วันนี้ยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

15.00 น. วันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอ เรื่องที่พรรคอนาคตใหม่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยจะรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เรื่องของการยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ในยุคประชาธิปไตย แต่เนื่องจากมีหลายเหตุที่กฎหมายของไทยกำหนดให้มีการยุบพรรคการเมือง จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้จะมีผู้คัดค้านจำนวนมากก็ตาม

ก่อนหน้านี้ การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะที่เกิดกับพรรคการเมืองอันมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ก่อตั้งพรรค รวมทั้งพรรคการเมืองอื่น

การก่อตั้งพรรคการเมืองของไทยเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.2475 หลังจากนั้น มีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่มายาวนานถึงทุกวันนี้

Advertisement

นอกนั้นเป็นพรรคการเมืองที่นักการเมืองรุ่นต่อมาร่วมกันก่อตั้ง มีนักการเมืองสังกัดและโยกย้ายเปลี่ยนพรรคการเมืองไปมาหลายคน ทั้งเป็นพรรคที่เคยก่อตั้งมา เป็นพรรคการเมืองที่ถูกยุบโดยกฎหมาย มีพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นแล้วยุบตัวเอง มีพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นเป็นที่นิยมของประชาชน โด่งดังขึ้นมาช่วงการเลือกตั้งครั้งสองครั้ง บางพรรคเป็นพรรคการเมืองที่เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งหลายหนยังได้รับความนิยม

กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นพรรคซึ่งมีเหตุจะถูกยุบจากการกระทำที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าฝ่าฝืนกฎหมาย และศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในเย็นวันนี้
เวลา 15.00 น. ได้รับความสนใจติดตามจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

ผลการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร หลังบ่ายสามโมงเย็นวันนี้รู้กัน

Advertisement

การมีพรรคการเมืองหรือไม่มี ในระบอบประชาธิปไตยมิได้กำหนดไว้ เพียงแต่รู้กันทั่วไปว่า เรื่องของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ตามนิยามที่ลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

ประเทศไทยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น
ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ส่วนการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวม กันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ

ขณะที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเรื่อง “รัฐสภา” เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ประเทศไทยจึงต้องมีพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น โดยปริยาย

ประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเจ้าของอธิปไตย

ซึ่ง…ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image