5 ปีถึงจุดหมาย โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ยานจูโน

การส่งยานสำรวจอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซาออกไปยังห้วงอวกาศนั้น เป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่ได้เรื่อยๆ

อย่างในสัปดาห์นี้ ยานจูโนที่ทะยานออกจากโลกปี 2554 เดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีหรือจูปิเตอร์แล้ว โดยเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสฯได้ตามแผนที่วางไว้

ความตื่นเต้นนี้คล้ายกับเมื่อครั้งยานนิวฮอไรซันเดินทางไปถึงดาวพลูโตในภารกิจที่ใช้เวลาในการเดินทางนานเกือบ 10 ปี

ระยะทางจากโลกไปดาวพฤหัสฯนั้นเกือบถึง 2,800 ล้านกิโลเมตร ส่วนพลูโตนั้นไกลกว่าที่ระยะทาง 4,800 ล้านกิโลเมตร

Advertisement

เวลา 5-10 ปีที่ยานเดินทางออกไปนั้นคนทั่วไปอาจไม่ได้เฝ้าติดตามมากนัก จนกว่ายานจะเดินทางไปถึงจุดหมายถึงจะได้เฮกัน อาจเพราะเรื่องราวในโลกนั้นมีเหตุการณ์สำคัญมากมายให้ต้องขบคิดอยู่ทุกวัน ไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม

คงไม่มีใครคิดจะหยุดพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงในโลก เพื่อรอให้ยานลำใดลำหนึ่งเดินทางไปถึงจุดหมายก่อน

การได้เห็นความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์แต่ละครั้ง แล้วเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในโลกแล้วก็อาจจะสะท้อนใจอยู่บ้าง เพราะยิ่งเห็นความเก่งกาจของมนุษย์บังคับยานที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายพันล้านกิโลเมตรได้ ก็ยิ่งเห็นความอ่อนด้อยของมนุษย์เช่นกัน

Advertisement

ช่วง 5 ปีมานี้ สถานการณ์ในโลกกลับยังวนเวียนอยู่กับการสู้รบฆ่าฟันกันอย่างไม่ลดละ

ในปี 2554 ที่ยานจูโนเริ่มออกเดินทางในวันที่ 5 สิงหาคมนั้น เป็นปีที่สงครามซีเรียเริ่มต้นขึ้นจากผลกระทบลูกโซ่ในช่วงอาหรับสปริง

ประเทศอื่นๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี หรือประคองตัวเท่าเดิม แต่สำหรับซีเรีย แตกเป็นสงครามกลางเมืองที่สู้รบกันจนมีคนตายไปแล้วเกือบ 3 แสนคนถึงปัจจุบัน ประชาชนต้องอพยพหนีภัยจากบ้านเรือนหลายล้านคน อพยพย้ายถิ่นอยู่ในประเทศ 6.6 ล้านคน และอีก 4.8 ล้านคนหนีออกนอกประเทศ ซึ่งตามที่เห็นข่าวกันจำนวนมากนั้นอพยพหลั่งไหลเข้าไปในยุโรป

ความทุกข์ร้อนนี้ไม่ได้จู่ๆ เกิดขึ้นได้ แต่เป็นการสะสมความขัดแย้งคับแค้นใจที่ดำเนินมานานในประเทศที่ดูภายนอกเหมือนมีความสงบเรียบร้อย

สำหรับประเทศไทย ถ้าดูตามจังหวะช่วงเวลาเดียวกันนี้ ปี 2554 เป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป นานาประเทศต่างยินดีที่กระบวนการประชาธิปไตยกลับเข้าที่เข้าทาง หลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ที่มีคนตายกว่า 99 ศพในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองปี 2553

จากนั้นในช่วงปลายปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานจนผู้คนเดือดร้อนกันไปทั่ว และเป็นบทเรียนที่ตอกย้ำว่าจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำกันอย่างจริงจัง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งในเรื่องบวกและเรื่องลบในปี 2554 สานต่อในปีถัดมา และทำท่าว่าพัฒนาการนี้จะขยายวงกว้างออกไปได้เรื่อยๆ กระทั่งเกิดเหตุพลิกผันขึ้นช่วงปลายปี 2556 และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557

กระบวนการมีส่วนร่วมถอยกลับไปอีก พร้อมกับที่การตัดสินใจในอนาคตของประเทศหวนกลับไปสู่การจำกัดจำนวนคนอีกครั้ง

มาถึงปี 2559 ที่ถ้านับตามการเดินทางของยานจูโนที่เข้าไปอยู่ในวงโคจรดาวพฤหัสฯแล้ว เรายังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมเพื่อรอลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image