ผู้บริสุทธิ์ในโซ่ตรวน โดย กล้า สมุทวณิช

ความสะเทือนใจกระแทกใส่หัวใจของผู้เป็นธรรม เมื่อได้เห็นภาพของเด็กหนุ่ม 7 คน ในชุดเสื้อกางเกงสีน้ำตาล ไม่สวมรองเท้า กับโซ่ตรวนที่ขา ในช่วงสายของวันอังคารที่ผ่านมา

ความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นก็เพราะว่า เด็กหนุ่มทั้ง 7 คนนั้นไม่ใช่อาชญากร และไม่ได้ก่ออาชญากรรมใด หากอาชญากรรมจะหมายเฉพาะแต่การกระทำที่ทำร้ายละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือกระทำการรบกวนความเป็นอยู่โดยสงบปลอดภัยของสังคม หรือจะพูดให้ง่ายกว่านั้น คือเด็กหนุ่มเหล่านั้นไม่ได้ไปฆ่าใครตาย ขโมยของ หรือข่มขืนกระทำชำเราใคร พวกเขาเป็นเพียงผู้เชื่อว่าการประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ความผิด และแจกใบปลิวเพื่อแสดงความคิดเห็นเช่นว่านั้น

ทั้งต่อให้พวกเขาเหล่านั้นกระทำความผิดจริง หากในตอนนี้ศาลก็ยังมิได้ตัดสิน ยังไม่มีแม้แต่การถูกฟ้องร้องคดีด้วยซ้ำ ยังเป็น “ผู้ต้องหา” ที่นำมา “ฝากขัง” ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนด้วยซ้ำ

แม้เราจะพอทราบกระบวน “ยุติธรรม” ทางอาญาเช่นนี้อยู่แล้ว แต่วิกฤตการเมือง และผู้ต้องหาทางการเมืองทำให้เราเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น ถึงการดำเนินการต่อผู้ถูกกล่าวหาในทางอาญาอย่างละเมิดสิทธิ และละเมิดกันต่อๆ มาจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

ทั้งที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ จะต้องมีสักหนึ่งมาตราที่บัญญัติว่า “ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ซึ่งจะถือว่าเป็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ก็ยังจะต้องรับรองและคุ้มครองให้

หากสิทธิที่ว่ามีอยู่จริง หากสิทธิดังกล่าวได้รับการเคารพ เป็นสิ่งที่เราควรตั้งคำถามกันว่า ทำไมเด็กหนุ่มกลุ่มนั้น และบรรดาผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ไม่ว่าต่อศาลยุติธรรมหรือต่อ “ศาล” ทหาร จึงต้องถูกควบคุมตัวมาในชุดเครื่องแบบของเรือนจำพร้อมด้วยโซ่ตรวน และยิ่งกว่านั้น ทำไมต้องกักขังพวกเขาไว้ในเรือนจำด้วย

อันที่จริงแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือหลักว่า ผู้ต้องหาก็ดีหรือจำเลยก็ตามนั้น “ตามหลัก” ถือว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การที่จะขังจำเลยผู้ต้องหา ต้องเป็นกรณียกเว้นตามกฎหมาย เช่น เกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายอื่น หรือในกรณีที่จะต้องมีหลักประกัน หลักประกันนั้นไม่น่าเชื่อถือ หรือหากปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล หรือไปข่มขู่พยานแล้วแต่กรณี

แต่อย่างที่เรารู้กันว่า การที่ผู้ต้องหาถูกจับ การถูกขังเป็นหลัก ส่วนการได้รับการปล่อยตัวเป็นข้อยกเว้น เป็นที่ทราบกันว่าถ้าใครไม่มีหลักประกัน ก็ต้องเข้าคุกยาวไปตั้งแต่เริ่มเป็นผู้ต้องหาหรือถูกฟ้องกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ สิ่งที่เราควรตั้งคำถามกันต่อมา คือ สมมุติเรายอมรับก็ได้ว่า ในบางกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญานั้นสมควรถูกขัง หรือไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจริง เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินคดีหรือเพื่อมิให้ไปข่มขู่พยาน แต่ทำไมจะต้องนำพวกเขาไปกักขังไว้ใน “เรือนจำ” เช่นเดียวกับนักโทษเด็ดขาด ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วด้วย

ไม่เฉพาะแต่การนำไปขังในเรือนจำเท่านั้น หากผู้ที่ถูกกักขังระหว่างรอการพิจารณา จะถูกปฏิบัติไม่แตกต่างจากนักโทษ ต้องรับการตรวจร่างกายในลักษณะเดียวกับนักโทษ เช่นที่เคยเป็นข่าวฮือฮากับนักศึกษาหญิงท่านหนึ่งมาแล้ว ทั้งถูกบังคับตัดผมทรงเดียวกับนักโทษ รวมถึงการใส่โซ่ตรวนเช่นเดียวกับนักโทษด้วย ทั้งๆ ที่อย่างที่กล่าว หลายคนยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดจริง หรือบางคนยังไม่ถูกฟ้องศาลด้วยซ้ำ

ทั้งแม้แต่เมื่อพวกเขาได้รับการปล่อยตัวโดยอำนาจศาล ก็จะปล่อยพวกเขาที่ศาลให้กลับบ้านไปหาครอบครัวคนที่รักทันทีก็ไม่ได้ จะต้องส่งตัวย้อนกลับมาที่เรือนจำ เพื่อมาปล่อยตัวที่เรือนจำอีกครั้ง ราวกับว่าเรือนจำคือเรือนเหย้าของผู้บริสุทธิ์ที่รอการตัดสินจากศาลกระนั้น

ขอให้ย้อนกลับไปอ่านสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่เคยบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ อีกสักครั้งว่า รัฐจะปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

แม้แต่เยาวชนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ก็ยังจะต้องถูกส่งเข้าสถานพินิจ ซึ่งแม้ว่า “ตามกฎหมาย” จะไม่ถือว่าเป็นคุกหรือเรือนจำ แต่เร็วๆ นี้หากใครติดตามข่าวคดีเด็กนักเรียนหญิงที่ถูกนายจ้างกล่าวหาว่าลักทรัพย์ ซึ่งเธอไม่สามารถประกันตัวเพื่อขอปล่อยชั่วคราวได้ ก็ต้องถูกส่งเข้าสถานพินิจเพราะเป็นเยาวชน ณ ที่แห่งนั้น เธอต้องถูกบังคับให้ตัดผมที่เธอหวงแหน เนื่องจากตั้งใจจะไว้ผมยาว

ด้วยการที่จะต้องนี้ ทำให้หลายคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งถูกคุมขังเช่นเดียวกับนักโทษไปเสียแล้ว บางคนก็ตัดสินใจยอมสารภาพ แม้ว่าจะไม่ได้กระทำความผิด แต่ก็ดีกว่าการถูกขังเสมือนนักโทษเช่นนี้ไปจนกว่าจะพิจารณาคดีถึงที่สุด ซึ่งเอาเข้าจริงๆ อาจจะต้องถูกขังนานกว่าการยอมรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี เพื่อหวังเมตตาจากศาลให้รับโทษสถานเบาเสียอีก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือการละเมิดสิทธิ ละเมิดหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อย่างต่อเนื่องเป็นประเพณีปฏิบัติ จนไม่มีใครคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ นี่คือสิ่งที่จะต้องทบทวนกันใหม่ หากบ้านเมืองกลับมาสู่ความเป็นประชาธิปไตย และคุณค่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการยอมรับฟื้นฟู แม้ว่าผู้จะได้สิทธินั้นอาจถูกกล่าวหาด้วยคดีอาญาหนักเบาอย่างไรก็ต้องได้รับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image