เศรษฐกิจดิจิตอล… นวัตกรรมพลิกโลก (ตอน 3) โดย ไพรัช วรปาณิ

Don ได้กล่าวถึง “ความรับผิดชอบใหม่ทางธุรกิจ” ตอนหนึ่งว่า นี่คือเวลาแห่งความหวังและความเสี่ยง มีคำเตือนเรื่องการมาถึงของพายุที่คุณต้องยอมละทิ้งความเป็นส่วนตัวไป ข้อมูลคลาดเคลื่อนและเกินจริงทำลายโครงสร้างของสังคม ความบาดหมางทวีตนสร้างความแตกแยก ด้านมืดของเศรษฐกิจยุคใหม่สร้างข้อกังขาให้กับภาวะผู้นำที่ต้องใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าธุรกิจยุคใหม่ต้องคิดทบทวนถึงบทบาทของตนเองต่อภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ เพื่อแสดงถึงความผิดชอบใหม่ที่พึงมี

ยกตัวอย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนรวยก็รวยมากขึ้น 1% ของคนอเมริกันถือครองทรัพย์สินเกือบ 40% ของประชาชาติ และทุกอย่างกำลังดำเนินไปเร็วกว่าที่เคยเป็นมา นั่นก็เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในยุค 90 หรือการลดทอนภาษีเพื่อคนรวยในยุค 80 นั้น จะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ โครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่จะกวาดล้างบ่อเกิดแห่งปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป หรือว่ามันจะเป็นโรคเรื้อรังที่ยังคงอยู่ต่อไปกับเศรษฐกิจยุคใหม่ แล้วแพร่กระจายลามไปกว้างไกลมากกว่าเดิม นั่นคือสิ่งที่ยังน่ากังวล

ทั้งนี้ เพราะอินเตอร์เน็ตนั้นส่งเสริมสังคมทุกชนชั้น รวมไปถึงเจ้าพ่ออาณาจักรธุรกิจทั้งหลายด้วย ทำให้เราใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตมากกว่าเพื่อนบ้านที่เดินไปเคาะถึงประตูเสียอีก แนวความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นจะเปลี่ยนหรือไม่? ในอดีตนั้นเราอาศัยอยู่ในชุมชนและจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่น เราจึงออกแรงช่วยส่งเสริมให้งานบริการท้องถิ่น และความปลอดภัยของท้องถิ่นดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อขยับไปสู่สังคมไซเบอร์ ความรู้สึกที่มีต่อระดับท้องถิ่นและระดับประเทศชาติจะเริ่มกลืนเข้าหากันหรือไม่? เป็นคำถามที่ Christopher Lasch สะท้อนความคิดเห็นเอาไว้ใน Harper’s Magazine ว่า

สัญญาณที่ส่งออกมาในตอนนี้ก็คือ ผู้คนในแวดวงสังคมระดับสูง ต่างส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนราคาแพง สร้างแผนประกันสุขภาพให้ตนเอง และจ้างคนมาปกป้องการถูกชาวบ้านนินทา นั่นหมายความว่า พวกเขามองไม่เห็นประโยชน์จากการจ่ายเงินให้แก่บริการสาธารณะ พวกเขาคิดถึงแต่ตนเองที่ต้องดีกว่าผู้อื่น ซึ่งมันสะท้อนไปยังการทำธุรกิจของพวกเขาด้วย และชัดเจนว่า พวกเขาเพิกเฉยต่อความต้องการของประเทศชาติมากขึ้นทุกที

Advertisement

ยุคเครือข่ายอัจฉริยะนี้ ทำให้พรมแดนทางกายภาพไร้ความหมาย เพราะการไหลเวียนของเงินตรา ข้อมูล การทำรายการทางธุรกิจและการสื่อสารนั้นไร้พรมแดนโดยสิ้นเชิง

แต่…ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของชีวิตที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจใหม่นี้ กลับเป็นสิ่งที่น่ากังวล ถ้าหากมันช่วยให้มนุษย์ร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นได้จริงแล้ว ทำไมตัวเลขคาดการณ์คนที่ขาดแคลนในสหรัฐอเมริกากลับเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา (และเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับยุโรป) ทำไมพลเมือง 35 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีการประกันสุขภาพที่ดี เด็กรุ่นอินเตอร์เน็ตนี้คือ เด็กกลุ่มแรกที่กำลังเผชิญหน้ากับมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ตกต่ำลง ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาคนไร้บ้านคือ ความเสื่อมเสียของรัฐบาล

นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ประโยคที่ว่า “โลกที่สามภายในประเทศของเรา” ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย

Advertisement

สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ดีมากกว่าสหรัฐอเมริกาสักเท่าใดเลย การเลือกตั้งของฝรั่งเศสในปี 1995 กลายเป็นการเลือกตั้งระหว่างฟาสต์ซิสต์กับมาร์กซิสต์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ก่อให้เกิดปัญหาความแร้นแค้น โรคภัย และอาชญากรรมมากมาย

แม้ว่าอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจยุคใหม่จะช่วยให้ประเทศด้อยพัฒนาหรืออดีตประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายก้าวกระโดดตนเองขึ้นมาได้ก็ตาม แต่การเจริญเติบโตแบบไม่วางแผนอาจก่อผลร้ายตามมาภายหลัง เราต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้ประชากร 20% ของโลกจากประเทศพัฒนาแล้วบริโภคทรัพยากร 80% ของโลก แล้วถ้าหากในปี 2050 ประชากรโลกเติบโตถึง 11.5 พันล้านคนตามที่คาดการณ์เอาไว้ ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีสำรองเอาไว้จะลดลงเหลือเพียงแค่หนึ่งส่วนสี่เท่านั้น แล้วเด็กๆ ในรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร นั่นคือคำถามที่นักธุรกิจทุกคนไม่ควรละเลยประชาธิปไตยอิเล็กทรอนิกส์และการเมืองใหม่

ประเด็น : โลกเครือข่ายที่เกิดขึ้นนี้มีผลอย่างไรกับประชาธิปไตย? มีการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไรจากการก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจใหม่นี้? การเปลี่ยนแปลงองค์กรการเมือง กระบวนการ และอำนาจของมัน จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างมากมาย

นี่คือเวลาที่เราจะมาพูดถึงทางด่วนสารสนเทศ และผลกระทบต่อประชาธิปไตยกันอย่างจริงจังเสียที มันปรากฏชัดเจนในการเลือกตั้งระหว่างกาลเมื่อปี 1994 ซึ่งในเวลานั้นผู้แข่งขันบางคนใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้มีสิทธิออกเสียง ผู้มีสิทธิลงคะแนนนับแสนรายใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาซื้อสินค้าจะมีโอกาสได้พบเห็นจุดยืนของผู้สมัครบางราย และเห็นผลการทำนายการเลือกตั้งพร้อมกัน The League of Woman Voters สร้างโครงการ Vote Smart ขึ้นมา เพื่อรายงานข้อมูลการเลือกตั้ง การใช้เงินในการรณรงค์หาเสียง และประเมินผลผู้สมัครบางรายจากกลุ่มที่สนใจ

ผู้แข่งขันบางคนใช้อีเมล์ตอบคำถามผู้มีสิทธิ บางคนถึงขนาดตั้งเว็บ เซิร์ฟเวอร์กันเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น Kathleen Brown ผู้ชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย จัดตั้งเครื่องคีออสเอาไว้ตามห้างสรรพสินค้าเพื่อให้คนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ได้เข้าถึง เธอบอกว่า มันเป็นการทำลายวิธีการรณรงค์หาเสียงแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง “เป็นการรวมเอาสองสิ่งสำคัญของแคลิฟอร์เนียเข้าไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ เศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ หรือจะพูดว่าฮอลลีวู้ดกับซิลิกอน วัลเลย์ก็ได้” เมื่อถึงวันเลือกตั้ง อินเตอร์เน็ตก็ใช้รายงานผลการเลือกตั้งแบบวินาทีต่อวินาที

นักสังเกตการณ์บางคนบอกว่า การเลือกตั้งจากบ้านหรือที่ทำงานมีอันตราย คือ มันโกงได้ และที่สำคัญคือ มันทำลายจิตวิญญาณที่แท้จริงของประชาธิปไตย นั่นก็คือ การมีส่วนร่วม การออกไปลงคะแนนจึงเป็นประเด็นเผ็ดร้อนมากพอสมควร ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมบางอย่างในการปรับปรุงกระบวนการนี้

ดังนั้น การจัดตั้งให้มีการปราศรัยใหญ่ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ในปี 1992 ของ Ross Perot จึงยังต้องเป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์ผลที่แท้จริงกันต่อไป

สําหรับธุรกิจและภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจต้องทบทวนบทบาทที่ตนเองมีต่อเศรษฐกิจใหม่นี้อีกครั้ง ต้องสร้างภาวะผู้นำเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา ซึ่งไม่ใช่เพื่อผู้อื่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องสนองต่อความสนใจส่วนตัวด้วย ความสำเร็จของธุรกิจจึงขึ้นกับความรวดเร็วและความราบรื่นในการเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจที่ใหญ่โตระดับชาติต้องตั้งอยู่บนแรงงานที่มีการศึกษา มีแรงจูงใจ มีความมั่นคง และมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นแรงงานในเศรษฐกิจยุคใหม่นั่นเอง ส่วนตลาดท้องถิ่นนั้นจะเติบโตต่อไปได้ก็ด้วยความสามารถในการสนับสนุนนวัตกรรม สนองตอบผลประโยชน์ของสังคม และเชื่อมั่นในความโปร่งใสได้

องค์กรต่างๆ นิยมกำหนดตนเองให้สอดคล้องไปกับนโยบายทางสังคม เช่น งานการกุศล การให้เงินสนับสนุนโครงการของชุมชน เป็นต้น เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่จะเกิดแรงเฉื่อยขึ้นมา ดังนั้นเศรษฐกิจและสังคมจึงจำเป็นต้องจับมือเอาไว้ ปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมของภาครัฐจึงกลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไป เมื่อเทียบกับปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ มากกว่านั้น เมื่อโลกเริ่มเล็กลงสำหรับบริษัทและลูกค้า การเชื่อมโยงดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะใหญ่คับโลกขึ้นมาเรื่อยๆ

องค์กรยุคเก่าและคุณค่าของมันกำลังล่มสลาย อันได้แก่ โครงสร้างจากบนลงล่าง สัญญาจ้างงานตลอดชีพเพื่อแลกเปลี่ยนกับความซื่อสัตย์และการทำงานหนัก รวมถึงความคาดหมายที่สาธารณชนมีต่อภาครัฐ ล้วนล่มสลายลงโดยพร้อมกัน

ในอดีตนั้น เราไม่สามารถคาดหวังอะไรจากใครได้เลย นายหน้าค้าหุ้นก็ติดคุกไปแล้ว พระก็ติดคุกเพราะละเมิดทางเพศกับเด็ก และนักธุรกิจก็เอาแต่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ผู้บริหารระดับสูงมีความสุขกับรายได้มหาศาลที่ได้มาจากการวัดผลงาน (ด้วยเครื่องมือวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน) ในขณะที่พนักงานยังคงรัดเข็มขัด และวิตกกังวลกับรายได้ต่อเดือน พวกคนผิวขาวพยายามลดหย่อนภาษีของตน พร้อมกับให้นักกฎหมายลดบริการสังคมลง ซึ่งเท่ากับบั่นทอนสภาพความเป็นอยู่ของคนจนและคนผิวสีนั่นเอง

นี่คือเวลาที่มนุษยชาติเข้าใกล้ทางแยกมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เรายังปล่อยให้ธุรกิจชี้นำคุณค่าที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อีกต่อไปหรือไม่? ผู้นำธุรกิจยุคใหม่จะเข้าใจดีอย่างแท้จริงหรือว่าจะนำความสนใจส่วนตัวมาผสมผสานเข้ากับเป้าหมายของสังคมได้อย่างไร? และที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างราบรื่นได้หรือไม่?

ชัดเจนว่าเทคโนโลยีและการตลาดที่จะผลักดันให้พวกเราเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องสร้างความรู้สึกลึกเข้าไปถึงคุณค่าทางจิตใจที่ไม่ขึ้นกับการตลาด คำถามคือ บรรดาผู้นำทางธุรกิจจะหลีกเลี่ยงความสับสนอลหม่านและความขัดแย้งในสังคมได้หรือไม่? อะไรคือผลกระทบจากการบริหารจัดการที่ยังยึดติดอยู่กับแบบจำลองเดิมๆ ทั้งในแง่ธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม?

เศรษฐกิจดิจิตอลจึงต้องการนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นคนที่กล้าหาญ และเชื่อมั่นมากพอที่จะโยนกรอบความคิดเดิมๆ ทิ้งไป เป็นคนที่ยินดีให้การเติบโตทางธุรกิจและผลกำไรสอดรับไปกับความต้องการของพนักงาน ลูกค้า และสังคมเพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม และแบ่งปันความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดถึงสังคม เข้มแข็งมากพอที่จะนำและพร้อมเผชิญหน้ากับทุกอุปสรรค เมื่อเราก้าวเข้ายุคใหม่ อนาคตไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นมา และถ้าเรายินดีเข้าร่วมคุณค่าของพวกเรา ความมาดมั่น และความคาดหวังของพวกเรา จะกำหนดแนวทางการเปลี่ยนรูปธุรกิจและโลกของเราได้ในที่สุด

โครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารแบบกระจายทางเดียวในอดีตซึ่งเป็นโครงสร้างจากบนลงล่างแข็งกระด้าง และรวมศูนย์นั้นจบสิ้นไปแล้ว สื่อยุคใหม่เป็นไปในแบบตอบโต้ฉับพลันสองทาง เปลี่ยนแปลงรูปร่าง และถูกควบคุมโดยผู้บริโภค มันจะเป็นทุกอย่างตามแต่ที่ผู้บริโภคอยากให้มันเป็น มันจะทำทุกอย่างตามที่ผู้บริโภคบอกให้มันทำ

นี่คือความจริงที่ไม่ใช่เพียงแค่ความหวังครั้งยิ่งใหญ่ แต่มันคือข้อตกลงร่วมสร้างสิ่งที่ดีในอนาคต สร้างสังคมใหม่ที่มีความตระหนักรู้ มีสติสัมปชัญญะ และหากเราลงมือด้วยตนเองเราจะฉกฉวยมันมาได้ ซึ่งนั่นทำให้ยุคสมัยแห่งเครือข่ายอัจฉริยะ เป็นยุคสมัยที่เติมเต็มไปด้วยความหวังอย่างแท้จริง…(จบ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image