สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประวัติศาสตร์ไทย เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้ ของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอาเซียน

“... ‘ยุคมืด’ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการขาดแคลนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเท่านั้น แต่ ‘ยุคมืด’ ยังเป็นเรื่องของปัญหาของการจัดทำโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติ จนเราอาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างหนึ่งของรัฐสมัยใหม่มากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ที่กำเนิดตัวตนขึ้นเอง เพราะยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากอำนาจในการเลือกและไม่เลือก มันจึงไม่ได้มีสถานะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ...” ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ บรรณาธิการ) รวมบทความของไมเคิล ไรท, สุจิตต์ วงษ์เทศ, รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, พจนก กาญจนจันทร์, สุภมาศ ดวงสกุล, รำพึง สิมกิ่ง, บุษบา อ่วมเกษม, รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ, ธิบดี บัวคำศรี และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559 ราคา 280 บาท

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาทั้งของผู้คนและดินแดน เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์อาเซียนหรืออุษาคเนย์ ซึ่งบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่มีชื่อเรียกเก่าแก่มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนทุกวันนี้ว่าสุวรรณภูมิ

ร้อยพ่อพันแม่ อาเซียนอุษาคเนย์อยู่บนเส้นทางการค้าโลกอย่างน้อยตั้งแต่ราว พ.ศ. 1000 โดยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศไทยเป็นดินแดนคาบสมุทร เสมือนสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงโลกตะวันออก (มหาสมุทรแปซิฟิก) กับตะวันตก (มหาสมุทรอินเดีย) ในยุคที่เทคโนโลยีการเดินเรือทะเลสมุทรยังไม่ก้าวหน้า
มีผลให้ผู้คน (ยังไม่เรียกไทย) และสังคมวัฒนธรรม (ยังไม่เรียกไทย) ทั้งในไทยและสุวรรณภูมิมีลักษณะหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ผสมผสานปะปนอยู่ด้วยกัน ทั้งจากภายในกันเองระหว่างแผ่นดินใหญ่กับหมู่เกาะ และทั้งจากภายนอกที่มาจากตะวันออกและตะวันตก จนไม่มีสิ่งใดยืนยันได้แน่ว่าอะไรเป็นของแท้ๆ ไร้สิ่งเจือปน
เริ่มมีคนไทย, เมืองไทย ราวหลัง พ.ศ. 1700 มีการเคลื่อนย้ายและโยกย้ายอพยพครั้งใหญ่ของทรัพยากรและผู้คนจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าโลกและการค้าภายในภูมิภาค จึงเริ่มมีคนไทยและเมืองไทยอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ยุคมืด, ช่องว่าง แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่ยอมรับความจริงที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วมองข้าม หรือทำมองไม่เห็นด้วยอคติทางชาติพันธุ์หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำราวกับไทยตั้งอยู่ลอยๆ โดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทั้งในภูมิภาคและในโลก
ดังนั้น จึงมีสิ่งที่เรียกกันภายหลังว่ายุคมืด หรือช่องว่างของประวัติศาสตร์ไทย ระหว่าง พ.ศ. 1700-1800

ยุคมืดของอะไร?

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย “ฉบับยุคมืด-ช่องว่าง” ที่ใช้ทุกวันนี้ เกิดขึ้นในยุค สมบูรณญาสิทธิราชย์สยามประมาณ พ.ศ. 2436-2475
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า เป็นประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง สร้างด้วยจุดมุ่งหมายเพียงการธำรงอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำตามจารีตกลุ่มเล็กๆ ของรัฐราชสมบัติไว้ในรัฐซึ่งได้กลายเป็น “ชาติ” ไปแล้ว
จึงมีลักษณะกีดกันคนกลุ่มต่างๆ ออกไปจากความทรงจำร่วมกันของคนในชาติ แล้วทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์
ซ้ำความทรงจำที่สร้างขึ้นในนามของประวัติศาสตร์แห่งชาติ ยังอาจทำลายหรือเหยียดอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มให้ด้อยเกียรติภูมิอีกด้วย
[ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 22-27]

ยุคมืด หรือช่องว่างของประวัติศาสตร์ไทย

แท้จริงแล้วไม่ใช่ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทยตามคำของนักค้นคว้าและนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นยุคมืดหรือช่องว่างทางความรู้และความคิดของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทยบางกลุ่ม
เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสเปิดโบราณคดีสโมสร บอกไว้นานแล้วว่า ประวัติศาสตร์ที่เขียนในสมัยนั้น ไม่รวมประวัติศาสตร์ยุคก่อนอยุธยา ซึ่งมีมายาวนานก่อน พ.ศ. 1893
แต่นักค้นคว้าและนักวิชาการผู้มีอำนาจไม่ทำความเข้าใจใหม่ตามพระราชกระแส
โดยไม่ใส่ใจงานค้นคว้าที่สอดคล้องกับพระราชกระแสรัชกาลที่ 5 ของ จิตร ภูมิศักดิ์, อาจารย์มานิต วัลลิโภดม, กับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ปัญหามีขึ้น เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้มีอำนาจทางวัฒนธรรมกำหนดทิศทางประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยให้เป็นยุคมืด ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 เรื่อง ก็สว่าง ไม่มืด คือ

Advertisement

1. ตกหลุมดำประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย
เกี่ยวกับคนไทย, ชนชาติไทย, เชื้อชาติไทย, วัฒนธรรมไทย, ความเป็นไทย ฯลฯ ว่ามีติดเนื้อติดตัวคนพวกหนึ่งมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์นับพันๆ ปีมาแล้ว
และมีแหล่งกำเนิดอยู่ทางเหนือๆ ขึ้นไปในจีนหรือเหนือจีน เช่น เทือกเขาอัลไต, น่านเจ้า
แล้วอพยพถอนรากถอนโดคนลงมาสถาปนาสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ซึ่งล้วนเป็นนิยายเพ้อเจ้อ ไม่จริง
2. มองข้ามอย่างเหยียดๆ ต่อหลักฐานและร่องรอยพื้นเมือง
เช่น ตำนาน, นิทาน, ภาษาและวรรณกรรม, นาฏศิลป์และดนตรี, ประเพณี, พิธีกรรม ฯลฯ
แล้วยกย่องประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคมไว้เหนืออย่างอื่น โดยนักวิชาการบางพวกถึงขนาดใช้เป็นเครื่องมือชี้ขาดตัดสินผิดถูก ทั้งๆ เป็นเรื่องอัตวิสัย (คือความเข้าใจ และอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก)
การใช้ตำนาน, นิทาน มิได้หมายความว่าใช้อย่างโดดๆ เป็นหลักฐานทั้งดุ้น แต่ต้องเลือกสรรเฉพาะที่มีร่องรอยหลักฐานอื่นๆ สนับสนุนด้วยเสมอ เช่น หลักฐานโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image