ร่างกฎกระทรวงการอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดย ผดุง จิตเจือจุน

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ในมาตรา 78 ได้บัญญัติให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุรักษ์ และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยให้มีการกำหนดใช้ประโยชน์ของน้ำสาธารณะ กำหนดห้ามการกระทำที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน ทั้งให้กำหนดให้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพน้ำ เป็นต้น

กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัย และให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดให้มีการประชุมที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่
ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับเชิญไปในนามของวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นด้วย

ในเนื้อหาสาระ ในร่างกฎกระทรวงการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. … ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะบางประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันและรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรน้ำสาธารณะ ที่เป็นแหล่งน้ำดิบหล่อเลี้ยง ประชากรทั้งประเทศ รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ที่สำคัญยิ่งคือเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตเป็นน้ำประปาให้อุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในประเทศ

หากแหล่งน้ำดิบที่ได้จากแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ถ้าไม่ฟื้นฟู อนุรักษ์ หรือไม่มีการพัฒนา ปล่อยให้เสื่อมสภาพ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม พอถึงยามแล้ง ประเทศประสบภาวะภัยแล้งหนัก จะพากันเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ ทั้งในภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ฯลฯ

Advertisement

ผู้เขียนขอชี้ประเด็นให้เห็นว่า ในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ นอกจากจะมีเนื้อหาสาระครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะแล้ว อยากจะให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปกป้องและรักษาแม่น้ำ ลำคลองอย่างเข้มข้นและปฏิบัติอย่างจริงกันเสียที เพราะที่ผ่านมา แม่น้ำลำคลองถูกปล่อยปละละเลย มีแม่น้ำ ลำคลอง หลายแห่งกำลังทรุดโทรม หลายแห่งคุณภาพน้ำเสื่อมสภาพไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีกฎหมายหลายฉบับคุ้มครองป้องกันรักษาแต่ก็เอาไม่อยู่

ขอให้ผู้ยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ พิจารณาว่าจะนำประเด็นข้อคิดเห็นของผู้เขียนนำไปใส่ในกระทรวงนี้อย่างไร เพื่อให้การฟื้นฟูอนุรักษ์ และการพัฒนา ทรัพยากรน้ำสาธารณะดังที่กล่าวมา ยั่งยืน แม่น้ำ ลำคลองยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำที่มีคุณภาพ แม้จะประสบภัยแล้งธรรมชาติก็ตาม ซึ่งมีดังนี้

1.ทรัพยากรน้ำสาธารณะซึ่งเป็นสายเลือดสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งประเทศว่าจะฟื้นฟูอนุรักษ์ พัฒนาแม่น้ำ ลำคลองที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างไร ให้มีน้ำเต็มอุดมบริบูรณ์ ไม่เหือดแห้งในยามแล้ง มีคุณภาพน้ำดี ปราศจากสารเคมีปนเปื้อนที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดเวลา

Advertisement

2.แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง บึงมีทั่วประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันรักษาแม่น้ำลำคลองมีให้เสื่อมสภาพ อาทิ กฎหมายว่าด้วยโรงแรม กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์ กฎหมายว่าด้วยโรงพยาบาล กฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันแม่น้ำ ลำคลองพ้นจากน้ำเน่าน้ำเสียได้

ทุกวันนี้ ยังมีการทิ้งของเสีย ขยะ น้ำเสีย ลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่น ที่ตั้งใกล้แหล่งแม่น้ำ ได้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ลำคลอง รวมทั้งเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในไร่ ปุ๋ยเคมีในท้องนา และปุ๋ยบำรุงหญ้าในสนามกอล์ฟ สารเคมีที่ตกค้างผิวดินจะถูกน้ำฝนไหลชะลงแม่น้ำ ลำคลองโดยทางราชการไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทั้งนี้เพราะมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบแม่น้ำ ลำคลองของกรม ซึ่งขึ้นกับกระทรวงต่างๆ ทำงานไม่เป็นเอกภาพ ต่างปัดหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทิ้งของเสีย ขยะ น้ำเสีย ลงสู่แม่น้ำ ลำคลองได้

ดังนั้น ในว่างกฎกระทรวงควรจะมีการระบุหน่วยงานรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว ที่มีอำนาจบริหารจัดการ แม่น้ำ ลำคลอง เพื่อจะได้ทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ

3.แหล่งกำเนิดต้นน้ำ ลำธาร ซึ่งเป็นบ่อเกิดแม่น้ำ จำนวน 48 สายหลักในประเทศ แตกแยกย่อยสาขาไปเป็นลำคลองห้วย หนอง คลอง บึง จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องปกป้อง ดูแล รักษา มิให้เสื่อมสูญ รวมทั้งฟื้นฟู พัฒนา ให้แหล่งกำเนิดต้นน้ำ ให้มีความสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา มิให้เหือดแห้ง จากการทำลายป่า

ในร่างกฎกระทรวง จึงควรระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแหล่งกำเนิดต้นน้ำ พร้อมอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

4.แม่น้ำ ลำคลองมีอยู่กระจายทั่วประเทศ มีระยะทางยาวมากรวมกันหลายร้อยกิโลเมตร เกินกำลังที่พนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลได้ทั่วถึง แม่น้ำ ลำคลอง หลายสาย จึงเสื่อมสภาพ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ประชาชนไม่อาจใช้อุปโภคบริโภคได้

ในร่างกฎกระทรวง ควรกำหนดให้มีการจัดดั้งเครือข่ายประชาชนอาสาพิทักษ์คลอง โดยรับสมัครจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อยู่ใกล้ แม่น้ำ ลำคลอง ที่เสียสละอาสาเข้ามาเป็นพลเมืองดี โดยมีค่าตอบแทนพอสมควร ทำหน้าที่ ในการเฝ้าระวัง การลาดตระเวน ตรวจตรา พบคนทิ้งของเสีย ขยะ น้ำเสียจากโรงงาน หรือพบเห็นเกษตรกรพ่นยาเคมีกำจัดศัตรูพืช ของเสีย จากฟาร์มเปิด ไก่ หมู บ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ลำคลองก็ให้แจ้งหน่วยงานรับผิดชอบเข้ามาแก้ไขทันที

5.การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในร่างกฎกระทรวงควรจะระบุให้รัฐมีอำนาจในการสงวนพื้นที่สีเขียว สำหรับใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อช่วยชะลอภาวะน้ำท่วม โดยให้มีค่าทดแทนในรูปการเช่าพื้นที่สำหรับใช้ กักเก็บน้ำกับเจ้าของที่ดิน หรือผู้ครอบครองที่ดินนั้น

พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สำหรับเกษตรกรรม ในปัจจุบันมีเหลือน้อยเล้ว เมื่อเกิดน้ำท่วม จึงไม่มีพื้นที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำ ดังเช่น ทุ่งหลวง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมทีเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นที่รองรับน้ำที่ไหลหลากมาจากภาคเหนือ แต่ต่อมาถูกยกเลิกเมื่อปี 2530 กลายเป็นพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เมื่อน้ำไหลหลากมา ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ จึงเกิดน้ำ เข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมจนเสียหายหนัก เมื่อปี พ.ศ.2554

6.การป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง

1) ส่งสริมสนับสนุนให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไรทำ แก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ในร่างกฎกระทรวง จึงควรบรรจุเรื่องการสนับสนุน การทำแก้มลิงไว้ด้วย โดยรัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการขุดบ่อแก้มลิงให้เกษตรกรทั่วประเทศ ชาวนา ชาวไร่ ก็จะไม่ขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมในยามแล้ง

2) การเติมน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง มิให้น้ำพร่อง ในยามแล้ง ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีน-แม่กลองมาเติมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการทำฝนหลวง

3) ผันน้ำจากแม่น้ำระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำ สาละวิน มาเดิมลงในแม่น้ำลำคลอง ภายในประเทศ ไม่ให้น้ำพร่อง ในยามแล้ง จะได้มีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดเวลา

ในร่างกฎกระทรวง ควรจะระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในการบริหารจัดการในการเติมน้ำและผันน้ำลงแม่น้ำ ลำคลอง และฝนหลวง เพื่อมิให้ขาดแคลนน้ำในภาวะภัยแล้ง

7.เรื่องการทำความสะอาด การกำจัด ขยะ วัชพืชที่กีดขวางการไหลทางน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ในแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อให้น้ำมีคุณภาพไม่เสื่อมโทรม

ในร่างกฎกระทรวง ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง เพราะไม่มีหน่วยใดรับผิดชอบเรื่องผักตบชวาในลำคลอง กระทั่ง นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาสั่งการ กำจัดผักตบชวา ในลำคลองต่างๆ ด้วยตนเอง จนเป็นข่าวเมื่อปี พ.ศ.2559

8.ลำพังหน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาดูแลรับผิดชอบร่วมด้วย เนื่องเพราะเป็นคนอยู่ในพื้นที่ อยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านท้องถิ่นย่อมได้ยินปัญหาด้วยหู และเห็นปัญหาด้วยตา กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ทุกวัน

9.การปลุกจิตสำนึกประชาชน ก็เป็นหัวใจสำคัญ จะช่วยให้ประชาชน ชาวบ้าน เกิดความรักความหวงแหน มีความผูกพัน ในการเฝ้าดูแล รักษา แม่น้ำ ลำคลอง ฯลฯ เสมือนหนึ่งตนเองเป็นเจ้าของทำให้แม่น้ำลำคลอง ฯลฯ จะสะอาดอยู่ตลอดเวลา

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เมื่อประกาศใช้แล้ว และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเครือข่ายประชาชนอาสาพิทักษ์คลอง ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ ทรัพยากรน้ำสาธารณะแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ห้วยหนอง คลอง บึง แม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำ จะเป็นแหล่งน้ำ

ที่มีคุณภาพใช้การอุปโภคบริโภคได้ตลอดไป

หากมีการใส่ใจ เข้มงวดกวดขันจริงจัง ป้องกันรักษาแม่น้ำ ลำคลองตลอดเวลา ประเทศก็จะอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ไม่ขาดแคลนน้ำ จะมีน้ำพอเพียงใช้ในการอุปโภคบริโภคตลอดไป

จะไม่มีภาพข่าว ทหาร หน่วยราชการที่รับผิดชอบ ขนน้ำไปแจกชาวบ้านในต่างจังหวัด กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สั่งขุดเจาะบ่อน้ำบาลดาลช่วยเหลือชาวนา กรมพัฒนาที่ดิน สั่งการขุดสระน้ำในพื้นที่นาของเกษตรกร ผู้ว่าการการประปานครหลวง นำทีมงานออกรณรงค์ให้บระชาชนช่วยกันประหยัดน้ำในช่วงวิกฤตภัยแล้ง ถึงกับนายกรัฐมนตรีต้องออกโทรทัศน์แถลงการณ์การบริหารทรัพยากรน้ำ คงจะไม่เกิดขึ้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image