อนาคตของสหภาพยุโรป โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เป็นที่ฮือฮากันมากกับข่าวที่ประชาชนอังกฤษผู้มีสิทธิออกเสียง 46 ล้านคน ลงประชามติด้วยคะแนน 52 ต่อ 48 เปอร์เซ็นต์ ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผลที่ไม่น่าจะใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นเหตุผลทางอารมณ์ เหตุผลเรื่องปมด้อยหรือปมเขื่องของอังกฤษที่เคยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ เคยเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ต้องมาเป็นรองเยอรมันและฝรั่งเศสในสหภาพยุโรป มีรัฐบาลกลางยุโรป ทับซ้อนรัฐบาลอังกฤษ มีสภาของยุโรปทับซ้อนกันขึ้นไปอีก ความเป็นสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษจึงไม่จริง

ความรู้สึกเช่นว่านี้มีให้เห็นอยู่เสมอ เมื่อสภาของยุโรปมีมติให้ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปยกเลิกเงินตราของตน เช่น เงินดอยซ์มาร์คหรือเงินแฟรงค์ เงินลีร์ แล้วใช้เงินยูโรแทน อังกฤษก็ไม่ยอมเลิกเงินปอนด์สเตอร์ลิงและยังคงใช้เงินปอนด์ต่อมาจนทุกวันนี้

เมื่อครั้งที่อังกฤษอยู่ในสหภาพ ต้องเปลี่ยนมาตราชั่ง ตวง วัด จากระบบอังกฤษที่ยุ่งยากมาเป็นระบบเมตริก ก็มีคนคัดค้านกันมากมาย เมื่อเปลี่ยนหน่วยย่อยของเงินปอนด์จากที่เป็นเพนนี ชิลริง มาเป็น 100 เพนซ์เท่ากับ 1 ปอนด์ ก็มีคนคัดค้านมากมาย อ้างว่าคิดเงินทอนไม่ถูก ตั้งราคาของเป็นกิโลกรัม เป็นเมตร เป็นลิตร แทนที่จะเป็นปอนด์ เป็นหลา เป็นแกลลอน แลกเป็นปอนด์กับเพนซ์ไม่ถูก คนแก่หลายคนฆ่าตัวตายเพื่อเป็นการประท้วงก็มี แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนมาตราชั่ง ตวง วัด เป็นมาตราเมตริก เปลี่ยนหน่วยย่อยของเงินปอนด์เป็นหน่วย 100 หรือหน่วยเมตริก แต่มาตราชั่ง ตวง วัด อังกฤษยังคงใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา อเมริกาอ้างว่าถ้าจะเปลี่ยนเป็นมาตราเมตริกต้องเสียงบประมาณเปลี่ยนป้ายจราจร เปลี่ยนอะไรหลายอย่างต้องใช้งบประมาณมหาศาล ลึกๆ ในใจของคนอเมริกันก็คือความเป็นชาตินิยม และภูมิใจในการเป็นเชื้อสายแองโกล แชกซอนและไอริช ที่มาจากอังกฤษ แม้แต่ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวด้วยกันก็ยังภูมิใจว่าตนเป็นยิวที่มาจากอังกฤษ มากกว่ายิวที่มาจากรัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และอื่นๆ

ชาวยุโรปอื่นๆ ที่เป็นเกาะ เช่น ไอร์แลนด์ กรีนแลนด์ และอื่นๆ ก็มีความรู้สึกชาตินิยมที่เข้มข้นเหมือนกัน ไม่เหมือนกับชาติอื่นๆ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ ที่รู้สึกว่าตนเป็นชาวยุโรปมากกว่าชาติที่เป็นเกาะ จะมีความรู้สึกแข่งขันกันบ้างก็ฝรั่งเศสกับเยอรมันเพราะเคยทำสงครามกันอยู่บ่อยๆ จนกระทั่ง บิสมาร์ค รวมชาติเยอรมันได้สำเร็จ เยอรมันจึงยิ่งใหญ่ขึ้นมา จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

Advertisement

ในทางทฤษฎี การรวมกลุ่มหลายๆ ประเทศเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ตลาดเดียวกัน ใช้มาตราชั่ง ตวง วัด มาตราเดียวกัน ใช้มาตรฐานสินค้าเดียวกัน ใช้มาตรฐานวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิค อาวุธยุทโธปกรณ์ รถยนต์ เครื่องบิน มาตรฐานเดียวกัน ย่อมทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น การลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะคู่แข่งภายนอกแข่งได้ยากขึ้น ถ้าตนแข่งกับภายในได้ มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ น้อยกว่าตน การที่อังกฤษอยู่ในตลาดใหญ่ไม่ต้องแข่งกับประเทศนอกสหภาพเพราะตนมีแต้มต่อในตลาดของสหภาพ การที่ประชาชนอังกฤษลงมติออกจากสหภาพจึงเป็นเรื่องของอารมณ์ทางชาตินิยมอย่างแท้จริง

ทันทีที่ประชาชนอังกฤษลงคะแนนเสียงข้างมากให้อังกฤษออกจากสหภาพ ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ตกไปกว่าร้อยละ 10 ดัชนีราคาหุ้นที่อังกฤษและทั่วโลกตกหมด อังกฤษและสหภาพต้องใช้เวลาอีก 2 ปีในการเจรจา การค้า การเงิน การคลัง การจ้างงาน ระบบสาธารณสุข ระบบประกันสังคม ระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่ง อาจจะรวมถึงสหภาพแรงงาน ที่เคยรวมกันอยู่แล้วจะแยกออกจากกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการต่อรองผลประโยชน์กัน และในที่สุดอังกฤษน่าจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เพราะการออกจากสหภาพของอังกฤษมีผลน้อยมากกับสหภาพยุโรป แต่มีผลเสียทางเศรษฐกิจการเงินอย่างมากกับอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไปผลที่เป็นรูปธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่น ภาวะเงินเฟ้ออันเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ ภาวะการว่างงาน ภาวะการหดตัวของการลงทุน การโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากอังกฤษไปยุโรป โอกาสที่อุตสาหกรรมจากยุโรปจะย้ายไปอังกฤษคงจะมี แต่ไม่มากเท่ากับอุตสาหกรรมในอังกฤษจะย้ายกลับไปยุโรป ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปที่ยิ่งใหญ่เท่าๆ กับอเมริกาและรัสเซียก็จะน้อยลงตามความเป็นจริง

แม้ว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว การเป็นอังกฤษอย่างที่เคยเป็นก็คงจะกลับมาอีกไม่ได้แล้ว เช่น มาตราชั่ง ตวง วัด ไม่อาจจะกลับไปใช้มาตราอังกฤษได้อีกแล้ว ผู้คนลืมไปหมดแล้ว บัดนี้กลายเป็นระบบอเมริกันไปแล้ว ความเป็นอเมริกันก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ผลเสียที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาจะทำให้การเจรจาการค้ากับยุโรปยังคงยุ่งยากต่อไป อังกฤษคงต้องเข้าอยู่ในสนธิสัญญาการค้าเสรีอย่างใดอย่างหนึ่งกับยุโรปที่หลวมกว่าการรวมกันเป็นสหภาพ

การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้นกับอังกฤษ น่าจะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมัน ที่ตนรู้สึกว่าตนต้องเสียสละผลประโยชน์ให้กับชาติที่มีระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่า เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และยูเครน ประเทศเหล่านี้แม้จะมีวัฒนธรรมเชื้อชาติศาสนาที่แตกต่างกับเยอรมัน เนเธอร์แลนด์และชาติอื่นๆ ที่เป็นโปรเตสแตนต์เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก แต่ก็คงจะไม่มีความคิดทางชาตินิยมอย่างรุนแรงจนถึงขั้นจะออกจากสหภาพจนสหภาพแตก แม้จะมีเสียงว่ามีชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์และยูเครน เรียกร้องให้ประเทศของตนออกจากสหภาพยุโรป

การเกิดประชาคมยุโรปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แล้วพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นสหภาพยุโรปที่ไร้พรมแดนและกลายเป็นเขตเงินยูโรหรือ Eurozone ที่ใช้เงินยูโรสกุลใหม่สกุลเดียวกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายสำหรับยุโรป ไม่เหมือนกับการเกิดสมาพันธรัฐและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 300 ปีก่อน เพราะผู้คนในสหรัฐล้วนแต่เป็นผู้อพยพมาจากยุโรปทั้งนั้น ไม่มีใครอ้างได้ว่าเป็นดินแดนของชนเชื้อชาติตนอย่างในยุโรป

ประชาชนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมีความรู้สึกชาตินิยมแต่ไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับคนอังกฤษ เพราะอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้อยู่เกาะอย่างอังกฤษ

สิ่งที่น่าชมเชยสำหรับระดับการพัฒนาของการเมืองของอังกฤษคือ ทันทีที่ทราบผลการลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรีคาเมรอน ก็แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง นายคาเมรอนประกาศว่าถ้าเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะจัดให้มีการลงประชามติว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่เท่านั้น แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีแสดงจุดยืนว่าเขาเห็นว่าอังกฤษควรจะอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป เมื่อประชามติเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับจุดยืนของเขา จึงประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นเขาไม่ต้องนั่งบนโต๊ะเจรจา ปล่อยให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็นคนเจรจาและเนื่องจากนายคาเมรอนมิได้ยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ พรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคทอรี่ก็คงเลือกข้างหัวหน้าพรรคคนใหม่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เจรจากับสหภาพยุโรปต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ควรเป็นคนที่มีความเห็นว่าอังกฤษควรออกจากสหภาพยุโรป สอดคล้องกับผลประชามติที่ออกมาแล้ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีผลอะไรกับการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ในทางการเมืองสหรัฐอเมริกาอาจจะเสียประโยชน์ การที่อังกฤษอยู่ในสหภาพย่อมเท่ากับสหรัฐมีตัวแทนอยู่ในสหภาพที่จะคอยเป็นปากเสียง คอยถ่วงน้ำหนักฝรั่งเศสแทนอเมริกัน เพราะฝรั่งเศสมักจะมีเรื่องขัดผลประโยชน์กับสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอ

การออกของอังกฤษไม่น่าจะมีผลทำให้สหภาพยุโรปแตกสลาย อย่างที่หลายคนที่เป็นนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศคิด อย่างไรเสียยุโรปก็ยังต้องรวมตัวกันเพื่อให้เป็นตลาดที่ใหญ่พอที่จะเป็นภูมิภาคที่ยังมีความสำคัญ เป็นการรักษาดุลแห่งอำนาจกับสหรัฐอเมริกา รัสเซียและจีน การสลายตัวของสหภาพย่อมทำให้ยุโรปแตกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย ย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศใดในสหภาพยุโรปเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและการเมือง และคงไม่มีประเทศใดในสหภาพที่มีปมด้อยหรือปมเขื่องอย่างอังกฤษ ถ้าจะมีก็ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสก็คงจะไม่ตัดสินใจแบบเดียวกับคนอังกฤษ

บัดนี้มีข่าวว่ามีคนอังกฤษกว่า 3 ล้านคนลงชื่อให้ทำประชามติใหม่เสียแล้ว ชักจะไปกันใหญ่ คนอังกฤษสมัยนี้ ความมีระเบียบวินัย การเคารพต่อเสียงข้างมากชักน้อยลง ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มี ชาวสก๊อตที่แพ้การลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรก็เริ่มจะตะแบงกับเขาบ้าง จะขอลงประชามติใหม่บ้าง จะขอให้เฉพาะสกอตแลนด์ยังอยู่ในสหภาพยุโรปบ้าง แต่คงไปไม่รอด คงต้องการเป็นข่าวเท่านั้น

อย่าไปสนใจอะไรมากเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image