บทเรียน เมียนมา รอยแค้น “ประชามติ” 5 ปี มินานเกินรอ

ยิ่งประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ของสหราชอาณาจักรสร้างความประทับใจให้กับประชาคมโลกมากเพียงใด

ยิ่งทำให้นึกถึงประชามติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ของเมียนมามากเพียงนั้น

เพราะว่าความประทับใจต่อประชามติในสหราชอาณาจักร คือ ความประทับใจต่อประชามติอันเปี่ยมด้วยประชาธิปไตย

สะท้อนความเป็น “อารยะ” สะท้อนความจำเริญแห่ง “วุฒิภาวะ”

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความคำนึงนึกถึงประชามติเมื่อ 8 ปีก่อนของเมียนมา เป็นความคำนึงนึกถึงสภาพแห่ง “อนารยะ” แห่งวุฒิภาวะของความเป็นประชาธิปไตย

เป็นระยะอย่างที่ JUNTA เมียนมาเรียกว่าระยะ “เปลี่ยนผ่าน”

เมื่อรับฟังข้อมูลจากนักกิจกรรมซึ่งเกาะติดสถานการณ์ในพม่าอย่างยาวนานระดับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ภาพของประชามติในเมียนมาก็กระจ่างสว่างใส

เสริมข้อมูลอันเคยได้จาก ดร.สุรชาติ บำรุงสุข และ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผลแห่งประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมียนมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ระบุว่าสูงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นประชามติอันน่าคลางแคลงใจ

ไม่เหมือนผลที่ได้ร้อยละ 50 เศษของสหราชอาณาจักร

 

ความน่าสนใจอย่างเป็นพิเศษคือ “ปฏิกิริยา” อันมาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิไตยแห่งเมียนมา

1 เขาคัดค้าน “ร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดทำโดยสภาของ JUNTA

ขณะเดียวกัน 1 เขาคัดค้านต่อกระบวนการจัดทำ “ประชามติ” ซึ่งจำกัด ตัดสิทธิและลิดรอนการแสดงความเห็นต่างของประชาชน

ข้อเสนอและข้อเรียกร้องที่ประกาศออกมานับว่าเด่นชัด

เด่นชัดว่าข้อ 1 คือ การลงประชามติจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมแท้จริงได้อย่างไรเมื่อประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นใดๆ และเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมาจากผู้มีอำนาจกลุ่มเดียวในประเทศ

ข้อ 1 คือ ประชาชนจะเชื่อถือได้อย่างไรเมื่อไม่มีองค์กรอิสระที่เป็นกลางมาจัดการลงประชามติ รัฐบาลต้องอนุญาตให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ

ข้อ 1 คือ การร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มให้เข้าไปมีบทบาทที่แน่นอน

ข้อ 1 คือ ต้องไม่ก่อบรรยากาศให้เกิดความกลัว หรือบังคับให้ลงประชามติ และข้อ 1 คือ สื่อและผู้สังเกตการณ์ควรได้รับให้เข้าไปสังเกตการณ์อย่างเสรี

เป็นการเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ให้กับการทำ “ประชามติ”

 

ไม่ว่าข้อมูลจาก ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ไม่ว่าข้อมูลจาก ดร.ดุลยภาพ ปรีชารัชช ไม่ว่าข้อมูลจาก พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เห็นตรงกัน

เห็นตรงกันว่าแรงกดดัน 1 มาจากต่างชาติ

เห็นตรงกันว่าแรงกดดัน 1 มาจากผลประโยชน์ร่วมของทุนข้ามชาติ ที่มาดหมายจะเข้าไปลงทุนในเมียนมา

ขณะที่เงื่อนไขภายในประเทศยังไม่อำนวย

“โรดแมป” ไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจึงมิได้มาจากความตื่นตัวภายในหากแต่เป็นแรงกระทบอย่างหนักจากต่างชาติ

“ต่างชาติ” จึงมีบทบาทอย่างสำคัญ

ในเดือนพฤษภาคม 2551 ต่างชาติไม่ว่าองค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าสหภาพยุโรป อาจไม่สามารถเข้าไปส่งผลสะเทือนให้กระบวนการทำประชามติดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ทำให้สภาพการณ์ทางการเมืองของ

เมียนมาอยู่ในสายตาของประชาคมโลก

และค่อยๆ สร้างอาการ “ตาสว่าง” ให้บังเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

 

รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างว่าประชามติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ประชาชนกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2553 อาจยังเป็นโอกาสของรัฐบาลทหารอยู่

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2558 ประชาชนเมียนมาก็ให้บทเรียนทางการเมืองต่อรัฐบาลทหารอย่างปวดแสบ

ชัยชนะจึงเป็นของ นางออง ซาน ซูจี

สำนวนจีนอาจว่า 10 ปีล้างแค้นยังไม่สาย แต่เมียนมาใช้เวลา 5 ปีเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image