ไทย พบ พม่า : พม่ากับโรคระบาดในยุคอาณานิคม : โดย ลลิตา หาญวงษ์

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในพม่าตอนบน ภาพจากบทความ “Disease and Medicine” ของ Robert Peckham

 

หากการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในพม่าเมื่อ 120 ปีก่อน ก็คงจะมีความตื่นกลัวน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะคนโบราณไม่กลัวตาย ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ตระหนักถึงพิษภัยของโรคระบาด แต่เพราะพวกเขาอยู่กับความตายในทุกๆ วันนับตั้งแต่ลืมตาดูโลก หรือหากจะพูดให้ง่าย คือ ในสังคมช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคจารีตกับยุคสมัยใหม่ พม่ามีอัตราการตายสูงมาก ไม่ต่างจากประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตรอื่นๆ เริ่มจากอัตราการตายของทารกที่สูงเป็นพิเศษ และโรคภัยไข้เจ็บที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับต้นๆ ทุกปี ได้แก่ อหิวาตกโรค กาฬโรค มาลาเรีย และฝีดาษ ในขณะเดียวกันก็มีโรค เช่น โรคท้องร่วง ที่ไม่ได้มีความรุนแรงมาก แต่ในภาวะที่ผู้คนไม่มีความรู้ทางการแพทย์มากนัก โรคภัยที่ดูธรรมดาๆ ในปัจจุบัน กลายเป็นโรคหรืออาการที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายเช่นกัน

ในเขตเมือง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะอาจไม่ได้พบมากเท่ากับในเขตชนบท แต่ก็มีโรคของ “คนเมือง” ที่รักษาได้ยาก โดยเฉพาะวัณโรค
ที่เป็นสาเหตุการตายอันดับแรกๆ ของพม่าทั้งในยุคจารีตมาจนถึงยุคสมัยใหม่ นอกจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้ ที่ผู้เขียนกล่าวว่าชีวิตผู้คนในพม่าและประเทศในเขตร้อนอื่นๆ แขวนอยู่บนเส้นด้ายตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เพราะยังมีภัยอันตรายอื่นๆ ที่ทำให้มีอัตราการตายสูง เช่น สัตว์เลื้อยคลาน
หรือจากอุบัติเหตุอื่นๆ

ในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่ออังกฤษผนวกพม่าทั้งหมดไว้ได้แล้ว โรคร้ายแรงที่สุดสำหรับคนทั้งในพม่าตอนบนและพม่าตอนล่าง คือ อหิวาตกโรค และกาฬโรค แต่เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 โรคทั้ง 3 โรคนี้ทำให้มีคนตายไม่มากนัก คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของอัตราการตายทั้งหมดเท่านั้น เมื่อหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) และโรแบร์ โคช (Robert Koch) ค้นพบสาเหตุของโรคติดต่อ และคิดค้นวัคซีนรักษาโรคได้เป็นครั้งแรก บรรดาแพทย์ทั้งในยุโรปและในโลกอาณานิคมล้วนเชื่อว่าเชื้อโรคมีอยู่ในอากาศและในดิน มนุษย์จะส่งผ่านเชื้อโรคให้กันได้ก็ต้องสูดเอาอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป แต่น้อยคนนักที่จะคิดว่าสาเหตุของโรคระบาดมาจากการใช้ชีวิตแบบไม่ถูกสุขลักษณะ และปัญหาด้านสุขอนามัยพื้นฐาน

Advertisement

ในงานศึกษาของ จูดิธ ริเชลล์ (Judith Richell) ว่าด้วยโรคภัยไข้เจ็บในพม่ายุคอาณานิคม (“Disease and Demography in Colonial Burma”) เธอตั้งข้อสังเกตว่าโรคยอดฮิตในพม่ายุคอาณานิคม อย่างอหิวาตกโรค แม้จะมีในพม่ามาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แต่ปริมาณของผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นในยุคอาณานิคม เธอมองว่าแรงงานอพยพจากอินเดียคือสาเหตุหลักที่ทำให้พม่ามีผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคเพิ่มขึ้น ระหว่างปี 1923-1932 มีชาวอินเดียอพยพเข้าสู่พม่าราว 300,000 คนต่อปีผ่านท่าเรือหลักๆ ทั่วพม่า แต่ทางการกลับพบผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคเพียงหลักร้อย และไม่มีการคัดกรองผู้อพยพที่ผ่านด่านทางบกเข้ามาจากจิตตะกอง (ปัจจุบันอยู่ในบังกลาเทศ) สู่อัคยัพ (Akyab) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเมืองซิตต่วย (Sittwe) ริเชลล์มองว่ารัฐบาลอาณานิคมไม่มีมาตรการคัดกรองคนป่วยออก และไม่มีมาตรการป้องกันโรค เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น โรคภัยไข้เจ็บจึงถูกค้นพบเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นแล้ว

แม้จะมีโรคระบาดเกิดขึ้น แต่มาตรการรับมือกับวิกฤตของรัฐบาลอาณานิคมก็ไม่มีประสิทธิภาพนัก เมื่อเกิดอหิวาตกโรคขึ้น ผู้ใหญ่บ้านก็จะติดต่อให้ทางการมาทำความสะอาดบ่อน้ำ โดยใช้ด่างทับทิมบ้าง หรือปิดไม่ให้ประชาชนใช้บ่อน้ำบ้าง ในรายงานด้านสาธารณสุข ที่ ซี.อี. วิลเลียมส์ (C.E. Williams) ข้าหลวงด้านสาธารณสุขเขียนไว้เมื่อปี 1908 ว่าการรักษาโรคระบาดที่ได้ผลดีที่สุดคือ “การอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ที่ติดเชื้อด้วยความสมัครใจ จนกว่าโรคระบาดจะสงบลง” วิลเลียมส์ยังเขียนไว้ด้วยว่าเชื้อโรคกระจายออกไปในวงกว้างเนื่องจากการเดินทางของผู้คน และจากผู้อพยพที่ย้ายจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในกลุ่มคนงานก่อสร้างที่กำลังทำทางในแถบเมืองสีป่อ (รัฐฉาน) ทางการพม่าสั่งให้กั้นทางสัญจรระหว่างสีป่อกับเมืองอื่นๆ ทันที และยังสั่งให้ปิดการส่งน้ำ ตลอดจนให้ตั้งค่ายพักแรมชั่วคราว แต่ก็ยังไม่เป็นผล การระบาดของอหิวาตกโรคในแถบเมืองสีป่อครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 418 คน

การป้องกันและรักษาโรคในช่วงนั้นเป็นเสมือนการลองผิดลองถูก การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (ต่างจากการฉีดเพื่อรักษาโรค) เพิ่งได้รับความนิยมในหมู่ข้าราชการอาณานิคม และบรรดาชนชั้นกลางในพม่าเมื่อต้นทศวรรษ 1930 เท่านั้น เริ่มจากที่บริษัทเดินเรืออิระวดี (Irrawaddy Flotilla Company) เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้พนักงานของตนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากกะลาสีเรือต้องสัมผัสกับผู้อพยพที่ “เป็นพาหะของโรค” มากกว่า ภาครัฐเองก็เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันโรคมากขึ้น เช่น การตั้งศูนย์พักพิง (shed) ชั่วคราวให้ผู้ป่วย เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนทั่วไป รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อตอบรับกับงานศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ทยอยออกมา ในงานสำรวจชิ้นหนึ่งกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนงานชาวอินเดียที่อัคยัพไว้ว่ามีความเป็นอยู่แสนอัตคัด และไม่มีการบริหารจัดการด้านสุขอนามัยใดๆ ในยุคนั้น บ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีห้องน้ำ และผู้คนในชนบทมักขับถ่ายกันในที่ลับตาคน ซึ่งทำให้ชุมชนส่วนใหญ่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และยังทำให้อาหารและน้ำที่ผู้คนบริโภคเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย

Advertisement

เมืองที่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำในพม่าตอนล่างต้องเสี่ยงกับโรคระบาดในอีกรูปแบบ แม้เมืองสำคัญๆ ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวจะไม่มีแรงงานจากอินเดียมากเท่ากับในเมืองใหญ่ (ย่างกุ้ง, อัคยัพ, มัณฑะเลย์ และเมาะละแหม่ง) แต่เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก เมืองเหล่านี้ก็จะประสบปัญหาการระบายน้ำทันที และทำให้เกิดโรคระบาดตามมาอย่างต่อเนื่อง ในพม่าตอนบน ปัญหาด้านสุขอนามัยส่วนใหญ่มาจากการขาดแคลนน้ำ ในที่ประชุมของสันนิบาตชาติ (League of Nations) ในปี 1937 ที่ประชุมเห็นว่าทุกประเทศทั่วโลกควรบังคับให้มีคณะกรรมการในทุกหมู่บ้าน ที่ควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยและความสะอาดโดยตรง เมื่องบประมาณส่วนกลางถูกจัดสรรไปให้พม่าตอนบน มาตรการเร่งด่วนคือการขุดแหล่งน้ำเพิ่มเติม และการสนับสนุนการขุดส้วมหลุม ซึ่งมีในพม่าเป็นที่แรกที่เมืองเหล่กู (Hlegu) ในปี 1938 หนึ่งปีหลังจากนี้จะมีส้วมหลุมอีก 5,000 แห่งทั่วพม่าตอนบน

เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์โรคระบาดในพม่าเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ดีขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านการสาธารณสุขอื่นๆ ในอินเดีย และมาพร้อมกับทั้งมาตรการป้องกันการระบาดของโรค การพัฒนาด้านสุขอนามัยของประชาชน และการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image