กองทัพกับการเมือง ในอุษาคเณย์ (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

การยึดอำนาจของกองทัพในนาม คสช.ครั้งนี้ แตกต่างจากการยึดอำนาจของกองทัพที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะในครั้งนี้กองทัพแทบไม่เปิดพื้นที่ให้พลังทางการเมืองกลุ่มอื่นเข้ามามีส่วนร่วมเลย จริงอยู่แม้มีการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นสมาชิกของสภาต่างๆ หลายกลุ่ม แต่เมื่อดูบทบาทของสภาที่แต่งตั้งขึ้น ไม่มีพลังต่อรองของตนเอง กลุ่มใดที่ยังอยากรักษาพลังต่อรองไว้ เช่น เอ็นจีโอ ก็จะถูกผลักออกไปอยู่วงนอก (แม้แต่กลุ่มประชารัฐ หากดีดดิ้นนักก็จะถูกถีบออกไปเหมือนกัน)

แม้แต่เปรียบเทียบกับการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังมีการเปิดพื้นที่ให้แก่คนอีกหลายกลุ่มมากกว่า เช่นเครือข่ายชนชั้นนำตามประเพณี, กลุ่มเทคโนแครต, การขยายระบบราชการดึงเอาข้าราชการรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบจำนวนมาก, แม้สื่อถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว คนชั้นกลางในสื่อก็สามารถแหวกวงล้อมออกมาเล่นในวงที่ไม่กระทบต่ออำนาจรัฐประหารโดยตรงได้บ้าง แม้แต่นักการเมืองบางคนยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล หรือมีบทบาทในสภานิติบัญญัติ แต่ต้องเข้าร่วมในนามบุคคล ไม่ใช่พรรคการเมืองเท่านั้น

ดังนั้น คสช.จึงเป็นสภาพชั่วคราวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่าว่าแต่ในทุกวันนี้เลย ถอยกลับไปสัก 20-30 ปี ก็ต้องเป็นสภาพชั่วคราว เพราะการเมืองไทยได้พัฒนามาถึงระดับที่ไม่อาจมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวคุมอำนาจไว้ทั้งหมดได้แล้ว ต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มอื่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง แม้มีส่วนร่วมอย่างเป็นรองก็ตาม

นี่เป็นแรงกดดันภายในที่ คสช.ต้องเผชิญ ไม่เท่ากับที่เผด็จการทหารพม่าและอินโดนีเซียต้องเผชิญก็จริง แต่แรงกดดันนั้นมีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายมาแต่ต้น ไม่นับกลุ่มต่อต้านซึ่งไม่มีใครประมาณถูกว่ามีสักเท่าไร เพราะ คสช.ปราบปรามเสียจนเหลือกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่จำนวนน้อย แม้แต่กลุ่มที่เคยถือว่าเป็นพันธมิตรก็กลับกลายเป็นปรปักษ์ ที่แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นปรปักษ์มีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้ไม่แสดงตัวต่างหากที่น่าวิตกกว่า ผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปอียูและสหรัฐ (เช่นเจ้าของเรือประมง) ยังทนหยุดกิจการต่อไปได้นานสักเพียงไร

Advertisement

แม้แต่กลุ่มที่ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ เมื่อเครื่องมือยับเยินไปเสียแล้ว ยังจะถือเครื่องมือไว้ให้คนอื่นเห็น หรือจะโยนทิ้ง

อย่างไรเสีย คสช.ก็ต้องไป แต่จะไปอย่างไร และไปแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กำลังพัฒนาจากปัจจุบันไปสู่อนาคตข้างหน้า ซ้ำยังอาจมีปัจจัยที่ไม่มีในปัจจุบัน แต่กลับปรากฏขึ้นในอนาคต เข้ามากระทำกิริยากับปัจจัยอื่นๆ จึงยิ่งสลับซับซ้อนจนยากที่จะทำนายอย่างแม่นยำได้ แม้กระนั้นก็ยังแม่นยำกว่าทางโคจรของดวงดาว

คสช.หวังว่าโรดแมปและร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดเด็ดขาดว่า คสช.จะไปแค่ไหน แต่สถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันกลับชี้ให้เห็นว่า คสช.จะเลือกไปแค่ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่พอ เพราะแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติไปด้วยเหตุใดก็ตาม แรงกดดันภายในก็ยังคงอยู่ และเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีใครสามารถบริหารบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มต่อต้านมากมายเช่นนี้ได้ นอกจากใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ซึ่งจะทำให้ระบอบปกครองนั้นมีน้ำหนักในการ “อุ้ม” มากขึ้น จนแม้แต่จีน-รัสเซีย และอาเซียนก็อาจอุ้มไม่ไหว… อย่าลืมด้วยว่า แรงกดดันภายนอกจะมีอยู่ได้ ก็เพราะแรงกดดันภายในมีอยู่

Advertisement

ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า ไม่ช้าก็เร็ว (แต่ไม่นานอย่างที่ คสช.อยากแน่นอน) เราจะมีรัฐบาลที่ความประสงค์ของผู้เลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องตอบสนอง แม้ไม่ใช่ส่วนเดียวทั้งหมดก็ตาม

ในปัจจุบัน มีประชาชนจำนวนมากขึ้นที่เรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ เพื่อทำให้กองทัพหยุดแทรกแซงทางการเมือง หรือถึงยังแทรกแซงต่อไป กองทัพก็จะไม่ใช่พลังที่ผูกขาดการตัดสินใจทางการเมืองไว้กับตนแต่ผู้เดียวอีก โดยอาศัยประสบการณ์จากสังคมพม่าและอินโดนีเซีย สังคมไทยและรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมไทย (ไม่มากก็น้อย) อันจะต้องมีมาในอนาคต ควรคิดถึงอะไรบ้าง

1. ข้อเสนอคลาสสิกของ Huntington ที่จะกันมิให้กองทัพแทรกแซงทางการเมืองคือ ทำให้กองทัพเป็นกองทัพอาชีพ เพราะกองทัพอาชีพมีภารกิจที่จำเป็นของตนเองมากเสียจน (และได้ค่าตอบแทนสมเหตุสมผล) ไม่ใส่ใจจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แม้ในเวลาต่อมา มีนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นข้อยกเว้นในหลายสังคมที่ทหารอาชีพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่โดยหลักการแล้ว ผมเห็นด้วยกับ Huntington เพียงแต่ว่าวิถีทางที่จะทำให้กองทัพกลายเป็นทหารอาชีพในแต่ละสังคมนั้น ไม่มีวิถีทางตายตัวที่ใช้ได้กับทุกกรณี ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาในอดีตของกองทัพและสังคมนั้นเอง ย่อมทำให้การเปลี่ยนกองทัพการเมืองเป็นกองทัพอาชีพต้องใช้ยุทธวิธีที่แตกต่างกัน

ผมต้องสารภาพว่า ผมไม่มีสติปัญญาจะให้ข้อเสนอใดๆ เกี่ยวกับการจัดองค์กร และการจัดความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ในบริบทของไทย ที่จะเปลี่ยนกองทัพการเมืองให้กลายเป็นกองทัพอาชีพ อันที่จริงเราไม่เคยมีความพยายามจะทำเช่นนี้อย่างจริงจังตลอดมา แม้แต่เมื่อนักการเมืองพลเรือนได้อำนาจ ก็เข้าไปเปลี่ยนกองทัพการเมืองที่ตัวไม่ไว้วางใจ ให้กลายเป็นกองทัพการเมืองที่ตัวไว้วางใจได้ เท่านั้น (เช่น เอาญาติไปเป็น ผบ.ทบ.) ดังนั้นเราจึงไม่มีบทเรียน มองไม่เห็นอุปสรรค และจึงมองไม่เห็นทางออก

แต่ผมอยากเตือนถึงความยากลำบากบางประการไว้

ก/ ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ กระทำกันด้วยเหตุผลทางการเมืองตลอดมา หากสักวันหนึ่งต้องการเปลี่ยนกระบวนการนี้ให้มุ่งไปสนับสนุนผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะกับงาน จึงไม่อาจทำได้ทันที เริ่มต้นแม้แต่จะชี้ตัวว่าใครคือผู้มีความรู้ความสามารถก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เป็นธรรมดาที่ทหารย่อมเกาะกลุ่มกับหัวหน้าที่ดูมีอนาคตทางการเมือง มากกว่ากับหัวหน้าที่มีความรู้ความสามารถ เพราะตัวจะได้ดิบได้ดีตามไปด้วย ผิดจากในวงการตำรวจ คนในวงการพอจะรู้ว่าใครเป็นมือสอบสวน ใครเป็นมือสืบสวน ใครเป็นมือปราบ ฯลฯ หากต้องการตำรวจอาชีพ ก็พอจะเลื่อนตำแหน่งบุคลากรได้ไม่ยาก

ข/ ความที่เป็นกองทัพการเมือง ทำให้กองทัพตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพลังทางการเมืองหลายกลุ่ม พูดอย่างประชด กองทัพไทยตกอยู่ภายใต้ civilian supremacy หรืออำนาจสูงสุดอยู่กับพลเรือนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพลเรือนซึ่งได้อำนาจนั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเท่านั้น

ขอยกตัวอย่างนายทุนที่ร่วมกับฝ่ายอื่นในการสนับสนุนทางการเงินให้กองทัพทำรัฐประหาร เราจะแยกนายทุนออกมาได้อย่างไร ทำอย่างไรการต่อสู้ด้านนโยบายเศรษฐกิจจึงจะย้ายมาอยู่ที่สภาและสื่อ แทนที่จะอยู่กับกองทัพ

ค/ ผมเพิ่งได้คุยกับผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่ทำงานในระยะเปลี่ยนผ่านของพม่าจนถึงทุกวันนี้ เขาผิดหวังกับผู้นำ NLD ซึ่งต่างก็ลืมชะตากรรมอันเลวร้ายของชนกลุ่มน้อยในพม่าไปหมดแล้ว เพราะความยโสในอำนาจของตนเอง (ความจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบนะครับ ว่าตามความเห็นของผู้สื่อข่าวท่านนั้น) เขาเล่าว่า แม้แต่ ส.ส.ชานของ NLD ก็เหยียดหยามชาวชานที่ถูกทหารพม่ารังแกอยู่ทั้งในเขตพม่าและเขตชาน

แม้ไม่สนับสนุนความยโสของ ส.ส.NLD แต่ผมเห็นใจหรือเข้าใจ (empathize) พวกเขานะครับ การปิดกั้นข่าวสารข้อมูลอย่างเต็มที่ของกองทัพพม่าเป็นเวลาสืบเนื่องกันกว่า 50 ปี ทำให้ชาวพม่าแท้ (Burman) หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งได้โอกาสเรียนหนังสือและมีงานทำเหมือนชาวพม่าแท้ ไม่เคยรู้เลยว่า ทหารพม่ากระทำทารุณโหดเหี้ยมต่อชนกลุ่มน้อยต่างๆ อย่างไร เราที่อยู่ในเมืองไทยยังได้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าเขาด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่ NLD ซึ่งอย่างไรก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวพม่าแท้ จะไม่ใส่ใจไยดีกับชะตากรรมของชนกลุ่มน้อย

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะเตือนว่า สภาพที่เป็นจริงของสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปฏิรูปกองทัพด้วย หากคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้คิดว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องสำคัญขนาดคอขาดบาดตาย อย่างที่สังคมไทยเองก็รู้เรื่องภายในและเบื้องหลังของกองทัพน้อยมาก แรงกดดันที่จะให้ปฏิรูปกองทัพในสังคมไทยคงยังไม่แรงพอที่จะเปิดทางให้ทำได้สะดวก ต้องเลือกทำเฉพาะที่เป็นไปได้เป็นเรื่องๆ และต้องเลือกเรื่องที่จะมีผลกระทบที่แรงพอด้วย (เช่น ไม่ใช่แค่ปรับปรุงเครื่องแบบให้สวมเสื้อที่หลวมกว่านั้นหน่อย)

2.การเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในเหตุผลที่อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการทำให้กองทัพมีศักยภาพจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองน้อยลงไปเรื่อยๆ ได้นี้ มาจากการที่อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในอันที่จะทำให้มีการเลือกตั้งสืบเนื่องกันมา นับตั้งแต่ซูฮาร์โตลงจากอำนาจเมื่อ 18 ปีมาแล้ว ไม่เฉพาะแต่การเลือกตั้งรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น ก็สามารถทำสืบเนื่องกันมาได้ด้วย

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลัง คสช. (แม้แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย) ต้องรักษาการเลือกตั้งไว้ให้ได้ หากจะผ่านร่าง พ.ร.บ.อะไรที่รู้อยู่แล้วว่าจะถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง ก็ต้องไม่ใช่การหักด้ามพร้าด้วยเข่าเพียงเพราะมีเสียงข้างมากในสภา ในการเมืองไทย การตัดสินใจขั้นสุดท้ายไม่ได้อยู่ในสภา และจะยังไม่อยู่ไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งแน่นอน ฉะนั้นรัฐบาลต้องสร้างพันธมิตรในสังคมให้กว้าง ก่อนจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นั้นๆ อย่างไรเสียก็ต้องรักษาตัวระบบไว้ให้ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งที่ต่อเนื่องภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ให้พลังแก่ระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยเสียจนกระทั่งว่า แม้แต่นำเอารัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลับมาใช้ใหม่ ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเสียแล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในขณะนี้

3. การกระจายอำนาจ ควบคู่กันไปกับการเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนของอินโดนีเซียเร่งการกระจายอำนาจ

อย่างรวดเร็ว แทบจะกล่าวได้ว่าระบบบริหารของอินโดนีเซียในปัจจุบัน เปิดให้มีการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นแทบจะทุกระดับ องค์การบริหารท้องถิ่นก็มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการจัดการในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งมีรายได้เป็นอิสระของตนเองจำนวนหนึ่ง สันติภาพที่กลับคืนสู่รัฐ

อาเจะห์โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้อาเจะห์มีสิทธิปกครองตนเองสูงกว่ารัฐทั่วๆ ไป เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุหลายอย่างก็จริง แต่เป็นไปได้ก็เพราะอินโดนีเซียเคยชินกับอำนาจอิสระของท้องถิ่นมาแล้ว หากยังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารดังแต่ก่อน ก็คงยากที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้

อำนาจปกครองที่ถูกกระจายออกไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ และหลายระดับ ทำให้การรัฐประหารที่จะยึดส่วนกลางไว้ด้วยกำลังทหารไม่บังเกิดผลให้กองทัพควบคุมประเทศได้จริง จึงเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งอย่างสำคัญในการที่ทหารจะลุกจากวงเหล้ามายึดอำนาจบ้านเมืองง่ายๆ

4. ประนีประนอม ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพซึ่งมีอำนาจในบ้านเมืองมานาน เช่น ไทย, พม่า, อินโดนีเซีย ไม่อาจถูก “เอาคืน” ได้ง่ายๆ รัฐบาลพลเรือนจำเป็นต้องประนีประนอมกับกองทัพในระดับหนึ่ง แต่การประนีประนอมต้องมียุทธศาสตร์ คือไม่ใช่เพียงเพื่อทำให้รัฐบาลพลเรือนสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เท่านั้น กรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นตัวอย่างที่ดีว่า การประนีประนอมโดยไม่มียุทธศาสตร์เช่นนั้นไม่นำไปสู่อะไรนอกจากถูกยึดอำนาจในที่สุด

ในปัจจุบัน รัฐบาลของ NLD ก็ใช้นโยบายประนีประนอมกับกองทัพเช่นกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่แตะเรื่องชนกลุ่มน้อย, ไม่แตะเรื่องมุสลิมและโรฮีนจา, ไม่แตะเรื่องสัมปทานหยก, ทับทิม, ไม้สัก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั้งของนายพลบางคนและของกองทัพ, ไม่แตะธุรกิจอภิสิทธิ์ของนายพลและกองทัพ เช่น ผูกขาดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง, ไม่แตะบริษัทผู้ผลิตสินค้าภายในบางอย่างซึ่งใช้แรงงานเกณฑ์ชนกลุ่มน้อยเป็นผู้ผลิต, ฯลฯ แต่ผมไม่ทราบว่ารัฐบาล NLD วางยุทธศาสตร์ของการประนีประนอมกับกองทัพไว้หรือไม่ และอย่างไร แต่เขาลือกันว่า พระภิกษุที่เป็นผู้นำต่อต้านมุสลิมในพม่านั้น ได้รับการอุดหนุน (รวมทั้งการเงิน) จากกองทัพอย่างลับๆ เพื่อบ่อนทำลายสมรรถภาพของรัฐบาล NLD

หากปราศจากยุทธศาสตร์ใดๆ ในการประนีประนอมเลย ในไม่ช้ากองทัพก็อาจเห็นความจำเป็นต้องกลับมากำกับควบคุมการเมืองแต่ผู้เดียวอีก โดย NLD ไม่ได้ทิ้งเป้าหมายของการปฏิรูปกองทัพไว้เป็นอุดมคติของสังคมอีกเลย (เช่นเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้จากไปโดยไม่ทิ้งอุดมคติดังกล่าวแก่สังคมไทย)

5.Richard Cockett ผู้สื่อข่าว The Economist เล่าไว้ด้วยความประหลาดใจ (ใน Blood, Dreams and Gold) ว่า ผู้นำ NLD ซึ่งเคยถูกทหารจับกุมคุมขังและทรมานอย่างเหี้ยมโหด ต่างยืนยันว่าพวกเขาไม่ต้องการล้างแค้นหรือตอบแทนความโหดร้ายนั้น ต่างอ้างถึงศีลธรรมในพระพุทธศาสนา แต่มีผู้นำอีกท่านหนึ่งซึ่งบัดนี้ถึงแก่กรรมไปแล้ว มีความเห็นว่า จำเป็นต้องชำระโทษทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งแก่ตัวเขาและแก่คนอื่นอีกจำนวนมาก ไม่ใช่เพื่อแก้แค้นนายทหารเหล่านั้น แต่เพื่อขจัดการกระทำที่ป่าเถื่อนเช่นนี้ให้หมดไปจากพม่าในอนาคต การปล่อยให้คนเหล่านี้ลอยนวล คือการเปิดให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเหล่านี้ดำรงอยู่ในพม่าตลอดไปนั่นเอง

ผมคิดว่า มนุษย์คงอยู่ในทางสองแพร่งนี้ตลอดไป นั่นคือระหว่างยุทธวิธีรับประกันความปลอดภัยให้แก่ทหารหากยอมลงจากอำนาจ กับการให้คำรับรองแก่อาชญากรรมที่ทหารได้ก่อเอาไว้ จะต้องจัดการสองอย่างนี้ให้เหมาะสม เพื่ออนาคตในระยะยาวของบ้านเมือง จึงต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ จุดสมดุลที่ดีที่สุดคงไม่เหมือนกันในแต่ละสังคม

อันที่จริงผมยังมีอะไรจะเสนออีกมาก แต่เกรงว่าจะยาวไปจนน่าเบื่อมากขึ้นไปอีก จึงขอยุติเพียงเท่านี้ แต่ใคร่จะย้ำไว้ด้วยว่า ยุทธศาสตร์ที่จะปฏิรูปกองทัพมิให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ของไทย และอีกหลายประเทศในอุษาคเณย์ จำเป็นต้องคิดยุทธวิธีกันให้ดีแต่เริ่มต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image