ใช้สิทธิเกินส่วน เรื่องที่คนไทยไม่รับรู้ : โดย ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

สมัยเรียนหนังสือทั้งในและต่างประเทศนั้น ส่วนมากจะพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในลักษณะที่ว่าอำนาจเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็มักจะอ้างว่าจะต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนเป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงข้อจำกัดในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่ต้องไม่เกินขอบเขต หรือที่เรียกว่า…ใช้สิทธิเกินส่วน…มากนัก

การที่ประชาชนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากได้อะไรก็ต้องเป็นไปตามความต้องการเสมอ เพราะความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีขอบเขตจำกัด ได้เท่าไรก็อยากได้เพิ่มขึ้น การทำงานในองค์กรต่างๆ มนุษย์ทำงานย่อมต้องการค่าตอบแทนสูงๆ ยิ่งมากยิ่งดี ตราบใดที่ค่าจ้างเงินเดือนขึ้นทุกปี นายจ้างให้โบนัสและสิทธิประโยชน์ทุกปี การเรียกร้องก็น้อย ยกเว้นว่าน้อยเกินไป พวกสหภาพแรงงานก็จะออกโรงเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าตอบแทน

งานบริการทั้งหลายก็ไม่ต่างกัน ผู้รับบริการต้องการได้รับบริการที่ดีขึ้น มากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝ่ายผู้ให้บริการก็ต้องจัดหาบริการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ก็ต้องเท่าที่ทำได้และมีขอบเขตจำกัดทั้งตามกฎหมายและศักยภาพ ไม่ใช่ต้องให้ทั้งหมดที่ผู้ใช้บริการเรียกร้องต้องการ ความต้องการของมนุษย์นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ หรือ Need Theory หลายทฤษฎีอธิบายว่ามนุษย์มีความต้องการตลอดเวลา เมื่อได้มาซึ่งความต้องการในระดับต้นแล้วก็ต้องการในระดับที่สูงขึ้นๆๆๆ ไปเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติของมนุษย์

คำถามคือ เมื่อมนุษย์ไม่เคยหยุดความต้องการ บ้านเมืองก็ต้องมีกฎระเบียบ มีขื่อมีแป มีเพดาน เพื่อจำกัดไม่ให้มนุษย์เรียกร้องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น เป็นที่รู้กันว่าประชาชนมีสิทธิตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในสังคมไม่ว่าสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิชุมชน สิทธิประชาชน สิทธิมนุษยธรรม สิทธิในความเป็นพลเมือง สิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรับส่งข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและอีกมากมาย แต่สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าถ้าใครยกขึ้นกล่าวอ้าง จะต้องได้รับการรับรองอย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะในสังคมนั้นมักมีความเห็นต่าง เป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งเสมอ และรัฐต้องให้สิทธิเสรีภาพกับผู้เห็นต่างเช่นเดียวกันกับผู้เห็นชอบ

Advertisement

เมื่อเป็นเช่นนี้ การแสดงออกของกลุ่มผู้เห็นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงต้องมีการจำกัดการแสดงออกหรือการใช้สิทธินั้น ไม่ให้ก้าวล่วงไปเกินสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนในสังคมนั้นมีสิทธิจริง แต่คนอื่นก็มีสิทธิเช่นกัน การใช้สิทธิใดๆ ของประชาชนในสังคมจึงต้องเป็นทั้งการใช้สิทธิโดยชอบ และไม่เกินส่วนของตัวเอง

เป็นที่น่าเสียดายว่า เวลาร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เราไม่เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามใช้สิทธิเกินส่วน มีแต่เรื่องการให้สิทธิด้านเดียว จนทำให้ประชาชนหลงลืมไปว่า สิทธินั้นมีจริง แต่มีเพดาน มีข้อจำกัด และเพดานนั้นคือ ต้องไม่เกินส่วนที่จะทำให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย

ในโลกของเรานั้น มนุษย์ในสังคมต่างก็เรียกร้องซึ่งกันและกัน โดยเกินเลยสิทธิที่พึงมีพึงใช้มากมายหลายเรื่อง ทั้งอย่างรู้และไม่รู้แต่สำคัญผิด แต่ไม่มีใครออกมาเตือนทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ใช้สิทธิเกินส่วน และการใช้สิทธิของตัวเองในเรื่องใดหรือขณะใดที่มากเกินไป ก็เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นในเรื่องนั้นหรือขณะนั้นเช่นเดียวกัน

Advertisement

ถ้าคุณคิดว่ามีสิทธิที่จะเรียกร้อง คุณก็ต้องยอมรับว่าคนอื่นเขาก็มีสิทธิเรียกร้องเช่นกัน คุณจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวไม่ได้

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image