ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในตอนจบของบทความเรื่อง “ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่” ผู้เขียนอยากกล่าวถึงข้อถกเถียงว่าด้วยคดีการลอบสังหาร ออง ซาน ซึ่งจะว่ากระจ่างแล้วก็จริงอยู่ แต่ยังมีหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือ ในอันที่จริง ประเด็นที่ว่าใครอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารออง ซาน (รวมทั้งคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน บอดี้การ์ด 1 คน และเลขานุการคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน) นั้นถูกเปิดเผยมาตั้งแต่การดำเนินคดี ผู้บงการ ได้แก่ อู ซอ (U Saw) อดีตนายกรัฐมนตรี และคนอื่นๆ อีก 9 คน ภายหลังการตัดสินคดี อู ซอ ถูกตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ เรื่องราวของการตัดสินประหารชีวิตอู ซอ มีบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง A Trial in Burma (หนึ่งคดีในพม่า) ของ หม่อง หม่อง อันเป็นหนังสือเกี่ยวกับคดีการลอบสังหารออง ซาน ที่ว่ากันว่าละเอียดลออที่สุด (พิมพ์ครั้งแรกปี 1962) เพราะเขียนขึ้นจากคำตัดสินของศาลพิเศษที่รัฐบาลพม่าตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนคดีนี้โดยเฉพาะ

แต่สิ่งที่หม่อง หม่อง ไม่ได้กล่าวถึงในหนังสือ A Trial in Burma คือข้อถกเถียงที่ว่าใครที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารออง ซาน กันแน่? อู ซอ เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามของออง ซาน และมีความทะเยอทะยานในอำนาจ ตลอดจนมีสมัครพรรคพวกมากมายก็จริง แต่นักการเมืองธรรมดาๆ อย่างอู ซอ จะสามารถครอบครองอาวุธสงครามปริมาณมากมาย ที่ประเมินว่าเพียงพอสำหรับ 6 กองร้อย โดยไม่มีได้รับการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์กรอื่นๆ ได้จริงหรือ?

ในปี 1997 BBC สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษจัดทำสารคดีขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า “Who Killed Aung San?” หรือ “ใครฆ่าออง ซาน” สารคดีเรื่องนี้ตั้งคำถามว่ารัฐบาลอังกฤษมีส่วนรู้เห็นกับแผนการลอบสังหารออง ซาน ด้วยหรือไม่ ภายหลังการตัดสินคดีลอบสังหารออง ซาน ไปแล้ว 50 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติที่ลอนดอน (Public Record Office แห่ง National Archives) เปิดเผยเอกสารชุดหนึ่งที่ทำให้นักข่าวสายสืบสวนสอบสวนจาก BBC เชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษมีส่วนรู้เห็นกับการลอบสังหารออง ซาน

อนึ่ง ในฐานะที่ผู้เขียนคลุกคลีกับเอกสารประเภทจดหมายเหตุทั้งในอังกฤษมานาน ผู้เขียนจึงมองว่าการมองประวัติศาสตร์สำหรับประเทศที่มีระบบการจัดเก็บจดหมายเหตุที่เข้มแข็งอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นแตกต่างไปจากบ้านเรา หอจดหมายเหตุเหล่านี้จะเปิดเผยเอกสารลับใหม่ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเอกสารลับของรัฐบาล เมื่อตัวละครที่อยู่ในเอกสารเสียชีวิตลง หรือเมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี หรือ 75 ปี ในบางกรณี ทำให้นักประวัติศาสตร์ หรือนักวิชาการสาขาอื่นๆ สามารถนำเอกสารใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดสู่สาธารณชน (ที่เรียกว่า “declassified records”) มาใช้ศึกษาวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ เรื่อยๆ ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่ตายแล้ว หรือถกเถียงไม่ได้ หากเป็นศาสตร์ที่เปิดให้ถกเถียงตลอดเวลา ผ่านการค้นพบเอกสารใหม่ๆ ข้อถกเถียง และมุมมองใหม่ๆ

นักข่าวที่เป็นเหมือนผู้นำการสืบสวนของ BBC ในครั้งนั้นคือ เฟอร์กัล คีน (Fergal Keane) นักข่าวที่คร่ำหวอดในพม่ามายาวนาน ข้อสังเกตของ BBC ตั้งอยู่บนเอกสารจดหมายเหตุดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น บทสัมภาษณ์อดีตข้าราชการอังกฤษที่ประจำในพม่า และอดีตข้าราชการอาณานิคมที่เป็นชาวพม่า (ส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจและนายทหาร) ที่พอจะทราบกรณีการลอบสังหาร และบางคนก็มีประสบการณ์การสอบสวนคดีของ ออง ซาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษด้วย ในการตัดสินคดีลอบสังหารออง ซานเบื้องต้น ศาลเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ 2 คน ที่สมคบคิดกับอู ซอ ได้แก่ ร้อยเอก เดวิด วิเวียน (Captain David Vivian) และ พันตรี เฮนรี่ ยัง (Major Henry Young)

ทั้งสองต้องโทษจำคุก แต่ก็พ้นโทษออกมาในเวลาไม่นาน

Advertisement

นอกจากเอกสารลับที่ BBC นำมาใช้ ยังมีบทสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดคนสำคัญของออง ซาน อย่าง นายพลจัตวาจ่อ ซอ (Brigadier Kyaw Zaw) อดีตนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่า หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทัพพม่าขึ้นมาร่วมกับนายพลออง ซาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “สหายสามสิบ” (Thirty Comrades) เมื่อออง ซาน ถึงแก่อสัญกรรม เขาก็เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในทศวรรษ 1970 จ่อ ซอ ให้สัมภาษณ์กับคีนว่ารัฐบาลอังกฤษคือผู้วางแผนสังหารออง ซาน ด้วยตนเอง เพราะ “โบโจ้ก ออง ซาน เป็นผู้เดียวที่จะรวมชาติได้ พวกเขา [รัฐบาลอังกฤษ] เชื่อว่าเขาจะจัดการกับพม่าได้ง่ายขึ้น ถ้ากำจัดออง ซานออกไปได้”

แน่นอนว่าข้อกล่าวหานี้ย่อมสร้างปั่นป่วนให้กับรัฐบาลอังกฤษ และอดีตเจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษในพม่าต่างปฏิเสธเสียงแข็งว่ารัฐบาลอังกฤษไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้อง “โดยตรง” กับกรณีการลอบสังหารนี้ BBC ยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งว่าเพียงไม่กี่เดือนหลังออง ซาน ถึงแก่อสัญกรรม วินสตัน เชอร์ชิล วิจารณ์ออง ซาน ต่อหน้ารัฐสภาอังกฤษ ในระหว่างที่พรรคแรงงาน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี คลีเมนท์ แอทลี (Clement Attlee) และพรรคอนุรักษนิยมกำลังอภิปรายเรื่องการมอบเอกราชให้พม่า เชอร์ชิลและพรรคอนุรักษนิยมพยายามสกัดกั้นขบวนการเอกราชในพม่ามาโดยตลอด และต้องมาเสียหน้าอย่างหนักเมื่อพ่ายแพ้ต่อพรรคแรงงาน ที่มีนโยบายมอบเอกราชให้กับอาณานิคมอังกฤษทั่วโลก

ในการอภิปรายครั้งนี้ เชอร์ขิลล์เรียกออง ซาน ว่า “ผู้นำกบฏทรยศ” ผู้ที่เคยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อโจมตีอังกฤษ ก่อนที่จะแปรพักตร์กลับมาเข้าร่วมกับอังกฤษอีกครั้งเมื่อญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม

สารคดีตั้งคำถามต่อว่าทำไมรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะจากฝั่งพรรคอนุรักษนิยม จึงเกลียดชังออง ซาน เป็นพิเศษ เหตุใดผู้นำชาตินิยมในอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษในเอเชียใต้/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินเดียและพม่า จึงถูกลอบสังหารในเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน การเข้ามาของข้าหลวงคนใหม่ของพม่า เซอร์ เรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ สร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักให้กับขบวนการชาตินิยมพม่า ดอร์แมน-สมิธ เป็นนักการเมืองจากพรรคอนุรักษนิยมที่เคยทำงานในรัฐบาลอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

ดอร์แมน-สมิธ ชื่นชอบอู ซอ เป็นพิเศษ เพราะเป็นคนที่เอาอกเอาใจเก่ง เมื่อรัฐบาลพม่าอพยพไปอยู่ที่สิมลา ในอินเดีย ดอร์แมน-สมิธ เริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับพม่า โดยเชื่อมั่นว่าอังกฤษจะกลับเข้าไปบริหารพม่าตามเดิมเมื่อสงครามสิ้นสุดลง และเขาก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานให้พม่ายุคใหม่ แต่แผนการของดอร์แมน-สมิธ ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะ “สงครามสิ้นสุดเร็วเกินคาด” และขบวนการชาตินิยมพม่าก็เข้มแข็งขึ้นทุกวัน

BBC ไม่ได้ฟันธงว่าดอร์แมน-สมิธ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารออง ซาน แต่หลักฐานที่พอจะมีอยู่บ่งชี้ว่ารัฐบาลอังกฤษไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ว่ามีส่วนรู้เห็นกับการลอบสังหารในครั้งนั้น แต่นับตั้งแต่สารคดีเรื่องนี้เผยแพร่ออกมาก็เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่ฝั่งรัฐบาลพม่าเองก็ยังไม่ได้เรียกร้องให้มีการพิจารณาการลอบสังหารนี้ใหม่ จากวันนั้นถึงวันนี้ คงมีเอกสารลับในอดีตที่ถูกเปิดเผยออกมามากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีนักวิชาการหรือนักข่าวคนใดที่กลับไปขุดคุ้ยกรณีลอบสังหารออง ซาน อย่างละเอียดอีกเลย

ลลิตา หาญวงษ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image