เสียงปืนที่เงียบงัน? โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณจำข่าวกราดยิงครั้งล่าสุดได้ไหม ระหว่างที่คุณอ่านคอลัมน์นี้ มันอาจเกิดขึ้นอีกครั้งและอีกครั้ง นี่เป็นปีแห่งโศกนาฏกรรม เป็นปีที่คุณอาจรู้สึกว่ามีข่าวกราดยิงซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณอาจรู้สึกว่า “อีกแล้วเหรอ”

ถ้าหากนับความรุนแรงจากจำนวนผู้เสียชีวิต เหตุกราดยิงที่ผับในออร์แลนโดในปีนี้ ก็เป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาด้วยซ้ำ (ผู้เสียชีวิต 49 คน รองลงมาคือผู้เสียชีวิต 32 คน ในเหตุกราดยิงเวอร์จีเนียเทค ในปี 2007 และ 27 คน ที่แซนดี้ฮุก ในปี 2012) สถิติที่น่าตกใจอีกอย่างจากเว็บไซต์คลังข้อมูลความรุนแรงจากปืน Gun Violence Archive คือ ในปี 2016 มีเหตุที่นับว่าเป็น Mass Shooting แล้วถึง 176 ครั้ง

เหตุกราดยิงเกิดขึ้นบ่อยขึ้นหรือเปล่า? หากนับตามนิยามที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งหมายถึงการยิงในสาธารณะที่ผู้ก่อเหตุคร่าชีวิตคนมากกว่าสี่คน โดยไม่นับคดีที่เกิดขึ้นในครอบครัว, เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้กันขององค์กรอาชญากร และไม่เกี่ยวกับการค้ายาเสพติดแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเหตุกราดยิงจะเกิดบ่อยขึ้นจริง นี่เป็นบทสรุปของการวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิจัยของ Harvard School of Public Health (http://www.motherjones.com/politics/2014/10/mass-shootings-rising-harvard)

และเมื่อเกิดบ่อยครั้งขึ้น ก็ดูเหมือนว่าเราอาจจะกำลังก้าวเข้าสู่ความชาชินกับสิ่งที่ไม่ควรชินชานี้ด้วย

Advertisement

ผมจำได้ว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อน หากมีเหตุกราดยิงร้ายกาจเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง บรรยากาศของโลกจะเศร้าซึมอยู่ยาวนานหลายเดือน โทรทัศน์จะรายงานข่าว วิเคราะห์เหตุเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก แทบทุกวงสนทนาจะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัปดาห์ๆ ราวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกาะกุมหัวใจเราไม่ให้หันไปสนใจเรื่องอื่น

แต่หากเป็นตอนนี้-ไม่รู้สินะครับ-ผมรู้สึกว่า แค่ในช่วงระยะเวลาห้าหกวันก็มีเรื่องใหม่ให้เราสนใจแล้ว เราดูพร้อมจะทิ้งสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานให้เป็นอดีต และพร้อมจะไปสนใจสิ่งวูบวาบสิ่งใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ-แต่นั่นแหละ นั่นก็เป็นแค่ความรู้สึกของผม

เมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอื้ออึงสนั่นรัวไปสักระยะ เราจะชินชากับเสียงนั้น เหมือนกับช่างก่อสร้างที่เราอาจเคยเห็นว่าเขาแทบไม่รู้สึกรำคาญกับเสียงก่อสร้างที่เขาทำเลย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้ยิน แต่เขาชินกับเสียงนั้นไปแล้ว และเหมือนกับเวลาที่เราได้กลิ่นเหม็นของขยะ เมื่อเราอยู่ในห้องที่มีกลิ่นนั้นไปนานๆ เราก็อาจไม่รู้สึกว่ากลิ่นนั้นรบกวนการดำเนินชีวิตอีกต่อไป

Advertisement

กับเหตุกราดยิงล่ะ มันจะเหมือนกันไหม?

รายงานจากเว็บไซต์ ThinkProgress หัวข้อข่าว “เมื่อไรกันที่อเมริกาจะลืมเหตุกราดยิงที่ออร์แลนโด” โดยจัดด์ เลกุม (Judd Legum) บอกว่า เหตุกราดยิงที่ออร์แลนโดน่าจะปลุกให้อเมริกันชนตื่นตัวกับการลงทะเบียนการค้าอาวุธปืน แต่ว่า ถ้าดูจากสิ่งที่ผ่านๆ มาละก็ ไอ้ความตื่นตัวนี้คงอยู่ไม่นานเท่าไรหรอก

ทำไมเขาจึงพูดอย่างนี้? จัดด์ศึกษาข้อมูลจาก Google Trend ในช่วงหลังเหตุกราดยิงสามครั้งในปี 2007 (เวอร์จิเนียเทค, แซนดี้ฮุก, ซาน เบอร์นาดิโน) เขาพบว่า หลังเกิดเหตุกราดยิงเหล่านี้ ผู้คนจะค้นหาทั้งคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และคำที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการค้าปืน (gun control) ด้วย

ทว่าหลังจากเกิดเหตุสองเดือน ทั้งความสนใจในเหตุการณ์เหล่านี้และความสนใจในการควบคุมการค้าปืนก็จะลดลง กลับสู่ภาวะปกติ จัดด์จึงสรุปว่า “ที่กลับสู่ภาวะปกติ ไม่ใช่ว่ามีใครแก้ปัญหาอะไรแล้วหรอกนะ แต่ดูเหมือนว่าอเมริกาก็ได้ปล่อยเหตุการณ์นั้นให้ผ่านไปแล้วอย่างเฉยเมย” (The country simply moved on.)

เว็บไซต์ Upworthy เสนอรายงานคล้ายกัน โดยใช้เหตุการณ์ผู้ร้ายบุกช่อง WDBJ ในปี 2015 มาเป็นฐาน เขาบอกว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม การค้นหาข่าวที่เกี่ยวกับเหตุกราดยิงนี้ก็พุ่งสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นวันเดียว กราฟก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเหตุยิงที่วิทยาลัยในโอเรกอน ที่ความสนใจตกลงหลังจากเกิดเหตุได้วันเดียว

ผู้เขียนบทความบอกว่า “ที่เป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะพอเกิดเหตุยิงขึ้น เราก็สนใจกันใหญ่ รีบค้นข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไร ที่ไหน ทุกรายละเอียด แล้วสองสามวันต่อมา ข้อมูลพวกนี้ก็ทะลักเข้ามาหาเราจนเราไม่ต้องค้นเองอีกต่อไป เราอาจไม่รู้จะทำอะไร นอกจากรู้สึกโกรธ โมโหอยู่วันหนึ่ง หรืออย่างมากก็สองสามวัน แล้วก็ปล่อยให้เรื่องราวพวกนี้มันผ่านไป” เธอเสนอว่า “ถ้าเราต้องการหนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้จริงๆ เราอาจต้องคงความสนใจ คงความโกรธเกรี้ยวไว้ให้นานกว่านี้ (เพื่อให้สภา ตระหนักถึงความสำคัญ)”

อาจจะจริงที่การค้นหาสิ่งที่เกี่ยวกับเหตุกราดยิงที่เพิ่งเกิดและการค้นหาเรื่องการควบคุมปืนจะตกลงอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราก็อาจต้องพิจารณาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็น “ข่าว” ซึ่งเคลื่อนที่ผ่านไปไวเป็นปกติ หลังจากข่าวถูกนำเสนอออกไปไม่นาน กระแสก็ต้องตกลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (แต่ “ตกลงเร็วแค่ไหน” อาจเป็นคำถามที่น่าคิดต่อ) และอีกอย่าง, การค้นหาผ่าน Google เพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ได้สื่อถึงความสนใจของประชาชนอย่างตรงไปตรงมานัก มันเป็นเพียงสถิติหนึ่งที่เราควรพิจารณาประกอบเท่านั้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่ควรตั้งคำถาม เราควรถามกับตัวเองและสังคมนั่นแหละครับ ว่าเราพร้อมจะปล่อยให้เรื่องร้ายกาจขนาดนี้ผ่านไปเร็ว เราพร้อมจะไปสนใจสิ่งใหม่ๆ โดยคิดว่าเหตุการณ์กราดยิงก็เป็นแค่ข่าวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้นใหม่ก็ตกใจทีอย่างนั้นไหม

ทุกครั้งที่เกิดเหตุทำนองนี้ เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “เราจะเก็บเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้เป็นบทเรียน”

แต่คำถามก็คือที่ว่า “เก็บไว้เป็นบทเรียน” นั้น จริงๆ แล้ว เราเก็บไว้นานเท่าไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image