พ่ออุ้มลูก ประติมากรรมฉลอง 70 ปี ครองราชย์ โดย สุกรี เจริญสุข

อาคารมหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol Hall) เป็นหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก 49 (A49) ก่อสร้างโดยบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด (มหาชน) เริ่มคิดออกแบบตั้งแต่ พ.ศ.2548 และได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ถึง พ.ศ.2557 ใช้เวลาทั้งหมด 10 ปี ผ่านการบริหารของอธิการบดี 3 ท่าน ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท อาคารมหิดลสิทธาคาร เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อว่าคนไทยทุกคนต่างก็มีความภูมิใจกับอาคารหลังนี้ด้วย

มหิดลสิทธาคารสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ เพื่อใช้ในงานรับพระราชทานปริญญาบัตร, เพื่อเป็นบ้านของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย, เพื่อใช้ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติ และเพื่อรองรับการแสดงดนตรีระดับนานาชาติ สร้างบนพื้นที่ 45 ไร่ ในอาคารมีเก้าอี้ 2,016 ที่นั่ง และทุกที่นั่งเป็นชั้นธุรกิจ คือ ที่นั่งกว้าง เบาะนุ่ม นั่งสบายทั้งคนอ้วน คนผอม และคนตัวใหญ่

มหิดลสิทธาคารเป็นสัญลักษณ์ของรสนิยมและคุณค่าไทย เนื่องจากไทยยังไม่มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในระดับนานาชาติ มหิดลสิทธาคารได้รับการออกแบบที่สมสมัยงดงาม เป็นสัญลักษณ์ของไทยในโลกสมัยใหม่ เชื่อว่ามหิดลสิทธาคารจะเป็นอาคารที่ทุกคนกล่าวขวัญถึง เป็นพื้นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองให้นักท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ชื่นชม โดยเฉพาะชาวยุโรปสามารถเข้าถึงดนตรีได้ง่าย หากนักดนตรีคนเก่งของโลกได้เดินทางมาแสดงที่มหิดลสิทธาคารก็จะทำให้ภาพของประเทศไทยปรากฏในแผนที่โลก ซึ่งเป็นหน้าต่างที่สำคัญ

มหิดลสิทธาคารเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม ดูแลการก่อสร้างอย่างดี ใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูง ใช้เงินลงทุนสูงเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด ทุกคนทำงานด้วยใจ ทั้งผู้ออกแบบ ฝ่ายก่อสร้าง และผู้ควบคุมงาน ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อหวังว่าจะได้มีอาคารแสดงดนตรีที่ดีทัดเทียมอารยประเทศ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบเสียงที่ดี

Advertisement

ที่สำคัญก็คือ มีการแสดงดนตรีอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพสูง

act01110759p1

 

Advertisement

พื้นที่ลานกว้างข้างอาคารได้ออกแบบประติมากรรมรูปปั้นพ่ออุ้มลูก ประดิษฐ์ไว้ข้างมหิดลสิทธาคาร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความอบอุ่น เปี่ยมด้วยความเมตตา เป็นที่พึ่งของทุกคนที่ได้เห็น ทุกคนต่างเอามือลูบฉลองพระบาท (รองเท้า) แล้วเอามือไปลูบหัวของตัวเอง ด้วยปรารถนาว่าตัวเองจะมีสุขภาพพลานามัยที่ดี เจ็บก็ขอให้หาย ไข้ก็ขอให้ฟื้น เพราะเชื่อว่าสมเด็จพระราชบิดาทรงเป็นหมอ ยังมีพระเมตตาต่อพสกนิกรผู้เจ็บป่วยด้วย ดังนั้น ด้านหัวฉลองพระบาทก็จะมีคนมาลูบทุกวัน

ส่วนโถงด้านหน้าอาคารมหิดลสิทธาคารจะติดตั้งโคมไฟระย้า โดยการปั้นแสงดวงไฟให้เป็นรูปเซลล์สมองของมนุษย์ เพื่อที่จะเพิ่มความอลังการหรูหราให้กับอาคารมหิดลสิทธาคาร รายการแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยก็จะดึงดูดคณะทูตจากประเทศต่างๆ เข้ามาชมการแสดงดนตรี ท่านทูตทั้งหลายก็เป็นแฟนเพลงประจำ ทูตของแต่ละประเทศต่างพยายามเสนอความช่วยเหลือ เสนอสินค้าและสิ่งที่ดีๆ ให้ เสนอข้อแนะนำที่ถือว่าเป็นมาตรฐานสากล เสนอข้อแลกเปลี่ยนนักดนตรีเพื่อพัฒนาให้วงดนตรีเป็นทูตทางวัฒนธรรม

ท่านทูตจากสาธารณรัฐเช็กเสนอให้ติดตั้งโคมไฟระย้า ที่ออกแบบโดยช่างจากประเทศของท่าน ซึ่งกรุงปรากได้ชื่อว่ามีช่างทำโคมไฟระย้าสวยงามยิ่ง มีความเป็นมาที่ยาวนาน คณะกรรมการอาคารมหิดลสิทธาคารได้มอบหมายให้ผู้บริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไปดำเนินการจัดหา ได้ตกลงที่จะติดตั้งโคมไฟระย้าแขวนที่ห้องโถง ซึ่งจะนำเสนอในลำดับต่อๆ ไป

สำหรับลานด้านข้างอาคารมหิดลสิทธาคาร มีพื้นที่ดินอยู่ 2 แปลง ขนาด 3 ไร่ และ 5 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง สถาปนิก (A49) ผู้ออกแบบไม่ต้องการให้มีอะไรมาขวางกั้นสายตาเมื่อมองจากถนนด้านข้างไปยังอาคารมหิดลสิทธาคาร สายตาจะพุ่งตรงผ่าที่ว่างโล่งๆ พื้นที่มีความเวิ้งว้าง จึงได้ออกแบบให้เป็นลานประติมากรรม มีสวนต้นไม้และดอกไม้ ประดับให้อาคารมหิดลสิทธาคารมีความสง่างามยิ่ง

ลานพระราชบิดา ออกแบบโดยบริษัทภูมิทัศน์ (L49) เป็นสนามหญ้าขนาบด้วยต้นไม้และสวนดอกไม้ บีบสายตาผู้ชมให้พุ่งตรงไปที่ประติมากรรมสำริดพ่ออุ้มลูก พระบิดาอุ้มพระโอรส ซึ่งสามารถที่จะมองเห็นอาคารมหิดลสิทธาคารผ่านช่องสายตาอย่างประทับใจยิ่ง มีทางเดินขนาด 1.5 เมตร ตอกเสาเข็ม เทปูน กรวดล้าง แข็งแรงและสวยงาม ประดับด้วยโคมแสงสว่างตามทางเดิน และมีทางเข้าได้ 5 ทาง

ประติมากรรมรูปปั้นพ่ออุ้มลูก ประทับนั่งที่ลานพระราชบิดา ข้างอาคารมหิดลสิทธาคารได้สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นโฉมหน้าใหม่ของงานสร้างอาคารในมหาวิทยาลัยไทย เพราะทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันสร้างมหิดลสิทธาคารด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานให้ดี ทุกคนเอาใจใส่และตั้งใจทำ มีความเข้าใจและร่วมมือกัน ทุกคนต่างรู้ว่าถึงเวลาที่คนไทยต้องสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

ตรงกลางลานพระราชบิดาเป็นสนามหญ้ากว้าง มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ มีบันไดทางเดินไปในสนามหญ้า ปลูกหญ้านวลน้อย ซึ่งใบใหญ่ทนแดดทนฝน สีสวยงาม ตัดได้เรียบและหนาแน่น ทำให้สนามหญ้าน่าเดิน

ต้นไม้รอบๆ ลานพระราชบิดามีทั้งไม้ใหญ่ อาทิ มะขาม ดูแล้วน่าเกรงขาม ชงโคฮอลแลนด์ ใบใหญ่ดอกสวยงาม ต้นพวงชมพู ดอกเป็นพวงสีชมพู ดูแล้วมีความสดชื่น มีต้นประดู่แดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชบิดา ท่านทรงเป็นทหารเรือและมีชื่อเล่นว่า แดง มีต้นทองกวาว ซึ่งเป็นต้นไม้ใบใหญ่ ลำต้นสวย และต้นคูนชมพู ซึ่งจะทำให้สวนดอกไม้ดูสะพรั่ง รวมแล้ว 72 ต้น ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ขนาด 6-8 นิ้ว ต้นไม้โตพอสมควรแล้ว เพราะปลูกแล้วสวยโดยไม่ต้องรอคอย ระหว่างต้นไม้ใหญ่ได้แซมด้วยต้นจั๋ง ต้นหมากเขียว ดาหลา และเต่าร้าง เพื่อที่จะปิดโคนต้นไม้ไม่ให้เปลือย มีพืชคลุมดินให้ชุ่มชื่น สร้างความร่มเย็นให้กับบริเวณโดยรอบ

ส่วนไม้ประดับและดอกไม้ในสวน ได้คีโรเดนดรอนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย เขียวขจี ต้อยติ่งดอกม่วงปลูกเป็นผืนลานกว้างกลางแดด ต้อยติ่งพื้นเมืองเหมาะกับพื้นที่ร่มรำไร ผกากรองเลื้อยและย่าหยาเสริมให้สวยงาม ริมทางเดินได้เสริมด้วยดอกไม้คุณนายตื่นสายหลากสี เพื่อให้มีดอกตลอดปี ซึ่งคุณนายตื่นสายนั้นชอบแดดและเป็นดอกไม้ขยายพันธุ์ได้เอง อดทนและอาศัยเทวดาเลี้ยง

ประติมากรรมพ่ออุ้มลูก ประทับนั่งบนท่อนไม้ ในท่าที่ผ่อนคลายพระอิริยาบถ ทรงอุ้มพระโอรสด้วยความรัก มีความอบอุ่นและมีความผูกพัน เป็นประติมากรรมที่มีความสง่างามวิจิตรบรรจง เจิดจ้า สามารถสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น สร้างความประทับใจในผลงานประติมากรรม และสร้างความรู้สึกที่ดี

ประติมากรรมพ่ออุ้มลูก มีความทันสมัย สร้างสรรค์และมีพลัง ทรงสถิตอยู่ในโลกอนาคตอันเป็นนิรันดร์ บ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาด มีความคมคาย มีความล้ำยุคทางด้านศิลปกรรม และเหมาะสมสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมมหิดลสิทธาคาร เมื่อเปิดผ้าคลุมวันแรก (25 มิถุนายน 2559) ทำให้ทุกคนที่เดินผ่านต้องหันมามอง หากอยู่ใกล้ก็จะเข้าไปถ่ายรูป ส่งต่อให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดได้ดู

เชื่อว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะสร้างให้อาคารมหิดลสิทธาคารเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ศิลปินช่างปั้นหุ่นโดยนายช่างวัชระ ประยูรคำ เป็นประติมากรรุ่นใหม่ที่มีผลงานจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานด้านประติมากรรมเจ้านายระดับสูง พระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ไทย ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงสุดยอดในปัจจุบันของไทย

ศิลปินช่างหล่อ (Armando Benato) จากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อโรงงานช่างหล่อของพ่อถูกปิด เพราะเทศบาลเมืองมิลานเห็นว่าโรงหล่อสร้างมลภาวะให้คนในเมือง ได้ถือโอกาสเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ก็ได้คิดทำโรงหล่อต่อจากธุรกิจของครอบครัว ตัดสินใจอยู่เมืองไทย 35 ปีแล้ว (ค.ศ.1981) โดยตั้งรกรากที่บ้านฉาง จ.ระยอง เปิดเป็นโรงงานช่างหล่อ งานหลักก็จะหล่อรูปนางฟ้า เทวดา สันตะปาปา ส่งให้ลูกค้าในยุโรป เพราะลูกค้าประจำมีอยู่แล้ว อมานโด้เป็นนายช่างที่มีฝีมือดี ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ที่สำคัญที่สุดก็คือใช้โลหะสำริดที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ แม้จะมีราคาสูงกว่าโรงหล่อของไทย แต่ก็ส่งออกให้แก่ลูกค้าต่างประเทศที่ต้องการของดีเท่านั้น

แท่งหินภูเขาไฟที่เป็นฐานรองรับประติมากรรมพ่ออุ้มลูก เป็นก้อนหินหนัก 38 ตัน ได้มาจากเมืองตาก ขนาดสูง 0.6 เมตร กว้าง 3.8 เมตร ยาว 5.8 เมตร ซึ่งดูแล้วใหญ่มาก แต่เมื่อตั้งประติมากรรมแล้ว มองไกลทำให้ดูสง่างาม มองใกล้ก็ดูอลังการ จนคนดูต่างก็สงสัยว่า ก้อนหินมาได้อย่างไร

พ่ออุ้มลูก เป็นความพยายามที่จะสร้างประติมากรรมเพื่อรวมจิตใจคนให้มีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่าศิลปะนอกจากจะมีพลังสร้างแรงบันดาลใจแล้ว ยังสร้างความอบอุ่น ส่องแสงสว่างในจิตใจคน เพื่อให้แต่ละคนได้เห็นความดีงามต่อพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป

ทั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image