โชคลาภกับความขัดแย้ง : ‘กายอานา’กับน้ำมัน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ในสมัยที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิทรงครองราชย์อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ในทวีปยุโรปโดยเฉพาะภูมิภาคยุโรปตะวันตกประเทศต่างๆ ได้เริ่มพัฒนาเป็นรัฐชาติภายใต้การปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีสันตะปาปาเป็นประมุขแห่งศาสนจักร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2037 สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้ขีดเส้นสมมุติแบ่งโลกออกเป็น 2 ซีกคือ ซีกตะวันตกให้เป็นสิทธิแก่ประเทศสเปน ส่วนซีกตะวันออกเป็นสิทธิของประเทศโปรตุเกส ทำให้สเปนได้ครอบครองทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ตั้งแต่เม็กซิโกเรื่อยลงมาจนตลอดทวีปอเมริกาใต้ ยกเว้นบราซิลเท่านั้นที่เป็นของโปรตุเกส ทำให้เกิดเป็นสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสขึ้น

 

ประธานาธิบดีเดวิด
เกรนเกอร์
นายโมฮัมหมัด อาลี

แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังประเทศยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ รัสเซียและเนเธอร์แลนด์ที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแม้แต่ประเทศฝรั่งเศสเองที่เป็นคาทอลิกก็ไม่ได้ยอมรับนับถือการแบ่งโลกออกเป็น 2 ซีกของสันตะปาปา ก็เข้ามายึดครองดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเสียส่วนใหญ่ แต่ในทวีปอเมริกาใต้ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ก็เข้ายึดครองดินแดนกายอานาตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้เป็นอาณานิคม โดยปัจจุบันนี้ดินแดนกายอานาส่วนของอังกฤษและของเนเธอร์แลนด์ก็ได้เป็นประเทศเอกราชแล้ว ส่วนดินแดนกายอานาของฝรั่งเศสก็กลายเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสจังหวัดหนึ่ง

สำหรับบทความนี้จะกล่าวโดยเฉพาะประเทศกายอานา หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาร้อยกว่าปี ประเทศกายอานาตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่ทั้งหมด 215,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย กายอานามีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคน คือมีเพียงประมาณ 784,000 คนเท่านั้น ในช่วง พ.ศ.2553-2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศกายอานาที่เติบโตเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2-5% โดยใน พ.ศ.2561 มูลค่าจีดีพีเท่ากับ 120,000 ล้านบาท โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรเท่ากับ 149,000 บาท สำหรับปีนี้ (พ.ศ.2563) ประมาณการว่าจีดีพีของประเทศกายอานาจะเติบโตกว่า 86% อันเป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศ เนื่องจากประเทศกายอานามีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับที่ 22 ของโลก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะกายอานาอยู่ติดกับประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับหนึ่งของโลก

Advertisement

การค้นพบแหล่งน้ำมันครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2558 และใน พ.ศ.2563 ก็เริ่มส่งน้ำมันดิบปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล ไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา จึงทำให้เศรษฐกิจของกายอานาจะเติบโตเป็นอย่างมาก จนนักเศรษฐ ศาสตร์คาดว่ามูลค่าจีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 86% ใน พ.ศ.2563 และจะเติบโตกว่า 4 เท่าภายใน พ.ศ.2567 และทำให้มูลค่าจีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 453,000 ล้านบาท

โดยรัฐบาลของกายอานาคาดว่าจะได้รับส่วนแบ่งรายได้สัมปทานจากบริษัทน้ำมันในช่วงแรกปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็นเท่าตัวภายใน พ.ศ.2565 ปัจจุบันชาวกายอานามีรายได้เฉลี่ยต่อคนวันละ 408 บาท กายอานากำลังกลายมาเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าจากประเทศเล็กๆ ที่อดีตเคยเป็นประเทศที่ยากจนแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ในอนาคตอันใกล้นี้กายอานากำลังเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่เค้าลางของความยุ่งเหยิงและยุ่งยากได้ปรากฏแล้ว โดยประเทศกายอานาเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงมาก มีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งในระบบคะแนนนิยม จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองระบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งจะมีขึ้นทุกๆ 5 ปี เมื่อทางการกายอานาจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมานี้ จนถึงขณะนี้วันที่ 23 มีนาคม ยังไม่ยอมกันเลย โดยมีการฟ้องศาลให้นับคะแนนใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชน 2 พวกใหญ่คือ

Advertisement

1) ประชาชนที่มีเชื้อสายผสมระหว่างชาวกายอานากับอดีตทาสผิวดำจากทวีปแอฟริกา ซึ่งมีประธานาธิบดีเดวิด เกรนเกอร์ เป็นผู้นำ ได้คะแนนเสียง 50.30% ได้ที่นั่งในรัฐสภา (มีสภาเดียว) 33 ที่นั่ง

2) ประชาชนที่มีเชื้อสายผสมระหว่างชาวกายอานากับอดีตแรงงานชาวอินเดียที่อังกฤษนำเข้ามายังกายอานา มีนายโมฮัมหมัด อาลี เป็นผู้นำ ได้คะแนนเสียง 49.19% ได้ที่นั่งในรัฐสภา 32 ที่นั่ง

แต่ก่อนแต่ไรการเลือกตั้งไม่เคยมีปัญหา แต่เนื่องจากปี พ.ศ.2563 เป็นปีแรกที่เงินค่าภาคหลวงน้ำมันจะไหลมาเทมาอย่างมหาศาลเป็นครั้งแรก ดังนั้นเลยยอมกันไม่ได้หรอกครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image