“คลุมเครือ”คืออำนาจ

ไม่ว่าสถานการณ์ด้านต่างๆ ของประเทศจะสะท้อนให้ความงมงาย ความไร้ประสิทธิภาพที่ประคับประคองความรู้สึกตัวเองด้วยการชี้โทษไปที่คนอื่น การสร้างเกราะป้องกันความอ่อนแอของตัวเอง ความทุกข์ยากเดือดร้อนที่มองไม่เห็นความหวัง ความไม่กล้าพอที่จะยอมรับความผิดพลาดแล้วเริ่มต้นใหม่ในหนทางที่มีสติปัญญามากกว่า

แต่ที่สุดแล้วสาระของประเทศยามนี้อยู่ที่ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

เพราะทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะชี้ชะตากรรมประชาธิปไตยประเทศไทยว่าจะยืนอยู่ในหลัก “สิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกคน” ได้หรือไม่

ถึงวันนี้ ทิศทางหลักๆ ของร่างรัฐธรรมนูญออกมาชัดเจนในระดับมองเห็นได้แล้วว่า แนวโน้มเปิดโอกาสให้คนกลุ่มไหน ปิดหนทางของชนชั้นใด ในการเข้าสู่โครงสร้างอำนาจรัฐ

Advertisement

เป็นธรรมสำหรับทุกคนหรือไม่ เป็นประโยชน์แก่ใคร ไม่ต้องใช้สติปัญญามากมาย แค่ติดตามให้ใกล้ชิดสักนิดจะรับรู้ได้เองด้วยสามัญสำนึก

และด้วยเหตุนี้เอง ถึงวันนี้เกมการเมืองจึงเกิดขึ้นด้วยการต่อสู้เต็มที่ของสองฝ่าย

สมรภูมิการเมืองคือ “ประชามติ”

ฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อให้ “ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ”

อีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้ให้ “ประชามติล้มร่างรัฐธรรมนูญ”

ใครยืนอยู่ฝ่ายไหน มองผ่านการแสดงออกเห็นได้ไม่ยาก

ว่ากันให้ตรงๆ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” กับ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” กำลังทำสงครามแย่งชิง “ชัยชนะจากประชามติ” กัน

คล้ายกับว่า “ประชาชน” เป็นผู้ตัดสินในที่สุด

เพียงแต่ว่ายังมีความกังขาอยู่ไม่น้อยว่า “ที่สุดแล้วประชาชนเป็นผู้ตัดสินได้จริงหรือ”

มีการชี้ให้เห็นว่า “ความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ที่ความคลุมเครือของการใช้อำนาจ”

“ประชามติ” ที่ควรจะทำให้โปร่งใส ไม่เหลือข้อที่จะต้องวิตกกังวล กลับยังคลุมเครือ

อย่างเช่น

หนึ่ง หากลงประชามติแล้วคะแนนที่ออกมา เสียงที่ผู้ชนะได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิก็จบไป ไม่มีข้อถกเถียง แต่เป็นไปได้ยาก

ทว่าหากแค่มากกว่าจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ แต่ไม่เกินครึ่งของผู้มีสิทธิ ซึ่งแนวโน้มเป็นไปได้สูง ก็ต้องตีความว่าเป็นชัยชนะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

หรือไม่

อำนาจการตีความขึ้นอยู่กับเป็นการเอาชัยชนะในประชามติมาตัดสินด้วยการวินิจฉัยของกลุ่มบุคคล

มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัดสินกันที่ “ประชามติ” อย่างโปร่งใสในขั้นตอนเดียว ไม่ต้องพึ่งพาให้ใครต้องมาตัดสินประชามติอีกขั้นตอน

โปร่งใสกันไปเลย

แต่ถึงวันนี้ยังเลือกที่จะคลุมเครือ

สอง หากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำด้วยประชามติ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ จึงขึ้นอยู่กับ คสช.จะใช้อำนาจไปทางไหน

หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่ร่างหรือเคยใช้แล้วมาประกาศใช้เลย หรือให้เริ่มต้นร่างกันใหม่ขยายเวลาวันเลือกตั้งออกไป หรืออย่างอื่น อย่างใด

มีความพยายามเสนอว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้รับรู้กันไปเลยว่าจะอย่างไร เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนจะนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะลงประชามติอย่างไร

ทำให้โปร่งใส

ทว่าถึงวันนี้ยังเลือกที่จะให้คลุมเครือ

ความคลุมเครือทำต้องตีความ การตีความอาจจะหลากหลาย แต่ที่มีผลบังคับใช้คือ การวินิจฉัยตีความโดยผู้มีอำนาจ

แม้จะเข้าใจได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชามติ แต่ดูเหมือนว่า กระทั่งประชามติก็ยังต้องผ่านการตัดสินของผู้ที่กฎหมายให้อำนาจไว้

เพียงแค่ดำรงความคลุมเครือไว้ อำนาจก็จะยังอยู่ในมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image