Thailand Tourism 4.0 โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ Thailand 4.0 กำลังดัง ทางท่องเที่ยวก็ไม่น้อยหน้า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังร่างวิสัยทัศน์ท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2579 ออกมารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ดูเหมือนว่าร่างแผนชาติฉบับนี้จะยังกังวลกับการแข่งขันระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียอยู่มาก แต่ในความเป็นจริงก็คือไทยทิ้งห่างประเทศเอเชียอื่นๆ หลายช่วงตัว อันเนื่องมาจากอานิสงส์ของนักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งอาจจะพึงใจในวัฒนธรรมประเทศไทยมากกว่าวัฒนธรรมประเทศอิสลามที่มีข้อห้ามหลายอย่าง) ผู้จัดทำแผนฉบับนี้ยังพยายามศึกษาต้นแบบในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่อย่าลืมว่าในปี พ.ศ.2558 UNWTO ได้จัดให้เราเป็นอันดับ 3 ของโลกด้านรายได้สุทธิ ลำดับ 5 ในด้านรายได้และลำดับ 11 ในด้านจำนวนผู้มาเยือน ที่จริงเราได้กลายเป็นต้นแบบไปแล้ว

วิสัยทัศน์นี้เป็นเรื่องสำคัญมากเป็นการมองภาพไกล เป็นเรื่องของการวางรากฐานแผนแม่บทของการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในภายภาคหน้า แต่เมื่อมาพิจารณาวิสัยทัศน์ท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2579 ก็พบว่า ในร่างแผนฉบับดังกล่าวพูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวถึงการลงทุนในสาธารณูปโภคและพัฒนาการท่องเที่ยวในกลุ่ม 12 เมืองห้ามพลาด แต่ผู้เขียนเห็นว่ายังมีความชัดเจนน้อยไป การศึกษาแผนท่องเที่ยวของตุรกี มาเลเซีย หรือมัลดีฟส์ ฯลฯ จึงไม่น่าสนใจนัก แต่เราต้องศึกษาการจัดการเมือง และระบบนิเวศเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลก ซึ่งอาจจะเป็นลอนดอน ปารีส หรืออิสตันบูลหรือเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเลิศในด้านที่เราอยากจะเป็น เช่นในเรื่องเกาะต้องไปดูที่เกาะเอบิซ่าของสเปน ซึ่งยังไม่เห็นในแผนนี้

แต่ก็เป็นได้ว่าแผนดังกล่าวยังเป็นแค่ร่างแผนอยู่ก็เป็นได้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอเพิ่มเติมความเห็นดังนี้

Advertisement

สาเหตุที่เมืองควรเป็นเรื่องสำคัญในแผนชาติระยะยาวก็เพราะการท่องเที่ยวแบบไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ในปัจจุบันเป็นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศเมืองมาก เมืองที่รองรับแหล่งท่องเที่ยวที่ดูไม่น่าอยู่จะเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไม่อยากกลับมาเที่ยวอีก แผนท่องเที่ยวระยะยาวจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแผนพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองเป็นสำคัญ

ท่านที่เคยไปเที่ยวการท่องเที่ยววิถีชุมชนเคยสงสัยไหมว่า ทำไมวิถีชุมชนที่เชียงคานจึงประสบความสำเร็จสูงมากกว่าชุมชนท่องเที่ยวในหมู่บ้านอื่นๆ ผู้เขียนคิดว่า เพราะเชียงคานมีเมืองเป็นฮับ (Hub) ในการรองรับ Lifestyle Tourism นักท่องเที่ยวมีที่ให้ออกมาเดินเที่ยวในเมือง ถ่ายรูปกับทิวทัศน์ริมน้ำ กินกาแฟ ช้อปปิ้ง นวดเท้า ในขณะที่การท่องเที่ยวในชุมชนส่วนใหญ่จะไม่มีกิจกรรมรองรับในทำนองเดียวกัน การพัฒนาเมืองหรือฮับของชุมชนท่องเที่ยวจึงเป็นข้อต่อสำคัญในการรับและกระจายการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนข้างเคียง

แผนระยะยาวมักจะเป็นแผนเชิงกายภาพไม่ใช่แผนการตลาด จึงต้องให้ความสำคัญกับความเป็นจริงของการท่องเที่ยวปัจจุบันและจินตภาพของเมืองในอนาคต เรื่องแรกที่แผนระยะยาวต้องทำคือ คัดเลือกเมืองท่องเที่ยวมามากกว่า 12 เมือง หากสนใจการกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ทั่วถึง ซึ่งทางกองประสานการลงทุน ฝ่ายลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกเมืองน่าลงทุนด้านการท่องเที่ยวไว้แล้ว 40 เมืองด้วยกัน โดยดูจากแนวโน้มตลาด ส่วนความพร้อมด้านการรองรับและสาธารณูปโภคของจังหวัดต่างๆ ก็ได้มีการคำนวณรายได้เป็นตัวชี้วัดในทำนองเดียวกับตัวชี้วัด Tourism Competitiveness ของ World Economic Forum

Advertisement

เมื่อนำตัวชี้วัดทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายมาเปรียบเทียบกันก็จะพบระดับความจำกัดด้านความสามารถในการรองรับในแต่ละเมือง แล้วมาจัดกลุ่มของเมืองเหล่านี้เพื่อให้มีทิศทางในการดำเนินการในอนาคตอย่างชัดเจน

จากข้อมูลนี้ในปัจจุบันเราจะเข้าใจสถานภาพของแต่ละจังหวัด/เมือง ถัดไปก็คือ จินตภาพของเมืองในอนาคตหรือวิชั่นของเมือง แผนระยะยาวเป็นการทำฝันให้เป็นจริง การทำแผนเมืองในอนาคตที่พลาดไม่ได้ก็คือ กทม.จะเป็นอย่างไร จะมีน้ำท่วมขังรอการระบายไปจน 20 ปีข้างหน้าหรือไม่ กทม.และเมืองหลักต้องเป็น Smart City แน่นอน แต่จะสมาร์ทขนาดไหน? นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางโดยรถไฟ รถยนต์ เรือบิน แล้วต่อ MRT BTS โดยใช้วิธีการผ่านมือถือได้หรือไม่ สกายวอล์กในยุคต้นทุนแสงอาทิตย์จะใช้แสงอาทิตย์บนหลังคามาทำทางเลื่อนอัตโนมัติหรือไม่ ในขณะเดียวกันแผนระยะยาวควรใช้เวลากับผู้นำท้องถิ่นประชาคมในการวาดภาพอนาคตของเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งให้ความสำคัญกับชุมชนที่มีอยู่ เช่น ชุมชนบ้านป้อมมหากาฬ ว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์วิถีไทยให้คงอยู่ท่ามกลางความทันสมัยได้อย่างไร

ในขณะนี้ก็มีการพูดถึงเมืองท่องเที่ยวหลัก 2 เมืองคือ ภูเก็ตและเชียงใหม่ ว่าจะเป็น Smart Tourism City แต่ที่จริงแล้วควรต้องเป็น Smart City ทั้ง 5 เมืองท่องเที่ยวหลัก ส่วนเมืองหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เป็น Smart Green City ได้หรือไม่ ยังจะมีขยะท่วมเมืองและหมอกควันหรือไม่

ผู้เขียนอยากขอพ่วงสมุทรปราการไปด้วย เพราะสมุทรปราการถือเป็นเมืองหน้าด่านด้านการท่องเที่ยว เป็นไปได้ไหมว่าอีก 20 ปีข้างหน้านักท่องเที่ยวที่บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วจะมีเรือไฮโดรฟอยล์มารับต่อ เพื่อพาไปยังที่พักในเมืองและจุดท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ศรีราชา พัทยา บางแสน ระยอง และสมุทรปราการ ซึ่งเมืองเหล่านี้ต้องปรับปรุงพื้นที่เปิดโล่งริมน้ำ(Waterfront) ซึ่งใน 20 ปีข้างหน้าต้องย้ายอุตสาหกรรมหนักออกไปให้หมด ถ้าปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำสมุทรปราการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลได้จะทำให้เกิดมูลค่าใหม่มหาศาล หากจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกลไกที่จะมีงบประมาณสำหรับปรับภูมิทัศน์เมือง เช่น ให้มี Transferable Development Right (TDR) คือ อปท.จ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินบางส่วน บางส่วนเป็นเงินจาก TDR สำหรับ TDR นี้เป็นสิทธิที่ผู้ที่จะมาลงทุนพัฒนาพื้นที่ต้องมาซื้อต่อจากเจ้าของที่เดิมอีกทีหนึ่ง

แผนระยะยาวจึงควรระบุกลไกมาตรการการคลังที่จะต้องเพิ่มเติมปรับปรุงเพื่อให้แผนสัมฤทธิผล แผนระยะยาวจึงต้องเป็นแผนเชิงนโยบายเพราะการแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลานาน

ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ปัญหาโลกร้อน ถ้าอุณหภูมิพระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ลำปาง ขึ้นไปถึง 43 องศา จะทำอย่างไร การท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นเที่ยวกลางคืนแบบอารยะ (ไม่ใช่มีแต่อาบอบนวด) ได้อย่างไร ภูเก็ต กระบี่ พังงา จะมีวันสดใสมากขึ้น ฝนตกน้อยลง แต่ก็จะขาดแคลนน้ำมากขึ้น แล้วจะเตรียมการอย่างไร

แผนระยะยาวต้องจัดกลุ่มเมืองต่างๆ ตามศักยภาพว่าจะมีจินตภาพอย่างไรในอนาคต ต้องวาดฝันแล้วบูรณาการบริหารจัดการระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของรัฐ แผนระยะยาวจึงต้องใช้เวลากับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และไอทีด้านเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ที่ไม่ถูกกล่าวถึงเลย)

แผนระยะยาวด้านท่องเที่ยวต้องชี้นำถึงนวัตกรรมท่องเที่ยวทั้งทางด้านซัพพลายและนโยบายสำหรับอนาคต แล้วเราถึงค่อยมาทำโรดแมปของการปรับสถาบันและสร้างภาพของเมืองในรายละเอียดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image