สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนไทยไม่ได้มาจากไหน? แต่เป็นลูกผสมร้อยพ่อพันแม่ในอุษาคเนย์

บรรพชนคนไทยในนิทานเกิดจากน้ำเต้าปุงเหมือนคนอื่นๆ เพราะมนุษย์มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุงเป็น พี่น้องท้องเดียวกัน เป็นความเชื่อมานานหลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานจำนวนมากบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน เป็นภาชนะดินเผาใส่กระดูกคนตายเป็นรูปน้ำเต้ามีคอคอดและก้นกลมมน ภาชนะดินเผามีฝา รูปร่างเหมือนน้ำเต้า มีคอคอด บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด [ภาพจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2557 หน้า 44]
บรรพชนคนไทยในนิทานเกิดจากน้ำเต้าปุงเหมือนคนอื่นๆ เพราะมนุษย์มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุงเป็น พี่น้องท้องเดียวกัน เป็นความเชื่อมานานหลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานจำนวนมากบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน เป็นภาชนะดินเผาใส่กระดูกคนตายเป็นรูปน้ำเต้ามีคอคอดและก้นกลมมน
ภาชนะดินเผามีฝา รูปร่างเหมือนน้ำเต้า มีคอคอด บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด [ภาพจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2557 หน้า 44]
คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? เมื่อไร? ยังไง? ทำไม? ฯลฯ ต้องร่วมกันซักถาม,ทักท้วง, ถกเถียง อย่างกว้างขวาง
แม้ไม่เห็นพ้องต้องกันก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยได้เข้าใจตรงกันว่าคำอธิบายเรื่องคนไทยยังต่างกัน ซึ่งจะส่งผลเชื่อมโยงถึงประเด็นอื่นๆ อีกมากต่างกันด้วย เช่น สังคมวัฒนธรรม, เศรษฐกิจการเมือง, รวมทั้งวรรณกรรม, เพลงดนตรี ฯลฯ
ดังนั้น ประวัติศาสตร์ไทยไม่ควรด่วนสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง จนถือเป็นข้อยุติที่เปลี่ยนแปลงมิได้ แล้วบงการทุกคนต้องเชื่อตามนั้น

แหล่งข้อมูล

คนไทยมาจากไหน? และอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ผมเคยย้ำหลายครั้งนานแล้วว่าไม่ได้คิดเองโดดๆ (เพราะไม่ฉลาด) แต่รวบรวมจากงานวิจัยค้นคว้าของครูบาอาจารย์ทั้งรุ่นดึกดำบรรพ์และรุ่นใหม่ล่าสุด
ผมไม่ได้ทำงานวิชาการ แต่ทำหน้าที่ PR วิชาการยากๆ ปรับให้อ่านง่าย (กินง่าย ขี้ง่าย สบายดี ยาถ่าย 100 ปี) ตามวิสัยคนเขียนหนังสือและทำหนังสือพิมพ์
สำคัญมากที่ถือเป็นหลักคืองานทั้งหมดของ จิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี, มานุษยวิทยา, นิรุกติศาสตร์, วรรณกรรม ฯลฯ สุดที่จะพรรณนาได้ครบถ้วน
นอกนั้นก็ล้วนได้จากหลักฐานโบราณคดี ที่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กับงานวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ร้อยพ่อพันแม่

คนไทย “ลูกผสม ร้อยพ่อพันแม่” ผมได้จากข้อเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เรื่อง ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม ของ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม มีข้อความจะยกมา ดังนี้

“การเกิดของพระนครศรีอยุธยานั้น เริ่มจากการรวมสยามหรือเสียมกับละโว้ แล้วในที่สุดละโว้ก็หมดไป ทั้งราชอาณาจักรจึงกลายเป็นสยามทั้งประเทศ โดยที่ผู้คนที่เรียกว่าชาวสยามนั้นอาจจะเป็นลูกผสมที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ แต่ทว่าสื่อสารกันด้วยภาษาไทย นับถือพุทธศาสนา และอยู่บนผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยเดียวกัน

Advertisement

ชาวไทยสยามไม่ใช่คนไตหรือคนไท

แต่คนไตหรือคนไทอาจะเป็นชาวพม่า ชาวมอญ ชาวเวียด หรือชาวสยามใต้”

[จากหนังสือ ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2534 หน้า 135]

Advertisement

ไทยน้อย

อำนาจของภาษาไต-ไท

อำนาจทางการเมืองของภาษาไต-ไท และวัฒนธรรมไต-ไท ส่งผลให้เกิดคนเรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย แล้วมีอักษรไทยจากทำอักษรเขมรให้ง่ายผมได้จากอ่านข้อเขียนล่าสุด เรื่อง นาน้อยอ้อยหนู ของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนเป็นตอนๆ ทยอยลงในมติชน สุดสัปดาห์ (ขณะนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมรวมพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก อีกไม่นานก็เสร็จเป็นเล่ม วางขายทั่วประเทศ)
ก่อนหน้านี้ผมอ่านงานของ อ. นิธิ บอกว่าภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางการค้าทางบกของดินแดนภายใน (อยู่ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ซ่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 43-47) จะคัดมาแบ่งปันไว้โดยสรุป ดังนี้

การค้าทางบก (ที่อาศัยเส้นทางน้ำร่วมด้วย) น่าจะขยายตัวขึ้นพร้อมกันกับความแพร่หลายของสำเภาจีน เป็นผลให้ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้าภายใน เช่น เชียงใหม่, แพร่, น่าน, สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, นครพนม, โคราช, ฯลฯ ตั้งตัวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าภายใน มีประชากรอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนามากขึ้น และประสบความรุ่งเรืองมั่งคั่งในระดับหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐที่สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลได้โดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งหรือใกล้ชายฝั่ง ขยายอำนาจไปดูดซับสินค้าของป่าเหล่านี้
รัฐที่มีภูมิประเทศเอื้อต่อการมีฐานการเกษตรที่เข้มแข็ง ย่อมสามารถรวบรวมประชากรได้มากกว่า และในที่สุดก็ขยายอำนาจออกไปควบคุมศูนย์การค้าภายในที่อยู่ตอนบนได้ และขยายอำนาจไปควบคุมเมืองท่าในคาบสมุทรมลายู เพื่อป้องกันการแข่งขัน และผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าทางทะเลของตน ไม่ว่ารัฐนั้นจะตั้งอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง หรือในลุ่มน้ำอิรวดี-สาละวินตอนล่างก็ตาม

ด้วยปัจจัยบางประการ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ภาษาไต-ไทเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการค้าภายใน เนื่องจากพวกไต-ไท ตั้งภูมิลำเนาในหุบเขาขนาดเล็กมาก่อน เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงผลิตอาหารไม่พอ ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลเข้ามาช่วยในการดำรงชีพ ฉะนั้นจึงน่าจะมีบทบาทมากในการค้าภายในซึ่งเฟื่องฟูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
และทำให้ภาษาไต-ไท กลายเป็นภาษากลาง อย่างน้อยก็ในการค้าภายในประชาชน ที่มีชาติพันธุ์อันหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในที่ราบ หรือบนที่สูง พอจะเข้าใจภาษาไต-ไทได้ในระดับหนึ่ง

ภาษาไทย

ภาษาไต-ไท ในที่สุดก็เป็นภาษาไทย แล้วมีอักษรไทย น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนยุคอยุธยากลุ่มใหญ่เรียกตัวเองว่าไทย, คนไทย
จึงไม่ควรสถาปนาภาษาไทยให้ศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องเปลี่ยนแปลงมิได้ (ดังที่ทำกันอยู่ของผู้พิทักษ์ภาษาไทย) เพราะนั่นไม่ใช่ธรรมชาติความเป็นมาของภาษาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image