หลังยูโร 2016 โดย ปราปต์ บุนปาน

A general view shows the closing ceremony ahead the Euro 2016 final football match between Portugal and France at the Stade de France in Saint-Denis, north of Paris, on July 10, 2016. / AFP PHOTO / PHILIPPE LOPEZ

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ปิดฉากลงเรียบร้อย

ไซม่อน แชดวิค นักวิชาการด้านการบริหารจัดการธุรกิจกีฬา เขียนบทความเสนอว่า ยูโร 2016 ถือเป็น “มรดก” ที่ มิเชล พลาตินี่ อดีตประธานสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า (ซึ่งถูกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า สั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 4 ปี เนื่องจากพัวพันกับกรณีทุจริต) ส่งมอบไว้ให้แก่วงการลูกหนังนานาชาติ

เพราะพลาตินี่เป็นโต้โผหลักในการผลักดันไอเดีย อันส่งผลให้การแข่งขันฟุตบอลยูโรเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ

เมื่อ ค.ศ.2007 พลาตินี่คว้าชัยชนะในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานยูฟ่า ด้วยนโยบายที่มุ่งสนับสนุนชาติสมาชิกขนาดเล็ก ผ่านมอตโต้ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”

Advertisement

การเพิ่มจำนวนทีมในยูโรรอบสุดท้ายเป็น 24 ทีม นับเป็นนโยบายซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ทีมชาติจากประเทศเล็กๆ มีที่ทางในสังเวียนฟาดแข้งระดับนานาชาติ

ถ้าพูดตามภาษาของพลาตินี่ นโยบายเช่นนี้ได้ช่วยขยับขยายให้การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปมี “ความเป็นประชาธิปไตย” มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การเพิ่มจำนวนทีมก็อาจนำไปสู่การเพิ่มรายได้ในทางธุรกิจ เพราะเมื่อทีมเยอะขึ้น จำนวนแมตช์การแข่งขันก็มีมากขึ้น และย่อมสามารถขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์, ขายแพคเกจโฆษณาให้สปอนเซอร์ ตลอดจนขายตั๋วเข้าชมให้แฟนบอล ได้มูลค่าสูงขึ้น

Advertisement

แต่สิ่งที่ท้าทายวงการฟุตบอลยุโรปจริงๆ จะเกิดขึ้นหลังยูโร 2016

เพราะในการแข่งขันยูโร 2020 สังเวียนการฟาดแข้งรอบสุดท้ายจะแพร่ขยายไปสู่ 13 เมืองทั่วทวีป ครอบคลุมจากกรุงดับลินของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ไปถึงกรุงบากูของอาเซอร์ไบจาน

พลาตีนี่ชี้ว่ารูปแบบการจัดการแข่งขันเช่นนี้ นับเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของการแข่งขันฟุตบอลยูโร อย่างสุดแสนโรแมนติก

ยิ่งกว่านั้น นี่ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการดึงดูดประเทศขนาดเล็กให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติระดับ “บิ๊ก อีเวนต์”

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ พลาตินี่ ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จะต้องยุติบทบาทในวงการลูกหนังลง

การปูพรมจัดยูโร 2020 รอบสุดท้ายไปทั่วทั้งทวีป คงต้องดำเนินการต่อ

ทว่า อนาคตด้านอื่นๆ ของแวดวงฟุตบอลยุโรป ล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ขณะนี้ มีตัวเต็งสองรายที่คาดว่าจะเป็นคู่ชิงตำแหน่งประธานยูฟ่า คนหนึ่ง คือ มิคาเอล ฟาน ปราก รองประธานยูฟ่า อีกคน ได้แก่ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสโลวีเนีย

รายแรกเป็น “คนหัวเก่า” จากยุโรปตะวันตก ที่ปักหลักในวงการกีฬานานาชาติมายาวนาน และน่าจะมีนโยบายซึ่งมุ่งเน้นไปยังการประคับประคองเสถียรภาพและความต่อเนื่องขององค์กร มากกว่าจะมุ่งปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ

รายหลังเป็นนักกฎหมายหนุ่มอายุ 40 กว่าๆ ที่มาจากประเทศเล็กๆ ทางยุโรปตะวันออก ไม่เคยมีประวัติมัวหมองกับกรณีคอร์รัปชั่นในวงการกีฬาโลก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนโดยอ้อมๆ จาก จานนี่ อินฟานติโน ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน

บางฝ่ายคาดการณ์ว่า เซเฟรินน่าจะสามารถต่อเติมเสริมสร้างนโยบายแปลกใหม่หลายๆ ด้านของพลาตินี่ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี นักวิชาการอย่างแชดวิคเชื่อว่า ไม่ว่าประธานยูฟ่าคนใหม่จะเป็นใครก็ตาม? การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปในรูปแบบ “24 ทีม” จะยังต้องถูกธำรงรักษาไว้

ในฐานะนโยบายหาเสียงหลักของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานยูฟ่า

ซึ่งหลังจากได้รับตำแหน่งแล้ว คงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายนานัปการ ตั้งแต่ภาวะ “บูม” ของฟุตบอลลีกจีน, ปัญหาด้านความปลอดภัยจากกลุ่มฮูลิแกนและกลุ่มก่อการร้าย, การปรับตัวเข้าหาสื่อดิจิตอลที่มีบทบาทสูงขึ้น และการปฏิรูปให้ยูฟ่ากลับมาเป็นองค์กรที่มีลักษณะธรรมาภิบาลในสายตาของสาธารณชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image