คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน อย่าให้อดีตกำหนดอนาคต : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ เรามักจะใช้ประสบการณ์ในอดีตกำหนดสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากเกินไป

ผมเห็นด้วยกับนักบริหารหญิงท่านหนึ่งที่มากด้วยความสามารถของห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางเมืองที่ว่า “ทุกวันนี้ใช้ประสบการณ์ในอดีตมาบริหารงานได้เพียง 30% เท่านั้น ส่วนอีก 70% เป็นเรื่องที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่ล้วนๆ”

ในยุคเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อถึงกันได้แค่ปลายนิ้วเช่นทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จและกลยุทธ์ต่างๆ ขององค์กรใดๆ นั้นจะถูกเลียนแบบได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากปราศจาก “นวัตกรรม” ที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว ความสำเร็จขององค์กรก็จะอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

เช่นเดียวกับการพัฒนาด้าน “เทคโนโลยี” ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็เพราะจากความจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสร้าง “ความแตกต่าง” ในสินค้าหรือบริการให้เร็วขึ้นกว่าที่ใครจะลอกเลียนได้ทัน

Advertisement

ยิ่ง 2 เสาหลักของ “Industry 4.0” และ “Thailand 4.0” ในการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ก็คือ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” ด้วยแล้ว นวัตกรรมยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

แต่ที่แปลกก็คือ ไม่มีองค์กรใดๆ เลยที่กำหนดให้นวัตกรรมเป็นงานของทุกๆ คน

ทุกๆ วัน ในองค์กรโดยส่วนใหญ่แล้ว นวัตกรรมยังคงเกิดขึ้นแบบลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งที่ควรจะเกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพราะว่านวัตกรรมเป็นกลยุทธ์แห่งความยั่งยืนเพียงหนึ่งเดียวที่จะสร้างคุณค่าขององค์กรในระยะยาวได้

Advertisement

แม้ว่าเราจะพูดเรื่อง “นวัตกรรม” มากกว่าทศวรรษแล้ว จำนวนนวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ในวงจำกัด เราจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญและปรับกระบวนความคิดใหม่ๆ เพราะเรื่อง “นวัตกรรม” จะอาศัย “ประสบการณ์ในอดีต” ได้ไม่มากนัก

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ความสามารถในการปรับตัว” ก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จมักจะมีเรื่องราวต่างๆ ที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีต ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกน้อยมาก ผลก็คือ เรามักจะชื่นชมกันแต่ความสำเร็จในอดีต มากกว่าการเตรียมพร้อมในเรื่องของความอยู่รอดอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งหมดทั้งปวงที่ว่านี้ คือเหตุผลที่ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ต้องพบกับความยากลำบาก เมื่อเผชิญกับผู้คนที่จมอยู่กับความสบายและความสำเร็จในอดีต โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้นำภาคอุตสาหกรรมอาจถูกทิ้งให้ล้าหลังได้เพียงชั่วข้ามคืน

ปัญหาที่ตามมาก็คือ เรามักจะอาศัยวิกฤตการณ์ต่างๆ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆ นวัตกรรม จึงเกิดขึ้นอย่างล่าช้า เพราะต้องคอยจังหวะหรือโอกาส ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้ เกิดกระแสต่อต้าน และมีต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงสูงด้วย

ดังนั้น การที่จะรักษาไว้ซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิด “นวัตกรรม” ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดอนาคตด้วย ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image