จริยธรรมเชิงการไตร่ตรองและสังคมไทย โดย ธงชัย สมบูรณ์

จริยธรรมของผู้คนเป็นสิ่งที่รัฐชาติต้องการให้เกิดขึ้นในทุกๆ สมัยและทุกกาลเวลา จริยธรรมเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะถูกส่งผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม การแสดงออกของผู้คนที่ปราศจากความรุนแรงทั้งปวงคือเป้าหมายสูงสุดของจริยธรรม จริยธรรมเป็นชุดของเหตุผลทางสังคมที่สรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการพัฒนาความผาสุกให้ยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินเชิงจริยธรรมต่างๆ นั้นจะต้องมีลักษณะใจที่เป็นกลางและจะต้องเข้าใจต่อไปว่าเป็นเหตุผลเชิงจริยธรรมชุดใดและของใครด้วย

สายรากของแนวคิดเชิงจริยธรรม

โคลเบิร์ก (Kohlberg) นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม (Cognitivist) มีความเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมสามารถที่จะเกิดการเรียนรู้และเพื่อพัฒนาจริยธรรมของตนเองได้ตลอดเวลา รวมทั้งสามารถที่จะปรับตัวเองในกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จริยธรรมของมนุษย์จะมีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะและการเรียนรู้เช่นกัน จริยธรรมโดยทั่วไปจะความสัมพันธ์กับวิธีคิดวัฒนธรรมและสภาพการณ์ที่ได้รับการขัดเกลาและบ่มเพาะ โดยส่วนตัวของผู้เขียนจะไม่เชื่อว่าจริยธรรมจะมีความสอดคล้องกับอายุกาลเวลาหรือสถานที่แต่อย่างใดทั้งสิ้น ความถูกต้องความดีและความงามเชิงจริยธรรมที่ผู้คนนำมาเป็นบรรทัดฐานในการดำรงอยู่และปฏิบัติตนนั้นจะขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก (Common sense) ของแต่ละคนมากกว่า

แม้ว่าระดับจริยธรรมตามฐานคิดของโคลเบิร์กนั้นจะมี 6 ระดับ แต่โดยภาพรวมแล้วระดับที่มีผลต่อการอยู่ร่วมกันที่มีความสุขคือ ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ทางสังคม (Conventional morality) และสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้วยใจจะเป็นจริยธรรมขั้นสูงอีกระดับหนึ่ง ในลักษณะเดียวกันระดับจริยธรรมที่เหนือกว่ากฎเกณฑ์สังคม (Post conventional level) คือการที่ผู้คนในรัฐชาติจะต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณของตนเองและสามารถวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ก่อน โดยจะต้องคำนึงถึงความสำคัญและประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวมทั่วไปเป็นหลัก การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมจะสามารถครุ่นคิดและพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบได้ในลักษณะดังนี้

Advertisement

1.การลงโทษ (Punishment orientation)

โดยทั่วไปสังคมมนุษยชาติจะมีความเชื่อประการหนึ่งว่าการลงโทษจะนำสู่การพัฒนาได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้นเลยหากมีลักษณะเป็นไปได้ทั้งการพัฒนาและการล่มสลาย

2.กฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ (Instrumental orientation)

Advertisement

กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ดีนั้นต้องมีลักษณะเสริมสร้างสนับสนุนและอยู่บนฐานคิด หากกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมนั้นย่อมบ่งบอกว่าเป็นจริยธรรมร่วมที่ดีงามแต่ถ้าหากกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นเพียงประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นความขัดแย้งย่อมจะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ผู้คนทุกรัฐชาติทุกภาษาต้องระลึกอยู่เสมอว่า “กฎทุกกฎมีข้อยกเว้น ยกเว้นกฎแห่งกรรม”

3.กฎระเบียบของสังคม (Social order orientation)

จะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องว่าดีงามและให้การยอมรับในอำนาจของกฎระเบียบของสังคมนั้นๆ ด้วยเหตุนี้กฎระเบียบของสังคมจึงเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่ให้ผู้คนปฏิบัติตาม นอกจากนี้แล้วยังมีสัญญาประชาคม (Social contract) ที่ถูกรวมไว้ในกฎระเบียบของสังคมด้วย สัญญาประชาคมที่ถูกส่งผ่านหรือประกาศออกมาต้องพิจารณาถึงครรลองที่เหมาะสมด้วย อนึ่ง ลักษณะความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมในกฎระเบียบของสังคมนั้นต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ผู้คนในรัฐชาติต้องตระหนักถึงประโยชน์อำนาจสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกันด้วยก็จะนำมาสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบของสังคมที่แท้จริง

4.จริยธรรมที่เป็นสากล (Universal ethics orientation)

จริยธรรมขั้นนี้เป็นขั้นที่แต่ละบุคคลเลือกที่จะปฏิบัติตามหลักทางจริยธรรมด้วยตนเองและต้องมีปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริยธรรมที่เป็นสากลจะอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักการเพื่อมนุษยธรรมโดยรวม เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชนและเพื่อความยุติธรรมของผู้คนในสังคมโลก

จริยธรรมที่ผุกร่อนในสังคมปัจจุบัน

1.ความอดทนอดกลั้น (Temperance)

หากมองย้อนกลับไปในสมัยกรีกโบราณที่สะท้อนออกมาจากงานเขียนของ Plato ในหนังสืออุตมรัฐ (The Republic) จะมีข้อที่ได้ให้ความสำคัญของความอดทนอดกลั้นในจำนวนสี่ข้อที่ลักษณะของผู้คนในรัฐชาตินั้นจะต้องมี สังคมไทยก็เช่นกันถึงแม้ว่าจะมีการอบรมขัดเกลาจริยธรรมทั้งในทางตรงและทางอ้อมในทุกๆ สถาบันทางสังคมก็ตาม แต่ยังปรากฏให้เห็นถึงความล้มเหลวของการขัดเกลาและปลูกฝังตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ฝังลึกลงไปในกระแสเลือดของผู้คนเท่าที่ควร เพราะภาพฉายและภาพซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นจะยังพบว่าบางเรื่องบางสถานการณ์ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคนหารู้ไม่ว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตและในที่สุดกลายเป็นที่มาของการเกิดอาชญากรรมและก่อการร้ายซึ่งกันและกัน

2.การเอาเปรียบเชิงอำนาจ (Power Exploitation)

กล่าวตามความเป็นจริงแล้วการใช้อำนาจที่ถูกต้องนั้นจะเป็นคุณธรรมที่สูงส่งสำหรับผู้ที่มีอำนาจทั่วไป แต่ที่ผ่านมาอำนาจที่ปรากฏในสังคมดูเหมือนว่าเป็น “ความเบ็ดเสร็จ” ในการลดทอนสิ่งต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า จริยธรรมของผู้ที่มีอำนาจมากกว่าบางครั้งส่งผลต่อความหายนะของสังคมส่วนรวม ซ้ำร้ายเกิดขึ้นในลักษณะที่เรียกได้ว่าได้เปรียบและเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดเจน

3.ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันจางหาย (Sympathy)

ความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ได้ถูกปลูกฝังลงในสังคมปัจจุบันทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบทอย่างไม่รู้ตัว กล่าวคือสภาพที่ต่างคนต่างอยู่กลายเป็นเรื่องปกติความเอื้ออาทรถูกเผาผลาญไปจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ยากที่จะกลับคืนมาได้ให้อยู่เหมือนสภาพเดิม สภาพความแร้นแค้นเกิดขึ้นจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังหาวิธีการกระตุ้นและกู้กลับคืนมาได้

วิถีจริยธรรมเชิงการไตร่ตรองที่ควรสร้างและควรเป็น

ด้วยสภาวะของสังคมที่มีความบีบคั้นมากขึ้นจึงส่งผลต่อความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านมากขึ้น วิถีเชิงจริยธรรมเบื้องต้นของผู้คนในสังคมจึงเป็นสิ่งที่ต้องมากลับมาทบทวนและไตร่ตรองทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น จากอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าสังคมไทยนั้นมีจริยธรรมที่งดงามและได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศมาก แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังจะจางหายไปเพราะคนไทยนั่นเองมิใช่สภาพของสังคมโลกแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ควรสร้างและควรเป็นในขอบข่ายวิถีจริยธรรมเชิงการไตร่ตรองของสังคมไทยขั้นพื้นฐานจะสามารถทำได้ในปริมณฑลดังนี้

1 ความเมตตาและเข้าใจ

จริยธรรมข้อนี้ถือว่าเป็นหลักธรรมข้อแรกของทุกศาสนาที่จะช่วยจรรรโลงให้มนุษยชาติไม่มีความขัดแย้งอุบัติขึ้นแต่ประการใด ความเมตตาและเข้าใจจะนำมาซึ่งการมองเห็นสิ่งดีงามของคนอื่นเสมอ แต่ในสังคมปัจจุบันการลักษณะหยิบยื่น “ความเป็นอื่น” (The Otherness) ให้ซึ่งกันและกันมีมากขึ้น วาทกรรมไม่เข้าพวกจึงปรากฏให้เห็นตั้งแต่องค์กรระดับเล็กจนถึงองค์กรระดับใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุแรกของการไม่พัฒนา ดังนั้นผู้คนต้องหมั่นฝึกมีความเมตตาและเข้าใจต่อคนอื่นให้มากขึ้นก็จะยังมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุดท้ายการพัฒนาในทุกๆ ด้านจะตามมาและยั่งยืนในที่สุด

2 การแบ่งปัน

จริยธรรมการแบ่งปันทั้งหมดนี้รวมความถึงการแบ่งปันอำนาจของตนเองที่มีด้วย อนึ่ง การแบ่งปันของการบริหารจัดการนั้นต้องมีการกระจายอำนาจด้านต่างๆ ที่มีความชัดเจนและสร้างผลตอบแทนกันในการพัฒนาแบบส่วนรวมมิใช่แค่คนสองกลุ่มเท่านั้น โดยธรรมชาติของผู้คนแล้วจะต้องการการแบ่งปันและความเอื้ออาทร (Share and Care) เป็นพื้นฐาน นอกจากนี้จริยธรรมการแบ่งปันยังสามารถกระทำได้โดยการ “แบ่งใจ” ที่ปราศจากความอาฆาตพยาบาทและปราศจากว่าร้ายซึ่งกันและกัน รวมทั้งการเอารัดเอาเปรียบกันในทุกด้าน ยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งปันที่เรียกว่าผลประโยชน์ร่วมที่จะเกิดขึ้นนั้นจะต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจนและที่สำคัญที่สุดทั้งสองฝ่ายจะต้องทำตามข้อตกลงที่ได้ให้สัญญาไว้ทั้งสัญญาที่เป็นคำพูดและเอกสารด้วย

3 การเคารพในภูมิหลังของคนอื่น

มนุษย์ทุกคนย่อมมีภูมิหลังที่แตกต่างกันทั้งในลักษณะรูปพรรณสัณฐาน การเรียนรู้และวิธีคิด วิธีคิดของมนุษยชาตินั้นจะเป็นพลังพลานุภาพทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ถ้าผู้คนมีวิธีคิดที่ดีควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป ในทางตรงข้ามถ้าผู้คนมีวิธีคิดที่ไม่มีลักษณะสัมมาทิฐิ สังคมทุกภาคส่วนต้องมีการ “ชี้ทางบรรเทาทุกข์” ให้เกิดขึ้น จริยธรรมการเคารพในภูมิหลังของคนอื่นนั้นจะเป็นที่มาของการสร้างความสุขแบบง่ายๆ ได้เป็นอย่างดี

4 การทำหน้าที่และความรับผิดชอบ

เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นจริยธรรมที่งดงามของผู้คนที่มีวุฒิภาวะ แต่ในสังคมไทยปัจจุบันหน้าที่และความรับผิดชอบกลายเป็นสิ่งที่ถูกล้อเลียนมากขึ้น วาทกรรม “รับชอบแต่ไม่รับผิด” “ไม่ใช่หน้าที่ไม่ทำ” ดูจะเป็นลักษณะที่ “ผู้ใหญ่” ในสังคมไทยนิยมกระทำกัน การปลูกฝังวิถีเชิงจริยรรมในด้านนี้ต้องแสดงในความชัดเจน ความกล้าที่จะทำหรือดำเนินการโดยปราศจากการเพิกเฉยใดๆ ทั้งสิ้น การสร้างจริยธรรมในข้อนี้ที่ง่ายมาก คือ สถาบันครอบครัวต้องฝึกผู้คนตั้งแต่เด็กๆ แต่ที่ผ่านมาหลายๆ ครอบครัวจะไม่ค่อยปลูกฝังจริยธรรมในหน้าที่และความรับผิดชอบเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นหากมีการกระทำผิดในลักษณะลหุโทษจะมีปกป้องบุตรหลานของตนเองจนมีลักษณะ “ไข่ในหิน” สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ทำอะไรไม่ได้และไม่เป็นในอนาคต

สุดท้ายกลายเป็นนิสัยถาวรเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และเป็นที่มาของปัญหาสังคมด้วย

บทสรุป จากหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นและคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั้นจะต้องถือว่าเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนทุกภาคส่วนต้องหันกลับมาไตร่ตรองทบทวนจริยธรรมขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น และที่สำคัญคือการแบ่งปันใจให้แก่กันให้เป็นปฐมบทในทุกด้านทุกองค์กรก็จะเป็นที่มาของความผาสุกร่มเย็นได้อย่างง่ายดายทีเดียว..

เพราะสิ่งที่รู้คือไม่รู้เพราะสิ่งที่ดูคือไม่เห็น เพราะสิ่งที่เข้าใจไม่ชัดเจนเป็นกรรมเวรของมนุษย์เพราะอวิชชา…ต้องใฝ่รู้ใฝ่ดูและใฝ่เห็นให้ชัดเจนในใจใช่กังขา ต้องกลับคืนศีลธรรมและจรรยา ผมเชื่อว่า…ชาติยิ่งใหญ่ไทยรุ่งเรือง..อย่างแน่นอน!!!!

ธงชัย สมบูรณ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image