การเคี้ยวหมากกับปัญหาสุขอนามัยในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

ภาวะตื่นกลัวการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่พม่า ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีเคสผู้ติดเชื้อน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ถึงกระนั้น ผู้คนก็เริ่มกักตุนอาหาร และรัฐบาลยังได้ออกประกาศเพื่อปิดสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด ร้านนวด ฯลฯ ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่ายืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ หลังจากที่มีผู้ตั้งคำถามตลอดมาว่าเหตุใดจึงไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในพม่าเลย ทั้งๆ เพื่อนบ้านของพม่าทุกชาติ ทั้งจีน อินเดีย หรือไทย ล้วนประสบกับการระบาดใหญ่มาระยะหนึ่งแล้ว รัฐบาลพม่าอ้างว่าได้ทำการตรวจผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไปราว 200 รายตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ยังไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อ จนกระทั่งในช่วงต้นสัปดาห์ จึงมีรายงานข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในพม่าแล้ว 2 ราย เป็นชายอายุ 36 และ 26 ปี ที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ

หลายฝ่ายออกมาแสดงความห่วงใยพม่าว่าหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศ รัฐบาลพม่าจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน เพราะพม่ายังมีระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แนวคิดเรื่องการรักษาสุขภาพอาจมีให้เห็นเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลาง หรือผู้มีอันจะกิน แต่สำหรับคนพม่าทั่วๆ ไป ยังมีความตื่นตัวด้านสุขภาพน้อย ยกตัวอย่างในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลพม่าพยายามออกแคมเปญเพื่อให้ประชาชนเลิกการเคี้ยวหมาก โดยชี้ให้เห็นว่าพม่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการเคี้ยวหมาก (มะเร็งกล่องเสียง) จำนวนมากในทุกปี โดยปกติ เราไม่ค่อยเห็นออง ซาน ซูจี ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นด้านสังคมนัก แต่ในกรณีของการเสพติดหมากและใบยาสูบนั้น เธอออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าแต่ละปีมีชาวพม่าเสียชีวิตจากมะเร็งในช่องปากจากการเคี้ยวหมากและใบยาสูบถึง 54,000-60,000 คน

คำถามที่ผู้เขียนมักจะได้รับจากผู้ที่สนใจวัฒนธรรมพม่าคือคนพม่าเคี้ยวหมากอย่างไร แตกต่างจากของไทยอย่างไร เมื่อไปตามตลาดของชาวพม่า หลายคนให้ความสนใจลองเคี้ยวหมากแบบพม่าดู บ้างบอกว่ารสชาติไม่เย้ายวนใจ บ้างบอกว่ารสชาติแปลกจากหมากแบบไทย และกระตุ้นให้ตื่นตัวอย่างน่าทึ่ง เพราะหมากมีสารกระตุ้นคล้ายนิโคตินและกาเฟอีน และการเตรียมหมากเป็นคำๆ แบบพม่า ที่เรียกว่า “กุน หย่า” (kunyar) ก็มีส่วนผสมที่แตกต่างจากที่อื่นๆ อิทธิพลของเครื่องเทศแบบอินเดียที่พม่าได้รับมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทำให้ชาวพม่านิยมบริโภคเครื่องเทศ ในกุน หย่า 1 คำ นอกจากผลหมากและใบพลูแล้ว พ่อค้าแม่ค้าแต่ละรายก็จะมีสูตรการปรุงลับแตกต่างกันไป แต่โดยมากจะทาด้วยปูนแดง โรยด้วยใบยาสูบเพื่อเพิ่มความกระชุ่มกระชวย และผงหมากสุก บ้างเพิ่มรสชาติด้วยกระวานและกานพลู แล้วจึงม้วนเป็นคำๆ ในหลายๆ พื้นที่ที่มีผู้ค้าหมากหนาแน่น ผู้ค้าจะแข่งขันกันในด้านรสชาติและราคา ทำให้ผู้ค้าบางเจ้าลักลอบนำใบยาสูบที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือที่มีการปรุงแต่งทางเคมีจากอินเดียและบังกลาเทศเข้ามาผสมด้วย

Advertisement

ใบยาสูบที่เป็นที่นิยมของคนทั่วๆ ไปคือใบยาสูบยี่ห้อ “92” และ “Queen” และยังมีใบยาสูบที่คนทั่วไปเรียกว่า “สีเหลือง” และ “สีดำ” ตามสีของใบยาสูบ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ายังนิยมบริโภค “กุน หย่า” แตกต่างกันด้วย เช่น ชาวพม่าเชื้อสายอินเดียจะชื่นชอบใบยาสูบสีแดงที่นำเข้าจากอินเดีย ในขณะที่ชาวพม่าในย่างกุ้งจะชอบใบยาสูบยี่ห้อ 92 และ Queen ในขณะที่ผู้หญิงจะไม่ชอบให้มีใบยาสูบในคำหมาก

รัฐบาลพม่าเอาจริงเอาจังกับการลดผู้บริโภคหมากและใบยาสูบหน้าใหม่ นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการด้านสาธารณสุขของชาติ 4 ปี ระหว่างปี 2017-2021 รัฐบาลสร้างแคมเปญออนไลน์ด้วยแฮชแท็ก #StopBetalMyanmar และยังออกมาประกาศแบนการเคี้ยวหมากในที่ทำการของรัฐบาล โรงเรียน สนามกีฬา และโรงพยาบาลอย่างจริงจัง นอกจากจะมีผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศด้วย ตามถนนหนทางในเมืองน้อยใหญ่ในพม่า เรายังเห็นผู้คนบ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะ แม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายออกมาแล้ว โดยผู้บ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะในย่างกุ้งจะถูกปรับเป็นเงิน 30,000-50,000 จ๊าต

หลายปีผ่านไปหลังรัฐบาลออกแคมเปญรณรงค์ให้คนลด ละ เลิกการเคี้ยวหมากมาตั้งแต่ปี 2018 ผลการสำรวจจากสำนักข่าว หลายแห่งพบว่าประชากรพม่ายังบริโภคหมากในปริมาณที่มากอยู่ การรณรงค์ของรัฐบาลดูจะไม่เป็นผล ปัจจุบันยังมีประชากรพม่า 10 ล้านคนที่เคี้ยวหมาก มีผู้สูบบุหรี่อีก 6.2 ล้านคน และอีก 4.7 ล้านคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จากจำนวนประชากรพม่าราว 53 ล้านคน จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ตัวเลขการเคี้ยวหมากในพม่ามีแต่จะเพิ่มขึ้น ในปี 2009 มีประชากรชายร้อยละ 51.4 ที่เคี้ยวหมาก แต่ในปี 2014 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.2

Advertisement

คนพม่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าการเคี้ยวหมากก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสุขอนามัยเช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามโฆษณาให้ประชาชนเลิกเคี้ยวหมากเพียงใด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ปัญหาอีกด้านที่รัฐบาลพม่าต้องประสบ หากต้องการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกเคี้ยวหมากอย่างจริงจังคือในปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกต้นหมากจำนวนมาก เพราะสามารถขายได้ราคาดีกว่าข้าว ตลอดจนให้ผลผลิตทั้งปี ผลหมากที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่ามาจากเมืองตองอู ในเขตพะโค แต่พื้นที่ที่ปลูกหมากมากที่สุดอยู่ในภาคใต้ของพม่า แถบเมืองเย (Ye) ในรัฐมอญ และทวายในเขตตะนาวศรี นอกจากการบริโภคภายในประเทศแล้ว หมากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเพราะพม่าส่งออกผลหมากจำนวนมากไปอินเดีย (อีกประเทศหนึ่งที่ประชากรนิยมเคี้ยวหมาก) หากพม่าออกกฎหมายห้ามไม่ให้คนเคี้ยวหมากจริง ก็ต้องคิดถึงเรื่องการชดเชยและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกหมากด้วยเช่นกัน

นอกจากผลหมากที่มาจากพม่าตอนล่างแล้ว ผลิตผลที่ขาดไม่ได้ได้การเตรียมหมากคือใบพลู หรือ betel leaves ซึ่งผลิตมากในเขตเมืองปันตะนอ (Pantanaw-บ้านเกิดของอู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ) ในเขตอิรวดีในพม่าตอนล่างเช่นกัน ชาวพม่านิยมใช้ใบพลูจากเมืองปันตะนอเพราะนุ่มกว่าใบพลูจากที่อื่นๆ

การบริโภคหมากในพม่าเป็นดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพและสุขอนามัยที่ชัดเจนในพม่า ประชากรจำนวนมากยังคงอยู่กับความเคยชิน โดยไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรค เทรนดการบริโภคหมากที่มีเพิ่มขึ้นสวนทางกับการรณรงค์จากภาครัฐชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพม่าไม่สามารถควบคุมประชากรได้ หากเมื่อมีโรคระบาดใดๆ ก็ตามเกิดขึ้นในพม่า ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะใหญ่หลวงกว่าในหลายประเทศ ด้วยการสาธารณสุขที่ยังจำกัด และด้วยอุปนิสัยของคนพม่าที่ออกจะหัวรั้น ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งในพม่าและในไทยจะไม่พุ่งสูงไปมากกว่านี้ ช่วงนี้ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ โลกของเราจะผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image