คิดว่า ‘ชิงอำนาจ’ เพื่ออะไร : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

หน้าที่ของ “อำนาจรัฐ” คือจัดการผลประโยชน์ของประเทศ

ใครได้ครอบครอง “อำนาจรัฐ” จึงคือผู้ถือครองสิทธิจัดการผลประโยชน์ของประเทศ

ผู้จัดการผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศต้องมี เพราะไม่เช่นนั้นความวุ่นวายที่เกิดจากการแย่งชิงจะเกิดขึ้นจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งหมายถึงหมดความเป็นประเทศ

ที่แต่ละประเทศแตกต่างกันคือ จัดการผลประโยชน์เพื่ออะไร

Advertisement

แน่นอนว่าโดยคำประกาศอย่างเป็นทางการ คือถ้อยคำที่สัญญิงสัญญาต่อสาธารณะ จะต้องเสียงดังฟังชัดว่าจัดการเพื่อให้ประเทศพัฒนาสู่ความรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีมีสุขอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เป็นธรรม

แต่นั่น มีไม่น้อยที่เป็นแค่คำประกาศที่พล่ามกันไป เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง

มีมากมายไปที่จัดการเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบ ใช้กฎหมายเพื่อกดข่มให้เกิดความจำนนของการเอารัดเอาเปรียบ

Advertisement

กอบโกยเอาผลประโยชน์ของชาติมาเป็นของตัวเอง อย่างไร้ความเป็นธรรม ปิดกั้นความเสมอภาค ใช้อำนาจไปในทางหลอกลวง หรือข่มให้ยินยอม รองรับความไม่ชอบธรรม

“การเมือง” นั้น หากศึกษาให้ลึกลงไปแล้วคือ “ศาสตร์ช่วงชิงอำนาจรัฐ”

“เล่นการเมือง” คือ “เล่นเกมชิงอำนาจรัฐ”

“ทำงานการเมือง” คือ “อาชีพช่วงชิงอำนาจรัฐ”

ใครเป็นผู้ชนะคือผู้ถือสิทธิควบคุมจัดการผลประโยชน์ของประเทศ

“ผลประโยชน์เป็นเรื่องหอมหวาน” จะจัดการเพื่อปรนเปรอตัวเองและพวกพ้อง หรือยึดมั่นคุณธรรมจัดสรรให้ประชาชนอย่างเหมาะสม

ขึ้นอยู่กับสำนึก และจิตวิสัยของผู้ครองอำนาจ

วิธีการช่วงชิงอำนาจมีมากมาย แต่สำหรับประเทศไทยเรามี 2 วิธีใหญ่

หนึ่ง ทำให้ประชาชนลงคะแนนเลือกเข้ามา ตามกติกาประชาธิปไตย ซึ่งหลักการอยู่ที่ประชาชนเลือกตัวแทนขึ้นมาใช้อำนาจบริหารประเทศ

สอง ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ ให้ประชาชนยอมรับอำนาจด้วยการข่มขู่ด้วยกำลังและอาวุธ

ทั้ง 2 วิธีการเมืองผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐ

ได้มาแล้วล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง อยู่ได้นาน หรือไปเร็ว ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะรักษาอำนาจไว้ได้หรือไม่

คำถามที่น่าสนใจคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประสบความสำเร็จใน “เกมการเมือง” หรือ “การจัดการอำนาจรัฐ” หรือ “ล้มเหลว”

ที่บอกว่า “น่าสนใจ” เพราะถึงวันนี้ชัดเจนว่า “คำตอบมี 2 มุม”

มุมแรก การสร้างสรรค์พัฒนาประเทศให้รุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ชาติเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าคนรุ่นหลังจะเจริญเติบโตก้าวหน้า มีความรู้ความสามารถ ฉลาดเฉลียวในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว

มุมที่สอง คือจัดการปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมอำนาจให้เอื้อต่อการได้อยู่ในอำนาจอย่างมั่นคง ขจัดปัจจัยที่จะขัดขวางให้หมดสิ้นไป

การเมืองที่ 3 อำนาจอธิปไตยและทุนสนับสนุนผนึกพลังอย่างเป็นเอกภาพ สามารถจัดการทุกสิ่งอย่างได้ตามปรารถนา

อำนาจบริหารที่กลไกราชการทุกส่วนพร้อมรองรับอย่างเข้มแข็ง อำนาจนิยมบัญญัติที่เอกภาพของฝ่ายรัฐบาลแน่นแฟ้น ฝ่ายค้านแตกแยกกลายเป็นไส้ศึก เปลี่ยนข้างได้อย่างไม่ต้องกังวลถึงประชาชนที่เลือกเข้ามา

อำนาจตุลาการที่จัดตั้งขึ้นเองด้วยการใส่อำนาจให้องค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาเอง

เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามโครงสร้างที่เขียนกฎหมายขึ้นมารองรับไว้อย่างรอบคอบ

ย่อมปฏิเสธถึงความสำเร็จที่มาจากการจัดการที่เปี่ยมด้วยความสามารถไม่ได้

ความพยายามให้มองอีกมุมหนึ่งอันหมายถึงการจัดการเพื่อให้ประเทศชาติพัฒนา ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสุข เพื่อชี้หน้าว่าเป็นการจัดการที่ “ล้มเหลว” นั้น

ย่อมเป็นการมองการเมืองในผลของเกมที่สร้างเสียงหัวเราะได้ไม่ยาก

ตราบใดที่ “การควบคุมอำนาจรัฐได้หรือไม่”

ไม่เกี่ยวกับ “ความรู้สึกของประชาชน”

แต่เกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์ให้พอใจกับ “ผู้มีอิทธิพลต่อกลไกโครงสร้างอำนาจ” อยู่หรือไม่

นี่จึงคือ “ความสำเร็จ” ที่ “มั่งคั่ง มั่นคง” และจะ “ยั่งยืน” ต่อไป

สุชาติ ศรีสุวรรณ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image