กิจกรรมเป็นกิจวัตร : กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในมหาวิทยาลัยที่โยงใยกับชุมชนและสังคม : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

การส่งเสริมให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมเป็นภารกิจที่ท้าทาย ตั้งแต่นิยามความหมายของคุณธรรม กิจกรรมหรือการกระทำอะไรที่เรียกว่ามีคุณธรรม ในระดับปัจเจกบุคคล คุณธรรมมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของบุคคล เช่น เพศ วัย และยังเชื่อมโยงกับระบบนิเวศที่อยู่รายรอบปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ชุมชน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมจึงไม่สามารถกำหนดให้มีรูปแบบเดียวที่ตายตัวได้ ในทางตรงกันข้ามกระบวนการต้องมีความละเอียดอ่อน เข้าใจในความหลากหลายทั้งของผู้คนและระบบนิเวศที่อยู่รอบตัว

ในกลุ่มสถานศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญ และต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การส่งเสริมคุณธรรมที่เคยดำเนินการมา ก่อนที่จะวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งจากจุดเริ่มนี้นำมาสู่การจัดเสวนาร่วมกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับอนาคตคุณธรรมของสังคมไทย” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม 18B ชั้น 18 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ตึกใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การส่งเสริมคุณธรรมระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัย และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รวมทั้งหาเแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยร่วมกัน ผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพและคุณธรรมนิสิตนักศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการและบุคลากรของศูนย์คุณธรรม

การเสวนาช่วงแรกเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่งเสริมคุณธรรมจากมหาวิทยาลัย โดยรูปแบบการดำเนินงานด้านส่งเสริมคุณธรรมของมหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย

1.กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับชุมชน/สังคม (Social engagement) เช่น ฝึกอาชีพผู้พิการ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

Advertisement

2.กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย เช่น การรณรงค์วินัยจราจร การส่งเสริมความสุจริตในการสอบ การพัฒนาผู้นำนิสิต/นักศึกษา การจัดประกวดให้รางวัลกิจกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละคณะ ธนาคารความดี

3.การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร เช่น การกำหนดให้มีการลงทะเบียนวิชาบำเพ็ญประโยชน์ บัณฑิตอาสา และครอบคลุมไปถึงการพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาที่วัดผลความเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอน

4.การตั้งศูนย์อาสาสมัครบริหารจัดการงานอาสาสมัครในพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เป็นหน่วยกลางในการประสานความช่วยเหลือในช่วงที่จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่

Advertisement

5.การสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย

6.กาารดำเนินงานเชิงประเด็นสังคม เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Zero waste, PM2.5)

สําหรับข้อเสนอแนะที่มีต่อการพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมคุณธรรมของสังคมไทย ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม คือต้องนิยามความหมายของคุณธรรมให้ชัดเจน จากนั้นจึงดูว่าชุดคุณธรรมมีอะไรบ้าง ตั้งเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และต้องรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่คิด เด็กทำ” แต่ต้องให้ “เด็กคิด เด็กทำ” ซึ่งจะทำให้เห็นอะไรใหม่ๆ และได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น การเสริมสร้างคุณธรรมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัว จำเป็นต้องสร้าง “ผู้สร้างที่ดี” เสียก่อน ซึ่งก็คือพ่อแม่ สถาบันครอบครัวแม้จะเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุดเช่นกันในการที่จะสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญควรสร้างกิจกรรมที่ทุกคนสามารถทำให้เป็นกิจวัตรของตนเองได้ “ทำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร” ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่ทำในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วจบไป มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างกิจกรรมที่เหมือนกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน แต่ควรคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอะไรที่ตอบโจทย์เดียวกันได้

มหาวิทยาลัยต่างมีทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน ควรนำทุนทางสังคมนั้นมาใช้ ตั้งเป้าหมายร่วมกันของทุกมหาวิทยาลัยว่าสถานการณ์คุณธรรมด้านใดในสังคมไทยเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข และให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานั้นกันเอง จากนั้นจึงมีเวทีให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาเสวนาร่วมกันว่าได้จัดกิจกรรมใดไปบ้าง และส่งผลอย่างไร กระบวนการเหล่านี้จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ชื่นชมให้กำลังใจกัน เพื่อช่วยกันเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และสำหรับการทำงานร่วมกับชุมชน (Social engagement) ควรจัดให้มีเครือข่ายระดมความคิด

เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ในการทำวิจัย มีศูนย์การวิจัย มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมอยู่แล้ว ควรนำเอามาเสนอร่วมกันออกแบบแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกัน

จากข้อเสนอแนะที่เกิดจากวงเสวนาทำให้เห็นว่าแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมในมหาวิทยาลัยเป็นงานที่เชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว และชุมชน รวมทั้งสังคม โดยรูปแบบการส่งเสริมคุณธรรมควรเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร คือเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต การส่งเสริมคุณธรรมจึงจะเกิดผลและมีความยั่งยืน ซึ่งในประเด็นการใช้กิจกรรมในการพัฒนาคนนั้น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง “Ecology ระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาเด็ก” ในงานแถลงผลการวิจัยและพัฒนาระบบการติดตามสภาพการณ์ปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันและปัจจัยบริบทเพื่อลดความต้องการยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูง 24 มกราคม 2563 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่า การส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเป็นการพัฒนาภาวะการนำ (Leadership) โดยกิจกรรมที่จัดนั้นต้องเน้นการมีส่วนร่วม มีการสะท้อนความรู้สึกหลังจัดกิจกรรม (Reflection)

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ คือ การพัฒนา Soft skill เป็นการ “ทำคนให้เป็นคน” และบทบาทของครูยุคใหม่ควรเป็น “ครูแกล้งเด็ก” (Scraffolder) ในความหมายของครูที่รู้จักวิธีสร้างความท้าทาย สร้างเงื่อนไขให้กับเด็กในการแก้ไขปัญหา โดยทำงานเชื่อมโยงกับระบบนิเวศรอบตัวเด็ก เช่น ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน

ดังนั้น กิจกรรมจึงเป็นวิธีการส่งเสริมคุณธรรมที่สำคัญ โดยควรเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร คือสอดคล้องกับวิถีชีวิต และมีการสะท้อนความรู้สึกหลังจัดหรือหลังเข้าร่วมกิจกรรม (Reflection) รวมทั้งควรเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยให้ทำงานร่วมกับชุมชนและสังคม กิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมที่มีความยั่งยืนและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในระดับบุคคลและสังคม

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image