สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนไทย ลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ เริ่มมีครั้งแรกยุคอยุธยา ก่อนนั้นไม่ไทย

ภาพ “กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ” โดยฟาน เดอ อา
ภาพ “กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ” โดยฟาน เดอ อา ภาพนี้เคยถูกนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 บุคคลกลุ่มหนึ่งได้นำภาพออกเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ โดยอ้างว่าอาคารหลังกลางในภาพคือมัสยิดกรือเซะ ส่วนอาคารด้านหน้าคือพระราชวังไพลิน แท้จริงแล้ว ภาพนี้คือภาพมุมกว้างกรุงศรีอยุธยาที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนของชาวยุโรปที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา (ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช) (ภาพและคำอธิบายจาก กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ. 2549)
ภาพ “กรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ” โดยฟาน เดอ อา ภาพนี้เคยถูกนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 บุคคลกลุ่มหนึ่งได้นำภาพออกเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ โดยอ้างว่าอาคารหลังกลางในภาพคือมัสยิดกรือเซะ ส่วนอาคารด้านหน้าคือพระราชวังไพลิน แท้จริงแล้ว ภาพนี้คือภาพมุมกว้างกรุงศรีอยุธยาที่มองจากบ้านฮอลันดา ชุมชนของชาวยุโรปที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา (ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)
(ภาพและคำอธิบายจาก กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ. 2549)

 

อยุธยามีความเป็นมาทั้งของผู้คนและดินแดน แยกไม่ได้จากพัฒนาการตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของสุวรรณภูมิ และอุษาคเนย์ (หรือ อาเซียน)

เพราะอยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และประเทศไทยมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ทั้งของผู้คนและดินแดน เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อย่างแยกออกจากกันมิได้

ไทยมีดินแดนคาบสมุทรอยู่กึ่งกลางอุษาคเนย์ เป็นจุดนัดพบตะวันตก-ตะวันออกของคนนานาชาติพันธุ์

Advertisement

ประกอบกับอุษาคเนย์พื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนน้อย แต่ละรัฐจึงต้องการผู้คนเพิ่มเติมโดยกวาดต้อนโยกย้ายถ่ายเทตลอดเวลา ยิ่งทำให้มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์จนนับไม่ได้ กว่าจะเป็นคนไทยจึงเป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่

แต่กรมศิลปากร บอกว่ามีคนไทยจากที่อื่นอพยพเคลื่อนย้ายลงไปไทย จะคัดมาให้อ่านก่อน ดังนี้

 

Advertisement

คนไทยของกรมศิลปากร

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ระบุชัดเจนว่ามีคนไทยในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ต่อมาได้อพยพเคลื่อนย้ายลงไปผสมผสานกับคนพื้นเมือง แล้วเป็นคนไทยในไทยทุกวันนี้ อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย จะคัดมาดังนี้

 

กำเนิดรัฐไทย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทย อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างสองอาณาจักรใหญ่คือ อาณาจักรกัมพูชา และอาณาจักรจามปาซึ่งอยู่ในเขตเวียดนามภาคกลาง ซึ่งมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของบ้านเมืองที่เป็นพันธมิตรกันขึ้นใหม่ แคว้นที่มีกำลังเข้มแข็งกว่าได้ขยายอาณาเขตมายังบริเวณที่มีการขัดแย้งกัน และประการสุดท้ายคือ เป็นครั้งแรกที่ได้พบ “จารึกอักษร และภาษาไทย” ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัดว่า กลุ่มคนไทยได้ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นบริเวณดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน กลุ่มคนไทยนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนไทยในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ซึ่งอพยพเคลื่อนย้ายลงมาและได้ผสมผสานกับคนพื้นเมืองเดิม ดังปรากฏร่องรอยในตำนานปรัมปราของล้านนา

บ้านเมืองของกลุ่มคนไทยที่เกิดขึ้นใหม่ได้แก่ “ล้านนา” และ “สุโขทัย” ในภาคเหนือ ส่วนในภาคกลางมีกลุ่มบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นมาจากบ้านเมืองเดิม ได้แก่ “อโยธยา” มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน “สุพรรณภูมิ” มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ หรือเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ส่วนในภาคใต้ที่สำคัญได้แก่ “นครศรีธรรมราช”

ต่อมาในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 “อโยธยา” กับ “สุพรรณบุรี” ได้รวมกันเป็น “อยุธยา” ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 20 อยุธยาได้ผนวก “สุโขทัย” ไว้ในฐานะหัวเมืองหนึ่งในพระราชอาณาเขต ส่วน “ล้านนา” ยังคงดำรงเป็นบ้านเมืองสืบมากว่า 500 ปี บางช่วงเป็นหัวเมืองประเทศราชของไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง

[ประวัติศาสตร์ชาติไทย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558 หน้า 75]

 

ไทยหรือลาว

ขอแลกเปลี่ยนความเห็นต่างจากกรมศิลปากร ดังต่อไปนี้

  1. ก่อนอยู่ยูนนาน คนไทย คืออะไร? เป็นใคร? มาจากไหน? ทำไมอพยพลงไป?
  2. ตำนานปรัมปราของล้านนาไม่เคยพบว่ามีคนเรียกตัวเองว่าคนไทย
  3. ตำนานสิงหนวัติไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย และไม่ได้อพยพไปจากยูนนาน แต่แยกครัวโยกย้ายโดยคนกลุ่มเดียวจากลุ่มน้ำสาละวินในพม่า คนกลุ่มใหญ่อยู่ที่เดิมในพม่า
  4. ล้านนา เรียกตัวเองเป็นลาว มีในเอกสารล้านนา (สมัยหลังเรียก คนเมือง) ลาว แปลว่าผู้เป็นใหญ่ หมายถึงกษัตริย์ เป็นคำนำหน้ากษัตริย์ล้านนาในตำนานพงศาวดาร

ขุนช้างขุนแผนแต่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (หลัง ร.3) ตอนตีเมืองเชียงใหม่ ขุนแผนได้นางลาวทอง เมื่อนางวันทองด่านางลาวทองก็เรียกอีลาวว่า “อีลาวดอนค่อนเจรจา”

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาลงไปอยู่วังหลวงในกรุงเทพฯ ไม่ยอมนุ่งโจงกระเบน (แบบเขมร) แต่นุ่งซิ่น (แบบลาว) เพราะยืนยันความเป็นลาวของตน

 

คนไทยเก่าสุดยุคอยุธยา

ไทย, คนไทย เก่าสุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ศูนย์กลางอยู่อยุธยา ไม่พบที่อื่น

หลักฐานเก่าสุดพี่พบขณะนี้ ราว พ.ศ. 2000 มีในสมุทรโฆษคำฉันท์ กับ จดหมายเหตุ
ลาลูแบร์ อาจเรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย ก่อน พ.ศ. 2000 แต่ไม่พบหลักฐาน

แผนที่ราชอาณาจักรสยาม (Carte du Royaume de Siam) เขียนโดยบาทหลวง               ปลาชิด เดอ แซ็งต์ เอแลน (Placide de Sainte Hélène) นักบวชชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 พอดีกับที่ช่วงราชทูตโกษาปานเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ในปีเดียวกันนี้ แผนที่กรุงศรีอยุธยาแผ่นสำคัญก็ได้ออกวางจำหน่ายในกรุงปารีส (Siam ou Iudia, Capitalle du Royaume de Siam)แผนที่ทั้งสองแผ่นเป็นประจักษ์พยานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสยามและฝรั่งเศสในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (เอื้อเฟื้อภาพโดย Dr. Dawn Rooney) (ภาพและคำอธิบายจาก กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ. 2549)
แผนที่ราชอาณาจักรสยาม (Carte du Royaume de Siam) เขียนโดยบาทหลวง ปลาชิด เดอ แซ็งต์ เอแลน (Placide de Sainte Hélène) นักบวชชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 พอดีกับที่ช่วงราชทูตโกษาปานเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ในปีเดียวกันนี้ แผนที่กรุงศรีอยุธยาแผ่นสำคัญก็ได้ออกวางจำหน่ายในกรุงปารีส (Siam ou Iudia, Capitalle du Royaume de Siam)แผนที่ทั้งสองแผ่นเป็นประจักษ์พยานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสยามและฝรั่งเศสในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (เอื้อเฟื้อภาพโดย Dr. Dawn Rooney)
(ภาพและคำอธิบายจาก กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ. 2549)

 

ขอบเขตคนไทยยุคอยุธยา

คนไทยยุคอยุธยา มีพื้นที่จำกัดอยู่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เท่านั้น (วัฒนธรรมไทย หรือความเป็นไทย ก็ถูกควบคุมเคร่งครัดให้เป็นภาคกลาง แบบอื่นเรียกพื้นเมือง คือไม่ไทย) ดังนี้

เหนือ ถึง จ. อุตรดิตถ์ เหนือขึ้นไปอีกเป็นลาวล้านนา

ใต้ ถึง จ. เพชรบุรี ใต้ลงไปอีกเป็นแขกมลายู

ตะวันตก ถึง จ. กาญจนบุรี ถัดไปเป็นมอญ, ละว้า, กะเหรี่ยง

ตะวันออก ถึง จ. นครนายก ถัดไปเป็นเขมร

ตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง จ. สระบุรี พ้นขึ้นไปที่ราบสูงเป็นโคราช และลาว

 

อำนาจของภาษาและวัฒนธรรมก่อนเป็นคนไทย

คนไทย มีขึ้นจากการขยายอำนาจทางการเมืองของภาษาไต-ไท และวัฒนธรรมไต-ไท แล้วส่งผลให้เกิดบ้านเมืองไต-ไท ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1700

คนพูดภาษาอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เจ๊ก, แขก, มอญ, เขมร, ม้ง, ลาว ฯลฯ ต้องใช้ภาษาไต-ไท และคุ้นเคยวัฒนธรรมไต-ไท หลังจากนั้นบางกลุ่มก็กลายตัวเองเป็นคนไทยลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ อาจราวหลัง พ.ศ. 1800

การขยายตัวของคนไต-ไท (ยังไม่ไทย ก่อนเป็นคนไทย) ก็มีพร้อมไปคราวเดียวกันด้วย แต่อำนาจทางการเมืองมีไม่มากเท่าภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท

[สรุปจากข้อเขียนเรื่องนาน้อยอ้อยหนู ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์]

 

ไต-ไท

ไต-ไท เป็นชื่อของสิทธิ (หรืออภิสิทธิ์) ทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคม ที่ได้รับจากเมืองหรือสังคม เป็นสิ่งที่มีทุกชาติพันธุ์ (หรือทุกชาติภาษา) ในภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ (หรือสุวรรณภูมิ) เช่น เป็นไต-ไท เท่ากับเป็นคน ไม่ใช่ผีหรือสัตว์ จึงมีสิทธิ์ใช้น้ำจากแหล่งน้ำและลำธารเพื่อทำนาทดน้ำเหมือนไต-ไทอื่นๆ เป็นต้น

ไต-ไท แปลว่า คน หรือชาว ในสังกัดของเมืองหรือสังคม ย่อมไม่มีอิสรเสรี ไม่เป็นเอกเทศ เท่ากับเป็นไพร่ (ในบางกลุ่มชนสมัยหลังๆ หมายถึงทาส)

ราวหลัง พ.ศ. 2400 โดยอำนาจทางความรู้ของนักค้นคว้าชาวยุโรป ไต-ไทจึงเป็นชื่อเชื้อชาติ, ชนชาติ คนสมัยหลังก็รับรู้ตามตะวันตก แล้วไม่รู้ความหมายเดิม เลยทำให้ประวัติศาสตร์ไทยเป็นนิยาย

[เก็บความโดยสรุปมาเรียบเรียงใหม่จากข้อเขียนของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ อ. ยุกติ มุกดาวิจิตร]

 

อักษรไทย และอักขรวิธี

อักษรไทย คืออักษรเขมรกับอักษรมอญที่ถูกทำให้ง่าย แต่ยิ่งง่ายคืออักขรวิธีง่ายที่สุดในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ (จำจากข้อเขียนของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์)

อักษรไทยและอักขรวิธีเก่าสุดใช้เขียนบนสมุดข่อย ยุคอยุธยา (จำจากงานค้นคว้าของ จิตร ภูมิศักดิ์)

หลังจากนั้นจึงมีผู้ปรับปรุงเพื่อใช้สลักหิน เช่น รัฐสุโขทัย (มีเค้าอยู่ในพงศาวดารเหนือ)

 

ขอม

ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นไม่มีชนชาติขอมในโลก

แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่า มอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และอาณาจักรกัมพูชา จะได้ชื่อว่าขอมทั้งนั้น

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า ขอมคือเขมร และ ขอมไม่ใช่เขมร

[จำมาปรับปรุงใหม่ จากข้อเขียนนานมากแล้วของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช]

 

ลาว

ลาว แปลว่า คน

แต่ไม่ใช่คนทั่วๆ ไป หากหมายถึงคนเป็นนาย, คนเป็นหัวหน้า ที่ได้รับยกย่องว่ามีฐานะทางสังคมสูงกว่า, ดีกว่า, เหนือกว่าคนอื่น

เช่น ลาวจก หมายถึง ผู้เป็นใหญ่มีจอบ (จอบเป็นเครื่องมือขุดดิน ทำด้วยเหล็ก นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและก้าวหน้ามากเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว คนทั่วไปไม่มีจอบเป็นของตนเอง ต้องระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์เท่านั้นจึงมีได้) เป็นชื่อเรียกบรรพชนผู้เป็นใหญ่ของล้านนายุคแรกเริ่ม

ลาวในชื่อลาวจก เทียบเท่าคำว่าขุนในรัฐภาคกลาง (เช่น สุโขทัย) หมายถึง กษัตริย์, พระราชา

 

สยาม

สยาม (ไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์) เป็นชื่อดินแดนที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ

แต่สมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่เรียกกลุ่มคนที่เกิดและมีหลักแหล่งอยู่ดินแดนสยามว่าชาวสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา

แต่ชาวสยามมักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไต-ไท (ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในสมัยโบราณ)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไต-ไท ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม

เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่าพวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ. 1650 (มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)

ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม

สยามมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึมน้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้น เกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขา และบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขา หรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงบุ่งทาม เช่น หนองหานที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น

[ปรับปรุงจากหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์]

ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม

 

ไทยน้อย

เป็นชื่อที่คนในพระนครศรีอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว หรือชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมลาวบริเวณสองฝั่งโขง ทั้งฝั่งขวา (คือบริเวณอีสานในประเทศไทยทุกวันนี้) และฝั่งซ้าย (คือดินแดนลาวปัจจุบัน) ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกถึงกลุ่มชาติพันธุ์พูดตระกูลไทย-ลาว ลุ่มน้ำดำ-แดง (ในเวียดนาม), กวางสี-กวางตุ้ง (ในจีน)

ลาวลุ่มน้ำโขง ถูกเรียกสมัยหลังว่าลาวพุงขาว เพราะไม่สักลายตามตัวเหมือนพวกไทยใหญ่ คนพวกนี้ออกเสียงตรงตามรูปอักษร คือ ท เป็น ท และ พ เป็น พ

 

ไทยใหญ่ 

เป็นชื่อที่คนในพระนครศรีอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว บริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนเหนือ (ในพม่า) ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำพรหมบุตร (ในอัสสัมของอินเดีย)

ลาวลุ่มน้ำสาละวิน ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงดำ เพราะสักลายด้วยหมึกสีคล้ำตามตัวตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงแข้ง (ขา) คนพวกนี้ออกเสียง ท เป็น ต และ พ เป็น ป

ไทยใหญ่ยังถูกเรียกจากชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างดูถูกเหยียดหยามเป็นสัตว์เลื้อยคลานว่า เงี้ยว แปลว่า งู (เหมือนคำว่า เงือก, งึม)

เหตุที่ได้นามไทยใหญ่ มีผู้เชี่ยวชาญเคยอธิบายว่าหมายถึงดินแดนและผู้คนที่รับศาสนาจากชมพูทวีป แล้วเติบโตเป็นบ้านเมืองเป็นรัฐก่อนพวกอื่น (คือ ไทยน้อย) ที่เพิ่งรับศาสนาในภายหลัง

แม่น้ำสาละวินเป็นชื่อในภาษาพม่า (แปลว่า ต้นตาล) แต่พวกลาวเรียก น้ำแม่คง หรือแม่น้ำคง (มีที่มาและความหมายเดียวกับคำว่า ของ ในชื่อน้ำแม่ของ หรือแม่น้ำโขง มีรากจากภาษามอญว่า โคลฺ้ง แปลว่า ทาง, เส้นทางคมนาคม)

 

ไทยสยาม

เป็นคำผูกขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ราวหลัง พ.ศ. 2400 เพื่อสมมุติเรียกอย่างรวมๆ หมายถึงกลุ่มผู้คนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆปะปนกัน โดยเฉพาะตระกูลมอญ-เขมร, ไทย-ลาว, ชวา-มลายู, และจีน

ปัจจุบันพวกไทยสยามเรียกตัวเองว่า ไทย หมายถึง อิสระ, เสรี (แต่ไม่จริง เพราะทุกคนต้องสังกัดมูลนาย เท่ากับไม่อิสรเสรี)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image