ดุลยภาพดุลยพินิจ : โควิด-19 กับต้นทุนสาธารณสุขของคนไทย : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในที่สุดโควิด-19 ก็ได้กลายเป็นโรคระบาดทั่วโลกแล้ว มีการแพร่เชื้อไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในบางประเทศ และกำลังลุกลามจนเป็นที่น่าตกใจในยุโรป

โควิด-19 ได้ให้นัยยะและบทเรียนสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยหลายประการ เรื่องแรกก็คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการหารายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าอาจนำพาให้เกิดต้นทุนสังคมอย่างมหาศาลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ เช่น ในครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 เกิดจากนักท่องเที่ยว แต่ในที่สุดคนไทยทั้งมวลก็ต้องมารับภาระกับปัญหาที่เกิดขึ้น การท่องเที่ยวจึงไม่ได้มีแต่ “ได้กับได้” เท่านั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยเคยผ่านประสบการณ์ซาร์สกับไข้หวัดนกมาแล้ว และสามารถตั้งรับด้านสาธารณสุขได้ดีมาก แต่คราวนี้เกิดต้นทุนที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือ ต้นทุนสังคมที่เราคนไทยต้องมาช่วยกันแบกรับภาระต้นทุนทางสาธารณสุขของนักท่องเที่ยว ซึ่งตามปกติเราก็มีทรัพยากรน้อยอยู่แล้ว ในเรื่องนี้เราต้องฉุกคิดให้มากๆ สิ่งที่ควรทำในตอนนี้เลยก็คือ บังคับให้นักท่องเที่ยวทุกคนรวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นเขตติดต่ออันตรายซื้อประกันสุขภาพ หรือเสียค่าธรรมเนียมโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 รายละ 1,000 บาท และนักท่องเที่ยวยังจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากวงเงินประกันภัยด้วย ไม่ต้องกลัวหรอกค่ะ ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวมา เลิกคิดเรื่องรายได้ได้แล้ว เพราะตอนนี้คนที่มาก็คือ คนที่จำเป็นต้องมาเท่านั้น อย่าลืมว่าเรามีคนงานไทยที่อยู่ที่เกาหลีกว่า 100,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้มีสิทธิกลับมาประเทศไทยได้ เพราะเป็นคนไทย แต่ก็ควรรับภาระต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลของตนเอง ที่นำพาโรคติดตัวเข้ามาด้วย

เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่เชื้อจะเห็นว่าจำนวนคนที่เข้ารักษาพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 (วันที่ 6 มีนาคม) มีจำนวน 48 ราย เป็นคนไทยเพียง 18 ราย เป็นต่างชาติถึง 30 ราย เรื่องความเจ็บป่วยนี้ แม้แต่เป็นชาวต่างชาติเราก็ต้องดูแล เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และเป็นเรื่องของความจำเป็นอีกด้วย เพราะถ้าปล่อยไปก็จะไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่นอีก โรคระบาดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วระบบสาธารณสุขของเราถึงจะดีอย่างไรก็รับไม่อยู่ เพราะเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย Tomas Pueyo เขียนลงใน http//medium.com ว่า หากประเทศใดมีผู้ติดเชื้อ 100,000 คน ประมาณ 20,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และประมาณ 5,000 คน จะต้องเข้าห้องไอซียู จำนวนที่กล่าวมานี้เราคงรับไม่ไหว แต่ประเทศไทยไม่น่าจะถึงจุดนั้น กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า หากควบคุมโรคได้ดี ปีนี้ก็จะมีผู้ติดเชื้อ 20,000 คน และจะมีประมาณ 400,000 คนในอีก 2 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทยเมื่อเข้าระยะที่ 3 อุปกรณ์และบุคลากรก็จะยิ่งขาดแคลนไปหมด

ภาระต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวไม่ได้หยุดแค่การรับบริการในสถานพยาบาล แต่ยังรวมถึงต้นทุนการสอบสวนโรคและต้นทุนในการติดตามผู้ที่อาจจะได้รับเชื้อมารับการรักษาพยาบาลอีกด้วย ดังนั้นการที่นักท่องเที่ยวจ่ายเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของตนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลยังจะต้องให้การอุดหนุนอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราเก็บ 1,000 บาท จากนักท่องเที่ยวก็หมายความว่ารัฐบาลควรจะจ่ายบริษัทประกันไปแค่ 800 บาท ซึ่งผู้เอาประกันเอาไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ เมื่อผู้เอาประกันติดเชื้อ 200,000 บาท ส่วนอีก 200 บาท สมทบเข้ากองทุนเพื่อการจัดการการท่องเที่ยวในยามวิกฤต หากจะถามว่าตัวเลขนี้มีพื้นฐานมาจากไหนก็มาจากการที่บริษัทประกันในปัจจุบันนี้สามารถรับประกันโควิด-19 ในต้นทุน 520 บาทต่อราย เมื่อผู้เอาประกันติดเชื้อก็จะได้ 100,000 บาททันที รัฐบาลก็จะได้เอา 200 บาทนี้มาสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ต้องทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ

Advertisement

ปรากฏการณ์โควิด-19 จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่ฝนเงินฝนทองที่ตกมาจากฟ้าแต่อย่างเดียว ในบางครั้งก็แอบมีฝนเหลืองตามมาด้วย ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้ให้ได้ เพราะเราเป็นประเทศที่เปิดกับการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวแล้ว ยังคาดหวังว่าจะยังคงเป็นประเทศท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก ในระยะยาวเราจึงควรมีกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวตาม พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเอาเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายเวลานักท่องเที่ยวมีปัญหา เช่น โรคระบาด หรือประสบอุบัติเหตุ คนไทยจะได้ไม่ต้องชักเนื้อ ทั้งนี้ ให้มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าในยามปกติไม่เกิน 500 บาท และให้มีค่าธรรมเนียมพิเศษในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ระดับต่างๆ สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

เรื่องถัดไปก็คือ ถ้าเราหวังว่าจะเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวระดับโลก สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ปรับปรุงสนามบินของเราให้มีความปลอดภัยด้านสาธารณสุขมากขึ้น กล่าวคือห้องน้ำต้องเป็นระบบไม่ใช้มือ หรือโนแฮนด์ไม่จำเป็นต้องมีประตูเปิดเข้าออกด้านนอก ส่วนประตูห้องสุขาก็ใช้ประตูประเภทที่ใช้ไหล่ผลักไปได้ ส่วนชักโครกและก๊อกน้ำก็ใช้ระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งตอนนี้หลายสนามบินก็มีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เสียกันไปหมด ไม่ทราบว่าตอนประมูลซื้อ ซื้อของมีตำหนิหรืออย่างไร ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการสั่งซื้อสมัยก่อนมักจะคิดว่าห้องน้ำเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้วห้องน้ำเป็นด่านหน้าของความปลอดภัย ไม่ควรมีเงินทอน และควรจะเน้นความปลอดภัยทันสมัยถูกสุขอนามัยมากที่สุด

พนักงานทำความสะอาดควรจะมีการอบรมให้ปรับเข้าสู่ระบบการทำงานเพื่อตั้งรับโรคระบาดได้ เช่น มีการเช็ดราวต่างๆ เช็ดประตูลูกบิด (ถ้ามี) และใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นตลอดเวลา แม้ในยามปกติก็ควรมีการฆ่าเชื้อโรคทุกวัน

Advertisement

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หน่วยราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขยังมีการจัดการที่ไม่มีเอกภาพ และประสิทธิภาพ หวังว่าการปรับขบวนยุทธ์ใหม่ของท่านนายกฯตู่จะเห็นผล จบงานนี้แล้วมาถอดบทเรียน แล้วพัฒนาระบบเผชิญวิกฤตโรคระบาดกันอีกที

อย่างไรก็ดี ในวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส เมื่อภัยจากโควิด-19 สงบลงแล้ว การรับมือของโควิด-19 ของประเทศไทยดูเหมือนว่าจะเป็นที่เลื่องลือ ประเทศไทยน่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นมืออาชีพระดับโลกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสุขภาพก็น่าจะได้อานิสงส์อย่างมาก

อีกโอกาสหนึ่งก็คือ การใช้บทเรียนโควิด-19 ยกระดับระบบเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขของไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วม ระบบเฝ้าระวังที่ดีคือ ระบบที่ประชาชนมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมช่วยกันรักษาความสะอาดบ้านเรือนของตน และพื้นที่สาธารณะ สอดส่องดูแลผู้ติดเชื้อใหม่บนพื้นฐานของเมตตาธรรม ความเป็นกัลยาณมิตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินการร่วมกันระหว่างประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะทำให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ก็อยากเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยออกมาจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม เพราะถ้าขืนเราหยุดกิจกรรมต่างๆ เช่นทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่จะเป็นเศรษฐกิจของไทยเอง ที่จะเป็นถูกตอกฝาโลงก่อนโควิด-19 จะสงบ มาร่วมแรงร่วมใจกันสู้ๆ ค่ะ!

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image