สติและสัมปชัญญะ โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดม่วง อินทร์บุรี สตรีชาวสยามสาธุการพระพุทธคุณ

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามีความเป็นลำดับของศีล-สมาธิ-ปัญญา หลายท่านเห็นว่าสติเป็นสิ่งที่ขาดไปในการปฏิบัติทางจิตก่อนพุทธกาล และดังนั้นสติจึงเป็นหัวใจสำคัญที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา

หลายท่านเห็นว่าปัญญาต่างหากที่เป็นหัวใจที่การปฏิบัตินอกพระศาสนาไม่มี อีกหลายท่านบอกว่าหากจิตไม่สงบ ปัญญาย่อมเกิดไม่ได้ จิตต้องสงบเสียก่อน

ในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติทางจิตอาศัยทั้งสติ สมาธิและปัญญา สติเป็นการสำรวมทางกายและใจที่พัฒนาลึกไปถึงความเป็นศีล สมาธิเป็นความตั้งมั่นของจิต ชาวพุทธเรียกการเจริญสมาธิว่าสมถกรรมฐานและเรียกการเจริญปัญญาว่าวิปัสสนากรรมฐาน

การปฏิบัติที่อาศัยสมถกรรมฐานก่อนแล้วค่อยเจริญวิปัสสนากรรมฐานเรียกว่าแนวทางสมถวิปัสสนา หากปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วติดใจไปไม่ถึงวิปัสสนาก็ถือว่ายังไม่ได้เริ่มเดินทาง

Advertisement

หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุเห็นว่าการปฏิบัติตามแนวสมถวิปัสสนาที่สืบมาจากครั้งสมัยกรุงเก่ามักเบี่ยงเบนไปกับอิทธิฤทธิ์และคาถาอาคม ท่านต้องการแนวทางที่ตรงไปที่การเจริญปัญญา

สมาธิสูตรเป็นพระสูตรที่กระตุ้นความสนใจของท่านสมัยหนุ่ม มีการแจกแจงสมาธิวิธีไว้ 4 แบบ สองแบบแรกเป็นไปทางฌานและกสิณซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อีกสองแบบเป็นทางตรงที่มุ่งลดละและการถ่ายถอนกิเลสซึ่งตรงกับความสนใจของท่าน

การเดินทางย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เดินทาง สมาธิวิธีทั้งสี่ดังกล่าวได้แก่

1.สมาธิภาวนาเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร

2.สมาธิภาวนาเพื่อญาณทัสสนะ

3.สมาธิภาวนาเพื่อสติและสัมปชัญญะ

4.สมาธิภาวนาเพื่อการสิ้นไปของอาสวะ

สมาธิภาวนาวิธีแรกเป็นไปเพื่อสุขในปัจจุบัน เป็นการพักจิตและได้รับสุขจากฌาน สมาธิภาวนาวิธีที่สองเป็นการเจริญกสิณแสงสว่างหรือที่จะเป็นแสงสว่างซึ่งเป็นขั้นที่สูงขึ้น เกิดการรับรู้พิเศษ จิตสว่างไสว ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานตามสองวิธีแรกนี้อาจละกิเลสหยาบได้ชั่วคราว แต่สะสมกิเลสที่ละเอียดแทน

สมาธิภาวนาวิธีที่สามเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ซึ่งในสมาธิสูตรกล่าวว่าหมายถึงการเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของเวทนา สัญญาและวิตก กล่าวคือ จิตเห็นสภาวะของความนึกคิด เห็นสภาวะของสัญญาที่มีลักษณะเป็นรูปหรืออรูปและเห็นสภาวะของเวทนาความรู้สึก ถือว่าเป็นวิธีที่ป้องกันการพอกพูนของกิเลสในระดับหนึ่ง แม้ยังแก้ไขปัญหากิเลสไม่ได้

สมาธิภาวนาวิธีที่สี่เป็นไปเพื่อการถ่ายถอนกิเลสที่สะสมอยู่ลึกภายในจิต กิเลสดังกล่าวนี้มีความละเอียดอยู่ในสันดานซึ่งเรียกว่าอนุสัยกิเลส กิเลสที่หมักดองมีชื่อเฉพาะว่าอาสวกิเลส จึงเป็นสมาธิภาวนาที่ไปถึงขั้นอริยมรรคซึ่งจัดการกับกิเลสทั้งหลายได้

สมาธิวิธีที่ 3 และ 4 มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีแนวทางที่ทดแทนได้ ความแตกต่างระหว่างทั้งสองวิธีเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก สมาธิวิธีที่ 3 เห็นอนิจจังอย่างอ่อนๆ ในระดับปรากฏการณ์ ส่วนสมาธิวิธีที่ 4 เห็นลึกไปถึงสมาธิจิตและถึงเหตุของปรากฏการณ์นั้น

การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดสติและสัมปชัญญะเป็นการเดินทางที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ครองเรือน ที่จริงคำว่าภิกษุทั้งหลายที่เกริ่นนำในพระสูตรหมายรวมถึงผู้ครองเรือนหรือผู้ปฏิบัติอื่นๆ มิใช่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น

การเจริญสติปัฏฐานเป็นวิธีปฏิบัติสำคัญของสมาธิวิธีนี้ สติเป็นการรู้ตัวซึ่งจะเป็นสติในทางกุศลเท่านั้น กล่าวคือเป็นสติที่อยู่กับกายและมีปัญญากำกับ ปัญญานี้ได้แก่สัมปชัญญะ

พระอนุรุทธสรรเสริญสติปัฏฐาน 4 อย่างมาก ท่านกล่าวไว้ว่าผู้ที่พลาดสติปัฏฐานเป็นผู้ที่พลาดอริยมรรคและผู้ที่ปารภสติปัฏฐานก็ได้ชื่อว่าปารภอริยมรรค ผู้ที่ต้องการเจริญอริยมรรคจึงต้องอาศัยสติปัฏฐาน

พราหมณ์โบราณมีสติในการเจริญฌานเพื่อมิให้หลับแต่ขาดสัมปชัญญะ การปฏิบัติทางจิตของชาวพุทธจะสร้างสติอย่างมีสัมปชัญญะโดยกระจายสติไปทั่วทั้งตัวเช่นตั้งแต่ปลายผมลงมาและตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไป การกระจายสตินี้เป็นการพัฒนาสติให้เท่าทันสิ่งเร้าในทุกๆ ทวารของจิตสัมผัส

การสังเกตเรียนรู้ของสติที่ละเอียดจะเป็นสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะจึงเกิดขึ้นทั่วทั้งกายและพร้อมที่เข้าไปถึงจิตในขั้นตอนต่อไป

เมื่อมีความเพียรมากขึ้นสมาธิก็จะเพิ่มตามมา การเจริญสติทั่วทั้งกายจะส่งผลต่ออินทรีย์และพละอันเป็นการสร้างความพร้อมของการเกิดอริยมรรค

มหาสติปัฏฐานสูตรจะมีข้อความบาลีที่ว่า “อาตาปี สัมปชาโน สติมา” (มีสติ มีสัมปชัญญะและมีความเพียร) ปรากฏเป็นหลัก ความเพียรช่วยเพิ่มสมาธิมากน้อยขึ้นอยู่กับวิธีปฏิบัติ ข้อความนี้จึงแสดงถึงการมีสติ มีปัญญาและมีสมาธิเช่นกัน

ในแง่ของคำสอนในพระสูตร สติปัฏฐาน 4 ปรากฏในหลายพระสูตรตั้งแต่ช่วงต้นโพธิกาล พระสารีบุตรปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 และบรรลุธรรมเมื่อพิจารณาธาตุสี่และเวทนา ผู้ที่อาศัยอานาปานสติสูตรถือว่าได้อาศัยสติปัฏฐาน 4 เช่นกันแต่อาศัยสมาธิที่ละเอียดและไปได้ถึงอรูปฌาน

พระสูตรที่มีการรวมรายละเอียดข้อปฏิบัติไว้เป็นชุดใหญ่คือมหาสติปัฏฐานสูตร พระสูตรนี้ทรงแสดงโปรดชาวกุรุที่ตำบลกัมมาสธัมมะ ส่วนอานาปานสติสูตรบันทึกคำสอนครั้งทรงแสดงที่วิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถีโดยกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรมอย่างเป็นลำดับด้วย

ในแง่ของข้อปฏิบัติ สติปัฏฐาน 4 เป็นการสร้างสัมมาสติในแนวทางวิปัสสนากรรมฐาน แบ่งออกเป็น 4 ขั้นได้แก่ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา อรรถกถาเทียบไว้ว่าเหมือนนครที่มี 4 ประตู อย่างไรก็ตาม การเลือกประตูมีความสำคัญมากเพื่อให้เหมาะกับพื้นฐานของบุคคล

กายานุปัสสนาเป็นการสังเกตกายและกายส่วนย่อย มีวิธีปฏิบัติเช่นอานาปานสติ กายคตาสติและการกำหนดอิริยาบถ อิริยาบถหลักและอิริยาบถย่อยอาศัยสมาธิที่มากน้อยแตกต่างกัน

การเจริญสติในบางอิริยาบถหลักเช่นการเดินจงกรมอาศัยเพียงขณิกสมาธิและช่วยให้การปฏิบัติมีความสม่ำเสมอ อิริยาบถย่อยเป็นการเจริญสัมปชัญญะที่รู้ตัวตามกิริยาทางกาย รู้ตัวเมื่อเยื้องย่างไปข้างหน้า เมื่อหยุด เมื่อถอย เมื่อเคี้ยว เมื่อหยิบ เมื่อวาง ฯลฯ

เป็นการเจริญ “โคจรสัมปชัญญะ” ซึ่งมีลักษณะกำหนดสติตามรู้และใช้ในการเจริญสติให้ต่อเนื่อง บางทีนิยมเจริญระหว่างช่วงของกรรมฐานหลัก

การเจริญสติในอิริยาบถนั่งเช่นการเจริญอานาปานสติ กายคตาสติและเวทนานุปัสสนา สมาธิจะจดจ่อและละเอียดมากขึ้น เมื่อการเจริญสติเกิดขึ้นทั่วทั้งร่างกาย ทั้งด้านในและด้านนอกของร่างกาย สัมปชัญญะก็จะเกิดขึ้นทั่วร่างกายทั้งด้านในและด้านนอกของร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน

สัมปชัญญะที่เกิดขึ้นจึงเป็น “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” อันแปลไว้อย่างดีในอดีต

อรรถกถาบอกว่าสัมปชัญญะแบบนี้ตรงกับ “อสัมโมหสัมปชัญญะ”

มีการแปลคำบาลีนี้ตรงตัวว่าเป็นความรู้ตัวที่ไม่หลง อย่างไรก็ตามเราอาจเข้าใจได้ว่าเป็นสัมปชัญญะที่เกิดในกรรมฐานหลัก มีปัญญาที่รับรู้สภาวธรรมเช่นอนิจจังซึ่งช่วยไม่ให้ผิดทาง

สัมปชัญญะจะรับรู้ได้มากสำหรับผู้ที่เจริญอานาปานสติ เพราะเมื่อจิตละเอียดตามการสังเกตลมหายใจจะปรากฏสภาวะของการเกิดดับอย่างชัดเจน

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี พ.ศ.2277
พระพุทธเจ้าเสด็จรัตนจงกรม
“ภิกษุทั้งหลาย พึงมีสติอย่างมีสัมปชัญญะ”

การเจริญสติอย่างมีสัมปชัญญะทั่วทั้งกายทำให้จิตคุ้นเคย สติมีความเท่าทันที่ทวารการรับรู้ต่างๆ สมาธิมีความคล่องตัว อินทรีย์หรือการรับรู้ทางอายตนะจะมีความเข้มแข็ง ส่วนด้านปัญญา จิตจะเห็นสภาวะที่ทำให้การปฏิบัติเป็นประโยชน์และระงับกิเลสที่หยาบได้

การเจริญกายานุปัสสนาจนถึงเวทนานุปัสสนาเป็นสมาธิภาวนาแบบที่สามเป็นอย่างน้อย ในขั้นเวทนานุปัสสนา จิตมีความละเอียด เมื่อเกิดความรู้สึกทางกายก็จะเกิดการรับรู้และมีสติว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นและดับไป

จิตที่รับรู้ความเป็นธรรมดาแห่งอนิจจังนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติอยู่กับปัจจุบัน มีจิตที่เท่าทันสิ่งเร้าจากภายนอกมากกว่าบุคคลทั่วไปที่มิได้เจริญกายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนามาก่อน

จิตของปุถุชนทั่วไปมักถูกสิ่งเร้าภายนอกครอบงำได้ง่าย การเจริญสติและสมาธิวิธีแบบที่สามจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในภาวะปกติของมนุษย์ที่ต้องการรู้จักการปล่อยวางและเท่าทันอารมณ์ของตนเอง

การปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา สติสัมปชัญญะจะปรากฏต่อไป ทว่าคงเป็นเพราะสองขั้นนี้อาศัยจิตที่ละเอียดมากโดยเป็นการเพ่งจิตและสิ่งที่อยู่ในจิต ในขณะที่เวทนานุปัสสนาเพ่งจิตส่วนที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายและกระทบต่อจิต

เวทนาเป็นอาการที่สังเกตได้ง่ายกว่าจิตสังขารในขั้นจิตตานุปัสสนาและวิญญาณในขั้นธัมมานุปัสสนา ผู้ที่หวังขจัดอาสวะจึงต้องปฏิบัติสติปัฏฐานทั้งสี่ให้สมบูรณ์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดภุมรินทร์ราชปักษี กิเลนและกิหมี สัตว์สวรรค์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สติที่เท่าทันจะป้องกันอารมณ์เลวมิให้เป็นภัยต่อชีวิต

 

สิ่งที่ชาวพุทธเรียนรู้คือสติสัมปชัญญะสามารถเกิดขึ้นได้โดยตรงจากการเจริญสติปัฏฐาน การมีสติ สมาธิและปัญญาในระดับหนึ่งย่อมเป็นมงคลต่อผู้ครองเรือนซึ่งมีกิจวัตรที่มักเบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน

ส่วนพระภิกษุและผู้ครองเรือนที่ตระหนักในภัยของกิเลสและวัฏสงสารสามารถเดินทางต่อไป สัมปชัญญะยกระดับเป็นปัญญาขั้นสูงได้ สติก็สมบูรณ์และบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

สติสัมปชัญญะจึงมีคุณอย่างอเนกอนันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image