การบริหารจัดการไวรัสโคโรนา : วีรพงษ์ รามางกูร

มีเพื่อนที่เชื่อหมอดูคนหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าว่า เมื่อปี ค.ศ.1551 นอสตราดามุส เคยพยากรณ์ไว้เป็นบทกวีภาษาละตินว่า “ในปี ค.ศ.ที่เลขคู่แฝด จะมีราชินีจากตะวันออกแพร่เชื้อโรคเพื่อล้างโลก” ราชินีที่นอสตราดามุสทำนายน่าจะเป็นโคโรนาไวรัส ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองจีนแล้วแพร่ออกไปทั่วโลกอย่างที่เราเห็น

ถ้าเป็นจริงอย่างคำทำนาย โรคระบาดครั้งนี้ยังจะแพร่กระจายต่อไปทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้แล้ว แต่ประเทศอื่นที่ไม่ได้ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ แม้แต่รัสเซียและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก และประเทศต่างๆ ที่เคยอยู่ในสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ก็คงจะบริหารจัดการกับสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนาระบาดโดยการปิดประเทศอย่างเข้มงวดเคร่งครัด จนสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

ในกรณีของประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย กว่า 1,500 กิโลเมตร ถ้าจะต้องเลือกว่าปิดประเทศอย่างสมบูรณ์เคร่งครัด กับไม่ประกาศปิดประเทศแต่อนุญาตให้คนไทยและชาวต่างประเทศเดินทางเข้าออกได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดอย่างที่ทางการประกาศ มาตรการแบบหลังน่าจะดีกว่าการประกาศปิดประเทศแบบจีน

เพราะถ้าประกาศปิดประเทศอย่างประเทศจีน การเข้าออกเมืองไทยก็จะลง “ใต้ดิน” โดยไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองเลย คนไทยหาทางหลีกเลี่ยงได้เสมอ เพราะระบบการบังคับใช้กฎหมายของเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าผ่านแดนในจุดผ่านแดนไม่ได้ก็ผ่านแดนนอกจุดผ่านแดน อย่างไรก็ผ่านแดนอยู่ดี ดังนั้นให้ผ่านแดนโดยมีเงื่อนไขจะดีกว่า

Advertisement

สำหรับนักเรียนไทยในยุโรปก็ดี ในอเมริกาก็ดี พ่อแม่คงจะเดือดเนื้อร้อนใจไม่น้อยถ้าลูกหลานยังคงอยู่ที่นั่น สู้ให้กลับมาโดยมีใบรับรองแพทย์ซึ่งยามนี้คงจะหาได้ยาก ผ่านระบบคัดกรองถ้ามาจากเขตโรคระบาด ซึ่งขณะนี้ก็ระบาดไปทั่วแล้ว ต้องอยู่กักกันโรค 14 วันที่บ้านและสามารถติดตามตัวได้ถ้าจำเป็น ก็น่าจะเป็นมาตรการที่เพียงพอแล้ว

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็มีประกาศของรัฐบาลสั่งปิดสนามมวย ตลาด ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า มโหรสพและอื่นๆ ที่จะมีการชุมนุมกัน การตัดสินใจประกาศมาตรการเข้มงวดดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้ถี่ถ้วน โดยการมอบการตัดสินใจให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อผ่านทางระบบหายใจ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องกระทบต่อคนทำมาหากินที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ระบบการชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพของเราก็ไม่มี เพราะเราไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาก่อนที่มีความคุ้นเคยกับระบบปันส่วน เพราะจะมีทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬารได้ อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

ต้องคิดให้หนักว่าจะบริหารจัดการชดเชยรายได้ของคนทำมาหากินที่ถูกกระทบจากมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างไร แค่การบริหารจัดการหน้ากากป้องกันเชื้อโรคโดยกระทรวงพาณิชย์ของรัฐมนตรีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหาเสียแล้ว หลังจากเหตุการณ์นี้ ปปช.อาจจะต้องเข้าตรวจสอบ เช่นเดียวกับกรณีน้ำมันปาล์มหรือการซื้อรถดับเพลิงในสมัยก่อนก็ได้ เพราะเป็นการบริหารจัดการที่เราไม่เคยมีระบบจัดการมาก่อน ก่อนใช้เงินภาษีอากรไปโปรยต้องคิดระบบบริหารจัดการให้ดี พร้อมทั้งคำอธิบาย เหตุผล หลักการ ว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะรวมกันออกมาแล้วจะเป็นเงินไม่น้อยและเป็นอันตรายต่อผู้แจก

การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนเป็นผู้ตัดสินใจว่าสมควรจะปิดหรือไม่ปิดชายแดน พร้อมๆ กับการบริหารจัดการในเขตท้องที่ของตนแทนที่จะเป็นมาตรการที่มาจากส่วนกลาง ก็น่าจะถูกต้อง เพราะแต่ละท้องที่มีสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ประชาชน ลักษณะของการค้าชายแดนที่มีคนสงสัยว่าอาจจะมีมากถึงร้อยละ 50 ของสินค้าที่ซื้อของผ่านด่านศุลกากรทั้งประเทศก็ได้ อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของการค้าขายระหว่างประเทศที่ถูกต้องโดยผ่านด่านศุลกากรก็ได้ การค้าชายแดนเหล่านี้ใช้เงินสดทั้งเงินบาทและเงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือไม่ก็ผ่านโพยก๊วนที่เชียงใหม่ ที่อุดรธานี และอุบลราชธานี ใช้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาอยู่ในจังหวัดชายแดนเหล่านั้นอยู่แล้ว

การปิดประเทศอย่างจีน อย่างยุโรป อย่างสหรัฐอเมริกา อย่างสิงคโปร์ ไม่มีประโยชน์สำหรับเมืองไทย ทำอย่างที่รัฐบาลทำอย่างนี้ดีแล้ว รวมทั้งปิดห้างร้านสรรพสินค้า ภัตตาคาร แหล่งเริงรมย์ สถานอาบอบนวดชั่วคราว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการชดเชยเยียวยาอะไร เพราะจะเข้าทางข้าราชการเสียเปล่าๆ หากจะไปทำอย่างประเทศที่ระบบราชการและระบบการเมืองมีประสิทธิภาพแบบในต่างประเทศ ของเราน่าจะเป็นการ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

เก็บเงินไว้ให้กระทรวงสาธารณสุขทำดีกว่า เพราะกระทรวงสาธารณสุขเรามีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้ดีกว่ากระทรวงมหาดไทยมาก เพราะเคยเห็นผลงานสมัยการบริหารจัดการแผนพัฒนาชนบทยากจนมาแล้ว

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป การบริหารจัดการมาตรการที่ประเทศใช้คงจะมีปัญหาวุ่นวายอยู่ไม่น้อย แต่ก็น่าจะดีกว่าการสั่งปิดประเทศไปเลย

ส่วนการที่จังหวัดแต่ละจังหวัดจะตัดสินใจปิดจังหวัด เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ และอุทัยธานี ที่ตัดสินใจปิดจังหวัด ก็ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจของจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจังหวัดจะเป็นราชการส่วนภูมิภาคไม่ใช่ท้องถิ่น แต่ระบบบริหารราชการแผ่นดินของเราเป็นระบบที่ท้องถิ่นมีความอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเหมือนราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพราะการเมืองภาคประชาชนของเราไม่เคยถูกปล่อยให้เติบโตแข็งแรง เมื่อมีวิกฤตการณ์อย่างเช่นวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาจึงไม่มีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดการให้เป็นที่มั่นใจของประชาชนได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังได้รับความไว้วางใจมากกว่านายกเทศมนตรี แม้ว่าโดยหลักการไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม

หลักการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งแบบอังกฤษแบบญี่ปุ่น แต่สำหรับฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และหลายๆ ประเทศในยุโรป ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลกลาง ควบคู่กับนายกเทศมนตรีที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่การแบ่งอำนาจกันระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่นก็แตกต่างกัน แล้วแต่ประเทศและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของระบบการบริหารจัดการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ส่วนประสิทธิภาพก็แล้วแต่แต่ละประเทศ ซึ่งไม่เหมือนกัน

ในการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่าจังหวัดบุรีรัมย์และอุทัยธานีที่ประกาศปิดจังหวัดและใช้มาตรการตามอำนาจหน้าที่ของจังหวัด ซึ่งก็ไม่ใช่ท้องถิ่น ระหว่างการตัดสินใจและบริหารจัดการภายใต้การกำกับของตัวแทนของประชาชนของจังหวัด กับการบริหารจัดการมาจากส่วนกลางหรือจากกระทรวงมหาดไทย อย่างไหนจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ก็น่าจะเป็นหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจ

แค่บริหารจัดการหน้ากากอนามัยโดยกระทรวงพาณิชย์ที่เจ้ากระทรวงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีปัญหาให้ครหานินทา และเล่นงานกันเองในพรรค จนพรรคอาจจะแตกก็ได้ เป็นราชการส่วนกลางด้วยกันยังมีปัญหาถึงเพียงนี้ ถ้าเป็นส่วนกลางส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นต้องทำงานร่วมงานโดยต่างคนต่างพรรค ข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคกับฝ่ายการเมืองท้องถิ่น จะยิ่งมีข่าวให้ครหามากขึ้นหรือไม่เพียงไร ประชาชนเสียหายจากผลกระทบเพราะสินค้าขาดตลาดและมีราคาแพง ในกรณีอย่างประเทศเรานี้ปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรี ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐบาล ประชาชนได้ประโยชน์ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าจะมาจากไหนก็ใช้ระบบราชการระบบเดียวกัน นอกจากต้องให้มีการเลือกตั้งซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งจนประชาชนได้รับการเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้น “กินได้” จริงๆ

ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบอย่างทุกวันนี้ ที่เวลาผ่านไป 50 ปี 100 ปี ก็ไม่ได้ให้ประชาชนเรียนรู้อะไร ระบอบการปกครองตัวเอง การปกครองระบอบประชาธิปไตย พัฒนาการทางการเมืองที่ถูกถ่วงรั้ง นักการเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ไม่ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง เมื่อเข้ามามีอำนาจก็รู้ว่าตนอยู่ไม่นาน จึงกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นไว้ก่อน

การบริหารจัดการเพื่อเอาชนะโรคระบาดโคโรนาไวรัสครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพิสูจน์ประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับการยกย่องไปทั่วโลกแล้วยังจะเป็นการพิสูจน์ระบอบการปกครองของประเทศด้วย

จะคอยดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image