คิดเชิง ยุทธศาสตร์ อันดับ เรื่อง ‘ค้ามนุษย์’ กรณี ไทย-สหรัฐ

รายงานการค้ามนุษย์ ของ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เลื่อนอันดับประเทศไทย จากกลุ่ม 3 มาอยู่

กลุ่ม 2 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559

มีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

ความหมาย 1 ซึ่งแสดงออกผ่านแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เท่ากับแสดงว่า

Advertisement

“รัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์”

นั่นก็คือ ระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ.2557-2558) ที่รัฐบาลไทยถูกลดอันดับจากอันดับ 2 ไปอยู่ในอันดับ 3 อันเป็นอันดับต่ำสุดนั้น รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา มองเห็นได้ในความพยายาม

เท่ากับเป็นการให้ “รางวัล” ใน “ความตั้งใจ” จริงของรัฐบาลไทย

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความหมาย 1 ซึ่งดำเนินไปอย่างมีลักษณะแฝงในทางการเมือง ยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์ “ใหญ่” ของสหรัฐในการฟื้นและคืนอิทธิพลมายังเอเชีย-แปซิฟิกอีกคำรบ 1 หลังจากร้างห่างเหินไปในยุคหลังสงครามเวียดนาม

นี่คือยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีนเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาเคยปฏิบัติในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยรวมศูนย์อยู่ที่ “หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี”

 

การจะทำความเข้าใจต่อการประกาศ “เลื่อน” อันดับของไทยจาก 3 ขึ้นมาเป็น 2 จะต้องเข้าใจปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

1 ปัจจัยของการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในยุค “สงครามเย็น”

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่สหราชอาณาจักรเล่น “บทโหด” กับประเทศไทยในฐานะที่เคยประกาศสงครามกับประเทศตนเมื่อเดือนมกราคม 2485

แต่สหรัฐอเมริกาเล่นบท “นักบุญ” แม้จะอยู่ในฐานะคู่สงครามเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร

ทั้งๆ ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพันธมิตรอันแนบแน่นอยู่ในวงศ์ไพบูลย์แห่งจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ลังเลที่จะยื่นมือแห่งไมตรีเข้ามา โดยเริ่มจากสนธิสัญญาทางทหารในปี 2493 และดึงไทยเข้าเป็นมิตรร่วมรบในสงคราม

เกาหลี

ทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “ปิดล้อมจีน” และค่ายสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต

กองทัพไทยนับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา ถือได้ว่าได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านยุทโธปกรณ์และการฝึกจากกองทัพสหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมส่วนในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ผ่านองค์การจัดตั้ง “ซีอาโต” โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

จากจุดนี้จะทำให้การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในยุค บารัค โอบามา ได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น

จะสามารถเข้าใจในเรื่องการเลื่อนอันดับของไทยจากอันดับ 3 มาเป็นอันดับ 2 ได้ต้องเข้าใจรางวัลที่มาเลเซียได้รับในลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2558

นั่นเพราะว่ามาเลเซียเป็น 1 ในกลุ่ม “ทีพีพี”

ยิ่งเห็นกระบวนท่าอันสันถวมิตรสนิทสนมยิ่งระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลเวียดนามก็จะยิ่งเข้าใจในกระบวนการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาได้

นั่นเพราะว่าเวียดนามก็เป็น 1 ในกลุ่ม “ทีพีพี”

หากอ่านจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 138-139 Pivot to Asia : นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชีย-แปซิฟิก และฉบับที่ 140 Pivot to Asia : ผลกระทบต่อไทย อัน สุรชาติ บำรุงสุข ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

ก็จะเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นใน “ท่าที” และการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกา

ที่เรียกว่าเป็นการตัดสินใจในทางยุทธศาสตร์ เพราะว่ายุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาคือการสร้างพันธมิตร ขณะเดียวกัน ก็อาศัยพันธมิตรนั้นไปปิดล้อมและโดดเดี่ยวจีน

จากนี้จึงเห็นได้ว่าไม่ว่าเรื่องหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ไม่ว่าเรื่องของมาตรการการบิน

คล้ายกับว่าเป็นเรื่องในทาง “เศรษฐกิจ” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วบรรทัดฐานในการตัดสินใจอย่างแท้จริงก็อยู่กับบรรทัดฐานและเป้าหมายในทาง “การเมือง”

เป็นกระบวนการ “เศรษฐกิจ” เพื่อไปบรรลุ “การเมือง” อันเป็นเป้าหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image