สุจิตต์ วงษ์เทศ : อยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติมีตลาดน้ำ-บก, ในเมือง-นอกเมือง, ย่านการผลิต

กองเกวียนทางบกกับกองเรือทางน้ำ ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ยุคกรุงศรีอยุธยา (ภาพเก่า)
พระนครศรีอยุธยาที่คลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้าจากต่างประเทศ รูปเขียนฝีมือของ อแล็ง มาเนอสซ็อง-มัลเลต์ (Alain Manesson-Mallet) ช่างทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2226 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
พระนครศรีอยุธยาที่คลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้าจากต่างประเทศ รูปเขียนฝีมือของ อแล็ง มาเนอสซ็อง-มัลเลต์ (Alain Manesson-Mallet) ช่างทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2226 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

อยุธยาไม่มีประวัติศาสตร์สังคม จึงไม่มีการค้านานาชาติ มีแต่สงครามกับเพื่อนบ้าน

เมื่อไม่ศึกษาการค้านานาชาติ ก็อธิบายไม่ได้ว่าอยุธยาเติบโตมาอย่างไร? เพราะอะไร? แล้วมั่งคั่งจากไหนจึงสร้างวัดวาอารามใหญ่โตและแน่นขนัดทั้งในเกาะและนอกเกาะเมือง

สุดท้ายไม่รู้จะทำยังไงเลยสรรเสริญส่งๆ ไปว่า “อยุธยายศยิ่งฟ้า” เพราะ “ลอยสวรรค์” ลงมาตั้งบนดิน

อยุธยาศูนย์กลางนานาชาติ ผมเคยรวบรวมแล้วเรียบเรียงไว้ง่ายๆ ในหนังสืออยุธยา ยศยิ่งฟ้า (พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2552) จะคัดมาแบ่งปันไว้ ต่อไปนี้

Advertisement

การค้านานาชาติ

อยุธยาเป็น “ศูนย์กลางการค้านานาชาติ” ที่พ่อค้าจากตะวันออกกับตะวันตกมาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้า ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ “ส่งผ่าน” สินค้าจากตะวันออกไปตะวันตก และจากตะวันตกไปตะวันออก พร้อมทั้งขาย “ของป่า” จากภูมิภาคอุษาคเนย์ให้จีนและฝรั่งด้วย

บรรยากาศความเป็น “ศูนย์กลางการค้านานาชาติ” ของกรุงศรีอยุธยามีอยู่ในกลอน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่ง ว่า

Advertisement

                 เป็นที่ปรากฏรจนา                        สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน

                 ทุกบุรีสีมามณฑล                         จบสกลลูกค้าวาณิช

                 ทุกประเทศสิบสองภาษา             ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคนิต

                 ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิษ    ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์

ที่กลอนเพลงยาวบอกว่า “ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช” และ “ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาอยู่อัคนิต” เป็นพวกไหนบ้าง?

เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพระนครศรีอยุธยาว่ามี “พิริยหมู่แขกขอมลาวพม่าเมงมอญ มสุมแสงจีนจามชวานานา          ประเทษทังปวง” และยังมีร่องรอยอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ตอนหนึ่งว่า

“ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เปนมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช แลพวกลูกค้าแขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศ ฝรั่งเสศ ฝรั่งโลสง โปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่างๆกัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ตามรายชื่อในคำให้การฯ จะเห็นว่ามีพ่อค้า “นานาชาติ” เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจริงๆ คือ สำเภาจีน (เรือจีน) สลุปแขก (เรือแขก) กำปั่นฝรั่ง (เรือฝรั่ง) ประกอบ ด้วยพ่อค้าจากเมืองต่างๆ คือ แขกกุศราช (เมืองคุชราตในอินเดีย) แขกสุรัด (เมืองสุราษ ในอินเดีย) แขกชวา (เกาะชวา) มลายู (มลายู) แขกเทศ (ไม่รู้เป็นพวกไหน) ฝรั่งเสศ(ฝรั่งเศส) ฝรั่งโลสง(ไม่รู้ฝรั่งที่ไหน) โปรตุเกศ(โปรตุเกส) วิลันดา(ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์) อิศปัน ยอน (สเปน) อังกฤษ(อังกฤษ) ฝรั่งดำ(สงสัย เป็นพวกตะวันออกกลาง?) ฝรั่งเมืองลังกุนี (ไม่รู้เป็นพวกไหน) แขกเกาะ(คงเป็นพวกหมู่เกาะต่างๆ เช่น “มักกะสัน”)

สำเภาสยาม “เสียนโล้” หรือสำเภาอยุธยา ภาพลายเส้นในเอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้าของญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่าเรือสำเภาสยามลักษณะนี้ (ทำในแบบเดียวกันกับสำเภาจีน) เข้าไปค้าขายที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในกลางพุทธศตวรรษที่ 22
สำเภาสยาม “เสียนโล้” หรือสำเภาอยุธยา ภาพลายเส้นในเอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้าของญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่าเรือสำเภาสยามลักษณะนี้ (ทำในแบบเดียวกันกับสำเภาจีน) เข้าไปค้าขายที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในกลางพุทธศตวรรษที่ 22

 

สำเภาสยาม ตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ จ. พระนครศรีอยุธยา ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 23 รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
สำเภาสยาม ตอนพระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ จ. พระนครศรีอยุธยา ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 23 รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
กำปั่นฮอลันดาสลักบนแผ่นจารึกทองแดงที่ชาวเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทยร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 ประดับโบราณสถานที่ตั้งบ้านฮอลันดา จ. พระนครศรีอยุธยา
กำปั่นฮอลันดาสลักบนแผ่นจารึกทองแดงที่ชาวเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทยร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 ประดับโบราณสถานที่ตั้งบ้านฮอลันดา จ. พระนครศรีอยุธยา
) เรือของชาวอาหรับในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 (ภาพจากหนังสือ Arab Seafaring in the Indian Ocean โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา) (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)
 เรือของชาวอาหรับในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 (ภาพจากหนังสือ Arab Seafaring in the Indian Ocean โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพรินซตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา) (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)

 

รายชื่อที่มีในคำให้การฯ คงยังรวบรวมไว้ไม่หมด เพราะยังขาดชื่อญี่ปุ่น จาม เปอร์เซีย ฯลฯ แต่เท่าที่มีชื่อปรากฏก็นับว่าเป็น “นานาชาติ” อยู่แล้ว

การที่พ่อค้า “นานาชาติ” มุ่งมาซื้อขายวายล่องกันที่กรุงศรีอยุธยาก็ด้วยเหตุและปัจจัยหลายประการ เช่น

  1. สถานที่ตั้งดี 2. การเมืองเข้มแข็ง 3. มีเครือข่ายชายทะเล 4. มีสำเภาของตนเอง 5. ผูกพันกับจีนอย่างเหนียวแน่น ฯลฯ

ความสำคัญของกรุงศรีอยุธยาในฐานะของศูนย์กลางการค้าต่างประเทศที่ ดึงดูดให้พ่อค้านานาชาติเดินทางเข้ามาค้าขายนี่เอง อาจเป็นเหตุสำคัญอีกเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้พม่ายกกองทัพเข้ามารุกราน เมื่อ พ.ศ. 2310 ทำให้กรุงศรีอยุธยาแตกสลาย และหมดบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติไปโดยปริยาย

การค้าภายนอก-ภายใน

ความเคลื่อนไหวที่ทำให้กรุงศรีอยุธยา เป็น “ศูนย์กลางการค้านานาชาติ” ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ ลักษณะการค้า 2 ระดับคือ การค้าภายนอกกับการค้าภายใน

การค้าภายนอก

การค้าภายนอก หมายถึงการค้ากับชาวต่างชาติที่อยู่ห่างไกลทางทะเลเป็นสำคัญ อาจจำแนกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตะวันออกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีน       และกลุ่มตะวันตกได้แก่ อินเดีย เปอร์เซีย และชาติต่างๆ ทางยุโรปที่ผ่านมหาสมุทรอินเดีย

พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินซึ่งเป็น “ชนชั้นที่ถูกปกครอง” ไม่มีสิทธิ์ทำการค้าภายนอกกับชาวต่างชาติ เพราะเป็นการค้าที่ “ชนชั้นปกครอง” หรือ “ชนชั้นสูง” ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา “ผูกขาด” ไว้ทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ทางการค้าชนิดนี้ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ และชาวต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

การค้าภายนอกกับต่างชาติเป็นระบบ ผูกขาดโดย “พระคลังสินค้า” กล่าวคือราชสำนักสร้างพระคลังสินค้าขึ้นมาเก็บรวบรวมสินค้าที่ได้มาจากการเก็บ “ส่วย” จากบ้านเมืองประเทศราช และจากการ “ซื้อ” (ในราคาถูก) จากประชาชนที่ขนมาขาย แล้วพระคลังสินค้าก็ส่งขายให้ชาวต่างชาติอีกทอดหนึ่ง

ลักษณะการขายให้ชาวต่างชาติมี 2 อย่าง คือ แต่งสำเภาขนสินค้าไปขาย ถึงเมือง จีน เมืองญี่ปุ่น และเมืองอื่นๆในย่านทะเลจีน กับมีสำเภาต่างชาติเข้ามาขอซื้อถึงที่ เช่น สลุบแขกและกำปั่นฝรั่งเข้ามาซื้อถึงพระนครศรีอยุธยา

สำเภาที่แต่งสินค้าไปขายถึงเมืองท่าต่างๆ ทางทะเลก็ซื้อหาสินค้าจากเมืองท่านั้นๆ เข้ามาด้วย และสลุบกำปั่นต่างชาติที่มาจากภายนอกย่อมขนสินค้านานาชาติมาขาย ดังคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) บันทึกว่า

“พ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่างๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา”

บรรดาสำเภาสลุบกำปั่นไม่ว่าจะเข้ามาจากเมืองท่าใดๆ พระคลังสินค้าจะเป็นฝ่ายเลือกสรรซื้อสินค้าต่างชาติที่ขายได้และขายดีก่อน ที่เหลือจึงขายทั่วไปในประเทศ

สินค้าภายในประเทศบางอย่างเป็น “สินค้าต้องห้าม” โดยเฉพาะ “ของป่า” หายาก  ทางพระคลังสินค้าไม่อนุญาตให้ขายทั่วไป แต่ต้องขายให้พระคลังสินค้าแห่งเดียวเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน สินค้าต่างชาติที่นำเข้ามาในประเทศ ถ้าเป็นสินค้าที่ราชสำนักถือว่าเป็นของ “สำคัญ” ทางพระคลังสินค้าก็จะเลือกซื้อแล้วเก็บไว้เป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์เจ้านาย และขุนนางสำคัญๆ เท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายทั่วไป  เรื่องนี้ทำให้ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสระบายความรู้สึกว่า

“ธรรมดาการค้าขายนั้นย่อมต้องการ เสรีภาพที่แน่ชัด ไม่มีใครตกลงใจไปสู่กรุงสยามเพื่อขายสินค้าที่ตนนำเข้าไปให้แก่พระมหากษัตริย์ด้วยความจำเป็นจำใจแล้ว และซื้อสินค้าที่ตนต้องการได้จากพระองค์ท่านเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น แม้ว่าสินค้านั้นจะมิได้ทำขึ้นในราชอาณาจักรเองก็ตาม”

“ยิ่งกว่านั้น ยามเมื่อมีเรือกำปั่นต่างประเทศไปถึงกรุงสยามพร้อมหลายลำ ด้วยกันเล่า ก็ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันเองระหว่างลำต่อลำ หรือขายให้แก่ชาวเมืองไม่เลือกว่าจะเป็นคนพื้นเมือง หรือคนต่างด้าว จนกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอ้างบุริมสิทธิ์อันควรแก่พระราชอิสริยศักดิ์ ทรงกว้านซื้อเอาสินค้าที่ดีที่สุดในระวางเรือไปหมด ตามสนนราคาที่โปรดกำหนดพระราชทานให้แล้ว เพื่อทรงนำเอาไปขายต่อไปด้วยราคาที่ทรงกำหนดขึ้นตามพระราชอัชฌาสัย…..”

เหตุที่จำยอมเช่นนั้นก็เพราะอำนาจของพระคลังสินค้า รวมทั้งเงื่อนไขทางธรรมชาติอันเกี่ยวกับมรสุมตามฤดูกาล  “ด้วยว่าในฤดูกาลที่เรือกำปั่นจะต้องเร่งออกจากท่าบีบบังคับเข้ามานั้น  พ่อค้าย่อมพอใจที่จะยอมขายขาดทุนมากๆ และซื้อสินค้าขึ้นระวางใหม่ในราคาแพงลิบลิ่ว ดีกว่าที่จะรออยู่ในกรุงสยามจนกว่าจะถึงฤดูกาลที่จะออกเรือได้ในปีหน้า โดยปราศจากความหวังว่าตนจะทำการค้าขายได้ดีไปกว่านี้” (จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง 2510, หน้า 502-503)

การผูกขาดสินค้าของพระคลังสินค้าย่อมมีประโยชน์ต่อราชสำนักกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อย 2 ประการ คือ สร้างความมั่งคั่งและมั่นคง

มั่งคั่ง เพราะพระคลังสินค้ามีอำนาจกำหนดราคาซื้อขายเองอย่างที่เรียกว่า “ซื้อถูก ขายแพง” คือได้สินค้าพื้นเมืองจาก “ส่วย” และ “ซื้อ” ในราคาถูกๆ แต่ตั้งราคาขายแพงๆ ชาวต่างชาติไม่อาจต่อรองราคาได้ เนื่องจากไปหาซื้อเองไม่ได้

ขณะเดียวกันเมื่อชาวต่างชาติบรรทุกสินค้ามาขายในพระนครศรีอยุธยา ทางพระ คลังสินค้าจะกำหนดราคาซื้อตามใจชอบเพราะคนอื่นๆ จะมาซื้อไม่ได้หากพระคลังสินค้ายังไม่ได้ซื้อ บางครั้งการชำระค่าสินค้ายังไม่จ่ายเป็นเงิน หากจ่ายเป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนแทน ก็ยังได้

ทั้งหมดนี้ทำให้กำไรสูง สร้างความมั่งคั่งให้ราชอาณาจักรอย่างดีเยี่ยม

มั่นคง เพราะพระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานราชการของราชสำนัก ทำให้ราชสำนัก สามารถควบคุมการค้าต่างประเทศได้ใกล้ชิด และป้องกันชาวต่างชาติไม่ให้มีอิทธิพลทางการค้ามากเกินไปได้ เพราะถ้ามีมากไปจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ- การเมือง

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นสูงในกรุงศรีอยุธยาก็ไม่อาจปฏิเสธ “อำนาจ” ที่มีอยู่จริงของชาว ต่างชาติได้ ดังนั้นจึงมีการผ่อนปรนให้บริษัทต่างชาติผูกขาดสินค้าบางชนิดเมื่อสามารถ แบ่งส่วนความมั่งคั่งกันได้ตามสมควร และสัญญาว่าจะไม่ทำให้ความมั่นคงของราชอาณา จักรสยามเสียหาย เช่น ให้สิทธิพิเศษแก่พ่อค้าฮอลันดาซื้อหนังสัตว์ เป็นต้น (มีตัวอย่างอื่นๆ อีกในหนังสือชื่อ การเมืองไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3, มีนาคม 2537)

แต่แล้วก็เกิดกระทบกระทั่งทางการเมืองจนได้ ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ชี้ให้  เห็นว่าบรรดาชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา จำแนกกว้างๆ ได้ 2 พวก (กรุงศรีอยุธยาของเรา, 2527, หน้า 93-94) คือพวกคาทอลิกกับพวกโปรเตสแตนต์

พวกคาทอลิก ได้แก่ โปรตุเกส สเปน และฝรั่งเศส นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก มีนโยบายทำการค้าและเผยแผ่ศาสนาคริสต์์ด้วย พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางข้าราชการ และราษฎรในกรุงศรีอยุธยา เปลี่ยนไปเป็นพวกนับถือคาทอลิก

พวกโปรเตสแตนต์ ได้แก่ ฮอลันดาและอังกฤษ นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ มีนโยบายแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอย่างเดียว ไม่สนใจการเผยแผ่ศาสนา

ทั้งสองกลุ่มนี้ขัดแย้งกัน แล้วแก่งแย่งแข่งขันกันเรื่องการค้ากับการเมืองในทุกหน ทุกแห่งที่เดินทางไปประจวบกัน เพราะต่างก็มีอำนาจทางทะเล  มีกองเรือและอาวุธยุทโธ      ปกรณ์ทันสมัย มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหนือกว่าบ้านเมืองทางภาคพื้นอุษาคเนย์ ทางกรุงศรีอยุธยาจึงต้องระมัดระวังและประนีประนอมให้มีการถ่วงดุลอำนาจอยู่ตลอดเวลา

ดังกรณีเหตุการณ์เริ่มต้นพวกโปรตุเกส เป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ กรุงศรีอยุธยา และมีอิทธิพลทางการค้าทางทะเลเรื่อยๆ บางครั้งไม่พอใจการค้าผูกขาดของพระคลังสินค้า จึงเรียกร้องสิทธิพิเศษ จนเกิดความขัดแย้งกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นระยะๆ

ต่อมาเมื่อพวกฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้สิทธิพิเศษในการผูกขาดสินค้าบางอย่างด้วยเจตนาเอาอิทธิพลของฮอลันดาถ่วงดุลอำนาจของโปรตุเกส     ที่ก้าวร้าวตลอดมา ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พวกฮอลันดามีการค้ารุ่งเรืองและมีอิทธิพลอยู่ในราชสำนัก จึงเริ่มมีปฏิกิริยาบีบคั้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง ทางกรุงศรีอยุธยาต้องหันไปคบค้ากับอังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น

การค้าภายนอกสร้างรายได้ให้เกิดความมั่งคั่งอย่างมหาศาลแล้ว การคบค้ากับชาวยุโรปยังสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ให้กับกรุงศรีอยุธยาด้วย

กรุงศรีอยุธยาติดต่อกับโปรตุเกสแล้ว ตั้งแต่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ทำให้ได้รับความรู้เรื่องการสร้างป้อมปราการ การใช้อาวุธปืน และตำราการรบพุ่ง ทำให้ลักษณะบ้านเมืองแตกต่างไปจากสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ครั้นตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถกับพระเจ้าทรงธรรมลงมา บรรดาชาวยุโรปหลายๆ ชาตินำเอาเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆเข้ามาอีกมาก ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” (ในสมัยนั้น) อย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างต่างๆ นับแต่กำแพงเมือง ป้อมปราการ ปราสาทราชวัง ถนน สะพาน เป็นต้น

และตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็เกิดพัฒนาการด้านศิลปะสถาปัตยกรรมอย่างใหม่ที่เฉลิมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งล้วนแตกต่างไปจากยุคต้นๆ ที่มุ่งในเรื่องศาสนาเป็นสำคัญ

การค้าภายใน

การค้าภายใน หมายถึงการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและเครื่องมือเครื่องใช้สิ่งของจำเป็นในหมู่พวกเดียวกันเองที่เป็นชาวบ้านชาวเมือง หรือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน รวมทั้งคนต่างด้าวท้าวต่างแดนหรือชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านเข้ามาหรือเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ทั้งนี้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันภายในสังคม

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายการค้าภายในลักษณะนี้ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางที่มีสรรพสินค้านานาชนิดตาม ตลาดในย่านต่างๆ ตอบสนองความต้องการของประชาชน พ่อค้าวาณิชทั้งใกล้และไกล บรรดาสินค้าที่มีอยู่และขายออกไปเหล่านั้นมีเพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างในรูปแบบของการดำรงชีวิตของคนแต่ละกลุ่มแต่ละชั้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นปกครองและพวกที่เป็นพ่อค้าต่างชาติกับคนไทยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองคงสร้างเป็นบ้านเรือนด้วยไม้จริง เช่น ไม้สัก เพราะมีหลักฐานว่ามีตลาดขายฝาและเครื่องปรุงเรือนไม้สักอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีย่านตลาดที่ขายฝาไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเรือนอาศัยและเรือนหอให้แก่ประชาชนทั่วไป ความแตกต่างกันในเรื่องที่อยู่อาศัยนี้สอดคล้องกับบรรดาจดหมายเหตุที่ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวยุโรปได้บันทึกไว้ พวกที่เป็นพ่อค้าชาวจีนและชาวฝรั่งเป็นจำนวนมาก มีที่อยู่อาศัยสร้างเป็นตึกและร้านค้าก่อด้วยอิฐถือปูน ยิ่งกว่านั้นบรรดาชนชั้นปกครองและคนรวย มักมีเครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องประดับบ้านประดับกายที่มีราคาบางอย่างเป็นของที่มาจากต่างประเทศ เช่น ผ้ากำมะหยี่ ผ้าแพร ฉากญี่ปุ่น เครื่องถ้วยชามเคลือบของจีน ญวน และญี่ปุ่น เครื่องประดับมุก เครื่องถม เครื่องเงิน และเครื่องทอง นับว่าบรรดาวัตถุที่มีการซื้อขายกันเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในรูปแบบของชีวิตระหว่างชนต่างชั้นและต่างกลุ่มกันพอสมควรทีเดียว (กรุงศรีอยุธยาของเรา, 2527, หน้า 92-93)

ขนอน-ด่านภาษีสินค้า

การค้าทั้งภายนอกและภายในต้องเสีย ภาษีที่สมัยนั้นเรียกว่า “ขนอน”

ฉะนั้นโดยรอบพระนครศรีอยุธยาจึงมีด่านภาษีที่เรียกว่า “ด่านขนอน” อยู่ตาม                ลำแม่น้ำรอบกรุงทั้ง 4 ทิศ ซึ่งเป็นทางแม่น้ำใหญ่ ที่จะเข้ามาในกรุงรวม 4 ด่าน (“เรื่องกรุงเก่า”, ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 63) คือ ขนอนบางตะนาวศรี (หรือขนอนหลวง) ขนอนปากคู ขนอนบางลาง และขนอนบ้านข้าวเม่า ดังนี้

ขนอนบางตะนาวศรี หรือขนอนหลวง ทางทิศใต้ ตั้งด่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา             ที่ตำบลบ้านบางตะนาวศรี (ข้างวัดโปรดสัตว์) เป็นด่านภาษีใหญ่กว่าทุกแห่งในพระนครศรี อยุธยา คอยตรวจผู้คนและเรือลูกค้ากับเก็บภาษีสินค้าที่เข้า-ออกทางหัวเมืองชายทะเล และต่างประเทศ เช่น “เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ บรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเรา ปลากะพง ปลาทู ปลากะเบนย่าง มาจอดเรือขาย…..”

ขนอนปากคู ทางทิศตะวันตก ตั้งด่านอยู่ที่ตำบลบ้านปากคู (บริเวณปากคลองวัดลาดฝั่งใต้ ทางไปบ้านเกาะมหาพราหมณ์) คอยตรวจผู้คนและเก็บภาษีเรือสินค้าที่จะเข้า-ออกทางลำแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางไป-มาทางทิศตะวันตก

ขนอนบางลาง ทางทิศเหนือ ตั้งด่านอยู่ที่ตำบลบางลาง (ในเอกสารเขียนว่า “บางหลวง” แต่พระยาโบราณฯ อธิบายว่าเขียนผิด ของเดิมคงเขียนไว้ถูก แต่ผู้คัดลอกต่อๆ มาไม่เคยได้ยินชื่อบางลาง เคยได้ยินแต่บางหลวง จึงเขียนเป็นบางหลวง) อยู่ที่เลี้ยวบ้านแมน ลำน้ำโพธิ์สามต้น คอยตรวจผู้คนและเก็บภาษีเรือสินค้าที่ลงมาจากทางทิศเหนือ เช่น “เรือ ใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือ บันทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง สินค้าต่างๆ จากฝ่ายเหนือล่องเรือลงมาจอดขาย…..”  และ “เรือระแหงแขวงเมืองตาก และเรือหางเหยี่ยว เมืองเพชบูรณ์ นายม บันทุกครั่ง กำยาน เหล็กหางกุ้ง เหล็กหล่มเลย เหล็กน้ำพี้ ไต้ หวาย ชัน น้ำมันยาง ยาสูบ เขา หนัง หน่องา สรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมือง มาจอดเรือขาย…..”

ขนอนบ้านข้าวเม่า ทางทิศตะวันออก ตั้งด่านอยู่ที่ตำบลบ้านข้าวเม่า คอยตรวจผู้คนและเก็บภาษีเรือสินค้าที่มาทางทิศตะวันออก ตามลำน้ำลพบุรีและลำน้ำป่าสัก (บ้านข้าวเม่า เป็นทางร่วมแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเดิม)

นอกจากด่านขนอนทางน้ำ 4 ทิศแล้ว ยังมีขนอนบกตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนครศรีอยุธยา ที่ตำบลบ้านศาลาเกวียนใกล้แม่น้ำป่าสัก คอยเก็บภาษีเกวียน เพราะเป็นที่ชุมนุมเกวียน ม้าต่าง วัวต่าง ที่มาจากลุ่มแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) และเขมร

ขนอน เป็นทั้งด่านตรวจคนแปลกปลอม และสิ่งของต้องห้ามที่จะเข้ามาหรือออกไปจากพระนคร และเป็นทั้งที่ตั้งเก็บภาษี ซึ่งพระยาโบราณฯ อธิบายว่าบางแห่งด่านกับขนอน อยู่ไกลไม่เกี่ยวกัน บางแห่งอยู่ใกล้กัน เช่น ขนอนสี่ทิศกรุง และต้องตั้งที่แม่น้ำทางร่วมซึ่งจะเข้ากรุง

การทำงานของด่านต่างๆ มีในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) จดว่าแต่ละด่านจะมีขุนด่านกับหมื่นขนอน รวม 2 นาย และไพร่หลวงอีก 20 คน คอยระวังรักษาเป็นประจำ โดยผลัดเปลี่ยนเวียนเวรละ 15 วัน สำหรับตรวจตราของต้องห้ามตามกฎหมายและเครื่องศาสตราวุธที่แปลกประหลาด รวมทั้งคอยตรวจตราผู้คนที่แปลกปลอมเข้าออกต้องทักท้วงไต่ถามตามเหตุการณ์ และที่ด่านทั้ง 4 ตำบล จะมีม้าใช้และเรือเร็วสำหรับคอยบอกเหตุการณ์ไปในกรุง

ภาษีสินค้าเรียกว่า จังกอบ เรียกเก็บเมื่อมีการขนส่งเข้า-ออกผ่านแดนทั้งทางบกและทางน้ำ  และเก็บทั้งสินค้าภายนอกและภายในประเทศ อัตราภาษีเรียก “สิบหยิบหนึ่ง” (เท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์)

แต่มีข้อยกเว้นตาม “พระไอยการ อาญาหลวง” ว่า “ถ้ามิถึงสิบไซร้ท่านมิให้เอาจังกอบนั้นเลย” (กฎหมายตราสามดวง)

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ราษฎรจะต้องเสียภาษีเป็นพิกัดตามความยาวของลำเรือ คิดวาละ 1 บาท แล้วเพิ่มพิกัดอีกว่า “เรือขุดและเรือต่อทุกลำที่ปากกว้างกว่า 6 ศอกขึ้นไป ให้เสียภาษี 6 บาท และคนต่างด้าวก็ต้องเสียภาษีตามพิกัดนี้ด้วย เหมือนกันกับพลเมือง” (จดหมายเหตุลาลูแบร์ฯ, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, หน้า  415)

ย่านการค้า และย่านการผลิต

การค้าทั้งภายนอกและภายในทำให้เกิดย่านการค้าและย่านการผลิตที่เรียกว่า     ตลาดขึ้นภายในกำแพงพระนครศรีอยุธยาและรอบเกาะนอกกำแพงพระนคร แบ่งเป็นตลาดในเมือง และตลาดนอกเมือง

ตลาดในเมือง

ตลาดในเมือง อยู่ภายในกำแพงพระนครศรีอยุธยา ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ (เอกสารจากหอหลวง) จดไว้ว่า “ในจังหวัดกำแพงพระนครนั้นมีตลาดหกสิบเอดตลาด” เป็นตลาด “ของชำ” 21 ตำบล และเป็นตลาด “ของสด” ขายเช้า-เย็น 40 ตำบล รวม 61 ตำบล แต่เอกสารให้รายชื่อไว้ 64 ตำบล

ของชำ หมายถึงสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไป ในชีวิตประจำวันและอาหารแห้ง เปิดขายตลอดวัน

ของสด หมายถึงสิ่งของเครื่องอาหาร หวานคาว ของสดๆ เปิดขายเฉพาะตอนเช้ากับตอนเย็น

ตลาดเหล่านี้มักเรียกตาม “ย่าน” ที่อยู่ ที่เรียกว่า “ป่า” ซึ่งได้ชื่อตามประเภทสินค้าที่ขาย เช่น ตลาดป่าตะกั่ว อยู่ย่านป่าตะกั่ว  ขายเครื่องตะกั่ว ตลาดป่าขนม อยู่ย่านป่า    ขนม ขายขนม เป็นต้น

ตลาดนอกเมือง

ตลาดนอกเมือง อยู่รอบเกาะเมืองภายนอกกำแพงพระนครศรีอยุธยา คำให้การฯ จดไว้ว่ามีทั้งตลาดน้ำที่ลอยเรืออยู่ในแม่น้ำ และตลาดบกที่อยู่บนบก มีดังนี้

ตลาดน้ำ

ตลาดน้ำหรือตลาดเรือ มี 4 แห่ง เป็นตลาดใหญ่อยู่ที่แม่น้ำรอบพระนครศรีอยุธยา คือ

  1. ตลาดน้ำวนบางกะจะ อยู่บริเวณสามแยกแม่น้ำหน้าวัดพนัญเชิง
  2. ตลาดน้ำปากคลองคูจาม อยู่ใต้วัดพุทไธศวรรย์ ท้ายสุเหร่าแขก
  3. ตลาดน้ำปากคลองคูไม้ร้อง อยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือ ระหว่างวัดเชิงท่ากับวัดพนมโยง (ยงค์)
  4. ตลาดน้ำปากคลองวัดเดิม อยู่ใต้ศาลเจ้าปูนเถ้าก๋ง แถบวัดอโยธยา ด้านทิศ ตะวันออก

 

ตลาดน้ำยุคอยุธยามีลักษณะเดียวกับเรือนแพและตลาดแพที่อยุธยา ยุครัตนโกสินทร์ (ภาพถ่ายเก่า สมัยรัชกาลที่ 5)
ตลาดน้ำยุคอยุธยามีลักษณะเดียวกับเรือนแพและตลาดแพที่อยุธยา ยุครัตนโกสินทร์ (ภาพถ่ายเก่า สมัยรัชกาลที่ 5)
เรือนแพเรียงรายอยู่แน่นขนัดสองฝั่งคลองเมืองที่อยุธยา (ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 6)
เรือนแพเรียงรายอยู่แน่นขนัดสองฝั่งคลองเมืองที่อยุธยา (ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 6)

ตลาดบก

มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนคร อยู่ตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดตลาดตั้งแต่รอบบริเวณขนอนใหญ่ ทั้ง 4 ทิศรอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตรงกรุง รวมทั้งชานกำแพงกรุงมี 30 ตลาด

แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุเดอ ลาลูแบร์ ฉบับภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2236 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเดอ ลา ลูแบร์ แผ่นแรกสุด (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่งเศส ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 84)

  1. พระนคร G. คริสต์ศาสนสถาน
  2. พระบรมมหาราชวัง H. โบสถ์โปรตุเกส
  3. ท่าเรือ I. โบสถ์เยซูอิต
  4. คลังสินค้าสำเภา K. บ้านฮอลันดา
  5. คลังสินค้ากำปั่น L. เพนียดคล้องช้าง
  6. ถนนและตลาด M. บ้านทูตฝรั่งเศส

ย่านผลิตและขาย

การค้าภายนอกกับภายใน นอกจากทำให้เกิด “ตลาด” ทั้งภายในและภายนอกกำแพงพระนครศรีอยุธยา (ดังกล่าวมา) แล้ว ยังทำให้เกิดย่านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย

ในคำให้การฯ จดว่า “ริมแม่น้ำทั้งสองฝั่งฟากรอบกรุงศรีอยุธยานั้น ข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรทำของต่างๆ  ขาย    แลประกอบการค้าขายต่างๆ กัน เปนหมู่เปนย่าน เปนตำบลมากมาย” มีประมาณ 52 ตำบล ดังต่อไปนี้

ย่านสำพะนี (มี 3 ตำบล)

ย่านสำพะนี ตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกระเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่วขาย

บ้านหมู่หนึ่ง (ในเอกสารไม่ลงชื่อ) ทำฝาเรือนอยู่และเรือนหอด้วยไม้ไผ่กรุกระแชง บ้าง กรุแผง กำบ้าง ทำไว้ขายและรับจ้าง

บ้านหมู่หนึ่ง (ในเอกสารไม่ลงชื่อ) หล่อเหล็กเป็นครกเป็นสากเหล็กขาย และตั้งเตาตีมีดพร้าและรูปพรรณต่างๆ รับจ้างและทำไว้ขาย

 

ย่านทุ่งขวัญ (มี 4 ตำบล)

บ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่-เล็ก และกระทะ เตาขนมครกขนมเบื้อง เตาไฟ ตะเกียง ไต้ ตะคัน เชิงไฟ พานพุ่มสีผึ้งถวายพระเข้าพรรษา บาตรดิน กระโถนดิน

บ้านกระเบื้อง ทำกระเบื้องตัวผู้ตัว- เมีย กระเบื้องเกล็ดเต่า กระเบื้องขอ กระเบื้องลูกฟูกขาย

บ้านศาลาปูน ตั้งเตาทำปูนแดงขาย

บ้านเขาหลวง พวกจีนตั้งโรงต้มสุราขาย

ย่านทุ่งแก้ว (มี 7 ตำบล)

บ้านเกาะขาด หล่อผอบยา เต้าปูนทองเหลือง  และเท้าพานไม้ควักปูนสนหงส์ขาย

บ้านวัดครุธ ปั้นนางเลิ้ง (ตุ่มน้ำ) สำหรับใส่น้ำขาย

บ้านริมวัดธรณี เลื่อยกระดานไม้งิ้ว  ไม้อุโลกขาย

บ้านริมวัดพร้าว พวกพราหมณ์และไทยทำแป้งหอม น้ำมันหอม กระแจะ น้ำอบ ธูปกระแจะ ธูปกระดาษ และเครื่องหอมทาขาย

บ้านท่าโขลง ตั้งเตาตีเหล็ก ตะปู ตะปลิงใหญ่ น้อยขาย

บ้านคนที ปั้นกระโถนดิน กระถางดินปลูกต้นไม้ และตะคันเชิงไฟเตาไฟ และปั้นรูปช้าง รูปม้า ตุ๊กตาต่างๆ ขาย

บ้านริมวัดโรงฆ้อง แถวถนนหน้าบ้าน เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ค้าซื้อกล้วยดิบมาบ่มและต้มขาย

 

นอกย่านต่างๆ

บ้านนางเลิ้ง, บ้านหอแปลพระราชสาส์น ทำกระดาษข่อยและสมุดดำ-ขาวขาย

บ้านคลองธนูเอก อยู่เพนียด ชาวบ้านตั้งโรงร้านเรือนแพขายไม้ไผ่สีสุก ไม้รวก ขายเสาใหญ่-น้อยเป็นไม้แก่น และไม้พรึงรอด

บ้านรามเขาระ บุบาตรเหล็กน้อย-ใหญ่ขาย

บ้านริมวัดพิชัย ต่อหุ่นตะลุ่ม พานแว่นฟ้าสองชั้นขาย

บ้านนางเอียน ฝั่งกำแพงกรุง เลื่อยไม้สักทำฝาเรือน ปรุงเรือน ฝากระดานและเครื่องสับฝาสำหรวดขาย

บ้านวัดน้ำวน พวกจีนตั้งโรงตีเหล็ก  ทำขวานหัวเหล็กป้าน และขวานมะลูขาย

ยังมีย่านผลิตสิ่งของและย่านขายสินค้ากระจายอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำลำคลองและบนบก ดังมีรายการ ดังนี้

เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพิษณุโลก ฝ่ายเหนือ บรรทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง สินค้าต่างๆ จากฝ่ายเหนือล่องเรือลงมาจอด ขายตั้งแต่หน้าวัดกล้วยลงมาจนปากคลองเกาะแก้ว

ที่ใต้ปากคลองเกาะแก้วลงมาหน่อยหนึ่ง เรือมอญใหญ่ปากกว้าง 6-7 ศอก พวกมอญบรรทุกมะพร้าวห้าว ไม้แสมทะเล และเกลือขาวมาจอดขาย

บ้านศาลาเกวียน มีศาลาใหญ่ห้าห้อง สองหลังสำหรับเกวียนเมืองนครราชสีมาและเมืองพระตะบองมาจอดที่ศาลานั้น ในฤดูเดือนสาม เดือนสี่ วัวต่างและเกวียนเมืองนครราชสีมาบรรทุกสินค้าต่างๆ คือน้ำรัก ขี้ผึ้งปีกนก ผ้าตะราง ผ้าสายบัวสี่คืบหน้าเก็บทอง ผ้าตาบัวปอกเตล็ดงา และหนังเนื้อ เอ็นเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่ง ไหม กำยาน ดีบุก หน่อ งา ของป่าต่างๆ

เกวียนเมืองพระตะบองพวกเขมรบรรทุกลูกเร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง ดีบุก   หน่องา ผ้าปูม แพรญวน ทองพราย พลอยแดง และสินค้าต่างๆ ตามอย่างเมืองเขมร

กองเกวียนทางบกกับกองเรือทางน้ำ ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ยุคกรุงศรีอยุธยา (ภาพเก่า)
กองเกวียนทางบกกับกองเรือทางน้ำ ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ยุคกรุงศรีอยุธยา (ภาพเก่า)

พวกโคราชและพวกเขมรเอาสินค้ามาขายที่ศาลาเกวียน  ถ้ามามาก ศาลาไม่พออยู่ ต้องปลูกกระท่อมอยู่ตามแถบนั้น ศาลานั้นเป็นของเรี่ยไร พวกพ่อค้าเกวียนและลูกค้ารับรวมกันทำขึ้นแล้วซ่อมแซมต่อๆ มา ในฤดูลูกค้าต่างและเกวียนมา ชาวบ้านแถบนั้นทำของกินต่างๆ ออกนั่งร้านขายเป็นตลาดคราวหนึ่ง

แถวหน้าวัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน สามวัด ชาวเมืองอ่างทอง เมืองลพบุรี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองสุพรรณบุรี เอาข้าวเปลือกบรรทุกเรือใหญ่น้อยมาจอดขายที่นั่น และชาวบ้านแถวหน้าวัดทั้งสามตั้งโรงสี โรงกระเดื่อง สีข้าวซ้อมข้าวขายชาวพระนคร และขายพวกโรงต้มสุรา ถึงฤดูสำเภาเข้าก็ทำข้าวสารขายจีนในสำเภาเป็นเสบียง

บ้านปากข้าวสาร พวกจีนตั้งโรงต้มสุราและเลี้ยงสุกรขาย

เรือระแหงแขวงเมืองตาก และเรือหางเหยี่ยวเมืองเพชบูรณ์ นายม บรรทุกครั่ง กำยาน เหล็กหางกุ้ง เหล็กหล่มเลย เหล็กน้ำพี้ ไต้ หวาย ชัน น้ำมันยาง ยาสูบ เขา หนัง หน่องา สรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมืองมาจอดเรือขายตามแถวปากคลองสวนพลูตลอดมาจนหน้าวัดพนัญเชิง

บ้านในคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุรา เลี้ยงสุกรขาย  และทำเส้นหมี่แห้งขาย

บ้านขนมตาล ชาวบ้านนั้นรับเรือเถา เรือพ่วงไว้ขาย

บ้านสกัดน้ำมัน หุงขี้ผึ้งแดง ขี้ผึ้งขาว เชยน้ำมันงาขาย

บ้านคลองเกลือ ชาวบ้านนั้นตั้งโรงสีข้าว ซ้อมข้าว ขายพวกโรงสุราและสำเภาจีน

บ้านญี่ปุ่น ชาวบ้านนั้นเป็นชาวไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่หลังบ้านตึกญี่ปุ่น ชาวบ้านรับกงเรือน้อยใหญ่ กงสำเภาไว้ขาย และรับไม้โกงกางไว้ขายพวกทำฟันสีข้าว

บ้านข้างกำแพงนอกกรุง ตรงหัวเลี้ยวตำบลสาระภา จีนตั้งโรงย้อมครามผ้าและด้ายขาย

บ้านน้ำวนบางกะจะ มีเรือปากใต้ปากกว้างสามวาสิบศอก พวกพ่อค้าจีนและแขกจามทอดสมอขายน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กำมะถัน จันทน์แดง หวายตะค้า กระแชง เคย และสินค้าต่างๆ ข้างปากใต้

และแถวนั้นมีแพลอยพวกลูกค้าไทย จีน แขกเทศ แขกจาม นั่งร้านแพ ขายสรรพสิ่ง ของต่างๆ กันทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดาราราม ตลอดลงมา จนหน้าพระราชวังหลัง แถวนี้เป็นฝั่งพระนคร

แต่ฝั่งตรงข้ามพระนครนั้นแพจอดตั้งแต่ท้ายวัดพนัญเชิงตลอดมาจนท้ายวัดพุทไธ ศวรรย์ และเลยไปจอดเป็นระยะจนหน้าวัดไชยวัฒนาราม

และแม่น้ำตรงตลอดมีแพลูกค้าพาณิช จอดฝั่งตะวันตกตั้งแต่ปากคลองตะเคียน  เรี่ยรายขึ้นมาถึงหน้าวัดแขกตะเกี่ยมีชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดกุฎีบางกะจะ

ตรงวัดพนัญเชิงฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ท้ายเกาะเรียน มีแพจอดเรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้าม มีแพชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดพนัญเชิง

ประมาณแพแต่บริเวณกรุงศรีอยุธยา รอบพระนครนั้น ราวสัก 20,000 เศษ

ทั้งแพอยู่และแพค้าขายในแขวงจังหวัด รอบกรุงอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 เศษ

ครั้นถึงฤดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เป็นมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพาณิชสำเภาจีน และลูกค้าแขกสลุบลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช และพวกลูกค้าแขกสุรัต แขกชวา มลายู แขกเทศฝรั่งเศส ฝรั่งโลสง โปรตุเกส วิลันดา สเปน อังกฤษ และฝรั่งดำ ฝรั่งเมือง ลังกุนี แขกเกาะ เป็นพ่อค้าพาณิชคุมสำเภา สลุบกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนคร กรุงศรีอยุธยาตามที่ของตนซื้อและเช่าต่างๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา

ที่ท่าประตูหอย มีเรือลูกค้าชาวเลมาจอดขายหอยแมลงพู่ หอยตะพง ปูทะเล แมงดา ปลาทะเลย่างและสดบ้าง

ย่านป่าจาก ขายเชือกกระแชง หวายไต้ชันน้ำมันยางหมันเรือตามร้านเรือนแพ และมีเรือปากกว้างแปดศอกสิบศอกบรรทุกจากมาจอดขาย

ย่านบ้านริมวัดขุนพรม ชาวบ้านย่านนั้นเอาผ้าขาวเทศมาเขียนพิมพ์ตีพิมพ์เป็นดอกผ้าลายน้ำจืดขาย

บ้านต่อโลงไม้อุโลก สำหรับใส่ศพไว้ขายก็หลายบ้าน

ย่านบ้านท่ากายี นอกกำแพงกรุงเป็นบ้านแขกเก่า พวกแขกนั้นฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเป็นสายสมอยาวเส้นหนึ่งบ้าง ยาวสามสิบวาบ้าง บางทีทำยาวถึงห้าสิบวา ขายแก่นายกำปั่นสลุบสำเภา และฟั่นชุดจุดบุหรี่ ด้วยเปลือกมะพร้าวขายขุนนางและราษฎร           ที่ต้องการใช้และทำบุญ

ย่านบ้านท้ายคู พวกแขกจามสานเสื่อ ลันไตผืนใหญ่น้อยขาย และสมุกขาย

พวกแขกชวามลายู บรรทุกหมากเกาะและหวายตะค้ากระแชงเตย สรรพเครื่องสินค้าปากใต้ บรรทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวามาทอดสมอขายอยู่ที่ตรงปากคลองคูจาม

บ้านท่าราบ รับพะเนียงหูไว้ขาย และพวกลูกค้าจีนแขกฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา โปรตุเกส พวกนี้รับซื้อไว้ใส่ครามใส่ปูน

บ้านสกัดน้ำมัน หลังวัดพุทไธศวรรย์ พวกนั้นตีสกัดน้ำมันงาและน้ำมันลูกไม้ขาย

บ้านเชิงฉะไกร นอกกำแพงพระนคร ชาวบ้านนั้นตั้งโรงร้านขายเสาไม้เต็ง ไม้รัง และไม้รอดพรึง ไม้ไผ่ป่า ไม้รวก ไม้ลาย มาแต่บ้านอัมพวา

เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ บรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเรา ปลากะพง ปลาทูปลากระเบนย่าง มาจอดเรือขายแถวท้ายวัดพนัญเชิง

บ้านปูนริมวัดเขียน ทำปูนแดงขาย

บ้านพระกราน ชาวบ้านจับปลาหมอ เกราะหามมาเร่ขายบ้าง ใส่เรือมาเร่ขายบ้าง ในฤดูตรุษสงกรานต์ ชาวกรุงซื้อปล่อยทำการบุญ

บ้านริมวัดลอดช่อง พวกแขกตานีทอผ้าไหม ผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงดอกขาย

บ้านหน้าวัดราชพรีวัดธรรมา ทำโลงไม้สัก ไม้อุโลก และเครื่องศพสำหรับศพต่างๆ ไว้ขาย

บ้านป้อมหัวแหลม พวกแขกเก่าและลาวเก่าจับนกอังชันและนกกระจาบฆ่าตาย เที่ยวเร่ขาย และจับนกสีชมพู นกปากตะกั่ว นกแดงอิฐ นกกระทิ นกกระจาบเป็นๆ ใส่กรงขังไปเที่ยวเร่ขายให้ชาวพระนครซื้อปล่อยเมื่อฤดูเทศกาลตรุษสงกรานต์ที่แม่น้ำหัวแหลม หน้าวัดภูเขาทอง

ใต้ศาลเจ้านางหินลอย พวกจีนตั้งโรงต้มสุราและเลี้ยงสุกรขาย

เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองสวรรคโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือ บรรทุกสินค้าต่างๆ จากฝ่ายเหนือมาจอดเรือขายริมแม่น้ำและในคลองใหญ่วัดมหาธาตุในเทศกาลหน้าน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image