คนตกสี : ภราดรภาพในยามไข้ : เราจะอยู่รอดปลอดภัยคนเดียวได้หรือ : โดย กล้า สมุทวณิช

ทศวรรษแรกของสหัสวรรษที่สอง จนถึงปี 2019 เป็นเหมือนช่วงสุกงอมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษย์ที่สั่งสมกันมานับแต่มีอารยธรรม เราไขรหัสความลับเรื่องเวลาและจักรวาลพิสูจน์สมการที่เคยเป็นแต่ทฤษฎี ได้ด้วยการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วง เราสามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่เล่นหมากกระดานที่ลึกล้ำที่สุดเหนือกว่ามนุษย์

เราเข้าใกล้หุ่นยนต์รับใช้และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนตัวเองได้ รวมถึงแทรกเครือข่ายคอมพิวเตอร์ลงไปได้ในทุกสรรพสิ่งรวมถึงอวัยวะในร่างกาย ทั้งยังสร้างระบบเงินตราที่ไม่ต้องค้ำประกันด้วยทองคำหรืออำนาจรัฐขึ้นมาได้จากการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์อันซับซ้อน

หากตั้งแต่เริ่มต้นเดือนแรกของปี 2020 มนุษย์เราก็ประสบภัยธรรมชาติจากไฟป่าและหมอกพิษ จนล่วงเข้าเดือนที่สอง สิ่งที่ยังไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่มีชีวิตอย่าง Coronavirus ที่ได้รับชื่อว่า COVID-19 นั้นเข้ามาตบมนุษย์ให้ตื่นขึ้นจากความฝัน และลากกลับสู่ความจริง ให้เราได้เผชิญหน้ากับศัตรูดึกดำบรรพ์ของมนุษยชาติอีกครั้ง

โลกทั้งใบก็อยู่ในสภาพไม่ต่างจากครั้งที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อดีตกาล คล้ายสมัยที่ยุโรปถูกคุกคามด้วยกาฬโรค หรือประเทศไทยในคราวห่าลงเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เราได้สัมผัสความรู้สึกกลัวตายจากโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่รู้จักเช่นเดียวกับคนในยุคนั้นไม่มีผิด

Advertisement

แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 นี้จะสิ้นสุดลง หรือเราจะอยู่กับมันไปอีกนานเท่าใด แต่นักวิชาการแทบทุกแขนงเชื่อกันว่าโลกหลังจากนั้น วิถีชีวิต มุมมอง และทรรศนะ รวมทั้งรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์จะต้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

เอาที่ใกล้ตัวทุกคนที่น่าจะสัมผัสได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องการทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเรียนการสอนผ่านเครือข่าย (Online learning) ที่เคยพูดหรือทดลองกันมาแบบหลวมๆ หรือเป็นเชิงทางเลือกนั้นมากลายเป็นช่องทางจำเป็นเพื่อดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้รอดกันทั้งชีวิตและสุขภาพพร้อมกับธุรกิจและหน้าที่การงาน หลายคนเริ่มต้องทำงานจากที่บ้าน
อย่างจริงจัง หรือต้องเรียนต้องสอนหนังสือกันผ่านเครือข่ายออนไลน์ และเชื่อว่าในสัปดาห์นี้ก็เป็นไปได้สูงมากว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองก็จะต้องปรับใช้ชีวิตเช่นนั้น จากที่เริ่มมีคำสั่งจากทางภาครัฐให้ปิดสถานที่ชุมนุมชนที่อาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การชิมลางเพียงหนึ่งสัปดาห์ทำให้เราได้เห็นว่าเรื่องอะไรบ้างที่เรายึดเป็นแบบพิธี ที่เรายังเก็บรักษาไว้ตั้งแต่สมัยทำงานด้วยพิมพ์ดีดและลูกคิดโดยไม่เคยทบทวนความจำเป็น เช่นงานเอกสารบางอย่าง ขั้นตอนจุกจิกหรือกระบวนงานตามระเบียบ ในตอนนี้เราพบแล้วว่ามันลดหรือเลิกไปได้โดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญ

Advertisement

เมื่อทุกการเดินทางคือความเสี่ยง เราได้รู้ว่าเราไม่ต้องเดินทางกันมากขนาดนั้น ในวงการทำงาน ข้อจำกัดทั้งหลายในการต้องประชุมทางไกลผ่านหน้าจอ ก็ทำให้เราได้รู้ว่าการประชุมอะไรที่ไม่จำเป็นต้องจัด หรือในการประชุมนั้นไม่ต้องพูดบางเรื่องก็ได้ ผู้บริหารหลายท่านยอมรับว่าการประชุมสั้นลงแต่ได้เนื้อได้หนังไปทำงานกันต่อง่ายขึ้น

เราได้รู้ว่างานบางงานนั้นนั่งทำที่ไหนหรือบ้านใครบ้านมันก็ได้ แต่งานบางงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อหรือเจอหน้ากัน (ซึ่งมันก็เหลือน้อยกว่าที่เคยคิด) รวมถึงเราได้รู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำงานระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. และทำงานพร้อมกันหมดก็ได้ หากเราสามารถตกลงกันได้อย่างเป็นระบบ

หรือหากจะให้เป็นเรื่องโรแมนติก ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากเรื่องไข้ไวรัสนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าหากจำเป็นต้องเลือก เราอยากที่จะอยู่กับใครในเวลาวิกฤต เป็นใครที่เราอยากอยู่ด้วยในเวลาเช่นนี้ หรืออยากมีเขาหรือเธอในชีวิตเพื่อมองดูโลกภายนอกวุ่นวายโกลาหลอยู่เบื้องหลังกระจกหน้าต่างอย่างสงบงันข้างกัน

ที่เราต้องไม่ลืมเช่นกันว่า สำหรับเศรษฐีมหาเศรษฐี คนมีเงิน จนถึงคนชั้นกลางที่มีฐานะสบายพอสมควร วิกฤต COVID-19 นี้เป็นเพียงการรบกวนความสะดวกสบายในชีวิต สร้างข้อจำกัดให้เราต้องใช้ชีวิตหรือทำงานกันยากเย็นขึ้นบ้าง มากน้อยขึ้นกับเงินทองและอำนาจของเราท่านแต่ละคน

หากสำหรับคนที่ยังไม่ค่อยสบายตัวทางการเงิน คนหาเช้ากินค่ำ คนไม่มีเงินเก็บเงินออมด้วยข้อจำกัดสารพัด วิกฤตครั้งนี้อาจหนักหนาถึงชีวิต อย่างที่มีผู้เปรียบไว้กับฉากฉากหนึ่งในภาพยนตร์แห่งปีเรื่อง “Parasite ชนชั้นปรสิต” คือคืนพายุฝน ที่ทำให้ครอบครัวคนรวยเพียงหมดสนุกเพราะไม่ได้ไปเล่นเข้าค่ายอินเดียนแดงตามแผน แต่เป็นฝนเดียวกันนั้นเองที่ทำให้คนยากจนนับร้อยหลังคาเรือนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ต้องไปอาศัยหลบภัยในที่พักฉุกเฉินของทางการ ฝนที่ตกลงมาจากฟ้าเดียวกัน แต่ลงมาโดนผู้คนแล้วเจ็บไม่เท่ากัน

เช่นเดียวกัน วิกฤตไวรัส อาจจะทำให้คนทำงานที่มีความคิดทันสมัยและมีความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยี และมีความพร้อม ผู้ใฝ่ฝันลึกๆ ว่าอยากทำงานที่บ้านแบบ Work from Home มานานแล้ว ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบนั้นสมใจ

แต่การ Work from Home ก็อาจจะเป็นภาระเดือดร้อนอันคาดไม่ถึงสำหรับเพื่อนร่วมงานหรือคนร่วมทีมของเราที่มีเงินเดือนระดับเริ่มต้นหลักหมื่น ที่บางคนไม่มีคอมพิวเตอร์ที่พอจะใช้ทำงานได้ หากต้องทำงานที่บ้านกันจริงจังระยะยาว พวกเขาอาจจำเป็นต้องซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก ซึ่งถ้าเอาแบบพอทำงานเอกสาร Office ได้จริง ก็มีราคาอย่างถูกก็หมื่นบาท นี่ยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ต้องทำงานที่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง นี่คือรายจ่ายก้อนใหญ่ที่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษา ที่ทุกวิชาในทุกสถาบันการศึกษาต้องปิดชั่วคราวและปรับเข้าสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด แม้ว่าตามหลักการนั้นคล้ายว่าใครๆ ก็มีโอกาสเข้าถึงชั้นเรียนได้จากทุกที่ แต่ในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้เช่นนั้น ลองนึกถึงนักเรียนนักศึกษาที่มีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ ผู้อาจจะมีเพียงสมาร์ทโฟนจอขนาด 4 นิ้ว ที่แทบเหลือวิสัยที่จะมองเห็น “กระดาน” หากอาจารย์ฉายสไลด์หรือนำเสนอเอกสารขึ้นจอ แม้แต่คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเลย ซึ่งไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรอกว่าจะไม่มีกรณีเช่นนั้น

และการเข้าถึงระบบทำงานที่บ้าน หรือเรียนหนังสือออนไลน์ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เข้าถึงได้ตลอดเวลา ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนเช่นกันที่จะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกระจาย WIFI ที่บ้าน หรือโควต้า 4G อันเหลือเฟือ และมันจะเป็นค่าใช้จ่ายอีกก้อนที่จะเพิ่มขึ้นแต่ละเดือน เช่นเดียวกับค่าสาธารณูปโภคเช่น ค่าไฟฟ้าสำหรับการใช้ชีวิตในที่พัก

ยกตัวอย่างเรื่องนี้เพราะใกล้ตัวเห็นภาพได้สำหรับผู้อ่านที่เป็นคนทำงานในบริษัท หน่วยงานราชการ หรืออยู่ในระบบการศึกษา แต่ถ้ามองภาพไกลออกไปหรือลองใช้จินตนาการ ก็ขอให้ลองคิดถึงคุณพี่คุณน้าแม่บ้านที่รับค่าแรงรายวันในที่ทำงานของเรา ช่างทำผม พนักงานในฟิตเนสที่เราเป็นสมาชิก หรือเทอราปิสในสปาเจ้าประจำของเราดูว่า หากไม่สามารถทำงานได้ในระยะสองสามสัปดาห์นี้ หรืออาจจะนานกว่านั้นแล้ว เขาจะหารายได้จากทางไหนเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้บ้าง

เราสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางผู้คนส่วนใหญ่รายรอบที่ยากลำบากนี้จริงหรือ

มิตรสหายท่านหนึ่งของผมแสดงความเห็นไว้ ซึ่งขออนุญาตเกลาบางคำให้เหมาะแก่การลงพิมพ์เผยแพร่เสียหน่อย แต่คงความเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่ ดังนี้

“เราควรเข้าใจได้แล้วว่า ต่อให้เราป้องกันตัวเองดีแค่ไหน ถ้าคนรอบตัวเราป่วย เราก็เสี่ยงมากที่จะพบกับหายนะอยู่ดี

ถ้าเข้าใจเช่นนี้ ก็น่าจะเข้าใจได้นะว่าการกักตุนสารพัดสิ่ง อาหาร หน้ากาก ยา ฯลฯ มันไม่แก้ปัญหา มันยิ่งจะซ้ำเติมปัญหา

ใส่หน้ากาก 20 ชั้นอยู่คนเดียว แต่คนรอบข้างติดไวรัสทุกคน คุณก็ไม่รอดหรอก ไม่นับว่าถ้าป่วยและหมอ พยาบาล ที่มารักษาคุณ ก็ติดไวรัสอีก เพราะขาดแคลนอุปกรณ์

เช่นกัน ถ้าเราปล่อยให้คนค่อนประเทศที่หาเช้ากินค่ำ ‘ล้ม’ เราน่าจะตายเพราะอาชญากรรมก่อนจะตายเพราะไวรัส

หรือถ้าไม่ใช่เพราะอาชญากรรม เศรษฐกิจก็พังพินาศสองเด้งอยู่ดีเพราะคน 90% ของประเทศไม่มีจะกิน

แล้วพอคนไม่มีจะกิน คนก็สนใจไวรัสน้อยลง คุณจะไปแคร์อะไรกับอาการป่วยในอีก 14 วัน ข้างหน้า ถ้าวันพรุ่งนี้คุณไม่มีข้าวกิน-ผลคือวนลูบ ปัญหาไวรัสก็วินาศหนักไปอีก

การดีลกับปัญหาเศรษฐกิจจึงไม่ต่างจากโควิดเลย คือเราจะเอาตัวเอง หรือชนชั้นตัวเองรอดเพียงลำพังไม่ได้หรอก มันต้องรอดไปด้วยกันหมด ไม่งั้นก็พังกันถ้วนหน้านี่แหละ”

หากมองว่าเราคือปัจเจกที่สามารถรอดชีวิตได้ด้วยตัวของตัวเอง คนอื่นในสังคม ประเทศ และโลก นั้นเป็นเพียงฉากและตัวละครที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย ถ้าคุณคิดว่าประเทศนี้กำลังไม่ปลอดภัยอย่างที่มิตรสหายท่านนั้นกล่าวไว้ จะย้ายไปอยู่ในประเทศที่ปลอดภัยกว่าก็ได้ … ถ้าไวรัสจะไม่ทำให้ชายแดนของประเทศนั้นถูกกั้นปิดอย่างแน่นหนา

หรือไม่อย่างนั้นคุณอาจจะสร้างกำแพงสูงเพื่อป้องกันมิให้โรคภัยหรือโจรร้ายป่ายปีนเข้ามาแผ้วพาน อยู่อย่างปลอดภัยมีอนามัย ท่ามกลางความภินท์พังทั้งหลายรายรอบก็อาจจะได้

หรือคุณจะมองว่า เราคือส่วนหนึ่งของสังคมของประเทศนี้ เคราะห์กรรมต่างๆ ที่เราได้รับนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรับร่วมกันประหนึ่งลูกหนี้ร่วม ที่ใครที่มีก็พึงช่วยเหลือเจือจานคนอื่นด้วย เช่นเดียวกับพี่น้องหรือคนร่วมครอบครัวเดียวกัน

ในตอนนี้ที่สังคมเราต้องแบกรับความเจ็บป่วยและช่วงเวลาอันยากลำบากร่วมกัน ความโกลาหลที่เห็นคือส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่ถมทับนอนก้น และตีฟูขึ้นมาด้วยวิกฤต ให้เห็นว่าเรามีแรงงานรายวันที่ไม่มีหลักประกันใดในชีวิตมากมาย แม้แต่คนทำงานในบางธุรกิจเช่นการท่องเที่ยวหรือขนส่ง ก็ต้องจับสลากกันลาออก

เราพอจะเจือจานกันได้หรือไม่ แค่ไหน หรืออย่างน้อยคิดอะไรไม่ออก ก็ขอเพียงมีความเข้าใจและเมตตา อย่าไปตัดสินวิถีชีวิตที่คุณไม่อาจจินตนาการถึง ด้วยข้อจำกัดประสบการณ์ของคุณเอง

ถ้าเป็นไปได้ ช่วยเหลือทุกคนเท่าที่มีโอกาส หากคุณยังมีกำลัง ยังมีความมั่งคั่งหลงเหลือเฟือฟาย ส่วนที่พ้นเกินเขตความสบายหรือที่กันไว้เป็นหลักประกันชีวิตแล้ว

แม้ว่าไวรัสจะทำให้เราต้องห่างกันในทางความเป็นจริง แต่มันก็ไม่ได้ห้ามเราให้เชื่อมโยงต่อกันผ่านจิตสำนึกร่วมกันเดียวกันที่เรียกว่า “ภราดรภาพ” หรือ Solidarity

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image