จาก ‘กล้า’ ถึง (พรรค) ‘กล้า’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ทันทีที่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ประกาศชื่อพรรคการเมืองของเขาในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา มิตรสหายทั้งหลายก็นึกถึงและทักทายผมขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันในแทบทุกช่องทาง

อันที่จริงก็นึกหวั่นๆ อยู่ตั้งแต่คุณกรณ์แย้มขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า ได้เคาะชื่อพรรคใหม่เป็นคำไทยพยางค์เดียว เพราะจะว่าไปแล้วคำไทยพยางค์เดียวที่มีความหมายเข้าท่าและพอจะเอามาตั้งชื่อพรรคการเมืองได้ก็มีเหลือไม่กี่ชื่อกี่คำ และหวยก็มาออกที่คำว่า “กล้า” จริงๆ

แน่นอนว่าชื่อบุคคลธรรมดานั้นไม่สามารถสงวนหวงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองก็มิได้มีหลักเกณฑ์อย่างกฎหมายเครื่องหมายการค้าที่ว่าชื่อหรือเครื่องหมายการค้านั้นต้องเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือประดิษฐ์ขึ้นโดยมิใช่คำสามัญทั่วไป

อีกทั้งผมก็ไม่ใช่นายกล้าคนเดียวในประเทศไทย แม้จะพอมีชื่อเสียงอยู่บ้างและก็ใช้ชื่อจริงชื่อนี้ในการเขียนหนังสือ คอลัมน์ ออกผลงานทางวิชาการและจัด Podcast มาเป็นเวลาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่นายกล้าที่เด่นดังอะไรเป็นพิเศษจนอาจอ้างได้ว่าจะได้รับความเสียหายพิเศษอันใดหากมีพรรคการเมืองมาใช้ชื่อซ้ำกันตรงกัน รวมถึงก็เป็นไปได้ว่าคงจะมีนายกล้าอีกหลายคนที่ยินดีและภูมิใจยิ่งที่คุณกรณ์ได้เลือกชื่อของพวกเราไปตั้งชื่อพรรค อันแสดงว่าคำนี้เป็นมงคลนามความหมายดี

Advertisement

โดยเขาให้เหตุผลไว้ว่า “ชื่อพรรคกล้า เพราะประเทศต้องการความกล้าในการ ‘ลงมือทำ’ ต้องการความกล้าในการ ‘สร้างความเปลี่ยนแปลง’ …”

หากพิจารณาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว คำว่า “กล้า” มีด้วยกันสามความหมาย

“กล้า” ที่เป็นคำนาม หมายถึง ต้นข้าวอ่อนที่เพาะจากข้าวเปลือกสำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น โดยอนุโลมเรียกพืชที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกในที่อื่นว่ากล้าด้วยก็ได้

“กล้า” ที่เป็นคำกริยา หมายถึง ไม่กลัว ไม่ครั่นคร้าม

“กล้า” ที่เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง แข็ง เช่น เหล็กกล้า หรือแรง แดดกล้า

ทั้งสามรูปนั้นล้วนมีความหมายดี และเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้ขนานนามพรรคการเมือง ที่มีภารกิจทั้งจะต้องปลูกสร้างอย่างไม่กลัวหรือครั่นคร้ามด้วยความแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม สำนวนลูกของคำว่า “กล้า” นั้นออกจะมีความหมายไปในทางลบอยู่บ้าง เช่น กล้านักมักบิ่น ที่หมายความว่าสิ่งใดที่แข็งเกินไปก็อาจจะเสียรูปเสียหายได้เพราะความแข็งนั้น รวมถึงสำนวนปรามาสที่ว่า “กล้าดีอย่างไร” ที่ไม่ใช่ประโยคคำถามตรงตามตัวอักษร แต่หมายถึงว่า ประเมินตัวเองไว้อย่างไรหรือจึงมาท้าทาย

“กล้า” ในสำนวนหลังนี้เทียบเท่าคำว่า Dare ในภาษาอังกฤษ … เช่น สุนทรพจน์ How dare you … ที่โลกไม่ลืมของ เกรตา ทุนเบิร์ก ก็นิยมแปลกันว่า (พวกผู้ใหญ่) กล้าดีอย่างไร

ส่วนคำที่หมายถึง “กล้า” ที่ว่าไม่ครั่นคร้ามในภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยมีสองคำ หนึ่งเป็นคำวิเศษณ์คือ Brave อีกคำเป็นคำนาม คือ Courage

มิตรสหายผู้รู้ภาษาอังกฤษอธิบายความแตกต่างของสองคำนี้ว่า Brave ถ้าเป็นคำนามจะอยู่ในรูปของ Bravery หมายถึงความกล้าหาญเพราะความเก่งกาจหรือแข็งแกร่ง ประดุจอัศวินนักรบผู้แน่ใจว่าจะไม่แพ้พ่ายในสมรภูมิใด เขาจึงมีความกล้าเพราะรู้อยู่ว่าสู้กับใครก็ชนะ

ในขณะที่ Courage นั้นหมายถึงความกล้าหาญแบบคนตัวเล็กตัวน้อย ที่จริงๆ อาจจะไม่มีพลังอำนาจอะไร แต่รวบรวมพลังใจขึ้นมาจนเกิดความกล้าที่จะต่อสู้กับผู้ที่แข็งแกร่งทรงกำลังกว่า เพราะรู้ว่ามีคุณค่าบางอย่างที่สมควรปกป้องหรือรักษา

ในภาษาฝรั่งเศส มีสำนวนอวยพรเชิงให้กำลังใจว่า Bon Courage ที่ถ้าแปลตรงตัวแบบซับนรกคงแปลว่า “กล้าดี” แต่ความหมายจริงแท้นั้นคือ “ขอจงมีกำลังใจที่กล้าแกร่ง”

คำสอนเรื่อง “ความกล้า” ที่ผมมักจะขบคิดอยู่เสมอ คือคำสอนของราชสีห์มูฟาซา จากการ์ตูนเรื่องเดอะไลออนคิง

ในตอนที่ซิมบ้า สิงโตน้อยได้ลอบออกนอกแดนทระนงไปยังเขตสุสานช้างต้องห้ามอันเป็นถิ่นของพวกหมาไนไฮยีนาจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ทั้งยังทำให้เพื่อนรักอย่างนาลาต้องเสี่ยงชีวิตไปด้วย ยังดีว่าเจ้าป่าผู้พ่อตามไปช่วยไว้ได้ทัน ระหว่างทางกลับบ้าน เขาได้สั่งสอนลูกชายที่อ้างว่าการพาตัวเข้าไปเสี่ยงอันตรายเช่นนั้นคือความกล้าว่า

“ความกล้านั้นเป็นคนละเรื่องกับการรนหาที่” (Be brave doesn’t mean you go looking for trouble)

แต่ขอบเขตของการรนหาที่กับความกล้านั้นก็เฉียบบางอยู่ การพาตัวเข้าไปอยู่ในอันตรายจนปราศจากเหตุผลหรือเปล่าประโยชน์คือการรนหาที่โดยไม่ต้องสงสัย ถ้ามันชัดเจนอย่างเช่นการปิดตาวิ่งข้ามถนนมอเตอร์เวย์ หรือเอาหินขว้างใส่กบาลสุนัขพิตบูลที่ไร้สายจูงนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความกล้า

แต่ถ้าผู้ที่ยืนขวางอันตรายที่ย่างกรายเข้ามาเพื่อปกป้องผู้อื่น หรือแม้แต่ไม่ต้องเพื่อการใด แต่เพียงเห็นว่ากำลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น และยืนยันทำสิ่งที่ถูกที่ควรนั้นต่อไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คืบคลานเข้ามาในพื้นที่ปกตินั้นคือความไม่ถูกต้อง บางคนก็อาจจะเห็นว่าเขากล้าหาญ หากบางส่วนก็อาจจะว่าเขารนหาที่หรือ “อยู่ไม่เป็น”

เช่น ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตการเมืองและการปกครองระบอบรัฐประหารที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ผมได้รู้จักผู้คนมากมายที่ยืนยันถึงความไม่ถูกต้องของการช่วงชิงอำนาจด้วยกำลัง และใช้อำนาจนั้นอย่างล้นพ้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือเพื่อประโยชน์อันมิชอบ ผู้คนเหล่านั้นถูกตราหน้าจากรัฐหรือสังคมว่าเป็นพวกรนหาที่ คนบ้าการเมืองจนไม่ดูเวล่ำเวลา พวกคนเพี้ยนอุดมการณ์สูง และแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบหนักบ้างเบาบ้าง ตั้งแต่ร้ายแรงคือต้องโทษติดคุกติดตะราง สูญเสียความก้าวหน้า ถูกติดตามรังแกรบกวนจากอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แต่ในช่วงเวลาแห่งการเถลิงอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบนั้น น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นความ “กล้าหาญ” อะไรเท่าไรจากคุณกรณ์ ผู้ก่อตั้งพรรค “กล้า” เสียเท่าไรนัก

มากที่สุดที่เหมือนจะเป็นการแสดงความกล้าต่ออำนาจรัฐของเขาเท่าที่ผมค้นพบก็เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ได้แก่ การเข้าไปร่วมเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ ร่วมกับกลุ่ม กปปส. เป็นส่วนหนึ่งในการขันตึงสถานการณ์ทางการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เหตุการณ์ที่คุณกรณ์คงภาคภูมิใจจนเอาการชัตดาวน์บางกอกไปเปรียบกับการปิดนครปารีสอันเป็นฉากในนิยายเรื่อง “เหยื่ออธรรม” (Les Misérables) ของ วิคตอร์ อูโก

ในตอนนั้นแม้ว่ามันจะเป็นการลุกขึ้นมาท้าทายกฎหมายต่อต้านอำนาจรัฐก็เถิด แต่คุณกรณ์ก็น่าจะรู้อยู่เท่าๆ หรือดีกว่าผมว่า การลุกขึ้นมาอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่ไร้อำนาจในทางความเป็นจริงที่จะบัญชาการกองทัพนั้นมีความเสี่ยงต่อผลร้ายหรืออันตรายแค่ไหนเพียงใด

หากจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นความ “กล้าหาญ” ก็อาจจะคล้ายๆ ความกล้าเพราะรู้ว่ากำลังจะต่อสู้หรือแลกหมัดกับคนที่ขนาดตัวสูสี เหมือนเด็กประถมที่กล้าท้าเพื่อนไปต่อยหน้ากันนอกจอหลังวิวาทกันในเกมออนไลน์ เทียบไม่ได้กับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่พยายามขัดขวางทหารเสียสติที่มีอาวุธสงครามครบมือ เพื่อช่วยเหลือผู้คนหลายสิบให้รอดชีวิต

หากช่วงเวลาแห่งระบอบรัฐประหารนั้นผู้คนมากมาย “กล้า” ที่จะยืนยันความผิดปกติของอำนาจรัฐอันมิชอบ หญิงสาวมิตรสหายรุ่นน้องผมซึ่งเป็นครูผู้น่ารักและนักธุรกิจต้องมีคดีติดตัวจนนับไม่ไหว ถูกขังในห้องขังมาแล้วก็ด้วยการออกไปยืนยันให้คณะรัฐประหารจัดให้มีการเลือกตั้งเสียที หลังจากอ้างเหตุเลื่อนไปเลื่อนมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ กว่าที่เราจะได้เลือกตั้งกันจริงๆ ก็ปีที่แล้ว – ในการเลือกตั้งที่คุณกรณ์ก็ได้ประโยชน์ลงสมัครและได้รับเลือกไปด้วยนั่นแหละ

นักศึกษาและนักกิจกรรมที่พยายามยืนยันถึงความหมกเม็ดเลวร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก่อนการลงประชามติ แต่กลับถูกดำเนินคดีเพื่อมิให้เขาได้แสดงความคิดเห็นนั้น และเราก็รับกรรมร่วมกันไปในตอนนี้กับรัฐธรรมนูญที่ใครๆ ก็ยอมรับว่าก่อปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งยากโดยความจงใจของผู้ร่าง และพวกนั้นก็ลอยหน้าลอยตาว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติมาโดยทำเป็นลืมว่าจับคนที่ไม่เห็นด้วยไปขังตั้งเท่าไรในช่วงเวลานั้น

มิตรสหายนักเขียนของผมอีกท่านหนึ่งก็มีคดีความมั่นคงติดตัวไปไหนต่อไหนก็ลำบาก เพียงเพราะไปสร้างเพจล้อเลียนท่านผู้นำหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้า

ยังไม่ต้องนับนักวิชาการ อาจารย์ นักคิด นักเขียน นักแสดงจำนวนมาก ที่เสียโอกาสความก้าวหน้าในทางการงานของเขาเพราะแสดงตัวว่าอยู่คนละฝั่งกับผู้มีอำนาจรัฐ ผมรู้จักคนตัวเล็กตัวน้อยที่กล้าหาญหลายคน ที่ยืนยัน “ความปกติ” โดยการทำในสิ่งที่โดยหลักการแล้วต้องทำได้ ในช่วงที่อำนาจรัฐกดขี่ห้ามปราม

ผมรู้จักคนเหล่านั้นมากมายเสียจนละอาย “ไม่กล้า” ที่จะเรียกคนอย่างผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคกล้า” ได้ว่าเป็นคนกล้าหาญ อย่างน้อยก็เพราะเกรงใจผู้คนเหล่านั้น

แต่เราก็ควรยอมรับหลักการว่า มนุษย์เรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งแรกที่เราแสดงออกได้ซึ่งเจตนารมณ์ว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง คือการให้สัจจะวาจา แสดงออกมาด้วยถ้อยคำที่เราหมายมั่นว่าต่อไปนี้ จะเป็นคุณค่าหรือคุณธรรมที่เราจะยึดถือ หลักการคล้ายๆ พวกหนังสือสอนรวย หรือ NLP ที่ให้เรา “สื่อสาร” กับจิตสำนึกตัวเองด้วยภาษา

เมื่อคุณกรณ์และคณะเลือกใช้คำว่า “กล้า” เป็นถ้อยคำหลักที่จะสื่อสารต่อสังคมและชี้ถึงอนาคตของเขานั้น ในฐานะที่เป็นคนที่ใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่เกิดจนร่วม 40 ปี และก็จะ “กล้า” หรือ “รนหาที่” ก็ไม่รู้ หากก็ได้รับผลร้ายหลายครั้งจากการใช้เสรีภาพในการคิดการเขียนนี้ ก็ขออนุโมทนาให้คุณกรณ์ยึดถือคุณธรรมแห่งความกล้าหาญนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศสมกับความตั้งใจ

เพราะที่คุณเองเลือกใช้คำว่า “กล้า” นี้ ก็คงจะรู้ว่า ทำไมเราจะต้องใช้ความ “กล้า” เพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น และต้องใช้ความกล้าเพื่อต่อสู้กับอะไรบ้าง

ขอให้คุณกรณ์ใช้ชื่อพรรค “กล้า” นี้ ทำในสิ่งที่ “กล้า” จริงๆ คือการกล้าที่จะแสดงตนขัดขวางความอยุติธรรม ความฉ้อฉล หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น โดยไม่กลัวว่าอาจจะเกิดผลร้ายแก่ตน

ไม่ใช่การกล้าที่หมายความว่าไม่เกรงใจว่าใครจะมองอย่างไร แล้วไปรับใช้อำนาจหรือความได้เปรียบทางการเมืองทั้งที่ก็รู้อยู่ว่านั่นคือวิถีทางอันไม่เป็นธรรม

โดยคุณอาจจะเริ่มต้นที่จะแสดงความ “กล้า” ด้วยการยืนยันต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมอาชีพนักการเมืองจากกติกาและกลไกบางอย่างก็ได้

กล้า สมุทวณิช

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image