว่าเหตุใดเขาจึงรับผิดชอบชะตากรรมผลงานใหม่ๆ ได้ดีจนเป็นที่ไว้วางใจของนักประพันธ์ดนตรีหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เสมือนกุมารแพทย์ที่คอยดูแลให้กำเนิด

ชีวิตใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้มีชีวิตเริ่มต้นอย่างแข็งแรงสมบูรณ์และปลอดภัย และในครั้งนี้เขาก็สามารถทำให้เปียโนคอนแชร์โตของ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างงดงามครบถ้วนสมบูรณ์ทีเดียว

ใครที่เคยชื่นชอบและยึดมั่นกับผลงานในหมวดหมู่วรรณกรรมเปียโนคอนแชร์โตคลาสสิกทั้งหลายแหล่ ทั้งในศตวรรษที่ 18 และ 19 อาจจะต้องผิดหวังบ้างกับผลงานชิ้นนี้ของณรงค์ เพราะผลงานเปียโนคอนแชร์โตที่อาจพอจะนำมาเทียบเคียงกับผลงานชิ้นนี้ของณรงค์ได้บ้างก็เห็นว่าน่าจะเป็นเปียโนคอนแชร์โตของ เบลา บาร์ท็อค (Bela Bartok) ดุริยกวีระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวคือเปียโนมิใช่เครื่องดนตรีที่มีไว้เดินแนวทำนองอันไพเราะรื่นหู แล้วให้วงออเคสตราบรรเลงคลอหรือตอบโต้ในแบบศตวรรษที่ 18 และ 19 แต่ทว่าเปียโนกลับกลายเป็นเสมือนเครื่องกระทบ (Percussion) ที่สามารถบรรเลงแนวทำนองหลักทางดนตรี (Subject) ได้อย่างชัดเจน

ในภาพรวมของการแสดงออกของบทเพลงนี้ มีความทัดเทียมกันอย่างแท้จริง ในสมดุลบทบาทการแสดงออกของทั้งแนวเปียโนและวงออเคสตรา ออกไปในทางแนวคิดที่เราพอจะรู้จักกันก็คือ “ซินโฟเนีย คอนแชร์ตานเต” (Sinfonia Concertante) หรือบทเพลงลูกผสมระหว่างซิมโฟนีและคอนแชร์โต ความก้าวหน้าในทางเทคนิคการแสดงออกทางดนตรีของณรงค์ เป็นที่ประจักษ์ไปแล้วในบทเพลงหลายชิ้นของเขาในการนำออกแสดงในเมืองไทย และหากเราจะย้อนมาดูด้านฉันทลักษณ์ (Form) ที่ณรงค์ใช้ในการประพันธ์บทเพลงชิ้นนี้แล้ว เขาใช้ฉันทลักษณ์ในบทเพลงนี้ได้อย่างกระจ่างชัดเสมือนกับที่ โมซาร์ท หรือไฮเดิน ใช้กันในศตวรรษที่ 18

บทเพลง 3 ส่วน (Ternary Form = A-B-A) โดยส่วนทำนองหลัก (A) ตั้งอยู่บนใจความ (Motif) สั้นๆ ที่น่าทึ่ง เพียงการบรรเลงโน้ตที่วิ่งรวดเร็วในวลีสั้นๆ ผสานกับการรัวนิ้วพรมเสียง (Trill) มันอาจจะไม่ใช่แนวทำนองที่ชวนประทับใจ ร้องฮัมตามได้แบบวรรณกรรมเปียโนคอนแชร์โตที่เราเคยคุ้นชินกัน หากแต่มันโดดเด่น, ส่องประกายสมกับฉายา Luminarary ของบทเพลงนี้อย่างแท้จริง เป็นใจความหลักทางดนตรีที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นนามธรรมที่อาจจับต้องยาก ร้องตามไม่ได้ แต่ทว่าโดดเด่นสมกับเป็นเนื้อหาหลักของเพลงอย่างแท้จริง และเมื่อใจความนี้เปลี่ยนผ่านจากการบรรเลงด้วยเปียโนไปสู่กลุ่มไวโอลินซึ่งมีพื้นฐานธรรมชาติที่ตรงข้ามกับเปียโน แต่ณรงค์ก็สามารถจัดวางโมทิฟนี้ให้กลุ่มไวโอลินบรรเลงได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่เคอะเขินใดๆ

อีกส่วนหนึ่งที่น่าทึ่งและแสดงถึง “ความเป็นนาย” ต่อการเลือกใช้เครื่องดนตรี (Master of The Instrument) ของณรงค์อีกตอนหนึ่งก็คือ การให้แนวบรรเลงเดี่ยวเปียโนและระนาดฝรั่ง (Vibraphone) บรรเลงใจความรัวเสียงนี้ ตอบโต้-ล้อเลียนกันจนเราแทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร มันคือการใช้ “มุขทางดนตรี” ที่เขาเล็งเห็นในจินตนาการมาก่อนว่าด้วยการบรรเลงดนตรีในลักษณะนี้ เครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้จะสนทนาโต้ตอบกันอย่างราวกับตัวละครสองตัวล้อเลียนบุคลิกของกันและกัน เสมือนสิ่งมีชีวิต

ดนตรีในส่วนช้า (B) ของเขาไม่ใช่เพลงยามค่ำชวนฝัน (Nocturne) แบบโชแปง ณรงค์พาจินตนาการเราไปไกลเกินกว่าเพียงคำว่า อารมณ์,ความรู้สึก (อันอ่อนไหว) หากแต่มันนำพาจิตใจเราไปสู่สิ่งที่เราอาจเรียกว่า ห้วงภวังค์ในอีกมิติหนึ่ง,ในอีกโลกหนึ่งอย่างแท้จริง ดนตรีที่เคลื่อนไปอย่างช้าๆ โดยปราศจากแนวทำนองไพเราะที่จะสร้างความรู้สึกอ่อนไหวในอารมณ์แบบที่เราคาดหวังหรือคุ้นเคย แต่มันสามารถสร้างมนต์สะกดทางเสียงที่ทำให้เราต้องจดจ่อและติดตามอย่างไม่ลดละ เป็นดนตรีที่สร้างความปีติล้ำลึกและนำจิตเรามุ่งไปสู่ความสงบเย็นอย่างบอกไม่ถูก

และเมื่อแนวทำนองหลัก (A) ย้อนกลับมา เราก็ประจักษ์ได้ถึงฉันทลักษณ์,กรอบความคิดที่มีรูปแบบชัดเจนแน่นอน ซึ่งณรงค์มิได้ละทิ้งในเรื่องนี้

บทเพลงของณรงค์ เปิดโลกแห่งการรับรู้ทางเสียงใหม่ๆ ให้แก่ผู้ฟังอย่างแท้จริง หลังจบครึ่งแรกของรายการ ผมเองรู้สึกเสมือนได้รับบทเรียนใหม่ๆ ในศิลปะทางเสียง ที่เราเรียกกันว่า “ดนตรี” ณรงค์เผยถึงศักยภาพของคำว่าดนตรีออกไปให้กว้างไกล ดนตรีมิใช่ศิลปะเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจเท่านั้น หากแต่ดนตรีของณรงค์ได้ปลุกการรับรู้ภายในแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวเราที่หลับใหลอยู่ให้พลิกฟื้นตื่นขึ้นสู่การรับรู้ใหม่ๆ (หรืออาจกลับสู่ธรรมชาติดั้งเดิม!) ได้อย่างน่าทึ่ง

ทั้งหมดนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมบอกกล่าวกับทุกๆ ท่านว่าเหตุใดผมจึงหนักใจในการเขียนวิจารณ์ดนตรีในครั้งนี้ เพราะบทเพลงในครึ่งหลังก็คือ “ดาวเคราะห์” ของกุสตาฟ โฮลสท์ บทเพลงที่เคยได้รับการกล่าวขวัญทั่วโลกว่านี่คือ “เสียงใหม่ๆ แห่งศตวรรษที่ 20” หรือว่ามันคือ เสียงใหม่ๆ เมื่อร้อยปีที่แล้วนั่นเอง หากแต่ต้องมาบรรเลงตามหลังผลงานดนตรีของณรงค์ ที่เป็นเสียงใหม่ๆ แห่งศตวรรษที่ 21 ในวันนี้ที่ผ่านการเรียนรู้ทางดนตรีและประสบการณ์สั่งสมทางดนตรีเพิ่มเติมมาอีก 100 ปี โปรดอย่าด่วนสรุปเอาว่า ผมจะบอกกับทุกๆ ท่านว่าณรงค์เขียนดนตรีได้ดีกว่าโฮลสท์ เพราะถ้าหากสรุปได้ง่ายๆ และตื้นเขินเพียงนี้ มันจะนำพาเราไปสู่ตรรกะวิบัติทางดนตรีอีกมากมายในทำนองที่ว่า บรามส์เหนือกว่าโมซาร์ทและไฮเดิน, ซิมโฟนีของมาห์เลอร์เหนือกว่าซิมโฟนีของเบโธเฟน….ฯลฯ

โลกของศิลปะและดนตรีไม่มีอะไรที่เราจะสรุปได้อย่างตื้นเขินและไร้ประโยชน์แบบนั้น

การบรรเลงของวงทีพีโอในครั้งนี้เลือกบทเพลง The Planets มาบรรเลงเพียง 5 ท่อน โดยตัดท่อนที่ 5 (Saturn, the Bringer of Old Age) และท่อนสุดท้าย (Neptune, the Mystic) ออกไป วงทีพีโอภายใต้การอำนวยเพลงของมิคุลสกี ถ่ายทอดผลงานชิ้นนี้ได้เรียบร้อยราบรื่น ท่อน Mercury (ดาวพุธ) ที่ว่องไวรวดเร็ว ฟังดูเคลื่อนไหวปรู๊ดปร๊าดราวกับเทพผู้สื่อข่าวอย่างแท้จริง อาจมีประเด็นท้วงติงเล็กๆ น้อยๆ บ้างว่า ท่อน Venus (ดาวพระศุกร์=เทพีแห่งความสงบสุข) นั้น น่าจะอวดการบรรเลงในระดับเสียงเบาได้มากกว่านี้ เพราะท่อนนี้อวดคุณลักษณะของเสียงดนตรีที่เบาอยู่แล้ว และสภาพความก้องกังวาน (Acoustic) ของหอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคารก็พร้อมจะตอบสนองทุกๆ ระดับความดัง-เบาของเสียงอีกด้วย

คอนเสิร์ตครั้งนี้จบลงด้วยบทสรุปที่ผมไม่ลังเลใจเลยที่จะกล่าวว่า ณรงค์ ปรางเจริญ คือ หนึ่งในนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 21 อันเป็นที่ชื่นชอบของผม (ไม่ว่าชื่อนี้จะเป็นคนเชื้อชาติใด หรือสัญชาติใดก็ตาม) ถ้าเราละวางเรื่องมายาคติ, แบรนด์เนม หรือต้นทุนความเชื่อสะสมใดๆ ทางดนตรีที่เคยมีมา และมาตัดสินประเมินคุณค่ากันด้วยผลงานสร้างสรรค์ล้วนๆ เราจะยอมรับได้ไม่ยากเลยถึงข้อสรุปที่ว่า กุสตาฟ โฮลสท์ คือ “หนึ่งใน” ดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 และณรงค์ ปรางค์เจริญ ก็คือ “หนึ่งใน” ดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่21

ผมเองไม่อาจกล่าวได้ว่าผมเป็นแฟนดนตรีของเขา หากแต่เคยฟังผลงานการประพันธ์ดนตรีของเขามายาวนานสิบกว่าปี ได้เห็นพัฒนาการทางดนตรีของเขาที่เจริญเติบโตขึ้น ตามวัยวุฒิ, ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมดีๆ ที่ช่วยบ่มเพาะเขาให้กลายเป็นดังเช่นที่เรารู้จักกันในวันนี้ เสมือนดังนักประพันธ์ดนตรีระดับโลกทั้งหลาย ผลงานดนตรีที่ต้องบ่มเพาะ, สั่งสมประสบการณ์ในการประพันธ์มาตลอดทั้งชีวิต

ปีนี้ ณรงค์ ปรางค์เจริญ กลายเป็นหนุ่มใหญ่วัย 46 ปี ชีวิตคนในวัยนี้หากเป็นนักกีฬา (โดยเฉพาะถ้าเป็นกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังมากๆ) ก็คงต้องถือว่าปิดฉากเรียบร้อยไปแล้ว แต่ชีวิตการเป็นนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกต้องถือได้ว่ากำลังเริ่มก้าวเข้าสู่การบรรลุวุฒิภาวะทางดนตรีอันสำคัญอย่างน่าจับตามองทีเดียว และยังจะมี “อนาคต” อีกยาวไกล

ทุกวันนี้ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายมั่นคงตามสมควรแก่สถานะในต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เขาจะพำนักในสหรัฐอเมริกา) มีงานแต่งเพลงอันเป็นที่ต้องการสำหรับวงออเคสตราต่างๆ อย่างมากมาย จัดเป็นบุคคลโด่งดังทีเดียวในวงการดนตรี ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายจนแทบจะนับไม่ถ้วนและสิ้นเปลืองพื้นที่ที่จะนำมากล่าวถึงในบทความนี้, เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาการประพันธ์ดนตรี ในสถาบันดนตรีใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา ได้รับการกล่าวขวัญถึงจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในชิคาโกและนิวยอร์ก

กล่าวโดยสรุปณรงค์เป็นบุคลากรชาวไทยในโลกของดนตรีคลาสสิกสากลที่สิ่งแวดล้อมและบริบทของวงการดนตรีในระดับนานาชาติให้การยกย่องยอมรับ (และแน่นอนมันหมายถึงการเลี้ยงดูอุปถัมภ์) อย่างกว้างขวาง มงคลสูตรข้อที่ 4 ในทางพุทธศาสนากล่าวว่า “ปฏิรูปเทสวาโส จ”(การได้อยู่ในประเทศหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมจัดเป็นมงคลแห่งชีวิต) ถ้าหากจะเปรียบกับชัยภูมิชีวิตทางดนตรีแล้ว ณรงค์ ปรางค์เจริญ เติบโตได้อย่างถูกต้องตามพัฒนาการลำดับในชีวิต ก็เพราะเขาอยู่ในถิ่นที่อันถูกต้องสมควรแก่พรสวรรค์, ความรู้ความสามารถทางดนตรีของเขา เพราะถ้าหากว่าเขายังคงพำนักอยู่เป็นการถาวรในสารขัณฑ์ประเทศที่สั่งสอนอบรมสืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคนว่าคนดนตรีเป็นเพียงพวกชนชั้นต่ำจัดเป็น “พวกเต้นกินรำกิน” และถือเอาดนตรีเป็นเพียงมหรสพเพื่อความบันเทิงและตอบสนองกิเลสในขั้นหยาบๆ เท่านั้น

หากเป็นเช่นนี้ ผู้คนในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นก็คงพากันทั้งย่นหน้าผาก หรือเลิกคิ้วถามกันด้วยความสงสัยยิ่งนักว่า “ใครเหรอ! ณรงค์ ปรางค์เจริญ เนี่ย?”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image