วิชามาร! คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 โดย จำลอง ดอกปิก

การเดินสายเลือกกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถานที่บรรยายพิเศษวันก่อน ดูผิวเผินคล้ายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ไม่มีอะไรพิเศษ

กระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการ มือไม้ฝ่ายบริหาร

หากแต่เมื่อดูบริบทการเมือง หัวข้อ และเนื้อหาที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ พูด อาจเห็นอะไรบางอย่าง

Advertisement

กระทรวงสาธารณสุข เป็นป้อมปราการฝ่ายประจำ ยืนหยัดต่อสู้เคียงเสียงนกหวีด เมื่อครั้งชุมนุมชัตดาวน์ประเทศ

การเปิดเวที อยู่ในที่ทาง คนคอเดียวกัน อาจทำให้รู้สึกไม่แปลกแยก

หนำซ้ำยังอาจอบอุ่น

Advertisement

เหมือนกับที่มีชัยตอบคำถามสื่อ ที่ว่า เหตุใดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ส่งตัวแทน

เข้าร่วมในเวทีที่นักวิชาการจัดขึ้น

คำตอบมีว่า “บางทีการจัดเวทีลักษณะนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาความรู้ เขาจับกลุ่มกันในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเราไปร่วมจะกลายเป็นว่าไปทะเลาะกับเขา”

การจับกลุ่มในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วย ก็เหมือนกับการจับกลุ่มในหมู่คนเห็นด้วย

แต่เวทีใดจะมุ่งที่เนื้อหาความรู้ในทุกด้านจริงหรือไม่ หรือมุ่งไปในทางโฆษณาชวนเชื่อ เลือกพูด นำเสนอแต่ในบางมุม นั่นเป็นเรื่องที่คนภายนอกมองเห็น ตัดสินได้ว่าอะไรจริง อะไรแท้

การบรรยาย ณ กระทรวงสาธารณสุขน่าสนใจ

ทั้งสถานที่ และเนื้อหา

ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันต่อหน้าปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ ที่ร่วมรับฟัง อีกทั้งยังถ่ายทอดเสียงไปยังโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

หนึ่งในหัวข้อคือการพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง

มีชัยปฏิเสธ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มายกเลิกแน่นอน มีแต่จะยิ่งทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

นอกจากบัตรทอง

ประธาน กรธ.ยังพูดถึงการศึกษา ทั้งที่อยู่ในท่ามกลางหมอ และบุคลากรสาธารณสุข

เหตุที่เป็น 2 ประเด็นนี้ อาจเป็นเพราะอ่อนไหว กระทบต่อประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงในวงกว้าง เป็นส่วนได้-ส่วนเสียโดยตรง จึงมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นระบบพื้นฐานที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างเหมาะสม และไม่ควรต่ำกว่าที่เคยได้รับ

ไม่ว่าฝ่ายอยากล้ม หรืออยากให้ผ่าน ก็ต้องหยิบจุดแข็ง จุดอ่อนขึ้นมาพูด

วิชามาร-วิชาดี อาจแอบแฝงอยู่ในเรื่องนี้ด้วยก็ได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตโดยตรง นำมาโน้มน้าวให้ตัดสินใจได้ง่าย

แต่วิชามาร-วิชาดี ก็น่าเชื่อได้ว่า มิได้มีอยู่ฝ่ายเดียว อย่างที่เห็น

เมื่อไม่เปิดพื้นที่ให้พูดกันได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม มันก็มีปัญหา มีค่าที่ต้องจ่าย ปูดออกมาในรูปแบบอื่น ซึ่งก็มีคำถามว่า ความเห็นแย้ง-เห็นต่างนั้นแท้จริงแล้ว คือการบิดเบือนหรือไม่

อันที่จริง ที่จงใจบิดเบือนชัดแจ้ง น่าเชื่อได้เหมือนกันว่าคงมี จะมากน้อยเพียงใดเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้รัฐก็ต้องจัดการเอาผิด

แต่อย่าได้เหมารวม เสียงวิพากษ์วิจารณ์เห็นต่างที่มีต่อเนื้อหารัฐธรรมนูญ ที่เป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ

เรื่องระบบการประกันสุขภาพ การศึกษา มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ทุกอย่างบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ

การเสริมเพิ่มเติม ด้วยมาตรา 44 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สังคมก็ย่อมคิดได้-มองออก เหตุใดต้องเข็นออกมา

เรื่องระบบประกันสุขภาพ ระบบการศึกษาของชาติ บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่มีใครบิดเบือนได้

เหมือนกับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. และอะไรต่อมิอะไร ที่เคยเป็นหัวข้อประเด็นร้อนถกเถียง เรียกร้องทบทวนในขั้นตอนการยกร่าง แต่ก็มีการยืนยันให้ดำรงคงไว้

ทุกอย่างรวมอยู่ใน 279 มาตรา

วิชามาร-วิชาดี ไม่มีใครบิด ให้เลวกว่านี้ได้-ดีกว่านี้ได้

ทุกอย่างมีคำตอบอยู่ในตัวเอง-อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image