โลกสองวัย : ท่วมคือท่วม

ระยะนี้ไม่ทราบว่ามีฝนตกลงมามากน้อยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ฝนตกลงมาซู่ใหญ่ ยังทำให้ถนนหลายสายในกรุงเทพมหานครน้ำเจิ่งนองท่วมถนน เกิดวาทกรรมคำใหม่แทนคำว่า “น้ำท่วม” เป็น “น้ำขังรอการระบาย” (ฮ่า ฮ่า ฮ่า ช่างคิดกันเหลือเกิ๊น)

ระหว่าง “น้ำขังรอการระบาย” วันนี้น้องหนูมารับรู้รับทราบถึงการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลกันก่อนว่ามีสาเหตุแท้จริงอะไรบ้าง

สาเหตุการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นผลโดยตรงมาจากภัยธรรมชาติ คือ ปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือหลากลงมา มีปริมาณมากกว่าความจุของแม่น้ำ

แต่ปัจจุบัน จากการที่กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสาเหตุของน้ำท่วมอื่นๆ เป็นตัวเพิ่มความรุนแรงของน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น สามารถจำแนกสาเหตุหลักดังนี้

Advertisement

1.น้ำท่วมเกิดจากสภาพภูมิประเทศของกรุงเทพมหานครเอง เนื่องจากมีพื้นที่ลาดเทจากด้านตะวัน ออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อฝนตกในปริมาณมาก บางครั้งรุนแรง 60-120 มิลลิเมตรต่อวัน จะถ่ายเทผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อลงแม่น้ำเจ้าพระยา หากระบายน้ำไม่สมดุลทำให้เกิดน้ำท่วมได้

2.น้ำท่วมที่เกิดจากน้ำเหนือไหลหลากลงมาในปริมาณมาก มีการพยายามลดปริมาณลงจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนกิ่วลม เป็นต้น แล้วจึงปล่อยปริมาณน้ำที่เหลือลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง และแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกรุงเทพมหานครรับปริมาณน้ำได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากปริมาณน้ำมากกว่านี้ไหลผ่านช่วงที่ว่ากว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้น้ำไหลบ่าท่วมสองฝั่งแม่น้ำ

3.น้ำทะเลหนุน เพราะกรุงเทพมหานครอยู่ใกล้ปากอ่าว พื้นผิวของกรุงเทพมหานครมีระดับความสูงประมาณ 0.1-5.0 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและไหลย้อนกลับเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกรุงเทพมหานคร หากมีปริมาณน้ำและน้ำฝนตกหนักเกิดขึ้นพร้อมกับน้ำทะเลหนุน เป็นผลทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาล้นฝั่งเช่นกัน

4.แผ่นดินทรุด พื้นที่ในกรุงเทพมหานครมีการทรุดตัว เนื่องจากนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์อุปโภคบริโภคเกินปริมาณน้ำที่ไหลกลับลงไปทดแทน ในอัตรา 5-10 เซนติเมตรต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่เขตพระโขนง บางกะปิ ห้วยขวาง ทำให้พื้นดินเป็นแอ่งกระทะ เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ

จากเหตุนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้กับการหนุนของน้ำทะเลและอื่นๆ และเนื่องจากการทรุดตัวของพื้นที่ซึ่งยังดำเนินต่อไปเรื่อย ทั้งที่รัฐบาลพยายามหยุดการใช้น้ำใต้ดินแล้ว แต่กรุงเทพมหานครยังจะทรุดตัวต่อไปจนระดับน้ำหนุนอยู่เหนือระดับผิวดินต่ำสุดเกือบ 3 เมตร ใน พ.ศ.2543 โดยประมาณ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นตามลำดับ

5.การถูกทำลายของสภาพระบายน้ำที่อยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากการวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินไม่รัดกุมและรอบคอบ มีการเปลี่ยนระบบระบายน้ำในเมืองจากคลองธรรมชาติเป็นระบบท่อ ซึ่งมีขนาดไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ และมีปัญหาการอุดตัน หรือสร้างถนนในลักษณะกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำ ทั้งขนาดช่องระบายน้ำไม่เพียงพอ

สาเหตุเหล่านี้มีผลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยทั่วไปเมื่อเกิดฝนตกหนัก

อีกสาเหตุหนึ่งที่นำมาเผยแพร่ทางออนไลน์ เป็นภาพขยะอุดตันช่องทางระบายน้ำ ให้ “ช่วยกันครับ ไม่ใช่โทษคนอื่น โทษ กทม. นั่นมันปลายเหตุครับ ในเมื่อยังไม่เลิกมักง่ายกันมันก็ท่วมอีกครับ ส่งแรงใจให้พนักงาน กทม.ดีกว่าจะไปโทษคนอื่น”

นั่นซิ สำนักระบายน้ำอย่ามัวหา “วาทกรรม” อยู่เลย ยอมรับว่า น้ำท่วมคือน้ำท่วม จะขังสักสองสามชั่วโมง สักวันสองวัน รีบไปบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯดีกว่า รีบระบายน้ำไม่ต้องรอก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image