ปฏิบัติการข่าวสารสู้โควิด-19 : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิบัติการข่าวสารสู้โควิด-19 : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิบัติการข่าวสารสู้โควิด-19 : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ถึงแม้ความแตกตื่นจากประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการปิดสถานที่ 26 ประเภทเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ เกิดการยอมรับโดยกว้างขวางแล้วก็ตาม

ปรากฏการณ์ตื่นตระหนก ตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลัวอดตาย ยิ่งกว่าตายเพราะเชื้อโรค เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของมาตรการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่สำคัญทีเดียว

เหตุเพราะ ผู้คนได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสาร มาตรการระวังป้องกันด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เพื่อรักษาชีวิตไว้ก่อนซึ่งก็ถูกต้อง

Advertisement

แต่ขณะที่มาตรการด้านเยียวยาผลกระทบที่จะตามมา ไม่ได้รับแจ้งควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ทันทีทันใด ทำให้ความหวาดหวั่นทำนองว่า แล้วกูจะเอาอะไรกินล่ะ ระบาดไปทั่ว

เมื่อได้ฟังคำชี้แจงของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนไม่น้อยเกิดความสงสัย ไม่แน่ใจว่า ในระดับรัฐบาลได้รับรู้ ได้รับแจ้ง ได้รับการปรึกษาหารือหรือไม่

ไม่มีใครออกมาชี้แจงให้คนมั่นใจว่า ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่นเป็นเอกภาพ ติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีใครได้ฟังในทันทีว่า ทางการจะช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนอย่างไร เสียงวิจารณ์จึงเลยไปถึงระดับรัฐบาลว่าทำงานไม่บูรณาการกัน

ทั้งๆ ที่วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการประกันสังคมเพิ่งมีมติให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน หลายเรื่อง

แม้จะครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบก็ตาม แต่กลับไม่มีการนำข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนี้ออกมาย้ำ หนุนเสริม ชี้แจงเพิ่มเติมในทันที ขณะที่แรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระอีกจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา จะหาทางช่วยอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์การทำหน้าที่ของโฆษกรัฐบาล กระทั่งเสนอให้เปลี่ยนตัว ถึงจะออกมาชี้แจงภายหลังว่าได้รับทราบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า กทม.กำลังประชุมหารือมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 กันอยู่ ก็สายเกินไปเพราะความสงสัย หวาดวิตกแพร่กระจายไปทั่วแล้ว

ดีที่ในวันรุ่งขึ้น 22 มีนาคม มีการประชุมร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนกำกับหลักทรัพย์ พิจารณามาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย

กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะที่สองต่อคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 มีนาคม เน้นดูแลประชาชนรายย่อยและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จึงช่วยคลี่คลายความสับสน วิตกหวั่นไหวลงได้ระดับหนึ่ง ทำให้มีความหวังเพิ่มขึ้น

ความจริงแล้วเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นตัดสินใจปฏิบัติการเดินหน้าใช้ยาแรง รัฐบาลกลางเองถูกเรียกร้องมาตลอดให้ปิดประเทศทุกช่องทาง ควรรีบออกมารับลูกทันที เปิดปุ๊บติดปั๊บ เหมือนตอนที่มีคำสั่งย้ายอธิบดีกรมการค้าภายในเพื่อคลี่คลายปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ทำนองนั้น

ประกาศ กทม. เป็นเรื่องระดับใหญ่กว่าสูงกว่า ระดับรัฐบาลกลางกลับไม่มีคำชี้แจงแถลงอะไรใดๆ ออกมาสนับสนุนท้องถิ่นอย่างแข็งขัน ถ้าทำทำทันที ความเคลือบแคลงสงสัยก็จะคลี่คลายลง การรีบแห่กันกลับบ้านต่างจังหวัด เสียงวิจารณ์การให้ข้อมูลข่าวสารนอกจากด้านสาธารณสุข จึงอึงคนึงไม่หยุด เพราะการสื่อสารในภาวะวิกฤตมีจุดอ่อน

ครับ แนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ทำให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่ความร่วมมือยิ่งกว่ามาตรการบังคับ

ปฏิบัติการเชิงรับ ตามไล่จับคนส่งข่าวเท็จ วิพากษ์วิจารณ์เกินจริง เพื่อป้องกันและระงับความตื่นตระหนก ทำได้ แต่ต้องมีความพอเหมาะ พอดี อย่าทำให้เกิดบรรยากาศความสะพรึงกลัวเพิ่มขึ้น จากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ระวังจะบานปลายกันไปใหญ่

แต่อีกด้านหนึ่ง ความตื่นตระหนกจากการให้ข่าวสารข้อมูล คนละทิศละทาง ไม่ครบถ้วน ไม่ทันเวลา ทำให้คนเข้าใจผิดได้เช่นกัน

ปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุกจึงต้องผ่านการประสานงานรอบด้าน ศูนย์ปฏิบัติการข่าวสารจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของศูนย์ปฏิบัติการสู้โควิด-19

หากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่มีการรวมศูนย์เป็นเอกภาพ ณ เวลานี้ สถานการณ์ในภาพรวม มีความเคลื่อนไหว เกิดอะไรขึ้น ที่ไหน แต่ละด้าน จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ใคร ระดับไหนควรเป็นผู้แถลงชี้แจง

กระจายอำนาจให้จังหวัดทำตามหน้าที่ที่เห็นควรก็ตาม แต่ต้องแยกแยะอธิบายให้ชัด ว่าเรื่องระดับไหนให้จังหวัดทำเอง ระดับไหนส่วนกลางต้องสั่งการให้ทำเป็นแนวเดียวกัน

ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความลักลั่น เพราะต่างคนต่างทำไปคนละทิศคนละทาง

ความสับสน ตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโรคและการรับมือทุกด้าน จะลดลง ความมั่นใจก็จะตามมา ยิ่งถ้าดึงฝ่ายค้านมาร่วมวงแก้ไขได้สำเร็จ การยอมรับ ความร่วมมือร่วมใจและความมั่นใจจะเพิ่มขึ้น

เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะชนะโควิด-19 ไปด้วยกัน จะเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image