ลิขสิทธิ์เพลง โดย ปราปต์ บุนปาน

กลับมาเป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” กันอีกครั้ง สำหรับข้อถกเถียงอันเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่าตัวแทนจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เข้าไปจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ราคา “ค่อนข้างสูง” จากร้านค้าเล็กๆ (ในกรณีของข่าวคราวครั้งล่าสุด คือ ร้านขายกาแฟ)

สาเหตุก็เนื่องจากพนักงานในร้านเปิดเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายยักษ์ใหญ่ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ ขณะให้บริการลูกค้า

ประเด็นเรื่องข้อกฎหมายจากกรณีดังกล่าว มีการถกเถียงหรือมีการทำรายงานข่าวผ่านสื่อต่างๆ มามากพอสมควรแล้ว

จนได้ข้อสรุปคล้ายๆ กันว่า ถ้าพิจารณาตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมา ร้านค้าที่นำเพลงของค่ายใหญ่ไปเปิด ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และด้วยโปรแกรม/เว็บไซต์ใดๆ ก็ตาม

Advertisement

มีแนวโน้มจะเป็นฝ่าย “ละเมิด” กฎหมายลิขสิทธิ์จริงๆ

อย่างไรก็ตาม ที่อยากตั้งข้อสังเกตผ่านงานเขียนชิ้นนี้ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องตัวบทกฎหมาย แต่อาจสอดคล้องกับสิ่งที่ กริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เรียกขานว่าเป็น “ระบบนิเวศธุรกิจดนตรี”

“ระบบนิเวศ” ของธุรกิจดนตรีในประเทศไทยนั้น เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมาตลอดทศวรรษให้หลัง และคล้ายจะยังไม่สามารถแสวงหา “ทางออก” จากความผันผวนดังกล่าวได้อย่างแน่นอนตายตัว

Advertisement

เมื่อหมดยุคเทปคาสเซต ซีดีขายไม่ได้ (ส่วนแผ่นไวนิล ยังเป็น “ของเล่น-ของสะสม” สำหรับคนหมู่น้อย) มวลชนก็พากันไปบริโภคเพลงฟรี ผ่านระบบออนไลน์

แม้ภาครัฐและเอกชนฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ทั้งในและต่างประเทศ) จะพยายามเสาะหา “เครื่องมือทางกฎหมาย” และ “โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ” มาแก้ไขปัญหาการเปิดให้โหลดเพลงฟรีอย่างผิดกฎหมาย ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ทว่า กระทั่งถึงปัจจุบัน ก็เหมือนกับว่าระบบการให้บริการเพลงออนไลน์อย่างถูกกฎหมายทั้งหลาย จะยังไม่สามารถสร้าง/แชร์ค่าตอบแทนที่น่าพอใจนักกลับไปยังค่ายเพลง

มีเสียงบ่นจากเจ้าของธุรกิจเพลงในไทยว่า ส่วนแบ่งรายได้จากยูทูบ เว็บไซต์สตรีมมิ่งต่างๆ ตลอดจนบริการออนไลน์อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการของ “บรรษัทระดับอินเตอร์” ไม่สามารถสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ มากเท่ากับการจำหน่ายเทป/ซีดีในยุคเก่าก่อน

ส่วนแบ่งรายได้จากโลกออนไลน์ อาจสร้างค่าตอบแทนที่ “สูงเกินคาด” ให้แก่เจ้าของธุรกิจบันเทิงขนาดย่อมๆ ประเภท “เล่นเอง-ทำเอง-บริหารจัดการเอง” ซึ่งสร้างผลงานบางอย่างที่โดนใจผู้ชมจำนวนมาก

แต่ส่วนแบ่งแบบเดียวกัน ถือเป็นรายได้ที่ “น้อยเกินไป” สำหรับธุรกิจบันเทิงหรือธุรกิจสื่อขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องว่าจ้างคนทำงานเป็นจำนวนมาก และมีระบบ “แบ่งงานกันทำ” อันแยกย่อย จุกจิก และสลับซับซ้อน

นำไปสู่สถานการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจดนตรีขนาดใหญ่ๆ ในเมืองไทย เห็นพ้องต้องตรงกันว่า ณ ปัจจุบัน “เพลง” ไม่ได้มีสถานะเป็น “สินค้า” ในตัวมันเองอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเพียง “สื่อ” ที่จะช่วยส่งเสริมต่อยอดให้แก่ธุรกิจประเภทอื่นๆ มากกว่า

เมื่อเพลงไม่ใช่ของที่ขายได้ ขณะเดียวกัน การพยายามปรับประสานต่อรองกับกลไกของธุรกิจสื่อ/ดนตรีระดับนานาชาติหรือสากล ที่มีตัวกลางเป็น “บรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก” อาทิ กูเกิล และแอปเปิล ก็ยังได้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ

จึงมิใช่เรื่องแปลกอะไร หากค่ายเพลง “ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ” จะต้องหาหนทางประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดท่ามกลางระบบนิเวศอันผันแปรไป

การเดินหน้าจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยภายในประเทศ ก็อาจเป็นหนึ่งในหลายๆ หนทาง ของการแสวงหารายได้เพิ่มเติม มาทดแทนรายได้เดิมๆ ที่หดหายไป

หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เมื่อยังไม่มีพลังมากพอจะต่อรองหาผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากเครื่องจักรทุนนิยมระดับโลก

การหันกลับมาเก็บเล็กผสมน้อยในไทย ผ่านท่าทีอันเข้มงวดกวดขันและการอ้างอิงตัวบทกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงไปได้พ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image