แท็งก์ความคิด : ประโยชน์กันและกัน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ได้เห็น สปสช. หรือชื่อเต็มๆ ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำรวจความคิดเห็นประชาชนแล้วปลื้ม

ปลื้มเพราะเรื่องราวของประชาชน ก็ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ความจริงแล้วการสำรวจความคิดเห็น หรือการประเมินผลตัวเองนั้นถือว่าเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว เพราะองค์กรทุกองค์กรล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

Advertisement

การประเมินผลทำให้เรารู้ว่าขณะนี้ขณะนั้นเรายัง “ตั้งอยู่” ได้ไหม

ถ้า “ตั้งอยู่” ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อยืดเวลาของการ “ดับ” ออกไป

กฎธรรมชาตินี้ตรงกับกฎธุรกิจ เพราะในกระบวนการบริหารก็ใช้วิธี “ประเมินผล” เป็นหนึ่งในกลไกดำเนินการ

Advertisement

วางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล แล้วกลับไปปรับปรุง

ในการประเมินผลก็มีรูปแบบหลากหลายประเมินผลด้วยตัวเองก็เป็นรูปแบบหนึ่ง

แต่หากเทียบกับให้ผู้อื่นมาประเมินผล…น่าจะประเสริฐกว่า

ยิ่ง “ผู้อื่น” ดังกล่าวหมายถึง “ประชาชน” ทั่วไปด้วยแล้ว ยิ่งประเสริฐสุด

ดังนั้น เมื่อ สปสช.จัดการประเมินผลตัวเอง ด้วยการสำรวจความคิดเห็นประชาชน

ประชาชนก็น่าจะตอบกันเสียหน่อย

ประชาชนคนไหนต้องการมีส่วนร่วม สามารถกรอกแบบสำรวจได้

แบบสำรวจนี้จัดทำโดย “นิด้า”

คำถามที่ต้องการทราบก็ไม่ยากเกินไป

ทุกอย่างที่ถาม เพราะอยากทราบว่าประชาชน “รู้” หรือ “ไม่รู้”

อาทิ ท่านรู้จักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หรือไม่

รู้จัก หรือไม่รู้จัก ก็ใส่เครื่องหมายเข้าไป

หรือท่านรู้จักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ … นั่นไง

รู้จักไหมครับ คำตอบก็แค่ “รู้จัก” หรือ “ไม่รู้จัก”

หรือคำถามที่ว่า ทราบหรือไม่ว่า สามารถสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพโดยโทรสายด่วน 1330

คำตอบก็คือ “ทราบ” หรือ “ไม่ทราบ” หรือ “ไม่แน่ใจ”

ไม่ยากใช่ไหมครับ

คำถามที่อาจจะยากขึ้นมาอีกนิด

อาทิ ถามว่า สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิบัตรทอง เป็นไปตามกฎหมายหรือเป็นโครงการสงเคราะห์ของรัฐ

นอกนั้นก็เป็นการวัดความพึงพอใจ

ใครพอใจมาก ก็ใส่เครื่องหมายลงไปในช่อง “มากที่สุด” หรือ “มาก” ส่วนใครไม่พอใจก็ใส่ช่อง “น้อยที่สุด” ไปซะ

ทุกอย่าง ทำง่ายๆ ไม่ยากเย็น

รวมไปถึงประเด็นยอดฮิต คือประเด็นการ “ร่วมจ่าย”

คำถามนี้แยกย่อยออกเป็น 3 ข้อ

ข้อหนึ่ง ร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

ข้อสอง ร่วมจ่ายเฉพาะส่วนที่เพิ่มพิเศษ เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหารพิเศษ

และข้อสาม ร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี ซึ่งใช้กันอยู่ในขณะนี้

เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือไม่แน่ใจเช่นไร ก็ใส่ไปตามที่ตัวเองคิด

ที่เหลือก็ถามถึงปัญหา และขอข้อคิดเห็น

ใครอยากคิด ใครอยากเห็นว่าสิทธิบัตรทองควรจะเป็นเช่นไรก็เขียนแล้วส่ง

แบบสอบถามดังกล่าว ส่วนหนึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

เครือมติชนก็ลงแบบสอบถามให้กรอก

ใครตอบแล้วก็ส่งกลับตามที่อยู่ซึ่งเขียนไว้ให้แล้วด้านล่างแบบสอบถาม

อีกส่วนหนึ่งโพสต์ลงในออนไลน์ …มติชนออนไลน์นี่ก็มี

ใครสนใจสามารถคลิกเข้าไปกรอกแบบสอบถาม แล้วคลิกส่งข้อความเข้าสู่ระบบ

นอกจากนี้ สปสช.ยังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ อีก

ใครสนใจลองรอสดับฟังข่าวสารการเชิญชวน วันวอ เวลานอ เมื่อไหร่คงได้ทราบ

แต่แบบสอบถามที่สำรวจความคิดเห็นนี้ เขามีกำหนดระยะเวลาหมดเขต

ใครที่จะตอบจึงควรส่งแบบสอบถามกลับตั้งแต่บัดนี้

คำตอบทุกคำตอบล้วนมีคุณค่า

ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนก็เป็นข้อมูลที่น่ารู้และน่าอ่าน

ไม่รู้ว่าหลังจากการสำรวจเสร็จสิ้น นิด้าจะเปิดเผยผลสำรวจออกสู่สังคมหรือเปล่า

หากเปิดเผยผลสำรวจออกมาจริงก็น่าสนใจว่า ประชาชนคิดอะไรกับ สปสช. และคิดอะไรกับบัตรทอง

ผลจากความคิดเห็นย่อมเป็นประโยชน์แก่ สปสช.

สปสช.จะได้นำผลการประเมินไปปรับปรุงองค์กรและวิธีบริหาร

ผลจากการปรับปรุงองค์กรและวิธีการบริหารก็จะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

เท่ากับว่า การตอบแบบสำรวจความคิดเห็น ทำให้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

เป็นประโยชน์ที่เกื้อหนุนกันและกัน

ความจริงแล้วชีวิตคนเราสมควรเป็นเช่นนี้

นั่นคือ…ทำตัวให้เป็นประโยชน์

เป็นประโยชน์ให้แก่กันและกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image