แฟลชม็อบ นิสิต-นศ. คัดค้าน เผด็จการ การบ้านใหม่ รบ.

ปิดท้ายสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 2 ด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ผลการลงมติ ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากที่สุด คือ 277 เสียง มากกว่าเสียงไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ถึง 5 เสียง

5 เสียงที่ได้มา มาจาก ส.ส.จากพรรคเสรีรวมไทย 3 คน คือ 1.น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา 2.นายวัชรา ณ วังขนาย และ นายอำไพ กองมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย 2 คน คือ 1.น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และ 2.นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม.

ขณะที่ นายวิษณุ พล.อ.อนุพงษ์ นายดอน ได้รับความไว้วางใจ 272 เสียง แต่ที่ได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุดคือ ร.อ.ธรรมนัส ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ 269 เสียง

Advertisement

ทั้งหมดได้รับเสียงไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่ง 244 เสียง จึงถือว่าสภาผู้แทนราษฎรไว้วางใจนายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน

ความน่าสนใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มิเพียงแต่ผลคะแนนการลงมติไว้วางใจที่ไปๆ มาๆ พล.อ.ประวิตรกลับได้เสียงมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น

หากแต่ยังเป็นผลสรุปของยุทธการ “งูเห่า” ว่า ฝ่ายรัฐบาลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

เสียง ส.ส.จากฝ่ายค้านที่เข้ามาอิงแอบกับขั้วผู้มีอำนาจ เป็นประจักษ์พยาน

นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อพิรุธ เพราะนับตั้งแต่มีข่าวว่าพรรคแกนนำอย่างพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการ

พรรคฝ่ายค้านก็หาข้อสรุปเกี่ยวกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้

มีการเลื่อนกำหนดการยื่นญัตติออกไปจนกระทั่งใกล้เวลาเส้นตายที่จะหมดเวลา จึงมีข้อสรุปว่าในบรรดารัฐมนตรีที่จะต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นมีชื่อ พล.อ.ประวิตรด้วย

นอกจากนี้ในวันที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก เสียงบ่นจากพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับ “ข้อมูลรั่ว” และ “การเทงาน” ก็ดังเล็ดลอดออกมาเป็นกระแส

กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าถึงวันสุดท้ายของการอภิปราย เวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เพียงพอที่จะอภิปราย พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร

พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ และไม่ขออภิปรายสรุป

แต่สำหรับสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปแล้วกลับมองว่า พรรคเพื่อไทยอภิปรายกินเวลา

ทำเหมือนกับเป็นมวยล้ม

จนทำให้ไม่สามารถซักฟอก “บิ๊กป๊อก” และ “บิ๊กป้อม” ได้

ภาพรวมของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 2 นี้ พรรคฝ่ายค้านจึงตกเป็นรองอย่างสะบักสะบอม

ผิดฟอร์มจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1

การประชุมสภา ในสมัยประชุมนี้ พรรคฝ่ายค้านปรากฏงูเห่าชัดเจน แถมก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กี่วัน พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ยืนอยู่ตรงข้าม คสช. ถูกยุบพรรค

ตามมาด้วยกระแสข่าวว่าสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่โดนยุบ กระโจนไปเข้าสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ กลับถูกมองด้วยความสงสัยว่า “เกี้ยเซี้ย” อย่าไปแตะ พล.อ.ประวิตร

ดังนั้น เมื่อกาลเวลาเวียนมาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วเกิดเหตุที่พรรคอนาตใหม่ไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประวิตรได้จริงๆ

ความสงสัยดังกล่าวได้กลายเป็นความเชื่อเรื่องเกี้ยเซี้ย

กระทั่งมีผู้เอื้อนเอ่ยคำ “ล้มมวย” ออกมา

อย่างไรก็ตาม ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำต่อยุทธการ “งูเห่า” อย่างสาหัส การยุบพรรคอนาคตใหม่กลับจุดไฟให้นิสิต นักศึกษา และนักเรียนทำ “แฟลชม็อบ”

จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายไปเป็น จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

ขยายไปยัง มหาวิทยาลัยราชภัฏ และขยับไปยังกลุ่มนักเรียนจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนศึกษานารี โรงเรียนสตรีวิทยา ฯลฯ

แต่ละแห่งที่นิสิต นักศึกษา และนักเรียนเคลื่อนไหว ต่างมีการปราศรัยเรื่องการเมือง

ปราศรัยขับไล่เผด็จการ ไม่ต้องการรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เสียดายพรรคอนาคตใหม่

ตอบโต้คำปรามาสจากผู้ใหญ่ที่มองว่า “เด็กถูกล้างสมอง”

ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตย และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องต่อๆ ไป

กลายเป็นปรากฏการณ์การลุกฮือของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบ เป็นความเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่แม้จะมีผู้มองว่า “ถูกหลอกมา” แต่มุมมองดังกล่าวก็กลายเป็นคำ “ป้ายสี” เหมือนดั่งที่มีการแฉโพย “ไอโอ” ในสภา

การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยแรงบีบคั้นในสังคมไทยที่ คสช. ใช้กฎมาครอบหลายปีติดต่อกัน

เมื่อความเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และนักเรียนเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลคงสัมผัสได้ถึงพลัง

แฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา และนักเรียน จึงเป็น “การบ้าน” ข้อใหญ่ข้อใหม่ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข

แก้ไขด้วยวิธีการที่แตกต่างจากเดิมที่เคยใช้กับนักการเมืองที่คิดต่าง

ต้องทำความเข้าใจกับเยาวชนทุกภูมิภาคด้วยความระมัดระวัง

ดูเหมือนว่า ระยะเวลาปิดสมัยประชุมสภา แทนที่รัฐบาลจะได้ทำแต้ม อาจจะต้องใช้เวลาทั้งหมดกับการแก้โจทย์แฟลชม็อบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องแบบรายวัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image