สมาธิและจิตนอกสำนึก โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดป่าพระเจ้า ศรีประจันต์ นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสซึ่งทรงอาศัยบำรุงพระวรกาย

ผู้ครองเรือนที่สนใจการปฏิบัติธรรมมีวัตถุประสงค์เฉพาะตน โดยทั่วไปในระยะเริ่มต้นอาจขาดความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การศึกษาปริยัติและคู่มือในระหว่างการฝึกปฏิบัติก็มักไม่แนะนำเพราะมองกันว่าอาจทำให้ผู้ฝึกฝนเกิดจินตนาการไปตามนั้น

ความสงสัยว่าตนเองปฏิบัติถูกต้องหรือไม่มักเกิดขึ้น จำนวนมากอาศัยการแสวงหาครูอาจารย์ที่เป็นที่ศรัทธาซึ่งนับเป็นการสร้างความมั่นใจอย่างหนึ่ง การสอบอารมณ์จากครูอาจารย์ก็อาจให้ความมั่นใจได้บ้างเช่นกัน

โดยหลักการ สภาวธรรมที่เกิดในจิตเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ผู้ปฏิบัติต้องตรวจสอบและประเมินด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามวิมังสาก็มิใช่เรื่องง่าย จิตตภาวนาที่มุ่งสมาธิยิ่งควรมีผู้ชี้แนะ ความยากลำบากอยู่ที่การหาครูอาจารย์ที่สำเร็จด้านสมาธิจริงๆ

การเจริญสติสามารถเริ่มต้นจากสมาธิอ่อนๆ ทั้งยังปฏิบัติเป็นหมู่คณะขนาดใหญ่ได้ ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนามั่นคงจะพอมีครูอาจารย์ชี้แนะ กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาจารย์และวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติเช่นกัน

Advertisement

สติปัฏฐาน 4 เป็นการสร้างฐานให้แก่อริยมรรค ประกอบด้วยทั้งสติ สมาธิและปัญญา ความเพียรช่วยให้อาการของจิตเป็นระเบียบหรือเป็นสมาธิ การจดจ่อที่ลมหายใจหรือที่จุดใดจุดหนึ่งจะยิ่งให้สมาธิมากขึ้น

กายานุปัสสนาอาจใช้สมาธิที่ไม่มากนัก เวทนานุปัสสนาอาจใช้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาต้องการสมาธิที่ละเอียดเพิ่มขึ้นมาก

ทำไมสมาธิจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นี้เป็นคำถามที่จำเป็นสำหรับชาวพุทธที่ประสงค์เดินให้สุดทาง

Advertisement

กิเลสมีทั้งส่วนที่เกาะจิตสำนึกและส่วนที่ฝังอยู่ในจิตนอกสำนึก สมาธิช่วยให้เห็นกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้

สมาธิเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอริยมรรคซึ่งเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ปราบปรามกิเลส สมาธิต้องมีกำลังสูงเพียงพอและมีปัญญาเป็นอุบายชี้นำจึงจะตัดมวลกิเลสทั้งปวงได้

กิเลสที่จิตสำนึกรับรู้ได้ก็มีทั้งหยาบและละเอียด สมาธิที่มากพอประมาณสามารถช่วยให้สติและปัญญาทำหน้าที่ได้ดี กิเลสเหล่านี้จะถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก จิตที่จดจ่อในระดับหนึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติรับรู้ได้

กิเลสที่ยากต่อการรับรู้ของจิตสำนึกคืออนุสัยกิเลสอันเป็นกิเลสละเอียดที่สะสมมาอย่างยาวนานและนอนเนื่องอยู่ภายใน อาการที่นอนเนื่องเป็นอาการที่ไม่แสดงแต่ทำงานต่อเนื่องกัน ลักษณะที่หมักดองไว้และอาจไหลออกมาเรียกว่าอาสวะ

อาสวกิเลสต้องอาศัยสมาธิที่ละเอียดอย่างยิ่งในการรับรู้ ถ้าการรับรู้ทางมโนทวารไม่ชัด การดับอาสวกิเลสก็ไม่เป็นผล

จิตนอกสำนึกเป็นฐานที่มั่นของกิเลสและเป็นสมรภูมิใหญ่ที่การภาวนาพึงไปให้ถึง

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดจรรย์ ศรีประจันต์
พระบรมโพธิสัตว์ทรงลอยถาดมุ่งมั่นที่จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

โจทย์ต่อไปคือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในจิตนอกสำนึกนั้นจะทำได้อย่างไร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงค้นพบและสอนวิถีทางให้ได้

สมาธิที่มากเพียงพอจะทำให้ผู้ที่มีสติสมบูรณ์และปัญญาพอประมาณเข้าถึงอริยมรรคได้ สมาธิที่ละเอียดจนสมบูรณ์แล้วก็ต้องมีปัญญาที่สมบูรณ์ด้วย จิตจึงจะเห็นปฏิจจสมุปบาท

จิตที่สงบช่วยให้สามารถเข้าถึงจิตนอกสำนึกซึ่งเทียบได้กับภวังค์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวว่า ภวังค์คือภพของจิต การเข้าถึงภพของจิตนี้สามารถอาศัยสมถกรรมฐานซึ่งท่านแยกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฌานและสมาธิ

เราอาจกล่าวได้ว่าฌานเป็นการเพ่งให้เกิดอารมณ์เดียวแบบสมัยก่อนพุทธกาล ส่วนสมาธิก็จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียวเช่นกันแต่นับเป็นฌานทางพุทธที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนพุทธสาวก

ในสมัยก่อนพุทธกาล การปฏิบัติทางจิตของพราหมณ์โบราณหรือฤๅษีดาบสเป็นแนวทางที่อาศัยฌาน เอกัคคตาในฌานมีอารมณ์เดียวซึ่งบางทีเรียกว่าสมาธิ การปฏิบัติคือเริ่มด้วยการละกามสัญญาสู่พรหมจรรย์ด้วยฌานไปจนถึงการละสัญญาที่ละเอียดขึ้นเป็นลำดับ

แนวทางสมาธิหรือฌานแบบพุทธคล้ายคลึงกันในลำดับขั้นของการเข้าสู่อารมณ์เดียว ในแง่นี้จึงเป็นไปได้ว่าฌานก่อนพุทธกาลสืบมาจากฌานสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ทว่าเหลือเพียงแค่ซากคำบางคำที่ปะติดปะต่อความหมายแท้จริงไม่ได้ วิธีปฏิบัติส่วนที่สำคัญก็เสื่อมสูญไป

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดประตูสาร สุพรรณบุรี
พราหมณ์โสตถิยะถวายหญ้ามงคลซึ่งทรงใช้ปูเป็นอาสนะก่อนตรัสรู้

ฌานแบบพุทธปรากฏชัดอยู่ในสามัญญผลสูตร อังคิกสูตรและอนุปุพพวิหารสมาปัตติสูตร เป็นต้น

จากเหตุการณ์ก่อนวันตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงกระทำทุกกรกิจหนักยิ่งกว่าพวกอเจลก พระวรกายทรุดโทรมและต้องมีการฟื้นฟูใหม่ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติทางจิต ในวันตรัสรู้ทรงได้รับอาหารบำรุงและทรงอธิษฐานมุ่งมั่นที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

พระองค์ทรงหวนระลึกถึงอานาปานสติเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ซึ่งครั้งนั้นทรงบรรลุปฐมฌาน
ในตอนเย็นวันตรัสรู้ การภาวนาของพระพุทธองค์เริ่มด้วยอานาปานสติสมาธิมิใช่กสิณแบบที่ทรงศึกษาจากพระอาจารย์ดาบสทั้งสอง พระองค์ทรงหาหนทางหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง มิได้ทรงต่อยอดการปฏิบัติของพราหมณ์โบราณ เมื่อสติและสมาธิบริสุทธิ์จึงทรงน้อมจิตให้เป็นไปเพื่อญาณ

ภายหลังการตรัสรู้ คำสอนเรื่องฌานจึงมีการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากเดิม การเจริญฌานจนถึงขั้นสูงสุดทั้งหมดเป็นการสร้างความพร้อมและกำลังของสติ สมาธิและปัญญา มิใช่การเพ่งสัญญาจนสุดทางแบบก่อนหน้านั้น

ปฐมฌานเป็นการละกามสัญญาด้วยรูปสัญญาโดยใช้การนึกคิดช่วยก่อน ทุติยฌานละวิตกและวิจาร ตติยฌานละปีติซึ่งเป็นการซาบซ่านทางกายอันละเอียด จตุตถฌานเป็นขั้นที่ละลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เหลืออุเบกขาหรือสติที่บริสุทธิ์ จิตมีเพียงอารมณ์เดียว

ถ้าเจริญฌานให้ละเอียดยิ่งขึ้น ก็ละรูปสัญญา ใช้อรูปสัญญาเช่นกลุ่มอากาศในอานาปานสติสมาธิเป็นอารมณ์ในฌานขั้นห้า (อากาสานัญจายตนะ) กลุ่มอากาศนี้มิใช่อรูปแท้ ฌานขั้นหก (วิญญาณัญจายตนะ) เป็นการละอรูปสัญญาที่เป็นกลุ่มอากาศมาเพ่งจิตหรือวิญญาณว่ามีไม่สิ้นสุด วิญญาณัญจะนี้คือวิญญาณที่เป็นไปในอากาศ มิใช่การเพ่งจิตแบบในสติปัฏฐาน หากเป็นอรูปสัญญาที่มีลักษณะขยายขอบเขตออกไป

ฌานขั้นเจ็ด (อากิญจัญญายตนะ) เป็นการละวิญญาณัญจะในฌานขั้นหกนั้นว่าไม่มี เป็นอรูปสัญญาของความไม่มีหรือความว่างเปล่า ฌานขั้นแปด (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) เป็นการละสัญญาที่ละเอียดทั้งหมดจนเสมือนไม่เหลืออยู่อีก ทว่าสัญญายังดับไม่สนิทหรือไม่ดับจริง

ความสงบจากอรูปฌานแต่ละขั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามอรูปสัญญาที่ละเอียดมากขึ้นๆ

ส่วนฌานขั้นสูงสุดทางพุทธคือฌานขั้นเก้าซึ่งเรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาดับจริง เข้าใจว่าคงเป็นเพราะเชื้อกิเลสมอดแล้วจึงไม่ปะทุอีก

ตั้งแต่ปฐมฌานถึงฌานขั้นแปดมีความโดยย่อคล้ายคลึงกับฌานของฤาษีดาบส การปฏิบัติที่แตกต่างออกไปคือการไม่มุ่งเพ่งสัญญาด้านเดียว หากมีการยกระดับสติด้วยการเพ่งไปทั่วทั้งร่ายกาย เอกัคคตาในฌานก็เป็นคนละอารมณ์กัน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี กล่าวว่า ฌานนำไปสู่การเข้าถึงภวังค์ ปฐมฌานทำให้เข้าถึงภวังค์บ้างเล็กน้อยโดยยังหลุดออกไปสู่อารมณ์ภายนอกเรียกว่าภวังคุบาท ในทุติยฌานและตติยฌาน การเข้าถึงภวังค์มีมากขึ้นแต่ยังส่งส่ายอยู่กับอารมณ์ภายในเรียกว่าภวังคจรณะ ส่วนจิตในจตุตถฌานเข้าถึงภวังค์อย่างมากเรียกว่าภวังคุปัจเฉท

จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดช้างใหญ่ พระนครศรีอยุธยา
อรูปพรหม ขั้นต้นมีวงอากาศเป็นอรูปสัญญา

การสร้างความเข้าใจให้แก่จิตเป็นการทำให้จิตนอกสำนึกรับเอาพระธรรมเข้าไปทดแทนกิเลสและความคุ้นเคยที่สะสมมาแต่เดิม การภาวนาจะทำให้อนุสัยกิเลสได้รับแรงกระทบเสมือนสิ่งที่อยู่ในจิตกำลังถูกผ่าตัดหรือปลุกให้ตื่น

สมาธิระดับหนึ่งอาจจะทำให้วิญญาณธาตุของอายตนะทั้งห้ารับรู้พระธรรมแต่ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าไปใกล้จิตนอกสำนึกซึ่งมีมโนทวารเป็นอายตนะที่ทำหน้าที่โดยตรง การจัดการกับปมทางจิตนั้นจำเป็นต้องไปถึงจิตนอกสำนึกและอนุสัยกิเลสที่ฝังตัวอยู่

การภาวนาจนกระทั่งมีสมาธิจิตละเอียดอาจช่วยทำให้สังเกตเห็นจิตสังขารผุดขึ้นมาจากจิตนอกสำนึก ผู้ปฏิบัติอาจตัดวงจรการทำงานของกิเลสด้วยการไม่ปรุงแต่งต่อซึ่งจะทำให้การขยายความของจิตถูกระงับไว้

ถ้าการปฏิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและนานเพียงพอ ความเคยชินใหม่ก็จะค่อยๆ มีผลต่อจิตนอกสำนึก อาสวกิเลสอาจจะเบาบางลงตาม ปัญหาคือกิเลสที่ละเอียดปกติจะอยู่ลึกในสันดาน

ลักษณะที่นอนเนื่องเป็นลักษณะที่นิ่งแต่ยังทำงานต่อเนื่อง กิเลสที่ไหลออกมาเป็นส่วนที่ถูกลดความละเอียดลง ถ้าไม่ผุดขึ้นมาให้รับรู้สติที่เข้มแข็งก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของกิเลสเหล่านั้น กิเลสยังคงเพาะเชื้อและยากต่อการถ่ายถอน

จิตที่มีกำลังสมาธิสูงมากและประกอบเป็นอริยมรรคแล้วจะเข่้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในจิตได้ กิเลสจะ “สำรอก” ออกมาจากชัยภูมิของมัน

กิเลสที่ยิ่งละเอียดยิ่งไม่ปรากฏให้เห็น สมาธิที่ลึกจึงจะช่วยให้เห็น เรียนรู้และจัดการกับกิเลสเหล่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image