วิกฤตการณ์หน้ากาก : วีรพงษ์ รามางกูร

ความโกลาหลเกิดขึ้นทันทีที่มีข่าวว่าโรคโคโรนาไวรัสระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคในโลก จากประเทศจีนไปสู่ญี่ปุ่น เกาหลี และภูมิภาคอื่นๆ หน้ากากปิดปากปิดจมูกกลายเป็นสินค้าขาดแคลนขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่โรงงานก็ยังเปิดและผลิตสินค้าหน้ากากอนามัยป้องกันละอองน้ำมูกน้ำลายจากผู้อื่นอยู่

โดยปกติที่ไม่มีโรคระบาด ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดอยู่ตามฤดูกาลในฤดูหนาวทุกปีอยู่แล้ว แต่เราก็มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน เมื่อเป็นหวัดเราก็ใช้หน้ากากปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันไม่ให้กระจายไปติดกับผู้อื่น เมื่อคราวที่มีโรคซาร์ส ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ เราก็ใช้หน้ากากสวมปิดปากปิดจมูก ใช้เจลผสมแอลกอฮอล์ชโลมมือไม้ป้องกันตนเองในกรณีที่ไปแตะต้องสิ่งของ หรือไปสัมผัสกับผู้ที่อาจจะติดเชื้อโรคได้

หน้ากากปิดปากและจมูก ปกติผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกการแพทย์ รวมถึงพ่อครัวและพนักงานปรุงอาหารในครัวของโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคารและสถานที่สาธารณะอื่นๆ พนักงานก็สวมหน้ากากอนามัยกันอยู่แล้ว ความต้องการหน้ากากอนามัยในยามปกติก็มีเป็นของปกติอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันก็เพิ่งทราบว่าประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและส่งออกรายสำคัญของโลก ราคาของหน้ากากในยามปกติที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาแทรกแซง ไม่ได้เข้ามายุ่มย่าม ก็เป็นไปตามกลไกตลาดและราคาน่าจะต่ำกว่าราคาตลาดโลก เพราะผู้ใช้หน้ากากของไทยในต่างประเทศต้องบวกค่าขนส่งทั้งทางบกและทางเรือ ค่าการตลาดในต่างประเทศ ค่าดอกเบี้ยในการเก็บรักษา ของก็จะมีใช้ตลอดไป

Advertisement

ความต้องการหน้ากากก็เหมือนกับสินค้าอื่นๆ คือความต้องการใช้คิดเป็นจำนวนชิ้นต่อวันต่อเดือนหรือต่อปี ที่เรียกว่า transaction demand กับความต้องการเก็บไว้จำนวนหนึ่งเผื่อเหลือเผื่อขาดในยามปกติ เช่น 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ปกติ เรียกว่า precautionary demand ส่วนอันสุดท้ายคือความต้องการเก็บกักตุนไว้เก็งกำไร เพราะคาดว่าราคาจะสูงขึ้นในอนาคต เรียกว่า speculation demand ต้นทุนของการกักตุนดังกล่าวก็คืออัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ หรือเงินสดในธนาคารเอง หรือส่วนที่นำไปฝากธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อความต้องการใช้หน้ากากเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งที่ใช้เองและส่งออก ราคาหน้ากากซึ่งต้นทุนการผลิตมีเพียงชิ้นละ 1.25 ถึง 1.50 บาท ราคาขายปกติก็อยู่ที่ประมาณชิ้นละ 2.50 ก็ถีบตัวสูงขึ้นเป็นชิ้นละ 10-15 บาท เพราะปริมาณการผลิตเท่าเดิม เมื่อราคาสูงขึ้นนักเก็งกำไรก็คาดว่าหน้ากากคงจะขาดแคลน ก็ยิ่งซื้อเพื่อกักตุนเพื่อการเก็งกำไรมากขึ้น

เดือดร้อนถึงรัฐบาล เพราะสื่อมวลชนต่างก็ลงข่าวลงความเคลื่อนไหวของราคา รัฐบาลจึงก้าวเข้ามาแทรกแซงตลาด ประกาศมาตรการควบคุมราคา ประกาศจะเป็นผู้ขายส่งขายปลีกเอง โดยกระทรวงพาณิชย์สั่งให้โรงงาน 11 แห่ง ผลิตวันละ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน 700,000 ชิ้นต่อวัน จัดส่งให้โรงพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข 500,000 ชิ้นต่อวัน ให้กรมการค้าภายในจัดส่งให้ร้านธงฟ้าวันละ 200,000 ชิ้น อีก 300,000 ชิ้น กรมการค้าจัดรถเคลื่อนที่ 21 คัน ออกตระเวนขายในกรุงเทพฯ และ 90 คัน ตระเวนขายในต่างจังหวัด

ทันทีที่รัฐบาลประกาศยึดกิจการค้าส่งค้าปลีกจากโรงงานทั้งหมด ทำแบบเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์สมัยก่อนทำ หน้ากากอนามัยก็ขาดตลาดทันที แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นจะต้องใช้ก็ยังไม่มีจะใช้ เพราะหน้ากากเกือบทั้งหมดหลบลงใต้ดินหมด เดือดร้อนกันทั่วไป นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะไม่มีหน้ากากใช้แล้ว ผู้ส่งออกซึ่งทำสัญญาขายล่วงหน้าไว้ 3 เดือน ก็ต้องดิ้นรนหาของส่งให้กับลูกค้า ถ้ารัฐบาลประกาศห้ามส่งออกก็ต้องเจรจากับผู้ซื้อ มิฉะนั้นก็จะถูกปรับ โรงงานผลิตหน้ากากทั้ง 11 แห่ง ก็จะไม่แจ้งจำนวนที่ตนผลิตจริง นอกจากกระทรวงพาณิชย์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าโรงงานผลิต ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าตรวจนับจำนวนชิ้นที่ผลิตแล้วจะมีประสิทธิภาพเพียงพอทั่วถึงทุกโรงงาน

ขณะเดียวกันการตั้งราคาควบคุมไว้ที่ชิ้นละ 2.50 บาท จะไม่ใช่ราคาที่ทำให้ตลาดเกิดดุลยภาพ demand เท่ากับ supply แล้วยังทำให้ผู้ผลิตอาจจะขาดทุนจากการขึ้นราคาของวัตถุดิบที่นำมาจากต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดราคาหน้ากากที่นำเข้าจะต้องขายราคาไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของราคานำเข้าจากอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น

เมื่อครั้งที่ราคาน้ำมันปาล์มขึ้นราคาเพราะราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น รัฐบาลในสมัยนั้นที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์เช่นเดียวกับในขณะนี้ประกาศมาตรการควบคุมราคา ก็เป็นเหตุให้น้ำมันปาล์มหายไปจากตลาด เกิดความขาดแคลนขึ้นทันที ราคาตลาดมืดถีบตัวสูงขึ้นกว่าราคาปกติทันที เป็นเหตุให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มกำไรมากขึ้นกว่าการปล่อยเสรีทันที เช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังทำ ในที่สุดหน้ากากก็เกิดขาดแคลนและหายไปจากตลาดทันที ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้นกว่าราคาที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โรงงานผลิตหน้ากากก็จะทำขายในตลาดมืดทันที กำไรก็ได้มากกว่าเดิม

ในไม่ช้าราคาก็จะลดลงเมื่อความตระหนกของประชาชนลดลงจากมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ และทำความเข้าใจกับประชาชนพร้อมๆ กัน หากราคาหน้ากากแพงขึ้นการนำเข้าก็จะมากขึ้น การส่งออกก็จะลดลงไปเอง ขณะเดียวกันกำไรของโรงงานก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะราคานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากก็จะสูงขึ้น เป็นการปรับตัวไปตามกลไกตลาด

ในระยะยาว ถ้าผู้ลงทุนเห็นว่าทั่วโลกจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นจากการระบาดของไวรัสชนิดต่างๆ หรือมีข่าวว่าผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้วอาจจะยังไม่ปรากฏอาการ แต่ก็อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดกับผู้อื่นผ่านทางน้ำมูกน้ำลายได้ การใช้หน้ากากในที่สาธารณะอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทยเหมือนๆ กับคนญี่ปุ่นก็ได้

เมื่อ 50 ปีก่อน เดินทางไปเรียนหนังสือที่ประเทศอเมริกาฝั่งตะวันออกต้องไปต่อเครื่องบินที่กรุงโตเกียว เห็นคนญี่ปุ่นจำนวนมากสวมหน้ากากผ้าสีขาว ทีแรกก็เข้าใจว่าคนญี่ปุ่นสวมหน้ากากเพราะป้องกันมลพิษทางอากาศ เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อไปถึงฟิลาเดลเฟีย เพื่อนญี่ปุ่นที่เช่าห้องอยู่ด้วยกันบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นมานาน ก่อนสมัยฟื้นฟูเมจิเสียอีก ที่คนญี่ปุ่นจะรับผิดชอบต่อสังคมโดยการสวมหน้ากากยามที่ตนเป็นหวัดหรือเป็นไข้หวัด เพื่อป้องกันผู้อื่นมิให้มาติดหวัดจากตนเอง ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าถ้าตนไม่ได้เป็นไข้หรือเป็นหวัดก็ไม่มีความจำเป็นต้องสวมหน้ากาก ไม่ต้องแตกตื่นถึงขนาดนี้

ขณะเดียวกันผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายล่างหน้าไว้แล้วกับโรงงานเพื่อส่งออกหรือใช้ในนี้ก็ตาม หากรัฐบาลห้ามส่งออกก็มีผลกระทบระยะยาวต่อการเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยในยามจำเป็น การประกาศว่าผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทนั้น ก็เป็นกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ผล เพราะมีหลักเศรษฐศาสตร์อยู่ข้อหนึ่งว่า “พลังกฎหมายสู้พลังกำไรไม่ได้” หรือคำพังเพยของพ่อค้าที่ว่า “ตายไม่กลัว กลัวไม่ได้กำไร” นับประสาอะไรกับติดคุกหรือถูกปรับ

การเข้ามาควบคุม การเข้ามาแทรกแซงตลาดของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ มักจะทำให้เกิดภาวะของหายไปจากตลาดโดยผู้ผลิตและหรือผู้ค้าส่งค้าปลีก ยังไม่เคยออกกฎหมายมาตรงกับกลไกตลาดได้เลย แต่ก็เป็นสีสันทางการเมือง สื่อมวลชนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจกลไกตลาดก็ถูกใจ เพราะถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยหรือทำไม่พอก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์

ในกรณีนี้ถ้ารัฐบาลอยากจะทำก็ต้องทำตัวเหมือนเป็นบริษัทเอกชนอย่างหนึ่งที่ไม่มีอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงตลาด เชื่อขนมกินได้เลยว่าในไม่ช้าก็จะมีข่าวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น มีกรณีต้องไปฟ้องร้อง ป.ป.ช.เกิดขึ้น แต่คงไม่เป็นไร เพราะเคยทำมาแล้วมากมายก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เอกสารอาจจะลอยไปตามน้ำเหมือนเคยๆ ก็ได้

การเกิดโรคโควิด-19 ระบาดที่ประเทศจีนแล้วแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย คงจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของจีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย การท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของเราคงจะซบเซา รวมไปถึงกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ วัตถุดิบสำหรับอาหารการกิน เสื้อผ้า และอื่นๆ คงจะกระทบกระเทือนไปหมด

ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบอย่างแน่นอนว่าการระบาดของโรคจะรุนแรงขยายวงออกไปมากกว่านี้เท่าไหร่ เพราะขณะนี้ยุโรป อเมริกาและประเทศในเขตหนาว ต่างก็พบกับการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ปลอบใจกันเองว่าโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ไม่ทนต่อความร้อนของอากาศในเขตบ้านเรา เข้าหน้าร้อนก็หายเอง

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศเพื่อนบ้านของเราอันได้แก่ พม่า ลาว เวียดนามและเขมร ยังไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งที่ป่วยและเสียชีวิตเลย แล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ของประเทศต่างๆ ก็สู้ของประเทศไทยเราไม่ได้ ดังนั้น เราจึงไว้วางใจไม่ได้ อาจจะต้องสวดมนต์ไหว้พระ ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยและพระสยามเทวาธิราชช่วยปกป้องให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ด้วยเถิด

หวังว่าอากาศร้อนที่กำลังมาจะช่วยให้เราปลอดภัย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image