ฉันฟังเขามาและฉันก็พร้อมจะพูดต่อ โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ผมขออนุญาตพูดถึงสองข่าวที่ดูผิวเผินแล้วจะไม่เกี่ยวข้องกันนะครับ

ข่าวแรก เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเฟซบุ๊กประกาศปรับหน้านิวส์ฟีดใหม่ (อีกแล้ว!) โดยบอกว่าจะเน้นโพสต์ของ “เพื่อน” (Friends) ให้มากขึ้น และจะลดความสำคัญของโพสต์ของแบรนด์ต่างๆ (หรือเพจต่างๆ) ลง นี่เป็นการปรับเปลี่ยนที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะดีใช่ไหมครับ (“ดีจัง ฉันจะได้เห็นโพสต์ของจิ๊บจุ๊บแจงและบิดามารดรเยอะๆ แล้วเห็นโพสต์ของห้างสรรพสินค้าหรือเสื้อผ้าแบรนด์นั้นน้อยๆ”) เฟซบุ๊กก็ดูจะคิดอย่างนั้นเช่นกัน ตามประกาศของหัวหน้าวิศวกรของเฟซบุ๊ก ลารส์ แบคสตรอม (Lars Backstrom) เขาบอกว่า “เรากำลังจะอัพเดตนิวส์ฟีดในสัปดาห์ที่กำลังจะถึง เพื่อที่ว่าสิ่งที่เพื่อนที่คุณแคร์โพสต์จะได้มีความสำคัญมากขึ้น”

“เพื่อนที่คุณแคร์” เลยนะครับ นั่นคือคำที่เขาเลือกใช้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเฟซบุ๊กคงไม่สำคัญอะไรเลย ถ้าเราไม่คิดว่าเฟซบุ๊กนั้นกินส่วนแบ่งการตลาดและการรับรู้ของเราไปเป็นสัดส่วนที่มหาศาล จากสถิติของ parse.ly พบว่าเว็บไซต์ต่างๆ อาศัย “ทางเข้า” จากเฟซบุ๊กมากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ (หมายถึงว่า คนไม่ได้เข้าเว็บไซต์นั้นตรงๆ หรือเข้าจากทวิตเตอร์เท่าไหร่ แต่เข้าจากเฟซบุ๊กเยอะมากๆ คือ 4 ใน 10 คลิก) และการเพิ่มลดฟีเจอร์ของเฟซบุ๊กก็สามารถกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดยรวมได้เยอะมาก เช่นพอเฟซบุ๊กประกาศฟีเจอร์วิดีโอสด (Live video) ทุกคนก็เริ่มสตรีมมิ่งวิดีโอกันสดๆ จนเป็นวัฒนธรรมใหม่ สำนักข่าวต่างๆ ก็ต้องปรับตัวตามกันยกใหญ่ทั้งในต่างประเทศและในไทย หรือพอเฟซบุ๊กเพิ่มปุ่มรณรงค์ให้คนไปเลือกตั้ง (ในอเมริกา) ถึงจะเป็นแค่ปุ่มและข้อความเล็กๆ แต่ก็มีผลให้มีผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นหลายแสนคน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเอามาคิดว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเฟซบุ๊กเกิดขึ้นเพราะอะไร และมันจะส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง

เหตุผลที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนแปลงนิวส์ฟีดนั้นไม่ยากครับ น่าจะตีออกมาคร่าวๆ ได้สองข้อ ข้อแรกคือเขาต้องการให้ผู้ใช้แฮปปี้มีความสุขจริงๆ พอผู้ใช้มีความสุข (เพราะได้เห็นโพสต์ของเพื่อนๆ เยอะ) ก็จะกลับมาใช้เฟซบุ๊กบ่อยขึ้น (ไปอีก) และเหตุผลข้อที่สองก็คือ เฟซบุ๊กต้องการให้แบรนด์และสำนักข่าวต่างๆ ที่ใช้เพจเพื่อสื่อสาร ‘จ่าย’ ให้ตน เพื่อแลกกับการที่มีคนเห็นมากขึ้นไปอีก-ปกติตอนนี้โพสต์ของเพจต่างๆ ก็แทบไม่ปรากฏในนิวส์ฟีดอยู่แล้วนะครับ นอกจากเพื่อนจะแชร์มาเยอะๆ

Advertisement

แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเฟซบุ๊กจะนำไปสู่การรับรู้ข่าวสารแบบไหน

บทความใน Wired บอกว่า นิวส์ฟีดที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะ “อุโมงค์เสียงก้อง” หรือ Echo Chamber มากขึ้น อุโมงค์เสียงก้องคือทฤษฎีที่ว่า เรามักจะแชร์เฉพาะสิ่งที่มัน ‘ยืนยัน’ ความเชื่อของเราเท่านั้น ซึ่งพอยิ่งเราแชร์ไป โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ก็จะเรียนรู้พฤติกรรมของเราว่าเรา ‘ชอบ’ สิ่งนั้น และแสดงสิ่งนั้นให้เราเห็นมากขึ้นไปด้วย เมื่อภาวะแบบนี้เกิดขึ้นสลับไปสลับมา กล่าวคือเรายิ่งแชร์ มันยิ่งแสดง และมันยิ่งแสดง เราก็ยิ่งแชร์ ก็จะส่งผลให้เรามีความเห็นที่ ‘สุดโต่ง’ มากขึ้น

เมื่อเฟซบุ๊กเลือกที่จะแสดงข่าวสารจากเพจต่างๆ น้อยลง ความหลากหลายของคอนเทนต์ที่ปรากฏในหน้านิวส์ฟีดก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก และทำให้เกิดภาวะ Echo Chamber มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

Advertisement

นั่นคือภายใต้เครื่องมือแบบนี้ เราจะยิ่งเชื่ออะไรปักใจมากขึ้น พร้อมจะเชื่ออะไรที่สนับสนุนความคิดของตัวเองมากขึ้น โดยไม่เปิดทางเลือกให้ความเชื่ออื่นๆ นัก

เมื่อข่าวนี้มาประกอบกับข่าวที่สอง ก็ยิ่งฉายภาพที่ชวนให้รู้สึกมืดมนเข้าไปใหญ่นะครับ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ the Science Post ลงบทความหัวข้อว่า “งานวิจัยค้นพบว่า:ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 70% อ่านแค่หัวข้อข่าววิทยาศาสตร์เท่านั้นแล้วก็คอมเมนต์เลย” บทความนี้ถูกแชร์ไปมากกว่า 46,000 ครั้ง ซึ่งจะไม่แปลกอะไรเลย ถ้าเราไม่รู้ว่าเว็บไซต์ the Science Post ไม่ใช่เว็บไซต์ข่าว แต่เป็นเว็บไซต์ตลกขำขัน และข่าวหัวข้อนี้ในลิงก์ก็ไม่มีข่าวเต็มๆ แต่เป็นข้อความ lorem ipsum ซึ่งเป็นข้อความมั่วๆ ที่เอาไว้ใส่แทนเนื้อหาจริงอยู่

แน่ล่ะครับ 46,000 คนที่แชร์ไปนั้นอาจแชร์เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ตลกดี (คือคลิกเข้าไปดู แล้วพบว่าเป็นข้อความมั่วๆ จึงแชร์) แต่ก็น่าจะมีไม่น้อยที่เชื่อว่าข่าวนี้เป็นข่าวจริง และก็ทำอย่างที่ข่าวบอกไว้ คือ พอเห็นหัวข้อก็แชร์ (หรือคอมเมนต์) เลย

จากการศึกษาล่าสุด (เดือนมิถุนายน ปี 2016) โดยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเก็บข้อมูลการแชร์ 2.8 ล้านครั้งจากเฟซบุ๊ก พบว่าในการแชร์ทั้งหมดมีมากถึง 60% ที่เราแชร์ (หรือรีทวีต)ไปโดยที่ไม่คลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาข้างในเลย หมายถึงว่า แชร์ไปเฉยๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้อ่าน

ผมรู้ว่าคุณเคยทำ – ผมเองก็เคยทำ ผมแชร์บางลิงก์ไปเพียงเพราะว่าหัวข้อมันดูน่าสนใจดีหรือตลกดีเท่านั้น บางครั้งเป็นการแชร์เพื่อ “เก็บไว้อ่าน” ทีหลัง แต่หลายครั้ง สิ่งที่ตั้งใจจะ “เก็บไว้อ่าน” ก็ไม่เคยถูกอ่านจริงๆ หรอก

เราอาจรู้กันอยู่แล้วนะครับว่าบนโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น “หัวข้อข่าว” เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การศึกษาครั้งนี้ หากเรานับความสำคัญจากการที่มีคนอ่าน เราก็อาจเห็นแล้วว่า “หัวข้อข่าว” นั้นสำคัญกว่า “เนื้อหาจริงๆ” เสียอีก

และเมื่อยิ่งประกอบกับข่าวแรก ที่ว่าเรามักพร้อมเชื่อในสิ่งที่เราตั้งใจจะเชื่ออยู่แล้ว และเฟซบุ๊กก็กำลังเร่งให้สภาวะแบบนี้เข้มข้นขึ้น – เคี่ยวงวดขึ้น ก็อาจแปลได้ว่า เราจะมีพฤติกรรมแบบที่พอหัวข้อข่าวถูกใจ ยืนยันสิ่งที่เราเชื่อเราก็แชร์เลย โดยไม่คิดจะสนใจรายละเอียดด้วยซ้ำ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็จะส่งผลให้สำนักข่าวต่างๆ (ที่ต้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความสนใจจากพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ) เลือกที่จะพาดหัวด้วยคำที่รุนแรงขึ้น กระตุ้นความสนใจมากขึ้น

เมื่อก่อนเรามีคำว่า clickbait หรือพาดหัวข้อข่าวแบบล่อให้คลิก น่าเศร้าที่ตอนนี้คำว่า clickbait ก็อาจจะบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นได้น้อยเกินไป และเราต้องปรับมาใช้คำใหม่ คือคำว่า sharebait

ในโลกที่ทุกสิ่งพยายามกระตุ้นความสนใจเราทั้งซ้ายขวา แสงสว่างไม่เคยส่องถึงมุมที่เงียบงัน เราเรียกร้องหาวิจารณญาณในการเสพข่าว ในการแชร์ข่าว แต่นั่นก็เป็นการต่อสู้ที่ดูยากเย็นและลำบากลำบนเหลือเกิน เมื่อคิดว่าเครื่องมือที่เราใช้ ก็ไม่เอื้อหรือไม่เคยให้ประโยชน์กับการใช้วิจารณญาณของเราเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image