ทุนสีกากีกับความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมในกองทัพ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผลสะเทือนของเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชนำมาสู่หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่สังคมเริ่มติดตาม และเริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือเรื่องของการทุจริตในค่ายทหารเรื่องของโครงการพัฒนาที่ดินและบ้านจัดสรร

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (และที่กำลังจะมาถึง) อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านไล่เรียงบทสัมภาษณ์และบทความที่มีประโยชน์ในการพิจารณาของทุกฝ่ายในสังคมของท่านอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ เรื่องของการปฏิรูป (ชีวิต) ทหาร และการปฏิรูประบบความมั่นคงในเมือง ส่วนผมเองคงจะนำเสนอประเด็นเล็กๆ สักสองเรื่องเพิ่มเข้าไปในเรื่องเหล่านี้

เรื่องแรก ความเหลื่อมล้ำในกองทัพนั้นไม่ได้ส่งผลดีทั้งต่อกองทัพเองและต่อประเทศชาติเลย เราเห็นการเปิดโปงเรื่องของความเดือดร้อนของพลทหารมานานแล้วในหลายๆ เรื่อง (ย้ำว่าพลทหารถูกเกณฑ์มามาก สมัครใจก็ส่วนหนึ่ง แต่สมัครใจก็รู้เงื่อนไขดีว่าชีวิตไม่ได้สบาย ขณะที่พลตำรวจยังต้องสอบเข้า) แต่ครั้งนี้เราเริ่มเห็นภาพของนายทหารชั้นประทวนเพิ่มขึ้น (หมายถึงนายทหารที่ไม่ใช่ระดับสัญญาบัตร ที่ติดยศนายร้อย ซึ่งถ้าไม่มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็จบระดับมหาวิทยาลัย) แม้ว่ายังไม่ได้เห็นข้อมูลรายละเอียดเรื่องนี้มากนัก ในแง่จำนวนกำลังพล เงินเดือน รายได้ ความเป็นอยู่ และโอกาสในการก้าวหน้าในสาขาอาชีพของพวกเขา

เมื่อเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น ผมได้ย้ำไว้หลายครั้งแล้วว่าความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ใช่แค่การนำเสนอความแตกต่างของสองสิ่งในลักษณะตัวเลข

Advertisement

แต่ต้องอธิบายกระบวนการให้เห็นด้วยว่ากระบวนการของความไม่เท่ากันหรือที่แตกต่างกันนั้นเป็นกระบวนการเดียวกันที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง และในกระบวนการนั้นมีความไม่เป็นธรรมอยู่อย่างไร การนำเสนอปัญหาของชีวิตในกองทัพนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องชี้ลงไปให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตและการมีโอกาสในการใช้ชีวิต

ดังนั้น การโกงกันด้วยเครือข่ายของการบังคับบัญชาและเส้นสาย เชื่อมโยงกับการสร้างโครงการต่างๆ ในนามของสวัสดิการของนายทหารชั้นผู้น้อยแบบในข่าว เมื่อเทียบกับการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่มีสวัสดิการและยังไม่ออกจากบ้านพักของกองทัพนั้น จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการอธิบายเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมได้เป็นอย่างดี

และในเรื่องของความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมนี้ เป็นเรื่องที่ต้องถูกนับในเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่จะส่งผลต่อศักยภาพของกองทัพเองเป็นอย่างมาก ในการศึกษาในระดับโลกนั้น ความเหลื่อมล้ำในหมู่ทหารนั้นมีผลสำคัญในการกำหนดศักยภาพของกองทัพในการรบเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาจากความเหลื่อมล้ำในกองทัพแต่ละแห่งในโลก

Advertisement

แต่ในหลายๆ ที่ในโลกโดยเฉพาะในกองทัพของประเทศที่เรื่องของสวัสดิการและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นแล้ว ก็ยังพบว่าประเด็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันของความเป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีในกองทัพก็ยังมีความสำคัญต่อศักยภาพของการทัพในการปฏิบัติตามภารกิจอยู่มาก (Jason Lyall. “The Strongest Military is an Inclusive One: Why Equality Wins Wars”. Foreignaffairs.com. 14/02/20)

ในประการต่อมา ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในค่ายทหารนี้ ช่วยเติมเต็มการศึกษาเรื่องของบทบาทของทหารกับการเมืองเพิ่มมากขึ้น เพราะจากเดิมนั้นหนึ่งในคำอธิบายเรื่องของบทบาทของทหารกับการเมืองนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานะทางเศรษฐกิจและแรงจูงใจของทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง ที่เรียกกันว่า “ทุนนิยมสีกากี” (Khaki Capitalism)

งานวิชาการของไทยที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้อย่างเป็นระบบชิ้นล่าสุดก็คืองานของอาจารย์พอล แชมเบอร์ และอาจารย์นภิสสา ไวฑูรเกียรติ ที่เป็นบรรณาธิการรวบรวมบทความวิจัยของปรากฏการณ์ทุนสีกากี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์ทั้งสองยังได้เขียนอธิบายอย่างพิสดารถึงกรณีของประเทศไทยในอีกบทหนึ่งด้วย (Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat. 2017. Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast ASIA. Copenhagen: NIAS Press.)

หนึ่งในข้อเสนอในภาพรวมของทุนสีกากีที่มีเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของกองทัพก็คือ ยิ่งกองทัพมีอำนาจในการควบคุมความมั่งคั่งและทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมีความเป็นอิสระจากการควบคุมทางการเมืองของประชาชนและตัวแทนของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น (ผมไม่ขอแปลง่ายๆ ว่าการควบคุมทหารโดยพลเรือนแบบที่ชอบแปลกัน เพราะคำว่าพลเรือนในประเทศไทยบางทีตำแหน่งของพลเรือนบางครั้งก็อาจจะไม่ได้สะท้อนความยึดโยงกับประชาชนมากนัก และบ่อยครั้งทหารเองก็มักจะอ้างว่าตนนั้นยึดโยงกับประชาชนมากกว่าพวกพลเรือนที่ฉ้อโกงด้วยซ้ำ)

เมื่อกองทัพมีทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในทางหนึ่ง และมีอิสระจากการควบคุมของประชาชนมากขึ้น พวกเขาก็จะขยายบทบาททางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในลักษณะของการขยายอาณาจักรแห่งความมั่งคั่งออกไป และเมื่อการขยายบทบาทและความมั่งคั่งเกิดขึ้นพวกเขาก็ย่อมต้องแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพื่อไม่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจลดลง และพวกเขาก็จะรู้สึกไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะยอมอยู่ใต้การกำกับตรวจสอบของประชาชน ซึ่งผลของความเป็นมาเป็นไปเช่นนี้ก็จะทำให้การริเริ่มของประชาชนในการตรวจสอบและปฏิรูปกองทัพ หรือการริเริ่มนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสหรือความพร้อมรับผิดของกองทัพต่อกิจกรรมและกิจการใดๆ นั้นมักจะถูกต่อต้านโดยธรรมชาติจากกองทัพ

และเมื่ออาณาจักรแห่งความมั่งคั่งทางธุรกิจและเศรษฐกิจของกองทัพมีมากขึ้น การตรวจสอบทำไม่ได้และถูกต่อต้าน กองทัพก็จะกลายเป็นจักรกลที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ภายใต้ข้ออ้างของความเป็นอิสระของกองทัพหรืออิสระจากการตรวจสอบจากภายนอก และจะธำรงความเป็นอิสระในการตรวจสอบในฐานะองค์กรที่ทรงอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบในมิติของความมั่นคงแห่งชาติ หลักนิติธรรมหรือการบังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียม การเคารพสิทธิมนุษยชน การให้หลักประกันต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและตัวธุรกิจของกองทัพเอง

โดยภาพรวมของทุนสีกากี และการทำความเข้าใจเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ (military economy) งานวิชาการที่ทำความเข้าใจพัฒนาการของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพนั้นนำเสนอว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการสร้างรายได้ของกองทัพซึ่งมีฐานะเป็นผู้ที่ผูกขาดความรุนแรงในรัฐในการสร้างวิถีการผลิตที่เกี่ยวพันกับมิติของ

1.การมีอิทธิพลต่องบประมาณของรัฐ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งงบประมาณที่เปิดเผยและซ่อนเร้น

2.การคัดสกัดเอาออกมา การโยกย้าย และกระจายทรัพยากรด้านการเงินต่างๆ

3.การสร้างโอกาสทางด้านการเงินและความก้าวหน้าในอาชีพ ที่ทำให้เกิดการขยายรายได้และผลตอบแทนทั้งในส่วนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในสถานะของกองทัพเองและในสถานะส่วนบุคคลของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของกองทัพ นับตั้งแต่ธุรกิจของกองทัพเอง (ทั้งที่บริหารเอง หรือจ้างมืออาชีพมาบริหาร) การสร้างมูลนิธิต่างๆ ของกองทัพหรือของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพ รวมไปถึงการสร้างตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพที่ไม่ได้ทำงานอะไรมาก แต่ทำให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

ในกรณีการทุจริตเรื่องเงินทอนในโครงการสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมไปจากความเข้าใจทุนสีกากีเดิมก็คือ การศึกษาเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองของกองทัพนี้การสร้างความมั่งคั่งของกองทัพด้านเศรษฐกิจอาจเกี่ยวพันกับการขูดรีดภายในของกองทัพด้วย โดยเฉพาะกับบุคลากรชั้นผู้น้อย ที่ไม่เหมือนกับกรณีที่เรารับรู้มาเช่นการทุจริตเบี้ยงเลี้ยง และอาหาร การทุจริตในโครงการบ้านและการจัดสรรที่ดินนี้เกี่ยวโยงไปถึงคนนอก ธุรกิจภายนอก เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย รวมทั้งการเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของที่ดินของรัฐอย่างเป็นระบบอีกต่างหาก

การขูดรีดในรอบนี้จึงกระทำทั้งกับกำลังพล และกับที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและเป็นทรัพยากรของชาติด้วย (อาจไม่ใช่กรณีของโครงการของจ่าคลั่งทั้งหมด แต่การเปิดโปงกรณีอื่นๆ เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง)

นอกจากที่จะเข้าใจเรื่องของแรงขับเคลื่อนและตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจก็คือตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพที่สัมพันธ์กับรูปแบบของรัฐและสถานะของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในแบบที่เรียกว่า “รัฐคู่ขนานในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” (Parallel-State Semi-Democracy) หรือที่เข้าใจกันในนามของรัฐพันลึก-รัฐซ้อนรัฐ เมื่อกองทัพและชนชั้นอภิชน (aristocracy) ร่วมกันใช้อำนาจหลักในสังคม (สีกากีธิปไตย Khakistocracy)

โดยในระบบสีกากีธิปไตยนี้ เครือข่ายของชนชั้นนำนั้นจะมีอิทธิพลครอบงำการเมืองอยู่เบื้องหลังและมี/ใช้กองทัพในการบังคับให้การตัดสินใจที่มีจากเครือข่ายนี้เกิดผลในการปฏิบัติ ขณะที่ประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงสิ่งที่จะมีผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายไม่มากนัก หรือถ้ามีก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายในเรื่องที่สำคัญหรือที่เป็นแกนกลางของระบอบการเมืองการปกครองนั้น และผู้นำที่เป็นพลเรือนหรือที่มาจากประชาชนจะมีอำนาจทางการเมืองได้ก็จะต้องสยบยอมต่ออำนาจของเครือข่ายแห่งการครอบงำของชนชั้นนำที่มักจะทำงานอยู่หลังฉากที่มีกองทัพในฐานะเครื่องมือในการใช้อำนาจการเมืองทำงานอยู่เบื้องหน้า/หน้าฉาก

ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองของรัฐคู่ขนานเช่นนี้ เครือข่ายชนชั้นนำหลังฉากไม่มีความจำเป็นจะต้องแตกหักจากนักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป เพียงแต่อาจจะทำให้สถาบันการเลือกตั้งและนักการเมืองเหล่านี้เปราะบาง เพราะความเปราะบางของสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนี้จะทำให้เครือข่ายที่อยู่เบื้องหลังสามารถใช้อำนาจในการครอบงำและล้มเลิกการตัดสินใจบางอย่างด้วยการใช้อิทธิพลกับฝ่ายตุลาการ ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพ พรรคการเมืองทั้งหลาย รัฐสภา และอีกหลายสถาบัน แต่พฤติกรรมเช่นนี้ไม่จำเป็นจะต้องออกมาในรูปของการยึดอำนาจและใช้อำนาจด้านเดียว หากแต่จะออกมาในลักษณะการแสวงหา รักษา และปรับเปลี่ยนสมดุลระหว่างกันของพลังจากสถาบันเลือกตั้งกับพลังของเครือข่ายชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพลหลังฉาก

ด้วยเงื่อนไขนี้ กองทัพในโครงสร้างรัฐคู่ขนานนั้นจะแสวงหาความมั่งคั่งได้โดยเชื่อมโยงและเป็นหนี้บุญคุณต่อเครือข่ายชนชั้นนำหลังฉากมากกว่าการเป็นหนี้บุญคุณต่อรัฐโดยตรง กิจการในการแสวงหารายได้และความมั่งคั่งของกองทัพจึงมีลักษณะคลุมเครือ (ยากแก่การตรวจสอบ และรัฐทำอะไรไม่ค่อยได้) อาจารย์พอล และอาจารย์นภิสา อ้างงานของ Ivan Briscoe. 2008. The Proliferation of the “Parallel State”. Working Paper NO.71. Madrid: FRIDE. ที่พัฒนามาจากการศึกษาปากีสถาน และกัวแตมาลา มาเป็นหนึ่งในแนวทางในการพิจารณากรณีศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยังมีรายละเอียดอีกมากมายในบทของการศึกษาทุนสีกากีในประเทศไทย (ผมยังไม่ได้เริ่มเขียนถึงก็หมดพื้นที่แล้วครับ) ซึ่งน่าจะนำมาสู่การอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการตรวจสอบความเข้าใจที่เรามีกับทุนสีกากี และบทบาททางการเมืองของกองทัพในวันนี้ อย่างน้อยในฐานะความพยายามในการดำรงรักษาความเป็นอิสระจากการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และผลักให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล ทั้งผู้ที่กระทำผิดต่อประชาชน ผู้ทุจริต และผู้รับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อไม่ให้กระทบกับเกียรติภูมิของกองทัพ แต่ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งแล้ว เรื่องทุจริตในรอบนี้และการเชื่อมโยงกับความเข้าใจในหลักแนวคิดเรื่องทุนสีกากีและเศรษฐศาสตร์การเมืองของกองทัพอาจส่งผลกระทบจนอาจกลายเป็น “ทุ่งใหญ่ฯ 2563” ได้เหมือนกันครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image