คนตกสี : ผน.ง.ร.จ.ต.ก.ม. แต่ถ้า ผน.ผดก.ร.จ.ต.ล.ห.ป.ง ๆ. : โดย กล้า สมุทวณิช

ถ้าไม่หลับตาปิดหู ไม่ว่าจะฝั่งไหนสีใดคงยอมรับกันแบบไม่ต้องสืบว่าวิกฤตโคโรนาไวรัส COVID-19 นั้นเหมือนกรดที่กัดเคลือบผิวเผยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้กลไกการเมืองของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจนล่อนจ้อน

การบริหารและแก้ปัญหาของฝ่ายการเมืองและราชการกลับกลายเป็นปัญหาเสียยิ่งกว่าตัวสถานการณ์การแพร่ระบาด จนทำให้คนที่เคยสนับสนุนเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ก็เริ่มตัดพ้อต่อว่าให้เห็นว่าจะเข็นกันต่อไปไม่ไหวแล้ว ส่วนคนที่อยู่อีกฝ่ายฝั่งหนึ่งก็ได้แต่ออกมาบอกฝ่ายที่เพิ่งวิพากษ์วิจารณ์นั้นว่า “นี่คือสิ่งพวกเราเคยบอกไว้ (นาน) แล้ว (โว้ย)”

แต่กระนั้นก็ยังมี “คนเชียร์ลุง” เดนตาย ที่แม้จะยอมรับว่าการบริหารจัดการในวิกฤต COVID-19 นี้เป็นปัญหาจริง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ตัวนายกฯประยุทธ์ แต่ปัญหาเป็นเพราะลุงที่รักของเขาไม่สามารถใช้ “อำนาจเผด็จการ” ได้เช่นในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร คสช. ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างหาก ที่ทำให้ลุงของพวกเขาบ้อท่าป้อแป้ หน้าเหี่ยวหน้า คนเหล่านี้จึงเรียกร้องให้ถอยย้อนกลับไปสู่ระบบระบอบดังกล่าวให้รู้แล้วรู้รอด

เราจึงมาชวนกันสำรวจว่าข้ออ้างที่ว่านั้นจริงแค่ไหนหรือมีมูลอย่างไร

Advertisement

การเข้าสู่ตำแหน่งของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นไปตามกลไกที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะถือว่าชอบธรรมหรือไม่นั้น ก็คงขึ้นกับมุมมอง
ของแต่ละคน

แต่ข้อเท็จจริงคือหากเป็น “ระบบปกติ” ที่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเป็นผู้เลือกตัวนายกรัฐมนตรี ดังนั้น โดยกติกาที่ควรจะเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดก็จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล หากเสียงพอเกินกึ่งหนึ่งแบบสบายๆ ก็อาจจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่ถ้าเสียงไม่ถึงหรือก้ำกึ่งก็จะจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แต่เพราะ “กลไกพิเศษ” ที่เป็นผลมาจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งเลือกจิ้มกันมาโดย คสช. มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร 500 คนได้ด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องมีเสียงสนับสนุนรวมกันจากทั้งสองสภาไม่น้อยกว่า 375 เสียง อย่างที่เรารู้กัน

Advertisement

ตัวเลข 375 นี้เอง ที่ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้ามองว่า ไม่ว่า
ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งจะจับขั้วกันอย่างไร ก็ไม่อาจจะสู้เสียง 250 เสียงในวุฒิสภาได้แน่แท้ (และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ด้วย) จึงทำให้พวกเขาไปเข้าร่วมกับพรรคที่ได้ที่สองกับอีกบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้เข้ามาเป็น ส.ส. ด้วยสูตรคำนวณพิสดารที่ยังเป็นข้อกังขาทั้งต่อบรรดานักกฎหมายไปจนถึงนักคณิตศาสตร์

ความอลหม่านบันเทิงก็บังเกิด เพราะในตอนที่เลือกตัวนายกฯ นั้นเขาอาจจะชนะผู้ท้าชิงอีกฝั่งหนึ่งด้วยเสียงท่วมท้น แต่เมื่อบริหารประเทศเป็นรัฐบาลกันจริงๆ เสียงที่ใช้สนับสนุนในการออกกฎหมายหรือไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องเป็นเสียงของ ส.ส.เท่านั้น และรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 20 พรรค หากรวมกันเสียงก็ยังปริ่มน้ำแบบหายใจเบาๆ ก็ท่วมจมูก จะทำอะไรก็ต้องเกรงใจกัน เพราะถ้ามีใคร “เบี้ยว” แม้แต่คนสองคนรัฐบาลก็ล่มได้ ดังเช่นภาพที่ไม่รู้จะรู้สึกอย่างไรดี คือ ส.ส. หญิงพรรคร่วมรัฐบาลต้องปั๊มนมไปลงมติให้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณไป แบบจะลุกไปทำธุระส่วนตัวยังไม่กล้า

ที่ต้องเล่ากันยาว เพื่อย้อนทวนให้คนความจำสั้นเห็นว่า เหตุใดการเป็นรัฐบาลอีกครั้งของอดีตผู้นำ คสช. จึงเปราะบางง่อยเปลี้ยปานนี้

กระนั้นนอกจากความปากไวไม่รักษาน้ำใจใครทั้งสิ้นที่เราคุ้นชินกันมาสี่ห้าปีแล้ว สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ภายใต้การเลือกตั้ง กับรัฐบาลประยุทธ์เวอร์ชั่น คสช. นั้นมีเหมือนกัน ก็คือกลไกการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ เหมือนมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังมีผลอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปใช้ช่องทางการออก “พระราชกำหนด” เป็น “กฎหมายทันใจ” แทน เช่นครั้งที่ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ ที่ชะลอการใช้บังคับกฎหมายเพราะหน่วยงานที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายยังขาดความพร้อม ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า มันเข้าเงื่อนไขที่จะออกพระราชกำหนดได้หรือไม่

กับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครองไปในทางที่ปกป้องรัฐบาล หรือรบกวนคุกคามผู้ไม่เห็นด้วย โดยอ้างกฎหมายบ้าง ไม่อ้างกฎหมายบ้าง ตลอดจนมีการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาทางข้อมูลข่าวสารเพื่อใส่ร้ายป้ายสีผู้เห็นต่าง และสร้างเสียงสนับสนุนรัฐบาลเทียมๆ ให้ชาวชนคนเชียร์ลุงได้อุ่นใจว่ายังมีกลุ่มมีพวกให้ชื่นใจอยู่

ซึ่งผลสุดท้ายออกมาสำหรับผู้ที่ถูกรบกวนคุกคามนั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการถูกรบกวนรังควานในรูปแบบเดียวกันนี้ในสมัย คสช.สักเท่าไร

หากในความคล้ายกันนี้ก็ยังมีข้อแตกต่าง ประการแรก คือ การใช้อำนาจในการรักษาความมั่นคงให้รัฐบาลในยุคนี้ไม่ได้มี “เกราะป้องกันทางกฎหมาย” เหมือนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.อีกแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจดังกล่าว หากเป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีกฎหมายรองรับ หรือใช้กฎหมายไปในทางที่บิดบัน ก็ยังต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวแล้วแต่พฤติการณ์พฤติกรรม อย่างเบาะๆ ก็คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่มีอายุความ 15 ปี ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนอาจจะต้องติดคุกตอนแก่หากขั้วอำนาจเปลี่ยน

และประการสุดท้าย คือ การใช้อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จะต้องอยู่ภายใต้กลไกของระบบรัฐสภา ซึ่งจะชั่วจะดีก็ยังมี “ผู้แทนราษฎร” ฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ซึ่งเราก็ได้เห็นฝีไม้ลายมือของฝ่ายค้านยุคใหม่กันไปแล้วในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชี้เป้าทลายรัง IO ที่ให้ผู้ชมทางบ้านร่วมสนุกด้วยแบบอุ่นหนาฝาคั่ง

แต่ที่เป็นปัญหาที่สุด คือพรรคการเมืองหรือฝั่งฝ่ายขั้วการเมืองที่สนับสนุนค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรีอยู่นั่นเอง

อย่างที่ได้ย้อนความแล้ว ว่าการดำรงแหน่งภายใต้ระบบรัฐสภาของรัฐบาลประยุทธ์นี้ ง่อนแง่นเพียงใด ประกอบไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อย ทำให้ต้องรักษาความมั่นคงด้วยการคอยฉกชิง “งูเห่า” เข้ามาเสริมเมื่อมีโอกาส และจะต้องแบ่งปันประสานประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลให้ลงตัว เพราะถ้ามีใครถอนตัวออกไปเมื่อไร คือจบเห่

ยิ่งเราได้เห็นการใช้วิถีทางที่แปลกประหลาดพิสดารในการดึง ส.ส. สร้างเสียงสนับสนุนมากเท่าไร มีการแจกกล้วยลิงเพาะงูเห่ากันครึกครื้น พวกนี้ล้วนเป็น “ต้นทุน” ในการเสริมความมั่นคงของรัฐบาล และมันก็เป็น “บิล” ที่มาวางไว้รอเรียกเก็บ จากตัวผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาล

นี่คือความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ที่รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามแก้ไขไปได้แล้ว แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่นำปัญหานี้กลับมา ทั้งนอกจากจะทำให้รัฐบาลไม่มั่นคงต้องเกรงใจพรรคร่วมแล้วไม่พอ ยังทำให้พรรคการเมืองต้องเกรงและกลัวใจบรรดา ส.ส.ของตนไม่ให้ไปเป็นงูเห่า โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกต่างหาก

เรียกได้ว่าระบบค้ำยันรัฐบาลนี้คือระบบ “เปราะซ้อนเปราะ”

เพราะความที่จะต้องคอยเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลนี้เองคือจุดอ่อนที่คนเชียร์ลุงทั้งหลายได้เห็น การทำงานของบรรดารัฐมนตรีที่น่ากังขาถูกก่นด่าจากประชาชน แต่ตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถออกมาแตะต้องหรือแม้แต่กล่าวถึงได้ ปล่อยปัญหาให้เละเทะภายใต้การบริหารของบรรดารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและขัดแย้งกันไปมา บนความเดือดร้อน หวาดกลัว และกำลังจะเปลี่ยนเป็นความโกรธเกรี้ยวของประชาชน

นี่เองคือสิ่งที่ชาวสลิ่มเชียร์ลุงเดนตาย โทษว่า เป็นเพราะนักการเมือง เพราะการเลือกตั้ง ทำให้ลุงของพวกเขาไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่

แต่จริงๆ แล้ว นายกฯลุงตู่ของพวกเขา ได้พยายาม หรือแสดงความพยายามในการแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพทั้งหลายทั้งปวงที่ว่าไปแล้วหรือยัง?

เพราะแม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่อำนาจในการตัดสินใจเลือกหรือปรับคณะรัฐมนตรีที่มีปัญหา ก็ยังอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีอยู่ดี

การ “แตะต้อง” หรือเปลี่ยนตัวเอารัฐมนตรีที่มีปัญหา ประชาชนกังขาออกแล้วแต่งตั้งคนใหม่เพื่อแก้ปัญหา นั้นมีราคาคือ รัฐมนตรีที่ถูกปรับออกซึ่งมีขั้ว ส.ส.ในมือนั้นอาจจะถอนการสนับสนุน ซึ่งก็อาจจะทำให้รัฐบาลล่มได้

แต่ถ้าตัวนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ จะต้องกลัวอะไรกับการต่อรองหรือการถอนตัวจากรัฐมนตรีที่มีปัญหาเหล่านั้น?

ถ้าพวกเขาถอนตัวถอนเสียงสนับสนุนไปจริง ทั้งๆ ที่ประชาชนก็เห็นแล้วว่าปัญหาทั้งหลายอยู่ที่พวกเขา และประชาชนยังสนับสนุนนายกฯ สิ่งที่พวกเขาทำหรือต่อรองกับตำแหน่ง ก็จะเป็นความผิดพลาดเลวร้ายที่เขาจะต้องใช้ราคากัน อย่างเบาะๆ ก็คือถูกสาปแช่งจากประชาชน

ถ้าประยุทธ์เชื่อว่าตัวเองได้ทำในเรื่องที่ถูกต้องแล้ว และตัวเองเป็นที่รักใคร่ยอมรับสนับสนุนจากประชาชนเองแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว ประชาชนจะสนับสนุนท่าน ต่อให้เรื่องมันถึงขั้นที่ต้องยุบสภา ประชาชนก็คงจะเลือกพรรคที่สนับสนุนท่านอย่างล้นหลาม และลงโทษพรรคของรัฐมนตรีที่พยศละทิ้งท่านในยามวิกฤตเอง

นี่คือกลไกการแก้ปัญหาแบบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาที่ใช้กันทั่วโลก ภายใต้หลักการว่าประชาชนคือผู้จะออกเสียงตัดสินเองผ่านการเลือกตั้ง

แต่เขาก็ไม่กล้าที่จะทำเช่นนั้น อย่างน้อยในขณะนี้ก็ยังไม่กล้า

อาจจะเป็นเพราะตัวเขาเองก็รู้ว่า เอาเข้าจริงๆ ประชาชนนั้นให้การสนับสนุนและยอมรับเพียงใด … พอๆ กับที่กลุ่มขั้วอิทธิพลทางการเมืองนั้นรู้นั่นแหละ

ดังนั้น พวกเขาจึงยังถูลู่ถูกังกันต่อไปด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน ในเกมอำนาจที่ใครขยับเอะอะก่อนเป็นแพ้

อย่าโทษการเลือกตั้ง อย่าโทษแต่รักการเมืองและพรรคการเมือง แล้วก็อย่าให้ราคากับระบอบเผด็จการ มันเป็นปัญหาของ “ลุง” ที่ท่านเชียร์โดยแท้

อย่าลืมว่าในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ อำนาจเด็ดขาดนั้นจะทำให้ปัญหาใดๆ ไม่ถูกกล่าวถึงเลยย่อมได้ แต่ไม่ใช่ว่าปัญหานั้นจะไม่มี

หากมีเหตุใดให้เราย้อนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอีกครั้ง อาจจะไม่มีผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 เหลืออยู่ แต่ไม่ใช่เพราะไวรัสนั้นถูกปราบหาย แต่เพราะการพูดถึงไวรัส การติดเชื้อ ความขาดแคลนนั้นไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดและมีโทษ ต้องถูกจับหายไปปรับทัศนคติ

ผู้นำไม่ฉลาดขาดความกล้าหาญอาจจะทำให้เราตายกันหมด แต่ผู้นำเผด็จการจะทำให้เราตายแล้วหายกันไปเงียบๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image