ท่านอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

แฟ้มภาพ

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่าน (ร่าง) รัฐธรรมนูญไปถึงไหนแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านหมดทุกหมวด ทุกมาตรา เพราะบางหมวดเป็นหมวดที่เรียกตามภาษากีฬาว่า “ไฟต์บังคับ” คือนับแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงฉบับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช…. ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ หลายหมวดมีเหมือนกัน อาจเปลี่ยนแปลงประโยค คำ ให้สอดคล้องกับยุคสมัยเท่านั้น

ดังนั้น การอ่านร่างรัฐธรรมนูญจึงควรอ่านที่เราให้ความสนใจ อาทิ หมวดที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและที่มาของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติ และที่มาของคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ คือฝ่ายบริหาร

ในส่วนอื่น เช่นความเสมอภาคด้านการบังคับใช้กฎหมาย ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาต่างกำหนดเรื่องนี้ไว้ชัดเจน เพียงแต่วิธีการปฏิบัติของผู้รักษากฎหมายอาจยังปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย และยังเลือกปฏิบัติในหลายกรณี จากทั้งผู้ที่ต้องได้รับโทษทางกฎหมาย และผู้ที่ดำเนินการตามกฎหมาย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การใช้ภาษาไทยในหลายความหมายเป็นการตีความ เป็นหลีกเลี่ยงใช้ประโยคหรือคำที่ตรงไปตรงมาตามความหมาย

Advertisement

ทั้งเมื่อเกิดกรณีขึ้นเช่นนั้น จึงมีวาทะหนึ่งเกิดขึ้น คือ “วาทกรรม” ปรากฏในพจนานุกรมฉบับมติชน พุทธศักราช 2547 หมายความว่า “การถกเถียงในประเด็นที่ยกขึ้นมา” ซึ่งไม่ค่อยตรงกับความหมายที่ใช้กันนัก

วาทกรรมหลังสุดคือที่ใช้แทนคำว่า “น้ำท่วม” ของกรุงเทพมหานคร ใช้ว่า “น้ำขังรอการระบาย”

คนกรุงเทพฯได้ยินแล้วหัวร่อก้าก ร้องว่า โถ น้ำท่วมคือน้ำท่วม จะไปใช้ว่าน้ำรอการระบายให้มากเรื่องมากความไปทำไม ทำเป็นเข้าแถวรอซื้อตั๋วหนังอย่างงั้นแหละ

Advertisement

ก่อนหน้านี้มีประโยคหนึ่งที่ใช้กับเรื่องของผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ประโยคนี้มักใช้กับเรื่องที่กระทำขึ้น แต่ไม่มีความผิดทางกฎหมาย คือ “ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

เรื่องของเรื่อง ผู้ใหญ่คนดีคนหนึ่งของบ้านนี้เมืองนี้ มีภาพในท่านั่งเก้าอี้ยิ้มเบิกบาน บนพนักพิงด้านหนึ่งมีนกเงือกอ้าปากกว้างเกาะ

ไม่ต้องบรรยายภาพก็ทราบว่าบุคคลคนนั้นมีฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม เมื่อปรากฏภาพนี้ต่อสาธารณะ ผู้ที่มีความรู้ต่างทราบดีว่า การมีนกเงือกซึ่งเป็นสัตว์สงวนไว้ในครอบครองย่อมมีความผิดตามกฎหมาย ส่วนจะมีโทษมากน้อยเพียงใดขึ้นกับเหตุผลของที่มานั้น

ปรากฏว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติบอกว่า บุคคลผู้นั้นกระทำการโดย “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

ท่านทั้งหลายทราบไหมครับว่า “การรู้เท่าไม่ถึงการณ์” คืออะไร และอย่างไร

คงไม่ต้องอธิบายให้มากเรื่องมากความ คือหมายถึงกระทำการใดโดยไม่มีความรู้ หรือไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ใช้กับ “เด็ก” และผู้นั้นกระทำการไปโดยไม่มีเจตนา

ไม่ใช่เป็นการกระทำโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย เพราะตามหลักแล้วจะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่ง จากการมีข้อกล่าวหาว่าพระรูปหนึ่งกระทำผิดกฎหมายทั้งของบ้านเมืองและของคณะสงฆ์ เมื่อทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินคดี เพื่อนำส่งให้อัยการและศาล พระลูกวัดกลับบอกว่าการที่จะให้พระรูปนั้นมอบตัว หรือนำไปดำเนินคดี ต้องให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน

โห…ว่ากันถึงอย่างนั้นเชียวนะ ไม่รู้หรือว่า บ้านเมืองจะอยู่ในยุคสมัยไหน เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ กฎหมายก็คือกฎหมาย ใครกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาอย่างไรก็ต้องไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่ดำเนินการตามระบอบการเมืองการปกครอง

เช่นเดียวกับการ “ลาออก” หรือ “ไม่ลาออก” ทางการเมืองเป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

เมื่อการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านจะว่าอย่างไร ช่างท่านเถิด อย่าไปต่อว่าท่านเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image