แพะรับบาป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แพะรับบาป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แพะรับบาป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผลการตรวจสอบความโปร่งใสกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนจะปรากฏออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ การมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีย้ายนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน มาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจนเจ้าตัวประกาศลาออกในเวลาต่อมา หากพิจารณาว่ามีความผิดพลาด บกพร่อง ก็คงเข้าข่าย 2 กระทง

กระทงแรก ไม่สามารถบริหารจัดการความต้องการหน้ากากอนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทงที่สอง ผลีผลาม วู่วาม ใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีข้าราชการด้วยกันเอง ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรไปถึงรัฐบาล แทนที่จะใช้แนวทางการประสานทำความเข้าใจ พูดคุยกันเป็นการภายใน กระทงหลังนี้ อธิบดีไม่อาจปฏิเสธต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

แต่การที่ฝ่ายการเมืองไม่ห้ามปราม ตำหนิ สกัดกั้น ให้คำชี้แนะ กลับเห็นว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการปกป้องศักด์ศรีขององค์กรและตัวเอง จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ถือเป็นความบกพร่อง ด้อยประสิทธิภาพด้วยหรือไม่

Advertisement

ว่าไปแล้วความผิดกระทงแรก การขาดแคลนและความเคลือบแคลงสงสัยจากการที่หน้ากากอนามัยหายไปจากตลาดต่างหาก ทำให้เกิดคำถามตามมา ว่าความรับผิดชอบควรเป็นของข้าราชการประจำฝ่ายเดียวเท่านั้นหรือ

ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย ติดตาม กำกับ ตั้งแต่ระดับกระทรวงไปจนถึงระดับรัฐบาล เลยหรือ

รายการนี้ ข้าราชการประจำจึงกลายเป็นแพะรับบาป เซ่นสังเวยความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนในภาพรวม เป็นตัวช่วยลดกระแสความไม่เชื่อมั่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลงได้ สักเท่าไหร่ แล้วแต่ใจ ใครจะคิด

Advertisement

เหตุผลในคำสั่งย้ายอธิบดีกรมการค้าภายในเพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงาน ขณะที่ความเคลือบแคลงสงสัยต่อกรณีอื้อฉาวก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำสั่งปลดคณะทำงานไปแล้ว

ถึงจะแถลงปฏิเสธออกมาอย่างไรก็ตาม คนสองคนไปพบกันในสถานที่เฉพาะ จะขอ จะให้ จะซื้อหาหน้ากากอนามัยไปแจกประชาชนในพื้นที่หรือไปเพื่อการอื่น ความเป็นจริงในการพูดคุยเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของฝ่ายสืบสวนสอบสวน ที่จะสืบสาวไปถึงเส้นทางการเงินเพื่อยืนยันได้สำเร็จหรือไม่

ผลการตรวจสอบความจริงเป็นอย่างไร รัฐบาลยังไม่แถลงชี้แจงให้กระจ่างได้ จึงเป็นคำถามที่ผู้คนทั้งประเทศรอคอยคำตอบ

แม้รัฐบาลจะพยายามขอความร่วมไม้ร่วมมือในการต่อสู้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปก่อนและได้รับการตอบสนองตอบดีอย่างไรก็ตาม ประเด็นความรับผิดชอบต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ความจริงเบื้องหลังข้อครหาทั้งหลายยังดำรงคงอยู่

ระดับผู้ปฏิบัติ ข้าราชการประจำรับผลแห่งการกระทำไปแล้ว แต่ระดับที่สูงไปกว่านั้น ไม่บกพร่อง ไม่ผิดพลาด ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องรับผิดชอบ เลยใช่ไหม
เส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมือง ควรอยู่ตรงไหน อะไรคือความเป็นธรรมที่ข้าราชการควรมีหลักประกัน

การลงโทษต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นควรจำกัดอยู่เฉพาะข้าราชการประจำ โทษแต่คนอื่น ฝ่ายอื่น เท่านั้น ไม่โทษตัวเอง ฝ่ายเดียวกันเองด้วยเลยใช่ไหม

เพื่อความเป็นธรรม มิติของความรับผิดชอบในทางบริหาร และทางการเมือง จึงควรถูกพิจารณาด้วยหรือไม่

การที่ 17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาย้ำจุดยืน บรรทัดฐานการปฏิบัติสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ขนาดรัฐมนตรีของพรรคถูกกล่าวหา สงสัย เคลือบแคลง ผลสอบสวนยังไม่ปรากฏชัดซึ่งภายหลังก็ออกมาว่าไม่ผิด ยังให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อความบริสุทธิ์ใจและความสะดวกโปร่งใสในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

มาตรฐานเดียวกันนี้ควรย้อนกลับนำมาใช้กับฝ่ายการเมืองทั้งในพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย หรือไม่ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อมั่นการจัดการสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยและไวรัสโควิด-19 สมควรได้รับการลงโทษ ควรลงโทษตัวเองเช่นเดียวกับที่ลงโทษฝ่ายประจำหรือไม่

หรือเป็นเรื่องปกติของฝ่ายนโยบายที่ไหนๆ ก็ไม่ต่างกันโทษคนอื่นก่อน โทษตัวเองทีหลังเสมอ กับคนอื่น คนที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะเข้มงวด แต่กับตัวเองและพวกตัวเองผ่อนปรน เป็นข้อยกเว้น

ไม่ส่งสัญญาณให้พิจารณาตัวเองซะ ทำให้ผู้คนสงสัย เรื่องอื้อฉาว ทั้งในสภา นอกสภา ได้ถึงขนาดนี้แล้ว

เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่ มือวางคนสำคัญ ยังต้องเอาไว้ใช้งาน ว่างั้นเถอะ

แม้จะผ่านวิกฤตไปได้ แต่ตราบใดที่ความเคลือบแคลงสงสัย ไม่ไว้วางใจของสังคมยังไม่ลดลง รัฐบาลเรือเหล็กก็จะเผชิญสถานการณ์กดดันต่อไป จนกว่าจะแถลงความจริงออกมาและสังคมเชื่อว่าเป็นความจริง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image