สิ่งมีชีวิต (แต่บางครั้งอาจจะไม่มีจิตใจ) ที่เรียกว่า ‘สลิ่ม’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ใครจะเชื่อว่ารูปคาบนกหวีดที่เคยโพสต์กันอย่างภาคภูมิใจในโซเชียลของบรรดาผู้มีชื่อเสียง ข้าราชการ นักวิชาการ ดารานักร้องนักแสดง เวลาผ่านไปห้าปีนิดๆ ผ่านไป จะกลายเป็นภาพน่าอับอายที่เจอเมื่อไรต้องลบตรงนั้น ก่อนที่ “ทัวร์” ของพลเมืองเน็ตจะมาลงแล้วถลกทวนความทรงจำและเรียกร้องหาความรับผิดชอบ

“ความเป็นสลิ่ม” กลายเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ

ซึ่งว่ากันจริงๆ ก็พวกเขานั่นแหละที่หาเรื่องโผล่ออกมาจากหลุมรูให้ตกเป็นเป้าเอง ด้วยการออกมาโจมตีบรรดานิสิตนักศึกษาที่ออกมาแสดงตนชุมนุมแบบแฟลชม็อบในประเด็นต่างๆ จนทำให้เขาต้องขุดเอารูปสมัยที่พวกตนเองไปเป่านกหวีดกันครึกครื้นในปี 2556-2557 ออกมายันให้หน้าหงายหน้าม้านกันไป

“สลิ่ม” นั้นแรกปรากฏในพื้นที่ทางการเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปี 2553 เมื่อคนกลุ่มหนึ่งซึ่งสนับสนุนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงตนออกมาชุมนุมให้กำลังใจไม่ให้ยุบสภาตามข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง โดยแรกเรียกตัวเองว่า “กลุ่มเสื้อหลากสี” ที่แม้ว่าส่วนใหญ่ 90% ของกลุ่มนั้นจะเป็นอดีต “คนเสื้อเหลือง” หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ในตอนนั้น “แบรนด์” ของ “เสื้อเหลือง” นั้นออกจะเหม็นสาบไม่น่าใส่ เพราะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและทำเนียบรัฐบาลและก่อความรุนแรงในปี 2551 ทำให้คนที่หน้าบางหน่อยก็ลำบากใจที่จะยังประกาศความเป็นพันธมิตร

Advertisement

ภาพจากมุมสูงของการชุมนุมของคนกลุ่มนั้นทำให้ใครสักคนหนึ่งเห็นว่า มันช่างคล้ายกับสีของขนมหวานหลากสีราดกะทิที่มีชื่อว่า “ซ่าหริ่ม” ซึ่งภาษาปากเราออกเสียงกันว่า “สลิ่ม” และถูกนำมาใช้เป็นคำเรียกชื่อคนกลุ่มนี้ในที่สุด

การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของชาวสลิ่มนั้นส่งผลต่อการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงปี 2553 จนถึง 2557 ก่อนจะกลับมาใหม่ในสองปีนี้ ด้วยบทบาทสำคัญสองสามเรื่อง แรกสุดคือการออกมาสนับสนุนจนถึงเรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยไม่เลือกวิธีการ

ซึ่งต่อมากลายเป็นใบอนุญาตให้ล้อมปราบและสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งชาวสลิ่มก็ได้ให้สัตยาบันว่าดีแล้ว ชอบแล้ว ด้วยวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง”

Advertisement

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ชาวสลิ่มนี้เองก็ช่วยกันลดความน่าเชื่อถืออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างๆ นานา แม้แต่การสร้างเรื่องเท็จขึ้นมากล่าวหา ตั้งแต่เรื่องสกปรกชู้สาว ไปจนการล้อเลียนที่ไม่มีมูล (เช่นเรื่อง “คอ-นก-รีต”)

และที่เป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย คือชาวสลิ่มนั้นรวมตัวได้กลุ่มใหญ่และสนับสนุนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งเป็นมวลมหาประชาชน กปปส. ออกมาเป่านกหวีดไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เริ่มต้นจากความผิดพลาดที่พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ลุกลามไปจนเป็นการปิดกรุงเทพฯ จนเกิดสภาวะที่ระบบกฎหมายล้มเหลว กลุ่มอันธพาล กปปส. ออกมาทำร้ายผู้คนที่ไม่เห็นด้วยหรือได้รับความเดือดร้อนการจากปิดกรุงเทพฯ แบบที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายไม่อาจคุ้มครองอะไรได้ นำไปสู่การรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ซึ่งส่งผลลากยาวมาจนทุกวันนี้

บทบาทครั้งหลังสุดนั้นส่งผลหนักหนาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะพอนึกออกว่า “สลิ่ม” นั้นได้แก่คนกลุ่มไหน แต่ก็มีคำถามตามมาว่าข้อบ่งชี้เฉพาะของ “สลิ่ม” นั้นคืออะไร คือพูดง่ายๆ ว่า เส้นของการตัดสินว่าใครเป็นสลิ่มหรือไม่คืออะไร ลำพังเพียงการไปเป่านกหวีดประท้วงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงเท่านั้นก็เป็นสลิ่มแล้วหรือ

การสรุปว่าใครที่ออกไปแสดงความไม่เห็นด้วยหรือประท้วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นสลิ่มไปทั้งหมดนั้นก็อาจจะเป็นการเหมารวมที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพประชาธิปไตยเท่าไรนัก นั่นเพราะเราต้องยืนยันในหลักการเสียก่อนว่าการออกมาประท้วงหรือขับไล่รัฐบาลที่แม้แต่จะมาจากการเลือกตั้ง ต้องเป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้ ตราบใดที่ขอบเขตของข้อเรียกร้องนั้นยังเป็นไปได้ตามกติกาประชาธิปไตย

ดังนั้น โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว จุดตัดแบ่งของผมที่ว่าคนที่ไปเป่านกหวีดคนไหนถือเป็น “สลิ่ม” หรือไม่ จึงมีแดนเส้นตายอยู่ที่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา

สำหรับผม ใครที่ยอมจบในวันนี้ก็ยังไม่ใช่ “สลิ่ม” (แม้อาจจะมองอย่างคลางแคลงใจว่า ไปเชื่อคนอย่าง “ลุงกำนัน” อะไรนั่นได้อย่างไร) โดยเฉพาะยอมจบแล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นด้วย

ส่วนใครที่ไปต่อหลังจากวันนั้น และที่ไปขัดขวางล้มการเลือกตั้งนั่นแหละสลิ่มแท้แน่นอน เป็นสลิ่มที่ทำให้การเมืองมาถึงทางตันจึงควรจะรับผิดชอบต่อการรัฐประหาร 2557 และผลสืบเนื่องของมันซึ่งมีมาถึงทุกวันนี้ด้วย

แม้จะออกน่าเห็นใจว่า การครอบอำนาจยาวนานขนาดนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศและการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลน่าเกลียดอย่างที่ทราบกันด้วย พวกเขาอาจจะมองโลกในแง่ดีว่าต่อให้ตัวเองนำพาสถานการณ์ไปสู่การรัฐประหาร แต่รัฐประหารที่พวกเขารู้จักนั้นก็แค่ทหารมาไล่รัฐบาลเก่าออกไป แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และเปิดให้มีการเลือกตั้งกันอีกในหนึ่งปีหรืออย่างช้าก็สองปี (หลักฐานความคิดสั้นนี้ยังคงหลอกหลอนบรรดาเซเลบในโลกออนไลน์หลายคน)

แต่การอ้างแบบนั้นก็อาจจะฟังไม่ขึ้นในแง่ที่ว่า ในเมื่อคุณตัดสินใจโยนไม้ขีดลงบนหญ้าแห้งแล้ว จะอ้างว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลแค่เผาสนามหญ้าจะรับผิดชอบแค่นั้นคงไม่ได้ ในเมื่อไฟไหม้ลามไปจนวายวอดกันทั้งบ้านแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกคุณคือต้นเพลิง

ในตอนแรก หลายคนมอง “สลิ่ม” ว่าคือกลุ่มผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยม ศีลธรรมนิยมไปจนถึงชาตินิยมขวาจัด แต่เพราะพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาของสลิ่มส่วนมาก ทำให้เราไม่อาจเรียกว่าสลิ่มหมายถึงกลุ่มอนุรักษนิยม หรือเหมาเอาว่าใครมีความคิดแบบอนุรักษนิยมจะเป็นสลิ่มได้

เพราะผู้ที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมนั้น จะมีความเชื่อหรือความยึดมั่นในคุณค่าสำคัญบางอย่าง คุณค่านั้นอาจจะได้แก่เรื่องของศีลธรรมจริยธรรม ซึ่งผู้มีแนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องตายตัว นั่นคืออะไรที่เลวก็คือเลว อะไรที่ดีก็คือดี ดังนั้น ผู้มีความคิดแบบอนุรักษนิยมจึงไม่ค่อยเปิดใจยอมรับว่าความดีความเลวนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลได้ตามบริบทและเวลา

แต่ผู้มีความคิดเช่นนี้เขาจะยึดมั่นในหลักการและคุณค่าดังกล่าวนั้นเป็นสำคัญ นั่นคือ ใครที่ทุจริตหรือมีประโยชน์แอบแฝงทับซ้อน ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองนั้นคือคนไม่ดี

ดังนั้น ที่เขาออกมาขับไล่หรือแช่งด่ารัฐบาลที่มาจากนักการเมืองบางฝั่งฝ่ายเพราะเขาเชื่อว่านักการเมืองกลุ่มนั้น “โกง” ซึ่งคือพวกคนไม่ดี เพราะพฤติกรรมต่างๆ ที่พวกเขาเชื่อว่านั่นคือผลประโยน์ทับซ้อน นั่นคือการหาการใช้อำนาจเพื่อความได้เปรียบของตนเอง ดังนั้น ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เขาจะรังเกียจรังชังไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการชั้นสูง หรือทหาร

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นคนที่เคยต่อต้านนักการเมืองฝั่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” นั้น ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่ขับไล่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่อยู่อีกขั้วหนึ่ง

ในขณะที่ “สลิ่ม” นั้นไม่มีหลักการอะไร ข้ออ้างเรื่องการเกลียดคนโกงหรือหวงแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานนั้นเป็นแค่ข้ออ้างเหตุผลจอมปลอมให้ตัวเองดูดีว่าการออกมาขับไล่รัฐบาลที่ตัวเองชิงชังนั้นเป็นเรื่องของ “หลักการและเหตุผล” มิใช่เรื่องของการเลือกตั้งแล้วแพ้เสียงข้างมากแล้วพาลทะโลโยเย

ด้วยเหตุนี้ สลิ่มจึงเงียบกริบและลี้กายไปดำน้ำดูปะการัง นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม เรียนโค้ดดิ้ง วิ่งมาราธอนกันไป เสมือนกับว่าในขณะนี้รัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่นั้นทำงานโดยโปร่งใสไม่มีอะไรน่ากังขา ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าเป็นอารยะ

หรือแม้แต่นักอนุรักษ์บางคนที่จะเป็นจะตายเอากับโครงการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สงบเชื่องเซื่องซื่อกับรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งจะว่าเกรงภัยกลัวอำนาจก็อาจจะฟังได้ แต่เมื่อรัฐบาลที่ว่านั้นแปรลักษณ์กลายรูปมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การสนับสนุนคุ้มครองจากเครือข่ายอำนาจเดิมแล้ว นักอนุรักษ์บางคนนั้นก็ยังคงหุบปากเงียบชมนกชมไม้และชายหาดสวยงาม โดยไม่สงสัยไต่ถามเรื่องการนำเข้าขยะเป็นตันๆ นิ่งเฉยเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 หรือจะทุบภูเขาโบราณทำเหมือง ก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไร

ความไร้หลักการนี้เองที่เป็นสิ่งที่ชี้เฉพาะถึงความเป็น “สลิ่ม” ซึ่งในตอนแรกเราอาจจะเชื่อว่า ความไร้หลักการนี้เป็นเพราะความเกลียดชังต่อฝั่งฝ่ายการเมืองที่พวกเขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” แต่ความพินาศโกลาหลและความทุกข์ยากของผู้คนจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังได้รับผลกระทบถึงขนาดอาจจะไม่มีหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ผ่าตัดหรือแอลกอฮอล์ในทางการแพทย์แล้ว พวกเขาก็ยัง “ให้ท้าย” หรือสนับสนุนรัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ได้อยู่ดี

บางครั้งก็คิดว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้เกลียดระบอบทักษิณอะไรนั่นหรอก แต่เขาเกลียดพวกเรา ประชาชนที่เห็นต่างหรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับพวกเขา เขาเกลียดเสียจนมองข้ามความไร้ประสิทธิภาพหรือเรื่องน่าสงสัยทั้งปวงนี้ไป ปิดหูปิดตาเชื่อในการปั่นของกองกำลังปฏิบัติการทางจิตวิทยาและข่าวเท็จ หรือกระทั่งที่ยอมเป็นมือไม้ไล่ล่ารบกวนละเมิดสิทธิของประชาชนหรือแม้แต่บุคลากรของรัฐที่ออกมาแสดงตัวว่าอยู่คนละฝ่ายกับผู้มีอำนาจ

นั่นคือโคตรแห่งสลิ่มที่น่าชิงชังรังเกียจ เราอาจจะพอให้อภัยกับบรรดาสลิ่มหรือคนเคยเป่านกหวีดแต่กลับใจมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือร่วมชุมนุมได้ แต่ใครที่ยังมีพฤติกรรมแบบสลิ่มๆ แม้ได้รู้เช่นเห็นชาติการใช้อำนาจทั้งหลายของรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุนผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมานี้แล้วยังคงยืนยันที่จะยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล คนกลุ่มนี้คงยากที่เราจะเปิดใจเข้าใจได้จริงๆ

แต่นี่ก็เป็นคนละเรื่องกับ ส.ส. พรรครัฐบาลและผู้ประกาศข่าวที่ออกมาถากถางเสียดสีในมรณกรรมของท่านผู้พิพากษาที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองอีกครั้งจนเป็นผลสำเร็จเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมอันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร เพียงเพราะเห็นว่าการกระทำของท่านนั้นไปเข้าทางคนอีกฝั่งหนึ่ง คนที่เห็นความตายของผู้อื่นเบากว่าขนนก และอ้างศาสนาสบประมาทกล่าวร้ายต่อผู้ยอมตายเพื่อพิสูจน์
สัจจะ

คนแบบนั้นเรียกว่า “สลิ่ม” ก็ยังรู้สึกเหมือนไปดูหมิ่นความเป็นมนุษย์ของ “สลิ่ม” เลย

กล้า สมุทวณิช

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image