บทเรียน เมียนมา กรณี เผามัสยิด ‘ผากั้น’ ยุทธการ ลองของ

ขณะที่ ทาง 1 กระทรวงการต่างประเทศ คงอันดับในเรื่อง “การค้ามนุษย์” ของเมียนมาให้คงอยู่ที่ เทียร์ 3 อันถือว่าเป็นอันดับเลวร้ายสุด

เหมือนที่มาเลเซียก็เคยอยู่ เหมือนที่ไทยก็เคยอยู่

ขณะเดียวกัน ทาง 1 ชาวพุทธในเมียนมาอ้างเป็นตัวแทนจาก 17 เมืองทั่วรัฐยะไข่ ฮือกันบุกเผามัสยิดในเมืองผากั้น

เป็นเหตุการณ์ที่ 2 ต่อจากที่เคยเกิดขึ้นในเมืองพะโค

Advertisement

นี่เป็นสถานการณ์ซึ่งรัฐบาลพลเรือนของ นายติน จ่อ นายกรัฐมนตรี และนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตกอยู่ในอาการน้ำท่วมปาก

กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

เป็นสถานการณ์อันสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาแก้ไขอย่างรีบด่วน

Advertisement

เช่นเดียวกับองค์กรสิทธิมนุษยโลกมีความเห็นว่า นางออง ซาน ซูจี มิได้ปกป้องเท่าที่ควร

เป็นสถานการณ์ซึ่งเหล่า JUNTA ยืนมองอยู่ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” และมิได้ยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด

แม้ NLD จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เหมือนกับปกครองไม่ได้

เป็นความจริงที่ประชาชนมอบความไว้วางใจเลือกคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ให้มาอยู่ในฐานะยึดกุม “อำนาจนิติบัญญัติ” และ “อำนาจบริหาร”

แต่ถามว่ารัฐบาลของ NLD สามารถ “บริหาร” ได้อย่างแท้จริงหรือ

ในเมื่อเหนือรัฐบาลยังมี “กองทัพ” ในเมื่อเหนือรัฐบาลยังมี “สภากลาโหมแห่งชาติ” ซึ่งคนในกองทัพคือเสียงข้างมาก

ตัวแทนจากรัฐบาลมีเพียงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

ในเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2551 อันผ่านการลงประชามติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 กำหนดให้กระทรวงสำคัญๆ 4 กระทรวงเป็นของคนจาก “กองทัพ”

กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกิจการชายแดน กระทรวงชนชาติส่วนน้อย

ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2551 อันถือว่าประกาศและบังคับใช้ในห้วงแห่ง “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ทางการเมือง บัญญัติให้มีสมาชิกรัฐสภาอันมาจากการแต่งตั้งของ “กองทัพ” จำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด

นี่มิได้เป็นเพียงหลักประกันแห่ง “อำนาจ” ของเหล่า JUNTA ในกองทัพ หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดาย

ผลก็คือ พรรค NLD เป็นรัฐบาล แต่ก็เป็นรัฐบาล “เป็ดง่อย”

ใครที่ได้อ่านบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “กองทัพกับการเมืองในอุษาคเนย์” ก็จะยิ่งประจักษ์ในสภาพความเป็นจริง

รัฐบาลของ NLD ใช้นโยบายประนีประนอมกับ “กองทัพ”

ไม่แตะเรื่องชนกลุ่มน้อย ไม่แตะเรื่องมุสลิมและโรฮีนจา ไม่แตะเรื่องสัมปทานหยก ทับทิม ไม้สัก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของนายพลบางคนและของกองทัพ ไม่แตะธุรกิจอภิสิทธิ์ของนายพลและกองทัพ เช่น ผูกขาดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง

ไม่แตะผู้ผลิตสินค้าภายในบางอย่างซึ่งใช้แรงงานเกณฑ์ชนกลุ่มน้อยเป็นผู้ผลิต

แต่ไม่ทราบว่า รัฐบาล NLD วางยุทธศาสตร์ของการประนีประนอมกับกองทัพไว้หรือไม่และอย่างไร แต่เขาลือกันว่า พระภิกษุที่เป็นผู้นำต่อต้านมุสลิมในพม่านั้นได้รับการอุดหนุน (รวมทั้งการเงิน) จากกองทัพอย่างลับๆ

เพื่อบ่อนทำลายสมรรถภาพของรัฐบาล NLD

ปฏิบัติการปลุก “มวลชน” ในเมืองพะโค ในเมืองผากั้น บุกเผามัสยิดอย่างดุเดือดรุนแรงจึงเป็นตัวอย่าง 1

ตัวอย่างในการ “ลองของ” กับรัฐบาลและ นางออง ซาน ซูจี

จากเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง จากเดือนเมษายน 2559 ที่เริ่มเข้ามาบริหารในฐานะรัฐบาลของพรรค NLD คลื่นลมอาจ “สงบ” ในเบื้องต้น

สงบเพราะว่าอำนาจที่ “ประชาชน” มอบให้กับพรรค NLD และ นางออง ซาน ซูจี ยังมีมนต์ขลังในฐานะเป็น “เจตจำนงร่วม” และ “อาณัติ” ทางการเมือง

แต่วันเวลาที่เหลือจึงน่า “หวาดเสียว” อย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image