การจัดการเรียนรู้แบบ AL ในสถาบันอุดมศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี

ในพื้นที่สาธารณะทางวิชาการ เช่น สถาบันอุดมศึกษา การจัดการเรียนรู้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะวัตถุประสงค์ก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาคือการให้ความรู้ทั้งแบบเฉพาะทาง และความรู้เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ทั่วไป นิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเมื่อสำเร็จการเรียนไปแล้ว ไม่ใช่เพียงมีความรู้เท่านั้น แต่ต้องทำงานกับ “คน” เป็นด้วย จึงเกิดการเรียนแบบในชั้นเรียนและการเรียนแบบมีกิจกรรมเสริมทักษะเกิดขึ้น ซึ่งในบทความนี้เรียกว่า AL หรือ Active Learning ซึ่งแปลตามศัพท์คือการเรียนรู้ด้วยพลังสร้างสรรค์ คิดเป็น ลงมือปฏิบัติได้ และทำงานกับคนอื่นได้

ในกลุ่มรายวิชาของสถาบันอุดมศึกษา จะพบรายวิชาเฉพาะทางที่เรียนเป็นกลุ่มย่อย หรือฝึกปฏิบัติเพียงคนเดียวได้ และรายวิชาที่ต้องเรียนเป็นกลุ่ม ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีทั้งข้อดีข้อเสียต่างกัน การเรียนแบบแรกฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ส่วนแบบที่สองคือการแก้ไขปัญหาและทำงานเป็นกลุ่ม กิจกรรมเสริมที่สามารถจัดได้เป็นกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ ที่จัดได้ทั้งในและนอกห้องเรียน

ในการจัดกิจกรรมแบบ AL นอกห้องเรียน ต้องพยายามสร้างความเป็น AL ให้เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากครูอาจารย์จะจัดกิจกรรมกลุ่ม นักเรียนนักศึกษาก็ต้องเป็นต้นคิดงาน โครงงาน เค้าโครงรูปแบบงานที่ปรากฏ วัสดุอุปกรณ์ ประเมินค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และการวัดประเมินผล ด้วยการระดมความคิดในกลุ่มนักศึกษาเอง ไม่ใช่การสั่งงานแบบ Passive Learning คือผู้สอนเป็นคนสั่งงานทั้งหมด ความเป็น Active Learning คือการที่นักศึกษาได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเอง และคิดหาทางแก้ไขเท่าที่พึงจะกระทำได้โดยมีผู้สอนประกบอยู่ด้านหลัง

ผู้เขียนรับผิดชอบวิชาอารยธรรมไทย ที่ต้องจัดกิจกรรม AL ในรายวิชา โดยเริ่มที่ให้ระดมความคิดนึกถึงภูมิปัญญาที่นักศึกษารู้จักและพบเห็นทั้งในอดีตและระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน และคิดกำหนดกิจกรรมทดลอง สาธิต โดยต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีความเข้าใจในภูมิปัญญาไทยนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งสังเกตได้จากการตอบคำถาม การนำเสนอ การเตรียมงานและการแก้ปัญหา จากนั้นคือการเขียนโครงการด้วยภาษาที่กระชับ เป็นทางการ ประมวลค่าใช้จ่าย แนวทางการวัดประเมินผลกิจกรรมทั้งเชิงประจักษ์และแบบแสดงค่าตัวเลข และในที่สุดคือจัดกิจกรรมโครงการนั้นออกมาในรูปการสาธิต ตลอดทั้งกิจกรรมมีกระบวนการ Active Learning ทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะผู้สอนเองก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดและแนวทางแก้ไขปัญหาเท่าที่พึงกระทำได้กับผู้เรียน AL ในความหมายนี้จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การปล่อยให้เด็กนักศึกษานั่งทำงานฝ่ายเดียว และเรียกว่า AL ในชั้นเรียน

Advertisement

กิจกรรมเหล่านี้ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทีเดียว ลำพังนักศึกษาก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรเพราะนักศึกษากลับมีการวางแผนการทำงานที่ดีและเป็นระบบ แต่สิ่งที่ขวางความสำเร็จอีกขั้นของนักศึกษาก็คือระบบความคิดของระบบราชการ ในการมองกิจกรรมที่ไม่ใช่ AL เพราะมหาวิทยาลัยมองเพียงภาพลักษณ์ที่จะปรากฏออกสู่ภายนอก ความหวาดกลัวว่ากิจกรรมจะขัดขวางแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย กลัวว่าพื้นที่จะสกปรก กลัวเหตุร้าย เช่น อัคคีภัย โจรภัย ฯลฯ ก็เท่ากับว่าแนวคิดที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้การอยู่ด้วยกันในมิติต่างๆ ของสังคมไม่เกิดขึ้น และในที่สุด AL ของเด็กก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

การจัดการเรียนรู้ที่ดีเป็นนโยบายเพ้อฝันประเภทหนึ่ง และมักประกอบร่างขึ้นด้วยการสนับสนุนสิ่งสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม แต่สิ่งเหล่านี้กลับใช้ไม่ได้ เพราะแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้สั่งและผู้ปฏิบัติสวนทางกัน เช่น อยากให้จัดแบบงดงามเต็มที่แต่ไม่ให้งบประมาณ เป็นต้น ก็ไม่แปลกใจที่นักศึกษาในประเทศยังมีทักษะการทำงานและการใช้ชีวิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่น หนทางแก้ที่พึงมีก็คือครูอาจารย์ที่สอนหนังสือยังคงต้องทำกิจกรรม AL ต่อไป อีกมากๆ และให้เห็นว่ากิจกรรมมีประโยชน์โดยไม่ต้องไปฟังเสียงนกเสียงกาใดๆ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image